เดินหน้าชน : ผมไม่อยากเป็น ส.ว. : โดย สัญญา รัตนสร้อย

คงไม่คลาดเคลื่อนนัก หากจะพูดถึง “เลือกตั้ง 24 มีนาฯ” มีความพิเศษ ผิดแผก แตกต่าง เทียบกับการเลือกตั้งทุกครั้ง

ไล่ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นครั้งแรกเปิดให้ทำประชามติกฎหมายสูงสุดของประเทศ ดูเหมือนแฟร์แต่เต็มไปด้วยข้อถกเถียงมากมาย รวมไปถึงถูกออกแบบมาเพื่อบางพรรคการเมือง

ทั้งกฎกติกาอันเป็นผลตามมา เกิดสิ่งที่เรียกว่าระบบจัดสรรปันส่วนผสมสำหรับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ผู้เขียนกติกาให้เหตุผลเพื่อทุกเสียงของผู้ลงคะแนนมีความหมาย หรือคะแนน “ไม่ตกน้ำ”

วิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อนจนชาวบ้านเวียนหัว

Advertisement

เอาเข้าจริงมีผู้ตั้งข้อสังเกตเรื่องคะแนน “ไม่ตกน้ำ” เห็นจะไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะหากพรรคการเมืองใดได้ ส.ส.เขตเลือกตั้งถึงระดับ “พึงมี” โอกาสได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นศูนย์ทันที

เท่ากับทุกคะแนนเสียงที่เทให้พรรคการเมืองนั้น เรียกได้ว่า “ตกน้ำ” ในระบบ ส.ส.บัญชีเช่นกัน

กฎกติกาดังกล่าว ยังมีผลให้แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีพรรคใดพรรคหนึ่งได้จำนวน ส.ส.เด็ดขาด หรือเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร

Advertisement

พรรคการเมืองตกที่นั่งเบี้ยหัวแตกไปจัดตั้งรัฐบาลผสม เป็นปัญหาการบริหารประเทศตลอดมา

รัฐธรรมนูญ 2560 ยังสร้างมิติใหม่แก่การเมืองไทย ให้สิทธิ 250 ส.ว.ร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี

เป็น ส.ว.อันมีที่มาคัดสรรโดย คสช. 244 คน และอีก 6 คน มาจากข้าราชการประจำ

คสช.ที่มีหัวหน้าคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ

ข่าวรอบด้าน กับ Line@มติชนนิวส์รูม คลิกเป็นเพื่อนกัน ได้ที่นี่

เพิ่มเพื่อน

กฎกติกาข้างต้นบวกกับขบวนการชวนพิศวงก่อนวันเลือกตั้ง ปรากฏผลการลงคะแนน ส.ส.เขตและการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่ออย่างไม่เป็นทางการของพรรค 5 อันดับแรก ดังนี้

พรรคเพื่อไทย 135 เสียง พรรคพลังประชารัฐ 119 เสียง พรรคอนาคตใหม่ 88 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ 55 เสียง พรรคภูมิใจไทย 52 เสียง

ต้องบันทึกไว้ด้วยว่า น่าผิดหวังอย่างแรงสำหรับกองเชียร์พรรคประชาธิปัตย์ พื้นที่ กทม.พรรคประชาธิปัตย์เคยครองอันดับ 1 มี ส.ส. 23 ที่นั่งในการเลือกตั้งปี 2554

ครั้งนี้ไม่เพียงเสียแชมป์ แต่ไม่ได้ ส.ส.กทม.แม้เก้าอี้เดียว

ผลเลือกตั้งอย่างไม่ทางการ ช่วยให้เห็นภาพลางๆ ของการเมืองรอบต่อไป อ้างอิงรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนเสียง 500 คน บวกกับ ส.ว. 250 คน เท่ากับ 750 เสียง หรือต้องเกินกว่า 376 คนขึ้นไป

ความเป็นไปได้ก็คือ

พรรคพลังประชารัฐรวบรวมพรรคการเมืองอื่นได้จำนวน ส.ส.เกินกึ่งหนึ่ง หรือ 251 ที่นั่งขึ้นไป หมดปัญหา 250 เสียงของ ส.ว.ที่จะเทคะแนนให้ พล.อ.ประยุทธ์ไปตั้งรัฐบาล ด้วยความสะดวกใจ

แต่ถ้ารัฐบาลใหม่ของ พล.อ.ประยุทธ์มีเสียงพ้นน้ำไม่มาก ซึ่งแนวโน้มเป็นอย่างนั้น (หากดูเสียง ส.ส.ขั้วตรงข้าม) ขณะที่ธรรมชาติของรัฐบาลผสมย่อมเกิดการต่อรองสูง บริหารราชการยากที่จะราบรื่น โดยเฉพาะการผ่านกฎหมายสำคัญของรัฐบาล เพราะไม่มี ส.ว.เป็นตัวช่วยแล้ว

สถานะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อาจเปราะบางจนถึงอายุสั้นในที่สุด

ในทางตรงข้าม พรรคเพื่อไทยและพรรคพันธมิตร รวม ส.ส.ได้เกิน 251 เสียง แน่นอนไม่โหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์

เสียงของ 250 ส.ว.จะไปทางไหน? เมื่อที่มาก็อย่างที่รับรู้กันอยู่

ระหว่างยึดเจตจำนงของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกนายกฯที่สนับสนุนโดยพรรคเพื่อไทยและพรรคพันธมิตร

หรือเพิกเฉยต่อเจตจำนงข้างต้นและหลักเสียงข้างมากในระบอบประชาธิปไตย ฝืนใส่แต้มให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งที่มีเสียงไม่ข้ามเส้น ยิ่งยุ่งเหยิงไปกันใหญ่

มีการมองข้ามช็อต หากออกหน้านี้ ส.ว.อาจเลือกงดออกเสียงโหวตนายกฯ นำไปสู่ “ติดล็อก” ทางการเมือง เปิดช่องนายกฯคนนอกบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอไว้ ตามรัฐธรรมนูญ ม.272 วรรค 2 ส่วนกระบวนการจะเป็นอย่างไรก็ไปว่ากัน

ทางเลือกของ 250 ส.ว. จึงมีผลสำคัญต่อความเป็นไปของบ้านเมืองอย่างสูง

บทบาทพิสดารแบบนี้ เป็นผม “ผมไม่อยากเป็น ส.ว.”

สัญญา รัตนสร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image