เรื่องที่สิ้นสงสัยและที่ยังสงสัย หลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 : โดย กล้า สมุทวณิช

แม้ในขณะประมาณ 23 นาฬิกาของวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ผมเขียนต้นฉบับนี้จะยังอยู่ในสภาพฝุ่นตลบ เนื่องจากการจัดการเลือกตั้งที่เหมือนจะไม่เรียบร้อยนัก ทั้งจำนวนบัตรเสียที่มากกว่าสองล้านใบ ภายใต้มาตรฐานที่ไม่แน่นอนสักอย่าง ทั้งยังพบว่าการรวมคะแนนในหลายเขตเลือกตั้งมีคะแนนมากกว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิอยู่หลายหน่วยเลือกตั้ง หรือแม้แต่พรรคการเมืองที่ถูกตัดสิทธิส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งไปแล้ว แต่ก็ยังได้รับการคำนวณหาจำนวน ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อปรากฏอยู่

แต่ก็เชื่อว่าในตอนที่คอลัมน์นี้ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์และเผยแพร่ทางเว็บไซต์ รายงานผลคะแนนที่ไม่เป็นทางการแต่ก็คงจะนิ่งจนน่าจะสามารถสรุปผลได้แล้วในระดับหนึ่ง

สิ่งที่ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงและปฏิเสธได้ยาก คือการพลิกล็อกอย่างเกินความคาดหมายของสองพรรคการเมืองใหม่ ที่แม้ว่าเราจะได้เห็นความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันอย่างชัดเจน แต่แรกทีก็คงไม่มีใครคิดว่าพวกเขาจะเป็นคู่ต่อสู้กันตรงๆ แบบดวลเดี่ยวกันในหลายเขตเลือกตั้ง โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและในหลายจังหวัดเช่นนี้

คือคู่ของพรรคอนาคตใหม่และพรรคพลังประชารัฐ

Advertisement

จุดร่วมของทั้งสองพรรคนี้ก่อนการเลือกตั้ง คือได้รับการ “ประเมินต่ำ” เกินกว่าผลการเลือกตั้งที่ปรากฏให้เห็น สำหรับพรรคแรกนั้น แม้จะได้รับการประเมินในโค้งสุดท้ายว่ากระแสน่าจะมาแรงจนได้ที่นั่งเป็นกอบเป็นกำ แต่ก็คาดการณ์กันไว้อยู่ที่อย่างมากก็ 60-70 ที่นั่ง ไม่เกินนี้ และน่าจะแทบไม่ได้ ส.ส.เขตเลย เพราะไม่มีฐานมีธงมาก่อน นอกจากกระแสในโลกโซเชียลซึ่งมองไม่เห็น “พื้นที่” ของมันชัดเจนนัก

กลายกลับเป็นว่าพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่นี้น่าจะผ่านตัวเลขระดับ 80 ที่นั่งได้สบายๆ แต่จะ 80 ปลายหรือทะลุถึง 90 คือเรื่องที่จะต้องลุ้นกัน อีกทั้งพรรคยังได้ ส.ส.เขตทั้งในกรุงเทพฯ และหลายจังหวัดอย่างไม่น้อยหน้าใครด้วย

ในขณะที่พรรคพลังประชารัฐที่ถูกประเมินต่ำจากกระแสตอบรับ และเหมือนจะดูเงียบเหงาวังเวงลงไปทุกทีหากพิจารณาจากกระแสความนิยมในโลกโซเชียล จนคาดกันว่าจะมาเป็นที่สามโดยมีที่นั่งอย่างเก่งก็ 80 ถึงเกือบร้อย หากเมื่อลงสนามจริงกลับกลายเป็นเสียงจากพลังเงียบส่งให้ผงาดง้ำ ไล่บี้ชิงที่หนึ่งกับพรรคเพื่อไทยอย่างสูสี ทั้งที่ปักธงกวาดที่นั่งได้เป็นกอบเป็นกำในระบบแบ่งเขต แต่หากที่น่าสนใจกว่า คือคะแนนระบอบบัญชีรายชื่อที่ท่วมท้นแข่งกับพรรคอนาคตใหม่

แสดงให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศก็ยังเลือกพรรคนี้อย่างเป็นนัยสำคัญ มิใช่เพียงมี “พลังดูด” จาก ส.ส.ระบบแบ่งเขตดังที่ถูกปรามาสไว้แรกๆ

จนอาจกล่าวได้ว่า สนามการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 8 ปีนี้ คือการต่อสู้กันระหว่างสองพรรคที่เป็นตัวแทนของจารีตนิยมและอำนาจนิยม กับตัวแทนของฝ่ายเสรีนิยม การยื้อยึดกันระหว่างตัวแทนของคนหนุ่มสาวที่มีความหวังต่อการเปลี่ยนแปลง กับกลุ่มผู้มีอายุที่มุ่งพิทักษ์รักษาคุณค่าของศีลธรรมอันดีและความสงบเรียบร้อย

หรือขั้วสองแห่ง “ความหวัง” และ “ความหวั่นเกรง” ระหว่างผู้ที่หมายวิ่งไปข้างหน้า กับดึงจังหวะช้าเพื่อความมั่นคง

เราคงต้องยอมรับว่ากล่าวโดยรวม ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ให้คำตอบแล้วว่า พวกเขายังต้องการรักษาคุณค่าอันดีงามบางประการอยู่ และผู้คนที่ออกไปลงคะแนนเสียงกันมหาศาลนั้นก็มิใช่การออกไปเพื่อแสดงออกว่าต้องการความเปลี่ยนแปลงอย่างที่หลายฝ่ายเผลอคิดคาดอย่างฮึกเหิมเมื่อได้เห็นภาพของการเลือกตั้งล่วงหน้า แต่ภาพนั้นเป็นการออกไปเพื่อ “ยืนยัน” ความคิดและความเชื่อของแต่ละคน ว่าจะเลือกให้ประเทศของตนดำเนินต่อไปภายใต้อุดมคติแบบไหน

นี่คือเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องยอมรับร่วมกัน ฝ่ายหนึ่งที่ร้อนแรงผลิบานในวันนี้ จะต้องยอมรับว่าผู้คนส่วนใหญ่ที่เป็น “กระแสหลัก” ในสังคมนั้นยังเลือกหนทางแห่งความสงบและความเป็นระเบียบเรียบร้อยตามขนบจารีตอันดีงามอยู่

ส่วนฝั่งฝ่ายกระแสหลักดังกล่าวก็อาจต้องทำใจยอมรับว่า แม้พวกท่านจะชนะในวันนี้ แต่ความเปลี่ยนแปลงก็ใกล้มาถึงอย่างหายใจรดต้นคอ ใต้ผิวมวลน้ำกระแสหลักที่ดูไหลเอื่อยมั่นคงนั้น มีทางธารกระแสรองที่เชี่ยวกรากอย่างที่ไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้จะพลิกกลับขึ้นสู่ผิวน้ำเป็นกระแสหลักได้หรือไม่

จากนี้ไปคือการต่อสู้ที่ท้าทายของฝ่ายที่เชื่อว่าเป็นประชาธิปไตย สิ่งแรกที่ต้องยินยอมน้อมรับ คือเราจะอยู่ร่วมและต่อสู้ในทางความคิดต่อไปอย่างไร

ระหว่างนี้ เราอาจจะต้องมาทบทวน “ข้อกฎหมาย” บางประการที่จะเป็นผลต่อการคาดการณ์เรื่องราวทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นนับตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป

สิ่งแรกที่ต้องย้ำเตือนกันไว้ก่อน คือแม้ว่าตัวผู้ทรงอำนาจรัฐนั้นจะมีสถานะเป็นเพียงหนึ่งในแคนดิเดตที่เป็นไปได้ (อย่างสูงที่สุด) ว่าจะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่สิ่งที่แน่นอนและยังไม่เปลี่ยนแปลง คือท่านผู้นั้นยังคงดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหารผู้มีอำนาจยกเว้นพิเศษตามรัฐธรรมนูญอยู่อย่างสมบูรณ์ทุกประการ อำนาจยกเว้นพิเศษนี้คือ การใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ต่อท่อเจาะช่องทางพิเศษมาอยู่ในโลกภพแห่งรัฐธรรมนูญปัจจุบัน
ด้วย

มาตราสารพัดนึกหมายเลข 44 ก็ยังคงอยู่ และผู้ถือใช้อำนาจนั้นก็ยังเป็นคนเดิม เขาอาจจะลุ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน แต่ที่ไม่ต้องลุ้น คืออำนาจที่เขาเคยมีอย่างไรก็ยังคงมีอยู่เช่นนั้น ด้วยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 265 บัญญัติให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติจะดำรงคงตำแหน่งอยู่จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่

และคณะรัฐมนตรีนั้นจะตั้งขึ้นใหม่ได้ก็ต่อเมื่อมีนายกรัฐมนตรี

และนายกรัฐมนตรีจะมีได้ก็ต่อเมื่อมี “รัฐสภา” ซึ่งเป็นผลมาจากบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ซึ่งเรื่องนี้ผู้สนใจเรื่องการเมืองคงรู้กันดีอยู่แล้วว่าในการเลือกตั้งภายใต้วุฒิสภาชุดนี้ พวกเขาจะมีสิทธิในการให้ความเห็นชอบผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี

โดย “รัฐสภา” ซึ่งประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภานั้น จะมีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเรียบร้อยแล้ว จากนั้นจึงจะมีวุฒิสภาที่มาตรา 269 ที่คณะ คสช.จะต้องเสนอชื่อให้ได้ภายใน 3 วัน นับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

และภายใต้ระยะเวลานี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องปฏิบัติหน้าที่รับรองผลการเลือกตั้งให้ลุล่วงจนครบจำนวน 350 คนของ ส.ส.ระบบเขตก่อน จึงจะได้คะแนนเสียงสุทธิของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งประเทศสำหรับทุกพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อมาหารจำนวนห้าร้อยเพื่อคำนวณจำนวน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อที่พวกเขาอาจจะได้รับเพิ่มชดเชยจำนวนคะแนนเสียงจากคนทั้งประเทศที่เลือกพรรคนั้นที่ได้รับการรับรอง

เช่นนี้ย่อมหมายความว่า หากมีผู้สมัครที่ไม่ได้รับการรับรองถูกใบสารพัดสีของ กกต. คะแนนนั้นก็จะหกหายแปรเปลี่ยนซึ่งส่งผลต่อการคิดคำนวณอย่างแน่นอน

กล่าวโดยสรุป คือเราไม่รู้ว่าเมื่อไรเราถึงจะมีรัฐสภาและรัฐบาลที่มีตัวตนในทางรัฐธรรมนูญ เพราะมันเป็นไปได้ตั้งแต่ว่า กกต.อาจประกาศรับรองและประกาศผลการเลือกตั้งได้ในหนึ่งถึงสองสัปดาห์ หรือแม้แต่ลากยาวต่อไปเพียงไรก็ได้

เพราะแม้เหมือนจะมี “กรอบเวลา” ตามมาตรา 268 กำหนดไว้ 150 วันนับแต่วันที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั้งหลายใช้บังคับ นั่นคือนับแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2561 และสิ้นสุดในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 หรือในอีกราวเดือนครึ่งนับจากนี้ แต่กระนั้นก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า คำว่า “ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้ให้แล้วเสร็จ” นี้ หมายความว่าอะไร จุดที่เรียกว่า “แล้วเสร็จ” นั้นอยู่ตรงไหน ถ้าจะถือเอาเมื่อประชาชนได้กาบัตรยัดลงหีบเป็นอันแล้วเสร็จ ก็ถือว่าเสร็จสิ้นไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ 17 นาฬิกาของวันอาทิตย์

ถ้าอย่างนั้นการประกาศผลการเลือกตั้งหรือให้ใบเหลืองใบส้มใบแดงเลือกตั้งใหม่ จะยืดเยื้อยาวนานไปอีกเท่าไรก็ได้ไม่มีกรอบเวลาบังคับ ทั้งนี้ ขึ้นกับความละอายและเกรงใจประชาชนของท่านผู้จัดการเลือกตั้ง

หรือแม้แต่ว่า หากคำว่า “ดำเนินการเลือกตั้ง ฯลฯ ให้แล้วเสร็จ” นี้รวมถึงการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการด้วย ก็จะมีกรอบเวลาถึงวันที่ 9 พฤษภาคม ที่ว่า แต่กระนั้น เรื่องที่น่าสงสัยคือการ “เกิน” ระยะเวลา 150 วันตามมาตรา 268 นี้จะส่งผลอย่างไร

เพราะมาตรา 268 ก็บัญญัติจบลงไว้เพียงเท่านั้น ไม่ได้กำหนด “สภาพบังคับ” ว่าจะเกิดผลอย่างไร ซึ่งแตกต่างจากหลายกรณีในทางรัฐธรรมนูญที่จะมีกรอบเวลากำหนดไว้ พร้อมกับสภาพบังคับว่าหากเลยกรอบเวลานั้นแล้วจะให้มีผลอย่างไร เช่นที่มาตรา 136 กำหนดกรอบเวลาที่วุฒิสภาจะต้องพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่เสนอมาจากสภาผู้แทนราษฎรให้เสร็จภายใน 30 หรือ 60 วัน ตามแต่กรณี

และถ้าวุฒิสภาพิจารณาไม่เสร็จภายในกำหนดเวลาข้างต้น ก็ให้ถือว่าวุฒิสภาได้ให้ความเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัตินั้น

โดยทางวิชาการแล้วกรอบเวลาตามกฎหมายนั้นอาจแบ่งได้เป็นสองประเภท คือระยะเวลาบังคับ ที่ได้แก่ระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่าถ้าเลยระยะเวลาดังกล่าวแล้วจะเกิดผลอย่างไรโดยชัดเจน กับระยะเวลาเร่งรัด ที่กฎหมายไม่ได้กำหนดผลของการใดที่ล่วงเลยระยะเวลานั้นไว้ กล่าวได้ว่าเป็นระยะเวลาที่กำหนดไว้เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องผู้มีอำนาจ “รีบทำ” ให้เสร็จ หากไม่เสร็จก็อาจต้องรับผิดเฉพาะตัวไป แต่ไม่ส่งผลให้การนั้นเสียเปล่า

แต่กระนั้น หากการประกาศผลการเลือกตั้งล่วงเลยระยะเวลา 150 วันนั้นไปก็จริง และมีผู้ร้องขอให้มีการวินิจฉัยชี้ขาดว่าจะเกิดผลอย่างไร เรื่องก็น่าจะตกไปที่ศาลรัฐธรรมนูญว่าจะชี้ว่า “สภาพบังคับ” ของกรอบเวลาตามมาตรา 268 นี้จะส่งผลต่อความสมบูรณ์ของการเลือกตั้งหรือไม่

เช่นนี้ การเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์อาจมีนัยเพียงภาพอันชัดเจนที่ชี้แสดง “โครงสร้าง” เชิงค่านิยมและอุดมการณ์ของประชาชนในประเทศนี้เท่านั้น ส่วนมันจะส่งผลทางการเมืองอย่างไร ใครจะเป็นรัฐบาลหรือเป็นฝ่ายค้าน ก็ยังเร็วไปที่จะคาดหมายฟันธง เพราะยังอาจจะต้องรอความชัดเจนอยู่อีกระดับหนึ่งทีเดียว

แต่ที่ไม่ต้องสงสัยอย่างที่กล่าวไปแล้ว คือหัวหน้า คสช. ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีควบกับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ยังคงมีอำนาจเต็มของเขาอยู่อย่างที่เคยมีตลอดสี่ห้าปีที่ผ่านมา

สุดท้ายแล้วข้อสงสัยทั้งหลายทั้งปวงในทางกฎหมายนั้น ก็อาจจะปัดเป่าจบลงได้ตามแต่ใจท่าน ด้วยการออกคำสั่งฉบับเดียวด้วยอำนาจวิเศษแห่งมาตรา 44

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image