รบ.ใหม่กับปิโตรฯ : โดย สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

ผ่านพ้นไปแล้วกับการเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม อีกไม่นานคงได้เห็นโฉมหน้ารัฐบาลใหม่

แต่ไม่ว่าพรรคไหนจะจับมือกับใครตั้งรัฐบาล ต้องรอดูว่านโยบายต่างๆ ที่หาเสียงไว้จะนำมาสู่แผนงานและเกิดผลทางปฏิบัติได้มากน้อยแค่ไหน

นโยบายด้านพลังงานเป็นอีกเรื่องที่สำคัญต่อประเทศชาติ

รัฐบาลของ “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผลักดันจนสำเร็จกับการประมูลแหล่งปิโตรเลียม “เอราวัณ” และ “บงกช” ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานปี 2565-2566 โดยมีการลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) ที่นำมาใช้เป็นครั้งแรกของประเทศไทย

Advertisement

แต่กว่าจะสำเร็จก็ต้องฝ่าด่านขวากหนามต่างๆ มาไม่น้อย จนทำให้ประเทศเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตขาดแคลนก๊าซธรรมชาติ และไฟฟ้าดับ เพราะทั้ง 2 แหล่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า

นอกจากนี้ การลงนามในสัญญาดังกล่าว ก่อเกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจเป็นมูลค่ากว่า 6.5 แสนล้านบาท ตลอดเวลา 10 ปี เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติลดลงมาอยู่ที่ 116 บาท/ล้านบีทียู โดยทั้ง 2 สัญญามีมูลค่ารวมกว่า 5.5 แสนล้านบาท

รวมทั้งยังตอบโจทย์แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2018) ที่เพิ่มสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าจากเดิม 30% เป็น 53% ซึ่งจะเป็นหลักประกันว่าจะมีก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศใช้อย่างต่อเนื่อง ในราคาที่ไม่แพง

Advertisement

“ศิริ จิระพงษ์พันธ์” รมว.พลังงาน ยืนยันว่าก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง “เอราวัณ” และ “บงกช” จะทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติลดลงอยู่ที่ประมาณ 4 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู จากเดิม 6-7 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ทำให้ค่าไฟปรับลดลงได้อีกประมาณ 15-20 สตางค์ต่อหน่วย จาก 3.6 บาทต่อหน่วย มาอยู่ที่ 3.4 บาทต่อหน่วย

ที่สำคัญคือ ช่วยลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) จากเดิมแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติปี 2558-2579 กำหนดนำเข้าแอลเอ็นจี 34 ล้านตันต่อปีในปี 2579 แต่แผนใหม่จะนำเข้าลดลงมาเหลือเพียง 24 ล้านตันต่อปี โดยแหล่ง “เอราวัณ” และ “บงกช” ผลิตก๊าซได้ไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งทดแทนการนำเข้าแอลเอ็นจี ได้ประมาณ 10 ล้านตัน ช่วยเซฟเม็ดเงินของประเทศได้มากโข

อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่ประเทศไทยยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าแอลเอ็นจี ก็ถือว่ายังมีความเสี่ยงด้านราคาที่ขึ้นลงตามกลไกตลาดโลก

ดังนั้น หากประเทศไทยมีเป้าหมายจะใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า ก็จำเป็นต้องผลักดันเปิดยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่

แม้ขณะนี้จะมีปริมาณก๊าซเพิ่มขึ้นจากแหล่ง “เอราวัณ” และ “บงกช” แต่ก็เป็นก๊าซจากแหล่งเดิมที่มีอยู่แล้ว และจะทยอยหมดไป จึงจำเป็นต้องเสาะหาแหล่งปิโตรเลียมใหม่ๆ เพื่อเป็นแหล่งพลังงานสำรอง และเป็นหลักประกันว่าประเทศจะไม่เสี่ยงต่อการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติในอนาคต

หากไม่มีก๊าซจากแหล่งภายในประเทศที่จะนำมาผลิตไฟฟ้า ก็ต้องนำเข้ามา ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น และเสี่ยงที่ไฟจะดับ

กระทรวงพลังงานจึงมอบหมายกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เร่งดำเนินการเปิดประมูลสำรวจและผลิตแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทย โดยมีแผนเปิดให้บริษัทเอกชนที่สนใจเสนอตัวขอรับสิทธิสำรวจและผลิตแหล่งปิโตรเลียมแหล่งใหม่ภายในเดือนมิถุนายนนี้

รมว.พลังงานย้ำว่า การเดินหน้าเปิดประมูลสำรวจและผลิตแหล่งปิโตรเลียมรอบใหม่ มีความจำเป็นต้องเตรียมการไว้ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานเพื่อรองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต เมื่อรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาก็พร้อมสานต่อได้ทันที

ดังนั้น ไม่ว่ารัฐบาลใหม่หน้าตาจะเป็นอย่างไร การเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมรอบใหม่ เป็นอีกโจทย์สำคัญที่ต้องดำเนินการในการแสวงหาแหล่งปิโตรเลียมใหม่ๆ เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของชาติ

สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image