สถานีคิดเลขที่12 : เป็ดง่อย2ตัว! : โดย จำลอง ดอกปิก

พรรคพลังประชารัฐตั้งรัฐบาลได้แน่

เสียง ส.ส.ในขั้ว รวมกับ 250 ส.ว.ทะลุพิกัด 376 เสียง เกินกึ่งหนึ่งของเสียงสมาชิกรัฐสภา 750 คนไปแล้ว

ยึดที่นั่งนายกรัฐมนตรีได้แน่นอน

แต่รัฐบาลลุงตู่ ซีรีส์ 2 จะอยู่ได้นานแค่ไหน ยังเป็นคำถาม

Advertisement

ทั้งนี้เนื่องจาก เสียงฝั่งว่าที่รัฐบาล มีแนวโน้มรวบรวมได้ไม่มากพอเป็นหลักประกัน นำพารัฐนาวาฝ่าคลื่นลม มรสุมการเมืองไปได้ แบบไร้ปัญหา ไม่เกิดอุบัติเหตุระหว่างทาง

ผลเลือกตั้งทั่วไป ไม่เป็นใจเท่าใดนัก

ดังเห็นได้จากการจับขั้ว แบ่งขั้ว ชิงตั้งรัฐบาล

Advertisement

ปีกพลังประชารัฐ และเพื่อไทย รวมเสียงได้แบบไม่ทิ้งขาดจากกันมากนัก ก้ำกึ่งสูสีเป็นที่ยิ่ง

ห่างกันไม่เกิน 10 เสียง

แม้อยู่ในห้วงเริ่มต้นฟอร์มรัฐบาล จำนวนเสียง 2 ฝั่ง อาจเพิ่มขึ้น ลดลงได้อีก

แต่หากดูตัวเลขพรรคพันธมิตรร่วมอุดมการณ์กับฝั่งเพื่อไทย อย่างอนาคตใหม่ (80 เสียง) เสรีรวมไทย (10 เสียง) ประชาชาติ (7 เสียง) เพื่อชาติ (5 เสียง)

พรรคเหล่านี้น่าจะเหนียวแน่นอยู่กับเพื่อไทย 137 เสียง

ยากแกะออก ทำให้เปลี่ยนใจ ในแบบวิธีการปกติได้

เต็มที่สุดเหยียด ขั้วที่มีพลังประชารัฐเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล หัก 4 พรรค ซึ่งรวมกันได้ 239 เสียง

รัฐบาลพลังประชารัฐ ก็มีเสียงสนับสนุนเพียง 261 เสียง

ปริ่มน้ำ เกินครึ่งสภาล่าง 500 ที่นั่ง แค่ 11 เสียง

รัฐบาลเสียงข้างมากที่มีจำนวนเสียงสนับสนุนเพียงเท่านั้น บริหารประเทศได้ไหม

บริหารได้อย่างมิต้องสงสัย

แต่จะให้ปลอดภัย มีเสถียรภาพ ก่อให้เกิดความเชื่อมั่น นโยบายอะไรต่างๆ ที่มีผลต่อการตัดสินใจในทางธุรกิจ การลงทุน จะมีความต่อเนื่อง ไม่สะดุดครึ่งๆ กลางๆ จากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

เสียงรัฐบาลต้องเผื่อเหลือ เผื่อขาด มากกว่านี้

ตัวเลขเหมาะสมอยู่ที่ประมาณ 300 เสียง

แต่ในความเป็นจริง เบ่งถึงจำนวนที่ว่าไม่ได้อยู่แล้ว เฉพาะเพื่อไทย อนาคตใหม่ 2 พรรค ก็กวาดส่วนแบ่ง 500 คน ไปถึง 217 เสียง

ในความเป็นจริง จะถึง 261 เสียงหรือไม่ ก็ยังไม่รู้

แต่ต่อให้ลงตัวที่ 261 เสียงก็ยังหืด-ฝืด

เหนื่อยหนักทั้งการทำงานในฝ่ายนิติบัญญัติ และงานบริหารราชการแผ่นดิน

งานในสภาอาจพอหาตัวช่วย มีเทคนิค การเอาตัวรอดในแต่ละสถานการณ์ได้

แต่งานในฝ่ายบริหาร อันเป็นดัชนีชี้วัด ความสำเร็จ ล้มเหลวของรัฐบาลนั้น

ไม่สามารถใช้วิธีการอย่างอื่นมาช่วยได้

เนื่องจาก ไม่ใช่การโหวต การออกเสียง ลงคะแนนเป็นครั้งๆ ไป เหมือนงานในฝ่ายนิติบัญญัติ

แม้มองผิวเผินเป็นเรื่องเดียวกัน

เมื่องานในสภาผู้แทนราษฎร ผ่านไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือให้กับฝ่ายบริหาร การจัดทำ พ.ร.บ.รายจ่ายประจำในแต่ละปี หรือแม้แต่การตรวจสอบการทำงานของฝ่ายรัฐบาล การอภิปรายไม่ไว้วางใจ งานบริหารก็ราบรื่น

แต่หากแต่ละญัตติ แต่ละอีเวนต์ แต่ละด่าน ผ่านไปได้อย่างทุลักทะลุ เป็นวิถีทางรัฐสภาแบบที่ไม่ใช่วิถีทางปกติ ต้องช้อปปิ้ง ใช้ตัวช่วย เทคนิคพิเศษแก้เกมเสียงน้อยตลอดเวลา

เพื่อป้องกัน มิให้เกิดภาพ ความไม่มีเสถียรภาพ รัฐนาวาง่อนแง่น ซึ่งกระเทือนถึงความเชื่อมั่น และอะไรต่อมิอะไรต่างๆ นานา

ในที่สุด การทำงานในฝ่ายนิติบัญญัติ ก็จะส่งผลกระทบต่อรัฐบาล

เนื่องจากเสียงส่วนใหญ่ในฝ่ายนิติบัญญัติเป็นเสียงของฝ่ายรัฐบาลนั่นเอง

กลายเป็นว่า ภาพฝ่ายนิติบัญญัติก็เสียหาย ฝ่ายบริหารก็เสื่อมทรุด

ใครกันดีไซน์กติกาได้สุดยอดถึงเพียงนี้

แค่เริ่มต้นใช้ก็ส่อเค้า งานพัง

จำลอง ดอกปิก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image