พ.ค.เวียนมา โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

แฟ้มภาพ

เดือน พ.ค. มีวาระสำคัญทางการเมืองอย่างน้อยๆ 2 รายการ

ปีนี้ครบ 24 ปีของเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ระหว่าง 17-24 พ.ค.2535 ซึ่งเริ่มต้นจากรัฐประหาร 23 ก.พ.2534 ล้มรัฐบาลของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ด้วยข้อหาทุจริตคอร์รัปชั่น

เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ มีผู้เสียชีวิต 40 คน บาดเจ็บ 600 คน ชนวนมาจากประชาชน-พรรคการเมือง และกลุ่มการเมืองชุมนุมต่อต้านนายกฯ คนนอก แล้วเกิดการปราบปรามด้วยกำลังอาวุธ

สุดท้าย พล.อ.สุจินดา คราประยูร ลาออกจากนายกฯ พรรคข้างมากขณะนั้นพยายามเสนอชื่อคนในพรรคเป็นนายกฯ แต่เกิดการพลิกโผ กลายเป็น นายอานันท์ ปันยารชุน ที่เป็นนายกฯหลังรัฐประหาร 2534 กลับมารับบทนายกฯคนกลาง

Advertisement

นายอานันท์จัดเลือกตั้ง 13 ก.ย.2535 พรรคประชาธิปัตย์ชนะ เป็นพรรคได้ ส.ส.มากที่สุด นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี

อีกเหตุการณ์ของเดือน พ.ค. เป็นเรื่องใกล้ๆ เพราะ 22 พ.ค.นี้จะครบ 2 ปีของการยึดอำนาจ 22 พ.ค.2557

เป็นภาค 2 ของรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ที่ประเมินกันว่า “เสียของ”

Advertisement

เพราะยึดอำนาจ ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 จัดเลือกตั้ง 2551 และ 2554 พรรคขั้วทักษิณชนะถล่มทลาย

ที่เจ็บกระดองใจอย่างยิ่งคือครั้งหลัง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เป็นนายกฯหญิงคนแรกของประเทศไทย

รัฐบาลนายกฯหญิงออกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย กลุ่มต่างๆ เปิดหน้าออกมาขับไล่รัฐบาล จนเกิดการยึดอำนาจ 22 พ.ค.2557

การยึดอำนาจครั้งนี้ ทหารเข้ารับตำแหน่งบริหารสำคัญๆ ต่างจากในอดีตที่มักโยนให้เป็นหน้าที่ของแขกรับเชิญ

ภารกิจที่ต่างจากรัฐประหารก่อนๆ คือการผลักดันแนวคิดให้ประเทศเป็นรัฐตามอุดมคติ ที่มีระเบียบวินัย ไร้ทุจริตคอร์รัปชั่น การเมืองนิ่ง มีมาตรการกำจัดคนเลว เพื่อให้ได้คนดีๆ เข้ามาทำหน้าที่บริหาร เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ ฯลฯ

เครื่องมือในการผลักดันให้เป็นตามแนวคิดดังกล่าว ในระยะแรก ได้แก่ รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557, มาตรการขอความร่วมมือ ปรับทัศนคติ ไปจนถึงใช้กฎหมาย การกำหนดให้คดีบางประเภทต้องไปขึ้นศาลทหาร

ส่วนระยะต่อไปจะเป็นหน้าที่ของรัฐธรรมนูญที่จะลงประชามติ 7 ส.ค.นี้

ใน 2 ปีที่ผ่านมา มีกองเชียร์ที่ตั้งความหวังไว้อย่างสูงว่า วิธีการนี้จะนำพาไปสู่สังคมไทยจะที่มีคุณภาพ เป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ

แต่มีคนที่เห็นต่างว่า เป้าหมายและวิธีการต้องสอดคล้องกัน เส้นทางไปสู่สังคมคุณภาพและเป็นประชาธิปไตย ต้องเปิดกว้างให้สมาชิกสังคมได้เสนอความคิดความเห็นด้วย

ขณะที่โลกภายนอกมองเข้ามาด้วยความไม่แน่ใจ และแสดงท่าทีแรงๆ หลายรอบ และน่าสังเกตว่าเข้มข้นขึ้นในระยะนี้ที่กำลังจะทำประชามติ

ยังดีที่มีการสั่ง “ผ่อนคลาย” เปิดให้พรรคการเมืองมาถกเถียงและถามเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ และมีข่าวว่าจะตามมาอีกเป็นซีรีส์

การจัดระเบียบประเทศครั้งนี้ จะแก้ “เสียของ” จาก 19 ก.ย.2549 ได้แค่ไหน ต้องไปวัดกันในการเลือกตั้งครั้งหน้า

แต่แนวโน้มอาจดูได้จากประชามติในอีก 2 เดือนเศษๆ นี้

เราจะรำลึกถึงเหตุการณ์นี้อย่างไรในอนาคต อาจจะเริ่มมองเห็นเค้ากันบ้าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image