พระอรหันต์ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ตอน สุบินนิมิต สมาธิ เกิดขึ้น

8 สุบินนิมิตเกิดขึ้น : เหมือนกับธรรมะบันดาล โดยความที่ท่านอาจารย์มั่นได้ประโยคพยายามอย่างจรดเหนือจรดใต้ รอบฟ้าแดนดินก็ว่าได้ และยังไม่ได้สมดังความมุ่งหมาย ถ้าเป็นอย่างเราๆ ท่านๆ เห็นถ้าจะต้องล้มเลิกการปฏิบัติเสียแล้วเพราะลำบากแสนสาหัสจริงๆ ท่านยังพูดกับผู้เขียนเสมอๆ ขณะที่ผู้เขียนตำหมากถวายท่าน ตอนกลางวันว่า “วิริยังค์เอ๋ย มันแสนสาหัสสากรรจ์จริงๆ หนา เราได้ตรากตรำทำมาเกือบจะเอาชีวิตไปทิ้งเสียที่ในกลางป่าดงพงไพร โดยไม่รู้ไม่เห็นอะไร มันสาหัสก็แสนสาหัส มันสากรรจ์ก็แสนจะสากรรจ์ แต่มันก็มีอะไรอยู่อย่างหนึ่ง ที่ทำให้เราต่อสู้ไม่เคยกลัว และก็ไม่ถอยให้แก่มันแม้แต่ก้าวเดียว”

ก็เหมือนกับธรรมะบันดาล คือ ค่ำคืนวันหนึ่ง ขณะที่เราได้หลับไปแล้ว แต่การหลับของเราในขณะนั้นก็เหมือนจะตื่น เพราะต้องกำหนดจิตให้มีสติไว้เสมอๆ ท่านเล่าว่า เราก็ฝันไปว่า เราเดินออกจากบ้านไปตามหนทาง แล้วก็เข้าสู่ป่าที่รกชัฏมีทั้งหนามและไม้รกรุงรัง ท่านก็เดินผ่านป่านั้นเรื่อยไป ก็ได้พบกับต้นชาดต้นหนึ่งที่ล้มตายมีกิ่งก้านผุไปหมด ท่านก็ขึ้นบนขอนไม้ชาดที่ล้มนั้น จึงสังเกตดูว่าเป็นต้นชาดที่ตายสนิท ไม่มีทางจะงอกงามขึ้นมาได้อีก มองไปข้างหน้าเป็นท้องทุ่งเวิ้งว้างปลอดโปร่งกว่าทางที่ผ่านมา ขณะนั้นปรากฏว่ามีม้าสีขาวตัวหนึ่ง วิ่งมาจากไหนไม่ทราบ แล้วก็เข้ามาเทียบข้างขอนไม้ชาดที่ท่านกำลังยืนอยู่นั้น ท่านก็ขึ้นบนหลังม้าขาวทันที ม้าก็พาท่านวิ่งห้อเต็มเหยียบไปกลางทุ่งพอสุดทุ่งก็พอดีพบตู้พระไตรปิฎกตั้งตระหง่านอยู่ข้างหน้า ม้าก็ได้หยุดลงตรงนั้นพอดี แต่ท่านมิได้เปิดตู้พระไตรปิฎกนั้น ก็พอดีรู้สึกตัวตื่นขึ้นเสียก่อน

ครั้นเมื่อท่านตื่นขึ้น ก็ได้ทบทวนตามเหตุการณ์ต่างๆ ที่ได้สุบินนิมิตนี้ เกิดความมั่นใจและทำนายนิมิตนั้นตามลำดับ ที่เราออกจากบ้านไปนั้น คือ เราได้ออกจากความเป็นฆราวาส แต่ไปพบป่ารกชัฏ แสดงว่าเราได้เดินทางไป แต่ยังไม่ถูกทางจริง จึงต้องลำบากอย่างหนัก แต่การที่เราได้ขึ้นบนขอนไม้ที่งอกอีกไม่ได้นั้น แสดงว่าอาจจะเป็นชาติสุดท้ายของเรา ด้วยการแสวงหาธรรมในทางที่ถูกต้องต่อไป ทุ่งว่าง เป็นทางที่จะปลอดโปร่งในการที่จะดำเนินการปฏิบัติที่ไม่มีความลำบากนัก การที่เราได้ขี่ม้าขาว หมายถึง การเดินไปสู่ความบริสุทธิ์อย่างรวดเร็ว การไปพบตู้พระไตรปิฎกแต่ไม่ได้เปิดตู้นั้น คือ เราไม่ได้ถึงปฏิสัมภิทาญาณ ถ้าได้เปิดตู้นั้นดู ก็คงแตกฉานกว่านี้ นี่เป็นเพียงพบตู้ก็ถึงเพียงปฏิสัมภิทานุศาสน์ มีการสอนผู้อื่นได้บ้างเท่านั้น

เมื่อเหมือนบุญบันดาลเช่นนี้ ก็ทำให้ท่านเกิดความมั่นใจขึ้นมาอีกมาก ในการที่จะดำเนินการปฏิบัติต่อไป ท่านเล่าว่า จากนั้นท่านได้พยายามอยู่อย่างเดียว คือ เมื่อจิตได้พลัง เกิดความสงบและความแกร่งขึ้นในจิตนั้นแล้ว ท่านก็ไม่ให้มันสงบเหมือนแต่ก่อน เพราะแต่ก่อนนั้นถือเอาความสงบเป็นใหญ่ แต่ตอนนี้ท่านพยายามที่จะกำหนดจิตพิจารณา กายคตา อย่างหนัก ท่านได้ใช้กระแสจิตกำหนดเข้าสู่กายทุกวัน ทั้งยืน เดิน นั่ง นอน ให้จิตนี้จดจ่ออยู่ที่กาย ทั้งนี้เพื่อพิจารณาให้เกิดความเบื่อหน่าย บางครั้งท่านเดินจงกรมอยู่ ปรากฏว่าท่านได้เดินลุยเหยียบไปบนร่างของคนตายซึ่งนอนเรียงรายอยู่ทั่วไป การกระทำเช่นนี้ใช้เวลานานหลายเดือน ทั้งก็รู้สึกว่าจะเกิดปัญญาขึ้นมาบ้าง ซึ่งก็ไม่เหมือนเมื่อคราวทำจิตให้สงบ ไม่เกิดปัญญาเลย มีแต่อยู่เฉยสบายๆ ก็สบายจริงแต่ก็ได้แต่สบายไม่ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ยังบังเกิดความหวั่นไหวไปตามกิเลสอยู่

Advertisement

ครั้งนี้รู้สึกว่าความหวั่นไหวตามอารมณ์ชักชะงักลง จึงปลงใจว่าน่าจะถูกหนทางแล้วกระมัง

ตอนที่ 9 เกิดอุคคหะนิมิตติดต่อกันหลายวัน : วันหนึ่งท่านนิมิตเป็นอุคคหะขึ้น (หมายความว่านิมิตในสมาธิ) เห็นคนตายนอนอยู่ตรงหน้าห่างจากตัวท่านราว 1 ศอก หันหน้าเข้าหาท่าน ขณะนั้นมีสุนัขตัวหนึ่งเข้ามากัดซากศพนั้น ดึงเอาไส้ออกมาเคี้ยวกินอยู่ เมื่อเห็นนิมิตปรากฏอย่างนั้น ท่านก็กำหนดพิจารณาให้เกิดความเบื่อหน่ายสังเวชสลดมิได้ท้อถอย ทำให้เห็นอยู่ทุกอิริยาบถ แล้วก็กำหนดขยายส่วนต่างๆ ออกไปได้ตามความปรารถนา แม้จะกำหนดอย่างนั้นให้เต็มทั่วทั้งวัดและทั้งโลกก็ได้ หรือกำหนดให้ย่อยยับดับสูญไม่มีอะไรเหลือก็ทำได้ เรียกว่ากำหนดให้เป็นตามความปรารถนาทุกอย่าง ท่านได้พิจารณาซากศพนี้เป็นเวลานาน และยิ่งกำหนด ยิ่งพิจารณาไปเท่าไร จิตก็ยิ่งปรากฏสว่างไสวขึ้นมา จึงได้ปรากฏเป็น “ดวงแก้ว” ขึ้น แล้วทิ้งการกำหนด “อสุภ” โดยกำหนดเอาเฉพาะ “ดวงแก้ว” นั้นเป็นอารมณ์

วาระต่อไป จึงปรากฏเห็นเป็นนิมิตอันหนึ่ง คล้ายกับภูเขาอยู่ข้างหน้าคิดอยากจะไปดู บางทีอาจจะเป็นหนทางที่อาจจะปฏิบัติได้ดีบ้างกระมัง ปรากฏในนิมิตสมาธิต่อไปอีกว่า ได้เดินเข้าไปมอง เห็นเป็นชั้นๆ มีถึง 5 ชั้น จึงก้าวขึ้นไปจากชั้นที่ 1 ถึงชั้นที่ 5 เป็นบันไดแก้ว แล้วหยุดอยู่บนชั้นนั้น แต่แล้วก็กลับคืนและในขณะนั้นปรากฏว่าได้สะพายดาบอันคมกล้าไปด้วยเล่มหนึ่ง พร้อมทั้งสวมรองเท้าวิเศษอีกด้วย

ในคืนต่อไป ทำสมาธิไปถึงชั้นเดิมอีก แต่คราวนี้ปรากฏเป็นกำแพงแก้วอยู่ข้างหน้า ที่กำแพงแก้วนั้นมีประตูเข้าออกได้ จึงคิดอยากจะเข้าไปดูว่ามีอะไรอยู่ข้างในนั้น จึงเอามือผลักบานประตูเดินเข้าไป เห็นมีทางอยู่ทางหนึ่งเป็นสายตรงได้เดินไปตามทางสายนั้น ข้างทางด้านขวามือ มีที่สำหรับนั่งและมีพระกำลังนั่งสมาธิอยู่ประมาณ 2-3 รูป ที่อยู่ของพระนั้นคล้ายกับประทุนเกวียน แต่เราไม่ค่อยจะเอาใจใส่เท่าไรนัก จึงเดินต่อไปข้างทางทั้ง 2 ข้าง มีถ้าเงื้อมอยู่มากและได้เห็นดาบสตนหนึ่ง แต่ก็ไม่เอาใจใส่อีก แล้วก็เดินทางต่อไปจนถึงหน้าผาซึ่งสูงชันมาก คิดจะเดินต่อไปอีก ก็ไม่ได้ จึงหยุดเพียงแค่นั้น แล้วกลับมาตามทางเดิม

ในคืนต่อไป ก็ได้เข้าจิตสมาธิดำเนินไปตามทางเดิมทุกประการ เมื่อไปถึงหน้าผานั้น ปรากฏว่ามียนต์อยู่อันหนึ่งคล้ายๆ กับอู่ มีสายหย่อนลงมาจากหน้าผานั้น จึงได้ขึ้นยนต์ พอนั่ง เรียบร้อยแล้ว ยนต์ก็ชักพาขึ้นไปบนยอดเขาลูกนั้น แต่บนเขานั้นมีสำเภาใหญ่อยู่ลำหนึ่ง ได้ขึ้นบนสำเภานั้นอีกข้างในสำเภามีโต๊ะสี่เหลี่ยมอยู่ตัวหนึ่ง บนโต๊ะมีผ้าสีขาวสะอาดปูไว้ เมื่อมองไปมองมาทั้ง 4 ทิศ เห็นมีแสงประทีปตั้งไว้รุ่งโรจน์ชัชวาล ประทีปนั้นคล้ายกับติดเชื้อด้วยน้ำมัน จึงได้ขึ้นนั่งบนโต๊ะและได้ฉันจังหัน (ฉันเช้า) ที่นั้นด้วย ของฉันก็มีข้าวและแกง กับอีกหลายอย่าง เวลาฉันเสร็จแล้วมองไปข้างหน้า เห็นฝั่งโน้นไกลลิบ จะไปต่ออีกก็ไม่ได้ เพราะมีเหวลึกขวางอยู่หน้าอยู่ และสะพานที่จะข้ามไปก็ไม่มีจึงต้องกลับสู่ทางเดิม

คืนหลังต่อมา ก็ได้เข้าสมาธิจิตไปตามเดิมนั้นอีก ในคืนวันนั้น เมื่อไปถึงระหว่างตอนที่จะข้ามสะพานตรงเหวลึกนั้น ปรากฏว่ามีสะพานใหญ่กว่าวันก่อนมาก ขณะที่เดินไปตามสะพานถึงระหว่างกลางนั้น ก็ได้พบกับท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ซึ่งเดินสวนทางมา แล้วกล่าวว่า “อัฏฐังคิโกมัคโค” แล้วก็เดินต่อไป ครั้นไปถึงประตูแล้วมองเห็นประตูเล็ก จึงผลักประตูเล็กออกไปได้ เข้าไปผลักประตูใหญ่ก็ได้อีก เมื่อเดินเข้าไป ก็เห็นมีกำแพงและมีเสาธงตั้งอยู่กลางเวียง กำแพงนั้นสูงตระหง่านบานใจยิ่งนัก ที่ข้างหน้ามีถนนสะอาดเตียนราบรื่นและมีหลังคามุงไว้ มีประทีปโคมไฟติดไว้ตามเพดานสว่างไสว ข้างหลังถนนเห็นมีโบสถ์หลังหนึ่ง จึงเดินเข้าไปในโบสถ์นั้น ภายในโบสถ์มีทางสำหรับเดินจงกรม และมีดวงประทีปตามไว้สว่างไสวอยู่ 2 ข้างทางเดิน คิดอยากจะเดินจงกรม จึงได้เดินกลับไปกลับมาอยู่ ณ ที่นั้น และเห็นธรรมาสน์อันวิจิตรไปด้วยเงินตั้งอยู่จึงได้ขึ้นไปนั่งบนธรรมาสน์ ข้างบนธรรมาสน์นี้ มีบาตรอยู่ใบหนึ่ง เมื่อเปิดดูก็พบมีดโกนอยู่เล่มหนึ่ง

พอมาถึงตอนนี้ไม่มีนิมิตอะไรอีกต่อไป คงหยุดเพียงแค่นี้ ทุกวันทุกคืนได้เข้าจิตทำนองนี้จนเกิดความชำนิชำนาญ จะเข้าออกเวลาไหนก็ตามใจชอบ พอถึงที่ของมันแล้ว จะสงัดจากอารมณ์ทั้งหลาย

แม้เสียงก็ไม่ได้ยิน ทุกขเวทนาก็ไม่ปรากฏเป็นเช่นนี้อยู่ถึง 3 เดือน และทุกครั้งที่เข้าจิตไปนั้น ดาบและรองเท้าก็ต้องมีพร้อมทุกคราวไป จนสำคัญตนว่า ตนของตนถึงความบริสุทธิ์แน่จริง หมดจดจากกิเลสแล้ว

การเกิดนิมิตที่ท่านเล่ามานี้ ผู้เขียนได้เขียนจากปากคำของท่านเอง ขณะที่ท่านอาจารย์มั่น นั่งอยู่ที่ศาลาเวลาบ่าย 2 โมงเศษ ผู้เขียนสนใจเป็นพิเศษ ขอจดลงในสมุดบันทึกเลย และท่านก็บอกผู้เขียนว่า ระวังอย่าได้หลงในนิมิตเช่นนี้ เพราะมันวิเศษจริงๆ ผู้ปฏิบัติทางจิตชอบจะมาติดอยู่เพียงแค่นี้ แล้วสำคัญตนผิด เราเองก็สำคัญตัวเราเองมาแล้ว และมันก็น่าจะหลง เพราะเป็นสิ่งอัศจรรย์มาก ที่วิปัสสนูปกิเลส ก็คือความเป็นเช่นนี้

ท่านเล่าต่อไปว่า ถึงแม้จะสำคัญว่าตนบริสุทธิ์แล้วก็ตาม แต่ยังมีความสงสัยอยู่เหมือนกัน จึงได้มีการกำหนดรู้ เมื่อเวลาจิตออกจากความสงบแล้ว ปรากฏว่ายังมีวี่แววแสดงอาการกระทบกระเทือน ในเมื่ออารมณ์มากระทบ ย่อมอ่อนไหวไปตาม เมื่อคิดค้นดูเหตุการณ์ด้วยตนเอง แล้วเห็นว่าลักษณะจิตที่ดำเนินไปอย่างนี้ คงจะลงก็ไม่ยอมให้มันลง กำหนด กายคตา เป็นอารมณ์ พยายามแก้ไขตัวเองอยู่เดือนเศษ

ในวันหนึ่ง หลังจากที่มิให้จิตมันหลงไปตามนิมิตต่างๆ นั้นได้แล้ว กำหนดเฉพาะกายคตา จิตได้เข้าถึงฐาน ปรากฏว่าได้เลิกหนังของตนออกหมด แล้วแหวะภายในกาย ได้พิจารณาทบทวนอยู่ในร่างกายอย่างละเอียด แต่ก็ใช้เวลาพักจิตมิใช่พิจารณาไปโดยมิได้มีการหยุดพัก แต่เมื่อพักจิต ก็รู้ว่าปัญญาได้เกิดขึ้นพอควร มีอาการไม่ตื่นเต้นและไม่หวั่นไหว จึงได้เปล่งอุทานว่า “นี่แหละ จึงจัดว่ารวมถูกเพราะไม่ใช่จิตรวมสงบก็อยู่เฉย ที่สงบนั้นต้องสงบแล้วพิจารณาอยู่ในกัมมัฏฐาน คือ อยู่ในการพิจารณาดู ตัวทุกข์ คือ กาย นี้เป็นตัวทุกข์และให้เห็นตัวทุกข์อยู่จึงจะได้ชื่อว่าดำเนินจิตอยู่ในองค์มรรค”

ท่านอาจารย์มั่นได้เล่าถึงตอนนี้ จึงพูดขยายความต่อไปอีกว่า เราจะต้องตรวจค้นให้รู้จริงเห็นจริงอยู่ที่กายกับจิตเท่านั้น จึงจะถูกอริยมรรคปฏิปทา จนครั้งหนึ่งปรากฏว่าร่างกายของท่านแตกออกเป็น 2 ภาค และก็ได้กำหนดจิตให้นิ่ง จนเกิดความสังเวชสลดใจ จึงถือเอาหลักนั้นเป็นการเริ่มต้น เพราะเห็นว่าถูกต้องแล้ว เป็นปฏิปทาดำเนินต่อไป

(ติดตามตอนที่ 10 ตอน ธุดงค์ผจญภัย…ฉบับหน้า)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image