สุจิตต์ วงษ์เทศ : ของดีมีอยู่ ที่วัดหน้าพระธาตุ อ.พนัสนิคม อ.ชลบุรี

เศษซากโบราณวัตถุ กองสุมรวมกับงานช่างรุ่นใหม่ๆ อยู่ใต้ต้นไม้ใกล้ศาลาใหญ่ ในลานวัดหน้าพระธาตุ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี

เฉพาะที่เห็นว่าเป็นของเก่า ล้วนเก็บจากเมืองพระรถ ยุคทวารวดี ราวหลัง พ.ศ.1000 (รุ่นเดียวกับเมืองนครปฐมโบราณ จ.นครปฐม, ไล่เลี่ยหลังเมืองอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี) มีทั้ง

พระพุทธรูป, หินบดยา, ระฆังหิน, ฐานประติมากรรม ฯลฯ

ไม่ควรทิ้งรกอย่างนี้ แต่ควรเก็บไว้ในศาลา แล้วจัดวางเป็นที่เป็นทาง เพราะทั้งหมดล้วนเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดี บอกความเป็นมาของท้องถิ่น ทั้งพนัสนิคมและชลบุรี

Advertisement

 

ตำนานกับพงศาวดาร

อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี มีเมืองโบราณอายุราวหลัง พ.ศ.1000 ยุคทวารวดี ชื่อเมืองแท้จริงว่าอะไร? ไม่พบหลักฐาน
แต่กลุ่มลาวลุ่มน้ำโขงที่อพยพครัวมาอยู่ใหม่สมัย ร.3 สมมุติชื่อเรียกเมืองโบราณนี้ว่า เมืองพระรถ ตามตำนานบรรพชนลาวเรื่องพระรถ เมรี

Advertisement

ตำนาน และนิทาน (คือคำบอกเล่า) ไม่เป็นเรื่องจริง แต่คนกลุ่มหนึ่งมีความทรงจำร่วมกันจริงๆ ต่อนิทานตำนานเรื่องนั้นๆ แล้วยังเชื่อร่วมกันว่าเป็นเรื่องจริง โดยยกย่องเป็นบรรพชนของพวกตน มีพิธีกรรมเลี้ยงเซ่นผีประจำปีสืบเนื่องจนทุกวันนี้

ความทรงจำร่วมกันในเรื่องพระรถ เมรี สืบทอดถึงราชสำนักอยุธยา หลัง พ.ศ.2000 มีหลักฐานสมุดข่อยกาพย์ขับไม้เรื่องพระรถ ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก (ขึ้นครองราชสมบัติ) และงานสมโภชชั้นสูง รวมทั้งใช้เห่กล่อมยอพระเกียรติ มีในกฎมณเฑียรบาลยุคต้นอยุธยาเรื่อง “เสภาดนตรี”

หลักฐานจากวรรณกรรมและประเพณีพิธีกรรมทำในยุคนั้นๆ น่าเชื่อถือหนักแน่นกว่าสิ่งอื่นอีกหลายอย่าง เช่น พงศาวดาร ซึ่งแต่งสมัยหลังเหตุการณ์จริงหลายร้อยปี

พงศาวดาร เป็นเรื่องราวของวงศ์วานว่านเครือเชื้อสายที่อวตารเป็นพระราชาครองเมืองนั้นๆ มีทั้งส่วนเชื่อถือได้ และส่วนที่เชื่อถือไม่ได้ เพราะพงศาวดารเต็มไปด้วยเรื่องยอพระเกียรติที่แต่งเติมสมัยหลังๆ ให้มหัศจรรย์แบบนิยาย

พงศาวดารบางฉบับมีข้อความที่ล้วนแสดงความจริงในยุคสมัยของคนแต่ง ไม่ใช่ยุคสมัยที่พงศาวดารอ้างถึง

ความรู้ที่แท้จริง

ครูบาอาจารย์ในสถานศึกษาทุกระดับ ต้องระวังเรื่องอย่างนี้ ไม่ควรงมงายลุ่มหลงพงศาวดารว่าจริงทั้งหมด แล้วชี้ขาดว่าเป็นประวัติศาสตร์จริงแท้ตามนั้น

ขณะเดียวกันก็ไม่ควรหลงว่าสิ่งที่ตนและคณะรู้นั้น เป็น “ความรู้ที่แท้จริง” เพราะนั่นเป็นแค่ความรู้สึกนึกคิดไปเองกลุ่มเดียว ยังมีคนกลุ่มอื่นอีกมากที่คิดต่าง แล้วรู้สึกเช่นกันว่าเป็น “ความรู้ที่แท้จริง”

ประวัติศาสตร์โบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะ ต้องมีเสรีภาพที่จะวิพากษ์วิจารณ์ และรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์จากคนอื่น โดยไม่ผูกขาดว่าตนและคณะเท่านั้นคือผู้มี “ความรู้ที่แท้จริง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image