การเมืองเรื่องของแท้ : โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ต้องขอกราบเรียนท่านผู้อ่านสักนิดว่า คอลัมน์ของผมซึ่งจะปรากฏในหนังสือพิมพ์มติชนในวันอังคาร (หรือฉบับกรอบบ่ายของวันจันทร์ และในอินเตอร์เน็ตหลังเที่ยงวันอังคาร) นั้น โดยทั่วไปจำต้องส่งต้นฉบับในวันอาทิตย์ก่อนเที่ยง (อาจช้าได้สักชั่วโมงสองชั่วโมง ยกเว้นถ้าตรงกับวันหวยออกนี่ต้องตรงเวลามาก ฮ่าๆ)

เมื่อถึงตอนที่ท่านได้อ่านหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการก็คงจะออกมาแล้ว ขณะที่การประกาศผลที่เป็นทางการคงจะออกมาไม่เกิน 9 พ.ค.

ก็เลยอยากจะเก็บตกประเด็นเล็กๆ ในฐานะข้อสังเกตที่มีต่อการเลือกตั้งที่ผ่านมา ซึ่งในสองสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้เขียนไปแล้วในเรื่องของการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง (contentious politics) และพยายามแตะเรื่องของการลงคะแนนเสียงที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก (emotional vote) ไปบ้างแล้ว

คราวนี้จะขอกล่าวถึงอีกมิติหนึ่งที่สำคัญทั้งในการเมืองไทยช่วงเลือกตั้งในรอบนี้ และการเมืองโลกในช่วงที่ผ่านมา นั่นก็คือเรื่องของ “ความแท้” หรือ “ความเป็นของแท้” ที่เรียกว่า authenticity นั่นแหละครับ

Advertisement

เรื่องของความเป็นของแท้นี่เป็นประเด็นที่นักวิเคราะห์ทางการเมืองและนักรัฐศาสตร์จำนวนหนึ่งกำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมากในการวิเคราะห์ความนิยมและความเสื่อมของความนิยมของบรรดานักการเมือง

กล่าวคือ เดิมนั้นการเมืองอาจจะสนใจกันในเรื่องของบุคลิกภาพ ความเป็นผู้นำ นโยบาย การตัดสินใจเลือกว่าจะเป็นการตัดสินใจเลือกตามอุดมการณ์ หรือตามยุทธศาสตร์

ทีนี้ในตอนนี้เกิดมีความสนใจกันมากว่า เอาเข้าจริงเหตุผลที่นักการเมืองหลายคนได้รับความนิยม หรือเสื่อมความนิยม โดยเฉพาะในสากลโลกนั้นมันไม่ใช่เรื่องของความเป็นคนดี หรือเป็นคนไม่ดีในเชิงศีลธรรม

Advertisement

แต่เป็นเรื่องของ “ความเป็นของแท้” มากกว่า

ตัวอย่างเช่น การตั้งคำถามกับความนิยมของโดนัลด์ ทรัมป์ และฮิลลารี คลินตัน โดยมีการอธิบายว่า เหตุผลที่ทรัมป์นั้นเป็นที่นิยมและได้รับการเลือกตั้งทั้งที่มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นมือใหม่ถ้าเทียบกับฮิลลารี ก็เพราะคนที่เลือกทรัมป์อธิบายว่า ทรัมป์นั้นเป็นของแท้ คือเป็นคนที่เป็นแบบนั้นแหละ ไม่ใช่นักการเมืองแบบที่เราคุ้นเคยที่ไม่ใช่ของแท้ในความหมายของพวกเขา

ขณะที่ฮิลลารีนั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นคนที่มีความเป็นนักการเมืองสูง บางครั้งอาจจะปากไม่ตรงกับใจ หรือมุ่งที่จะได้อำนาจและคะแนนมากกว่า ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องแปลก เพราะสำหรับคนที่ไม่ชอบฮิลลารีกลับไม่ได้มองว่าฮิลลารีนั้นเป็นนักการเมืองที่มีประสบการณ์และเข้าใจปัญหาของประชาชน

กรณีของความนิยมและความเสื่อมความนิยมที่มีต่อหัวหน้าพรรคแรงงานของอังกฤษ ตั้งแต่โทนี แบลร์ และเจเรมี คอร์บิน ก็เช่นกัน หลายคนแสดงความผิดหวังกับภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนไปจากการที่หัวหน้าพรรคของพวกเขาที่เคยถูกมองว่าเป็นนักการเมืองที่มีจุดยืนอุดมการณ์เคียงข้างประชาชน

แต่เมื่อเข้ามาสู่แวดวงการเมืองจริงๆ แล้วก็มีอันต้องประนีประนอมกับเรื่องหลายๆ เรื่อง จนไปถึงการถูกมองว่าพวกเขาเปลี่ยนไป

ความเป็นของแท้นี้นิยามง่ายๆ ว่าเป็นเรื่องของการเป็นตัวของตัวเอง (be yourself) ว่ากันว่าในยุคปัจจุบัน สื่อมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ และประชาชนนั้นเสพสื่อมากกว่าสื่อสิ่งพิมพ์มาสู่สื่อโทรทัศน์และสื่อโซเชียล ดังนั้นคนจำนวนมากต้องการนักการเมืองที่ดูมีความจริงใจและเป็นตัวของตัวเองเหมือนกับมีเพื่อนและคนในครอบครัว หรือเหมือนคนธรรมดาๆ ที่พวกเขาสัมผัสได้ นั่งคุยได้ ไม่ถือตัว

ความเป็นที่นิยมว่านักการเมืองนั้นเป็นของแท้จึงไม่ใช่เรื่องของการมีความรู้ความสามารถเสมอไป แต่เป็นเรื่องของการที่พวกเขาเป็นที่น่าเชื่อถือ ความน่าเชื่อถือในแง่นี้คือการเป็นที่เชื่อใจ-ไว้ใจ (trust) ว่าจะทำอะไรไปตามนั้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีอุดมการณ์ไปในทางเดียว คือต้องช่วยคนจนเสมอไป แต่คือเชื่อว่าเขาจะเป็นคนที่จริงใจกับการกระทำของเขา

ผมคิดว่าประเด็นนี้ความน่าสนใจอยู่ที่ว่า ความจริงใจตรงไปตรงมากับการกระทำของเขา ทำให้เราเห็นได้ว่า นักการเมืองหลายคนที่เราไม่ชอบ ทำไมเขาก็มีคนที่นิยมและติดตามเขาเช่นกัน

หรือบางทีเราไม่ได้รู้สึกว่าเขาเข้าท่า บางทีอาจจะดูเลวร้ายด้วยซ้ำ อาทิ กล้าคิดกล้าพูดเรื่องแบบนั้นมาได้อย่างไร ทำไมดูโง่อย่างนี้ ทำไมดูมั่วแบบนี้ ใครจะไปเลือก (ฟระ) แต่ไหงคนที่คิดต่างจากเรามีตั้งเยอะ และบางทีอาจไม่ใช่เรื่องของอุดมการณ์หรือการเลือกเชิงยุทธศาสตร์ด้วยซ้ำ แต่ว่าอาจจะเป็นเรื่องของความรู้สึกของบรรดาผู้เลือกตั้งว่าพวกเขาเลือกคนที่พวกเขาต้องการเพราะคนเหล่านั้นตรงใจของเขา

ทีนี้คำถามก็คือว่า ไอ้ความรู้สึกว่านักการเมืองบางคนนั้นเป็นของจริงมันแปลว่านักการเมืองเหล่านั้นจะประนีประนอม หรือเปลี่ยนจุดยืนได้ไหม? คำตอบก็คือว่ามีหลายกรณีที่นักการเมืองเหล่านั้นสามารถประนีประนอมได้ และเปลี่ยนจุดยืนได้ สิ่งสำคัญส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากฉันทามติของสังคมที่มองว่าสังคมนั้นมีอนาคต หรือสังคมรู้สึกว่าจำเป็นจะต้องเกิดความเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงนั้นจะทำให้สังคมมันดีขึ้น พวกเขาอาจจะรู้สึกรับได้ว่านักการเมืองของเขานั้นจะเปลี่ยนจุดยืนและมุมมองได้

อีกประเด็นที่น่าสนใจสำหรับความเป็นของแท้ทางการเมืองก็คือ เอาเข้าจริงความเป็นของแท้นั้นบางครั้งก็ขึ้นกับมุมมองของประชาชนเสียเป็นส่วนมาก

และสิ่งสำคัญความเป็นของแท้นั้นส่วนมากจะวัดประเมินได้จากการกระทำไม่ใช่การพูดปราศรัย หรือการดีเบตเท่านั้น

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราต้องทำความเข้าใจด้วยว่า ถ้านักการเมืองแต่ละคนเขามีฐานคะแนนของตัวเองแล้ว และคนบางคนที่เป็นของแท้แม้ว่าเราจะไม่ชอบ เราก็ต้องยอมรับว่าก็มีคนเลือกเขามา และคนเลือกเขาก็เป็นของแท้เหมือนกัน คำถามก็คือ เราจะอยู่กับคนที่ต่างจากเราได้อย่างไร ทั้งนักการเมืองที่เป็นของแท้แต่เราไม่ชอบ และคนที่เลือกนักการเมืองเหล่านั้นได้อย่างไร

มานั่งคิดเรื่องเมืองไทย ผมว่าเรื่องของความเป็นของแท้ของนักการเมืองนั้นมันก็ขึ้นอยู่กับสายตาคนมอง บางคนก็รับได้กับการเปลี่ยนไป บางคนก็วิจารณ์และแซะกันกับความเปลี่ยนแปลง เรื่องนี้ไม่มีข้อยุติ แต่ที่สนุกสนานก็คือ บางครั้งเราไม่เข้าใจว่าทำไมนักการเมืองบางคนถึงเปลี่ยนภาพลักษณ์ของเขาไป ทำไมการเมืองจะต้องสร้างภาพให้เป็นลุง บางคนไม่ตอบคำถามว่าที่พูดนั้นหมายความอย่างไร หมายความตามที่พูดจริงไหม หรือบางคนไม่ตอบคำถามว่าตกลงเขาเปลี่ยนจุดยืนไหม หรืออะไรจะเป็นเงื่อนไขที่เขาต้องเปลี่ยนจุดยืน และเรารับได้ไหม เพราะสุดท้าย การเมืองนั้นนอกจากจะหมายถึงการแสวงหาความจริงแท้ หรือความเป็นของแท้ การเมืองก็จะต้องมีมิติของความประนีประนอมด้วย

เรื่องทั้งหมดนี้จะเห็นว่า การเมืองบางครั้งเป็นเรื่องของความรู้สึก ส่วนหนึ่งของความรู้สึกที่เราเชื่อ หรือชอบบางคนนั้นอาจจะเป็นเพราะว่าเขาเป็นของแท้ ทั้งแท้จริงๆ เพราะไม่เคยเปลี่ยน แท้เพราะเปลี่ยนได้ตลอด หรือแท้เพราะเอาแน่เอานอนไม่ได้ก็ได้ครับ

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image