พระอรหันต์ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ธุดงค์ผจญภัยรูปเดียวและนิมิตเคยเป็นสุนัขมาก่อน

ตอนที่ 10 ธุดงค์ผจญภัยรูปเดียวถึงถ้ำไผ่ขวาง พ.ศ.2455

ท่านได้พิจารณาในตัวของท่านเองว่า ที่เราบำเพ็ญนี้ถูกบ้างผิดบ้าง แต่ก็พอจะรู้ทางถูกทางผิดบ้างแล้ว ถ้าเราจะอยู่ที่วัดเลียบต่อไป การทำความเพียรของเราก็จะไม่สามารถทำถึงขั้นอุกฤษฏ์ได้ เพราะยังเกี่ยวข้องกังวลบางสิ่งบางประการ จึงตัดสินใจออกป่าแต่ผู้เดียว โดยท่านเอาร่มจีนมาแทนกลด เพราะถ้าเอากลดไปด้วยแล้ว ก็จะทำให้คนทั้งหลายเข้าใจว่าเป็นพระธุดงค์ ก็จะมารบกวนหาของขลังอย่างโน้นอย่างนี้ เป็นกังวล เป็นอุปสรรคต่อการประกอบความเพียร ท่านเห็นพระธุดงค์ที่ไปพระพุทธบาท ถึงกับเขียนไว้ข้างมุ้งกลดเลยว่ามีพระให้เช่า ท่านบอกว่า พระที่ธุดงค์โดยมุ่งหวังชื่อเสียง ลาภสักการะนั้น อย่าธุดงค์ดีกว่า เราเข้าป่าเพื่อแสวงหาธรรมปฏิบัติ ก็ควรจะยกความกังวลทั้งหลายออกไปเสีย

ท่านเดินธุดงค์ออกจากจังหวัดอุบลราชธานีครั้งนี้ ด้วยการเดินเท้าเปล่ารอนแรมผ่านดงพญาเย็นเรื่อยมา แทบจะกล่าวได้ว่าท่านได้ผ่านภูเขาแทบทุกลูกในประเทศไทย แต่แล้วก็ยังไม่เจอที่เหมาะในการทำความเพียร ในที่สุดการธุดงค์ของท่านในครั้งนั้นก็ลุมาถึงถ้ำไผ่ขวาง ข้างน้ำตกสาริกา เขตจังหวัดนครนายก ซึ่งในสมัยนั้นก็ยังคงเป็นป่าทึบและดงดิบอยู่ กลางป่าจึงดาษดื่นไปด้วยสิงสาราสัตว์ เช่น เสือ ช้างที่ดุร้าย พร้อมทั้งงูเห่าและงูจงอาง ท่านเล่าว่าเดินเข้าไปเย็นยะเยือกเงียบจากเสียงภายนอก มีแต่เสียงของพวกสัตว์นานาชนิด มันเป็นสิ่งที่เราปรารถนาและต้องการอยู่แล้ว เพราะจะพยายามทรมานตัวเอง

เมื่อท่านได้มุ่งหน้าเข้าไปยังถ้ำน้ำตกสาริกาบนภูเขา ในระหว่างทางได้พบหมู่บ้านไม่กี่หลังคาเรือนซึ่งเป็นชาวไร่ พวกเขาจึงถามท่านว่า “ท่านหลวงพ่อครับ จะไปไหน?” ท่านตอบว่า “จะไปบำเพ็ญสมณธรรมในเขาลูกนี้” บรรดาชาวไร่เหล่านั้นก็พากันตกตะลึง พยายามทัดทานว่า “อย่าเข้าไปเลยหลวงพ่อ เพราะพระที่เข้าไปในถ้ำนี้มรณภาพไปแล้วถึง 6 รูป ขอให้อยู่กับพวกผมที่บ้านนี้เถิด อย่าเข้าไปเลย” ท่านอาจารย์มั่นก็ตอบไปว่า “เออโยม ขอให้อาตมาเป็นรูปที่ 7 ก็แล้วกัน”

Advertisement

ท่านไม่ยอมฟังคำทัดทานของชาวบ้าน ได้เดินธุดงค์เข้ายังถ้ำภูเขาลูกนั้นต่อไป ถ้ำแห่งนั้นเป็นถ้ำที่ไม่ใหญ่โตเท่าใดนัก มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมหนาแน่นจนมืดครึ้มเป็นที่น่าสะพรึงกลัว ซึ่งเป็นที่พระธุดงค์ได้มรณภาพถึง 6 รูป ชาวบ้านแถวนั้นเขานำเอาศพไปบำเพ็ญกุศลกันตามมีตามเกิด ท่านอาจารย์มั่น เมื่อทอดอาลัยในชีวิต ก็วางบริขารไว้แห่งหนึ่งตรงปากถ้ำ จัดการสถานที่แล้วเดินดูรอบๆ บริเวณ ได้ยินแต่เสียงจักจั่นเรไรร้อง พวกนกส่งเสียงกระจิ๊บกระจ๊าบ ก็ยิ่งทำให้เกิดความวังเวงขึ้น เมื่อเวลาตอนพลบค่ำสนธยา รอบๆ บริเวณนั้นเต็มไปด้วยความสงัดเงียบ ถ้าเป็นคนที่มีจิตใจไม่แข็งพอ ก็อาจจะเป็นบ้าไปแล้วเพราะความกลัวเสียก็ได้ แต่ท่านอาจารย์มั่นเคยชินในเรื่องนี้เสียแล้ว จึงไม่มีอะไรจะมาทำให้จิตของท่านเกิดหวั่นไหว เมื่อค่ำลงสนิทแล้ว ท่านก็เริ่มบำเพ็ญความเพียรด้วยการนั่งสมาธิตลอดคืน ปรากฏว่าสว่างไสวไปทั่ว ซึ่งนับว่าเป็นนิมิตอันดีเป็นอย่างมากในค่ำคืนวันนั้น รุ่งขึ้นท่านก็ออกบิณฑบาตที่บ้านไร่นั้น นำอาหารกลับมาฉันที่ถ้ำ เมื่อฉันเสร็จแล้วท่านก็พักกลางวันไปสักชั่วโมง เพราะเหน็ดเหนื่อยมาตลอดคืนที่แล้ว แต่พอลุกขึ้น ท่านก็รู้สึกหนักตัวไปหมด และหนักผิดปกติจนท่านแปลกใจ

เมื่อท่านไปถ่ายอุจจาระ ก็รู้สึกว่าเป็นท้องร่วง เมื่อสังเกตดูอุจจาระก็พบว่าทุกอย่างไม่ย่อยเลย ข้าวสุกก็ยังเป็นเมล็ด แตงโมก็ยังเป็นชิ้น ถ่ายออกมาก็ยังมีสภาพเหมือนเดิม ท่านเข้าใจว่าเหตุนี้เองพระเหล่านั้นจึงมรณภาพตัวเราเองก็เห็นจะตายแน่เหมือนพระเหล่านั้น ท่านจึงเดินเที่ยวหาบริเวณอันที่จะทำให้เกิดความหวาดเสียว ซึ่งต้องเป็นที่เหมาะ เพราะจะต้องทำกันให้ถึงที่สุด แล้วท่านก็เหลือบไปเห็นหินก้อนใหญ่ก้อนหนึ่ง ตั้งอยู่บนปากเหวลึก แล้วท่านก็ทดลองโยนหินลงไปกว่าจะได้ยินเสียงก็กินเวลาอึดใจหนึ่ง ท่านก็กะว่าที่ตรงนี้เหมาะแล้ว

ถ้าเราจะต้องตายก็ขอให้ตายตรงนี้ ให้ท่านหล่นลงไปในเหวนี้เสีย จะได้ไม่ต้องเป็นที่วุ่นวายแก่ใครๆ ซึ่งจะต้องกังวลทำศพให้เรา

Advertisement

ตอนที่ 11 นิมิตเห็นอดีตเคยเกิดเป็นสุนัข : ในค่ำวันนั้นท่านตั้งปณิธานว่า “เอาล่ะ ถ้าเราไม่รู้แจ้งเห็นจริง ก็จะไม่ลุกจากที่นั่งนี้เป็นอันขาด” และในค่ำคืนวันนั้นเอง เมื่อท่านกำหนดจิตตามที่ท่านฝึกฝนไว้ตอนหลังสุดตามอุบายนั้น ก็เกิดการสว่างไสวดุจกลางวัน ซึ่งปรากฏเห็นกระทั่งเมล็ดทราย โดยปรากฏเห็นเหมือนกันทั้งกลางวันและกลางคืน ความผ่องใสของใจนี้ทำให้พิจารณาเห็นอะไรได้ทุกอย่าง แจ้งประจักษ์ขึ้นมาในปัจจุบันทั้งหมด การนั่งสมาธิคราวนี้ท่านใช้เวลา 3 วัน 3 คืน โดยไม่แตะต้องอาหารเลย การพิจารณาถึงกายคตา ตลอดถึงธรรมะต่างๆ ท่านได้ตัดความสงสัยทุกอย่างโดยสิ้นเชิงในการปฏิบัติจิต ในขณะที่การพิจารณาธรรมทั้งหลายอย่างได้ผลนั่นเอง นิมิตอย่างหนึ่งได้ปรากฏขึ้นแก่ท่านคือ เห็นเป็นลูกสุนัขกินนมแม่อยู่ ท่านได้ใคร่ครวญดูว่านิมิตที่เกิดขึ้นนี้จะต้องมีเหตุ เพราะขณะจิตขั้นนี้จะไม่มีนิมิตเข้ามาเจือปนได้ คือ เลยชั้นที่จะมีนิมิต ท่านกำหนดพิจารณาโดยกำลังของกระแสจิต ก็เกิดญาณคือความรู้ขึ้นว่า “ลูกสุนัขนั้นหาใช่อื่นไกลไม่ คือตัวเราเอง เรานี้ได้เคยเกิดเป็นสุนัขอยู่ตรงนี้ มานับครั้งไม่ถ้วน คงหมุนเวียนเกิดตายอยู่ในชาติของสุนัข ท่านใคร่ครวญต่อไปว่าก็ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น คือเหตุใดจึงต้องเป็นสุนัขอยู่อย่างนั้น ได้ความว่า ภพ คือความยินดีในอัตภาพของตน สุนัขก็ยินดีอยู่ภพของมัน จึงต้องอยู่ในภพของมันตลอดไป”

ขณะท่านทราบว่าตนต้องเกิดเป็นสุนัขนั้น ได้ถึงซึ่งความสลดจิตมากที่สุดแม้ความสว่างไสวของจิตก็ยังคงเจิดจ้าอยู่ตลอดระยะเวลานั้น ท่านจึงพิจารณาค้นความจริงในจิตของท่านว่าเหตุอันใดที่ต้องทำให้เกิดความพะว้าพะวงห่วงหน้าห่วงหลังอยู่ในขณะนี้ แม้จะได้รับความสลดอย่างยิ่งนี้แล้ว ก็ยังจะพิจารณาให้ยิ่งขึ้นไปไม่ได้ ก็เมื่อความละเอียดของจิตเกิดขึ้นพร้อมกับความสว่างไสวแล้วนั้น

ความจริงที่ยังไม่ทราบมาก่อนได้เกิดขึ้นแก่ท่านแล้ว ก็คือ “การปรารถนาพระสัมมาสัมโพธิญาณ” ท่านจึงหวนรำลึกต่อไปว่าเราได้ปรารถนามานานสักเท่าใด ก็เพียงสมัยพระพุทธกาลนี่เอง ไม่นานนัก ท่านจึงตัดสินใจที่จะไม่ต้องการพุทธภูมิอีกต่อไป เพราะเหตุที่มาสังเวชตนที่ตกเป็นทาสของกิเลส อันเป็นเหตุให้เกิดเป็นสุนัขเสียภพนับชาติไม่ถ้วน

ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงนึกธรรมะที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ ก็มาระลึกได้ว่าปฐมเทศนาเป็นบทบาทสำคัญ ซึ่งจะเป็นทางบรรลุธรรม เพราะว่าพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมนี้ จากความเป็นจริงที่พระองค์ได้ทรงรู้แล้ว นำออกมาแสดง เช่น ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงถึงอริยสัจ 4 ว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค คือ ทุกข์-ควรกำหนดรู้ สมุทัย-ควรละ นิโรธ-ควรทำให้แจ้ง มรรค-ควรเจริญให้มาก

ท่านอาจารย์มั่นได้มาคำนึงถึงธรรมะอันเป็นหัวใจของพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตรเช่นนี้แล้ว ท่านก็มาพิจารณาต่อไปอีกว่า ทุกข์คืออะไร ในปฐมเทศนาแสดงว่า ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นทุกข์ และใครเล่าเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ก็คือ อัตภาพร่างกายของเรานี่เอง ฉะนั้นร่างกายนี้จึงถือได้ว่าเป็น “อริยสัจจธรรม” การพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริงในกายนี้ ก็เท่ากับรู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจนั่นเอง ดูแต่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนพระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ด้วยพระธรรมเทศนากัณฑ์ที่ 2 คือ อนัตตลักขณสูตร พระพุทธองค์ทรงยก “รูป” ขึ้นมาให้พระปัญจวัคคีย์พิจารณา คือ ทรงแสดงว่า รูปัง ภิกขเว อนัตตา รูปไม่ใช่ตน ปริวัตน์ที่ 2 ว่า ตัง กิง มัญญถะ ภิกขเว รูปังนิจจัง วา อนิจจัง วาติ ภิกษุทั้งหลายท่านจะสำคัญความข้อนี้เป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ปริวัตน์ที่ 3 ว่า ตัสมาติหะ ภิกขเว รูปัง อตีตัง วา อนาคะตัง วาปัจจุปันนัง วา เพราะเหตุนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย รูปในอดีตอนาคตหรือรูปปัจจุบัน สัพพัง รูปัง รูปทั้งปวง เนตัง มมะ เนโสหมัสมิ น เมโส อัตตาติ ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนเรา เอวเมตัง ยถาภูตัง สัมมัปปัญญาย ทัฏฐัพพัง จงพิจารณาข้อความนี้ตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบ ท่านพระอาจารย์มั่นได้พิจารณาว่า การพิจารณาตัวทุกข์นี้ก็คือ รูปกายนี่เอง พระปัญจวัคคีย์แม้จะได้บรรลุธรรมในเบื้องต้นแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอ พระพุทธองค์จึงต้องเน้นหนักลงไปที่ “กาย” นี่เอง โดยทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร เพื่อจะให้พระปัญจวัคคีย์ได้บรรลุธรรมชั้นสูงสุด

ท่านพระอาจารย์มั่นได้คำนึงถึงปฏิปทาของพระพุทธองค์ตอนที่จะตรัสรู้ที่ทรงนั่งสมาธิในวันวิสาขะเพ็ญเดือน 6 นั้น ตอนปฐมยาม ทรงบรรลุปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือ พระญาณอันเป็นเหตุให้ระลึกชาติในหนหลังได้ นี่คือการพิจารณา “กาย” จุดสำคัญจุดแรก เนื่องจากอัตภาพแต่ละอัตภาพที่พระพุทธองค์ทรงระลึกนั้นมีทั้งสุข ทุกข์ มีทั้งเกิด แก่ เจ็บ ตาย นับภพนับชาติไม่ถ้วน เป็นการยืนยันว่าพระพุทธองค์ก่อนที่จะได้ตรัสรู้ ทรงพิจารณา “กาย” เพราะ “ญาณ” อันเป็นที่ระลึกชาติหนหลังได้นั้น ต้องรู้ถึงการเกิด แก่ เจ็บ ตาย นี่คืออัตภาพแต่ละอัตภาพซึ่งต้องมี “ทุกข์” ครบถ้วนทุกประการในการที่พระพุทธองค์ทรงระลึกนั้น

ท่านอาจารย์มั่นได้คำนึงว่า การพิจารณาทุกข์ พระพุทธองค์ทรงดำเนินมาแล้วแต่ปฐมยามนั่นเอง ท่านจึงได้ความชัดเจนในใจของท่าน แล้วก็ได้นำเอาการระลึกชาติในการที่ท่านได้เกิดเป็นสุนัขอันแสนนานนั้น มาเป็นเหตุพิจารณาให้เกิดความแจ่มแจ้งขึ้นในจิตนั้น เพื่อให้เพียงพอแก่ความต้องการแห่งสัจธรรม การดำเนินให้เป็นไปตามความจริงนี้ เรียกว่า “ญาณ” คือ การหยั่งรู้ ท่านได้ความรู้ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากความเพียงพอ (อิ่มตัว) ของญาณแต่ละครั้ง มิใช่เป็นสิ่งที่จะนึกคิดเดาเอาหรือน้อมเอาเพื่อให้เป็นไป แต่ต้องเกิดจากความจริงที่ว่า “ต้องพอเพียงแห่งความต้องการ (อิ่มตัว)”

การเป็นเกิดขึ้นจากการพิจารณาโดยความเป็นจริงแห่งกำลังของจิต ที่ได้รับการอบรมมาพอแล้ว เช่น ผลไม้ มันต้องพอควรแก่ความต้องการของมัน จึงจะสุก หรือข้าวที่ถูกไฟ หุงด้วยไฟ มันต้องการไฟเพียงพอกับความต้องการของมัน จึงจะสุก แม้การพิจารณา “กาย” ที่เรียกว่า “ตัวทุกข์” นี้ก็เช่นเดียวกัน กว่าจะกลับกลายเป็นญาณขึ้นมาได้ ต้องอาศัยการพิจารณาจนเพียงพอแก่ความต้องการ (จุดอิ่มตัว) แต่ละครั้ง เช่น กำลังของการพิจารณานี้ มันอาจจะอยู่ได้ชั่วขณะหรือเวลา สุดแล้วแต่กำลังญาณ เช่น นิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่าย จะตั้งอยู่ในใจนานเท่าไรนั้นสุดแล้วแต่การพิจารณากายเห็นชัด ด้วยความสามารถแห่งพลังจิต

การพิจารณา “ทุกข์” เป็นเหตุให้เกิด “ญาณ” นี้ ถ้าเกิดความเพียงพอกำลังเข้าเมื่อใด “ญาณ” นั้นจึงจะเป็นกำลังตัดกิเลสได้เมื่อนั้น

(ติดตามตอนที่ 12 การผจญภัยอันตรายภายใน…ฉบับหน้า)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image