สุจิตต์ วงษ์เทศ: พระสุธน มโนห์รา ภาคจบของพระรถ เมรี วรรณกรรมลุ่มน้ำโขงเลื่อนลงลุ่มน้ำเจ้าพระยาถึงภาคใต้

พระสุธน ตามหานางมโนห์รา จิตรกรรมปลาย ร.3 บนผนังบานแผละในโบสถ์วัดสุทัศน์, กรุงเทพฯ (บานแผละ คือ ผนังตอนที่บานประตูหน้าต่างโบสถ์วิหาร เป็นต้น เมื่อเปิดเข้าไปแล้วแตะอยู่)

พระสธุน มโนห์รา เป็นภาคจบที่กลับชาติมาเกิดของเรื่องพระรถ เมรี แล้วเล่นละคร จนได้รับยกย่องเป็นยอดนิยมของชาวบ้านยุคอยุธยาและยุคต่อมา นับเป็นวรรณกรรมลุ่มน้ำโขงที่แพร่กระจายลงลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง ถึงภาคใต้
เห็นได้จากจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์ และจิตรกรรมในสมุดข่อยเขียนเรื่องนี้อย่าง กว้างขวางและแพร่กระจายมากที่สุด
พระสุธน มโนห์รา เรียกสั้นๆ เป็นที่รู้กันว่ามโนห์รา เมื่อแพร่หลายลงไปภาคใต้ก็กร่อนเหลือ โนรา

นางมโนห์รา ทำอบุายร่ายรำบูชายัญ แล้วบินหนีไปจากเมืองพระ สุธน ต่อมาพระสุธนต้องออกตามหาด้วยความทุกข์ทรมาน จากภาพลายรดน้ำฝีมือช่างสมัย ร.4 ที่เชิงประตูช่องกลางของห้องหน้าวิหารทิศด้านทิศตะวันตกของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลราม (วัดโพธิ์ท่าเตียน) [ภาพและคำอธิบายโดย รุ่งโรจน์ ภริมยอ์นุกูล คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง]
นางมโนห์รา ทำอบุายร่ายรำบูชายัญ แล้วบินหนีไปจากเมืองพระ สุธน ต่อมาพระสุธนต้องออกตามหาด้วยความทุกข์ทรมาน
จากภาพลายรดน้ำฝีมือช่างสมัย ร.4 ที่เชิงประตูช่องกลางของห้องหน้าวิหารทิศด้านทิศตะวันตกของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลราม (วัดโพธิ์ท่าเตียน)
[ภาพและคำอธิบายโดย รุ่งโรจน์ ภริมยอ์นุกูล คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง]

เรื่องย่อ พระสุธน มโนห์รา

เรื่องพระสุธน มโนห์รา มาจากสุธนชาดก ชาดกลำดับที่ 2 ในปัญญาสชาดก
สุธนชาดกเป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมแพร่หลายทั่วเอเชีย แต่ละประเทศต่างมีวรรณคดี
เรื่องพระสุธนในภาษาของตน
ในภาษาไทยมีเรื่องพระสุธนเท่าที่พบ 4 สำนวน คือ พระสุธนคำกาพย์ พระสุธน คำกลอน พระสุธนคำฉันท์ และบทละครเรื่องพระสุธน ทั้งหมดนี้ตีพิมพ์เผยแพร่แล้ว
เนื้อเรื่องย่อ พระยานาคจิตรชมพูได้มอบบ่วงนาคบาศให้แก่พรานบุญ เพื่อตอบแทน
พรานบุญที่ได้ฆ่าพราหมณ์ที่มุ่งประทุษร้ายตน
พรานบุญได้ใช้บ่วงนั้นคล้องนางมโนห์รา นางกินรีซึ่งเป็นธิดาของท้าวทุมราชแห่งเขาไกรลาสได้ และได้นำมาถวายเป็นชายาของพระสุธน
ต่อมาพระสุธนต้องยกทัพไปปราบข้าศึกที่ยกมารุกรานชายแดน ปุโรหิตซึ่งแค้นเคืองพระสุธนมาแต่เดิม ยุยงให้พระบิดาของพระสุธนนำนางมโนห์รามาบูชายัญ
นางมโนห์ราทำอุบายขอปีกหางของนางมาร่ายรำในพิธีบูชายัญ และเมื่อได้โอกาส นางก็บินหนีไป นางได้ฝากผ้ากัมพล ธำมรงค์ มนตร์ ไว้แก่พระฤๅษี เพื่อให้พระสุธนใช้เป็นเครื่องนำทางไปยังเมืองของนาง
พระสุธนติดตามนางไปด้วยความยากลำบาก ต้องฝ่าอุปสรรคนานัปการเป็นเวลานานถึง 7 ปี 7 เดือน 7 วัน ก็ลุถึงเมืองของนาง
พระสธุนถอดธำมรงค์ใสล่งไปในหม้อน้ำที่นางทาสีจะนำไปสระสรงนางมโนห์รา นาง จึงทราบว่าพระสวามีได้ติดตามมา พระสธุนซึ่งนอกจากจะต้องแสดงความสามารถในด้าน ศรศิลป์ท่ามกลางมหาสมาคมแล้ว ยังต้องเลือกนางมโนห์ราออกจากกลุ่มพระธิดาทั้ง 7 ซึ่งแต่งกายเหมือนกันอีก
พระสุธนไม่สามารถจะตัดสินใจได้ ร้อนถึงพระอินทร์ต้องแปลงเป็นแมลงวันมาเกาะที่ช้องผมของนางมโนห์รา พระองค์จึงเลือกนางได้ถูกต้อง

พระสุธน มโนห์รา จิตรกรรมฝาผนังยุคปลายอยุธยา ราวหลัง พ.ศ. 2200 ในพระอุโบสถวัดเขียน อ. วิเศษชัยชาญ จ. อ่างทอง (1.) นางกินรี พี่ๆ ของนางมโนห์ราไปเล่นน้ำ (2.) พรานบุญจับนางกินรี แล้วได้นางมโนห์ราขณะเล่นน้ำไปถวายพระสุธน (3.) นางมโนห์ราอยู่ในวังพระสุธน แล้วถูกกลั่นแกล้ง กระทั่งถูกเผาบูชายัญ จนต้องออกอุบายขอปีกขอหาง แล้วบินหนีไป (4.) พระสุธนออกเดินป่าตามหานางมโนห์รา ต้องเผชิญอุปสรรคมากมาย สมคำอธิษฐานของนางเมรีว่าชาติหน้าพี่ต้องตามน้องไป [จากหนังสือวัดเขียน ชุดจิตรกรรมฝาผนังในประเทศไทย โดย น. ณ ปากน้ำ สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2542]
พระสุธน มโนห์รา จิตรกรรมฝาผนังยุคปลายอยุธยา ราวหลัง พ.ศ. 2200 ในพระอุโบสถวัดเขียน อ. วิเศษชัยชาญ จ. อ่างทอง (1.) นางกินรี พี่ๆ ของนางมโนห์ราไปเล่นน้ำ (2.) พรานบุญจับนางกินรี แล้วได้นางมโนห์ราขณะเล่นน้ำไปถวายพระสุธน (3.) นางมโนห์ราอยู่ในวังพระสุธน แล้วถูกกลั่นแกล้ง กระทั่งถูกเผาบูชายัญ จนต้องออกอุบายขอปีกขอหาง แล้วบินหนีไป (4.) พระสุธนออกเดินป่าตามหานางมโนห์รา ต้องเผชิญอุปสรรคมากมาย สมคำอธิษฐานของนางเมรีว่าชาติหน้าพี่ต้องตามน้องไป
[จากหนังสือวัดเขียน ชุดจิตรกรรมฝาผนังในประเทศไทย โดย น. ณ ปากน้ำ สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2542]

[ภาพและคำอธิบายจากหนังสือภาพเกี่ยวกับวรรณคดีไทย ที่บานแผละของประตู และหน้าต่างพระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร โดย ดร. นิยะดา เหล่าสุนทร พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เสงี่ยม จนทสริมิหาเถร) ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2526]

โนรา มาจากชื่อนางมโนห์รา

โนรา มาจากชื่อนางมโนห์รา ตัวเอกละครนอกยุคอยุธยา ซึ่งเป็นละครชาวบ้านหรือละครชาตรี บางทีเรียกรวมกันว่า โนราชาตรี
นอกจากนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังทรงพระนิพนธ์ (เมื่อ พ.ศ. 2462) ว่าโนรามาจากละครนอก เล่นเรื่องนางมโนห์รา บทละครครั้งกรุงเก่า ในหนังสือบทละครครั้งกรุงเก่า ว่า
ชาวนครศรีธรรมราช เรียกละครชาตรีว่า “โนรา” ถ้าเราจะไปเรียกว่า “ละคร” ก็ไม่เข้าใจ
อันคำว่า “โนรา” นี้คงมาจากชื่อนางมโนห์ราในบทละครเป็นแน่ไม่มีที่สงสัย เพราะวิสัยชาวละครพูด ย่อมตัดตัวลหุที่อยู่ต้นคำเสีย เช่น ตะเภา พูดแต่ว่า “เภา” สตางค์ พูดแต่ว่า “ตางค์” เป็นต้น อยู่จนทุกวันนี้

Advertisement

อนึ่งละครตัวตลกที่เล่นในโนราก็ยังเรียกว่า “พราน” อันเป็นตัวสำคัญแต่ในเรื่องนางมโนห์รา จึงเป็นหลักฐานมั่นคงดังกล่าวมานี้

ตำนานของละครโนรา มีในคำไหว้ครูของเขา ว่าครูเดิมชื่อขุนศรัทธา อยู่ในกรุงศรีอยุธยา มีความผิดต้องราชทัณฑ์ให้ลอยแพไปเสียจากพระนคร แพขุนศรัทธาลอยออกปากน้ำไปติดอยู่ที่เกาะสีชัง พวกชาวเรือทะเลพบ จึงรับไปส่งขึ้นที่เมืองนครศรีธรรมราช ขุนศรัทธาจึงได้ไปเป็นครูฝึกหัดโนราให้มีขึ้นที่เมืองนครเป็นเดิมมา
บทละครเรื่องนางมโนห์รา เป็นบทละครชั้นแรกในกรงุเก่า คงชอบเล่นกันเป็นพื้นเมือง ตาขุนศรัทธาเป็นตัวละครดีมีชื่อเสียงในการเล่นเรื่องนางมโนห์รา ครั้นถูกเนรเทศออกไปอยู่เมืองนครศรีธรรมราช ไปหัดให้ชาวละครเล่นตามแบบเก่าเมื่อกระนั้น ให้เล่นเรื่องนางมโนห์ราที่ตัวชำานาญ ชาวละครจึงเลยเรียกละครว่า “โนรา”

นางมโนห์รา

นางมโนห์ราสะท้อนวัยรุ่นยุคอยุธยา มีในบทละครครั้งกรุงเก่า แต่งด้วยฉันทลักษณ์กลอนเพลงเก่าสุด เนื้อเรื่องย่อๆ ว่า
นางแม่ห้ามนางมโนห์ราออกไปเที่ยวเล่นน้ำ เพราะโหรทำนายไว้ว่าจะมีเคราะห์ แต่นางมโนห์ราไม่เชื่อฟัง ท้ายสุดถูกพรานบุญจับตัวไปถวายพระสุธน
ตอนขึ้นเสียงเถียงทะเลาะกับนางแม่หลายเรื่อง จนถึงเรื่องมีผัว นางมโนห์ราอ้อนแม่ว่าอยากมีผัว จึงตัดพ้อนางแม่ว่า

๏ น่าสงสารพระมารดา อนิจจามาหวงลูกเอาไว้
แก่แล้วแม่จะค่อยให้ ผู้ชายที่ไหนจะเหลียวแล
ธรรมเนียมมาแต่ไหน ใหญ่ใหญ่มานอนอยู่กับแม่
แกล้งหวงเอาไว้ให้เฒ่าแก่ ผู้ชายมาแลก็น่าเกลียด
นางแม่สอนเรื่องหาผัวให้นางมโนห์ราอย่างเหน็บแนมแกมประชดถึงอกถึงใจว่า

๏ เป็นหญิงเจ้าแม่อา อย่าทำกะริบกะเรียด
ตัวเจ้ายังน้อยสักเท่าเขียด เจ้ามาวอนแม่จะมีผัว

เมื่อจะทอหูกไม่ถูกก้น มันจะเอาตะกรนมาโขกหัว
เจ้ามาวอนแม่จะมีผัว ลูกเอยจะยืนสักเท่าใด
ลูกเอยจะเลี้ยงเอาผัวแขก ลูกเอยจะเลี้ยงเอาผัวไทย
เลี้ยงไว้ให้หนำใจ ส่งให้อ้ายมอญมักกาสัน
ส่งให้อ้ายจีนปากมอด ส่งให้มันกอดจนตายดั้น
อ้ายมอญมักกาสัน ส่งให้ญี่ปุ่นหัวโกน
เลี้ยงลูกชาวบ้านเอย อีนี่ใจยักษ์ใจโลน
อ้ายญี่ปุ่นหัวโกน หนำใจผู้เจ้ามโนห์รา
นางมโนห์ราไม่ละไม่เว้นเมื่อนางแม่ประชดประชันส่งมาก็แดกดันส่งนางแม่ไปว่า

๏ ลูกไทเจ้าแม่เอย แม่ให้ผัวไทยแก่ลูกรา
จีนจามพราหมณ์คุลา ลูกยาจะเอามันทำไม
เชิญแม่เอาเองเถิดนางไท เป็นผัวพระราชมารดา
นางแม่ด่านางมโนห์ราเข้าให้ด้วยคาว่า “อีดอกทอง” ดังนี้

๏ เลี้ยงลูกชาวบ้านเอย อีนี่ใจแข็งใจกล้า
กูจะพลิ้วหิ้วขา หน้าตากูจะตบให้ยับไป
ไว้กูจะหยิกเอาหัวตับ ไว้กูจะยับเอาหัวใจ
ปากร้ายมาได้ใคร พวกอีชี้ร้ายชะลากา
ขวัญข้าวเจ้าแม่อา ตัวแม่ก็ทำเป็นไม่สู้
รู้มากอีปากกล้า มึงไปได้มาแต่ไหน
พระพายพัดไป สมเพชลมพัดอีดอกทอง
นางมโนห์ราหายอมนางแม่ไม่ จึงด่าย้อนนางแม่ว่า

๏ นางแม่ของลูกอา แม่มาด่าลูกไม่ถูกต้อง
ทั้งพี่ทั้งน้อง เหล่าเราดอกทองเหมือนกัน
ดอกทองสิ้นทั้งเผ่า เหล่าเราดอกทองสิ้นทั้งพันธุ์
ดอกทองเสมือนกัน ทั้งองค์พระราชมารดา
หลังจากนั้นนางมโนห์ราก็ฝ่าฝืนคำสอนของนางแม่ แล้วหนีเล่นน้ำกับพี่ๆ และบ่าวไพร่ บริวาร กระทั่งพรานบุญจับนางมโนห์ราจะเอาไปถวายพระสธุน ก็หมดต้นฉบับยุคอยุธยา

พระสุธน มโนห์รา (จากพระสุธนชาดก) จิตรกรรมไตรภูมิในสมุดข่อย [ภาพจากหนังสือ สมุดภาพไตรภูมิ ฉบับกรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม 1 กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2542 เลขที่ 6 หน้า 76, เลขที่ 8 หน้า 182, เลขที่ 10/ก หน้า 199]
พระสุธน มโนห์รา (จากพระสุธนชาดก) จิตรกรรมไตรภูมิในสมุดข่อย
[ภาพจากหนังสือ สมุดภาพไตรภูมิ ฉบับกรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม 1 กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2542 เลขที่ 6 หน้า 76, เลขที่ 8 หน้า 182, เลขที่ 10/ก หน้า 199]

โนรา เป็นละครนอกครั้งกรุงเก่า

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ย้ำว่า ละครโนราชาตรีในภาคใต้ คือละครนอกจากรัฐอยุธยาแพร่ลงไป
มีคำอธิบาย (เมื่อ พ.ศ. 2464) ในตำนานเรื่องละครอิเหนา จะคัดมาดังนี้

“ละครโนราชาตรีที่เล่นกันที่เมืองนครศรีธรรมราชนั้น…ที่จริงได้แบบแผนลงไปจาก กรุงศรีอยุธยา คือแบบแผนละครนอกที่เล่นกันอยู่เป็นพื้นเมืองในสมัยนั้นนั่นเอง…ละคร โนราชาตรีนี้แลที่เป็นละครนอกชั้นเดิม
อันลักษณะของละครจำต้องมีตัวละคร 3 อย่าง คือตัวทำบทเป็นผู้ชายที่เราเรียกว่า นายโรงหรือยืนเครื่องอย่าง 1 ตัว ทำบทเป็นผู้หญิงเรียกว่านางอย่าง 1 ตัว สำหรับทำบทเบ็ดเตล็ด เช่น เป็นฤๅษี เป็นยักษ์ เป็นพราน เป็นยายตา และเป็นสัตว์เดียรัจฉาน เช่น ม้าและนกที่มีบทในเรื่องละคร ตลอดจนเล่นตลกให้ขบขัน เรียกว่าจำอวดอย่าง 1 ถ้าตัวละครขาดอย่างหนึ่งอย่างใดไปก็เล่นไม่สนุก

ละครโนราชาตรีของไทยเราก็ดี ที่มีตัวละครแต่นายโรงตัว 1 นางตัว 1 และจำอวดตัว 1 อย่างนี้เป็นอย่างน้อยที่สุดที่จะเล่นละครได้สะดวก
ด้วยเหตุนี้จึงปรากฏมาแต่ก่อนว่าละครชาตรีชอบเล่นแต่บางเรื่องที่ตัวบทสำคัญเล่นพร้อมกันไม่เกินกว่า 3 ตัว เช่น
เรื่องพระรถเสน ตัวนายโรงเป็นพระรถเสน ตัวนางเป็นนางเมรี ตัวจำอวดเป็นม้าของพระรถเสน
หรือมิฉะนั้นก็เล่นเรื่องนางมโนห์รา ตัวนายโรงเป็นพระสุธน ตัวนางเป็นนางมโนห์รา ตัวจำอวดเป็นพรานบุณ
[เข้าใจว่าเรื่องพระรถกับเรื่องนางมโนห์รากระบวนเล่นละครผิดกัน เรื่องพระรถ นายโรงเป็นตัวบทสำาคัญ เรื่องนางมโนห์รานางเป็นตัวบทสำคัญ เพราะฉะนั้นละครโรงไหนตัวนายถนัดทำบทชาย ก็ชอบเล่นเรื่องพระรถ ถ้าถนัดทำบทหญิง ก็ชอบเล่นเรื่องนางมโนห์รา]

ละครที่ขุนศรัทธาไปหัดขึ้นที่เมืองนครศรีธรรมราช คงถนัดเล่นเรื่องนางมโนห์รา ยิ่งกว่าเรื่องอื่น เล่นให้พวกชาวเมืองดูจนชินจนเลยเรียกละครว่า “มโนห์รา” แต่เรียกตัดตัวหน้าเสียตามวิสัยของชาวนคร จึงคงรูปเรียกว่า “โนรา” มาจนตราบเท่าทุกวันนี้
ละครนอกที่เล่นกันในกรุงศรีอยุธยา ชั้นเดิมก็คงจะมีตัวละครแต่โรงละ 3 คน 4 คน อย่างละครโนราชาตรี ต่อนานมาเมื่อมีคนชอบดูละครมากขึ้น ทางหาเลี้ยงชีพในการเล่น ละครสะดวกมากขึ้น จึงเกิดการแก้ไขกระบวนเล่นละครแข่งขันกันให้วิเศษขึ้นกว่าเดิม คือ เพิ่มตัวละครให้มากขึ้น และคิดเครื่องแต่งตัวละครขึ้น แล้วริเล่นเรื่องให้แปลกกว่าเดิมออกไป
บทร้องซึ่งเดิมตัวละครต้องร้องเป็นกลอนต้นโดยประดิษฐ์ของตนเอง (อย่างโนรายังร้องอยู่ทุกวันนี้) ก็มีกวีช่วยกันคิดแต่งกลอนให้เรียบร้อยเพราะพริ้งยิ่งขึ้น
บทละครครั้งกรุงเก่าซึ่งยังมีอยู่บัดนี้พอสังเกตได้ว่า ที่เป็นบทรุ่นเก่ากลอนเป็นอย่างละครชาตรี ต่อบทรุ่นหลังมาจึงเป็นกลอนแปด ถึงกระนั้นก็ยังไม่เหมือนบทละครชั้นกรุงรัตนโกสินทร์

ละครนอกที่เล่นกันในราชธานีคงเปลี่ยนแปลงกระบวนเล่นมาโดยลำดับตั้งแต่ครั้งกรุง เก่าจนในกรุงเทพฯ จึงมาเป็นอย่างละครที่เล่นกันในชั้นหลังนี้
แต่การที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงกระบวนเล่นละครในราชธานีอย่างไร ละครในมณฑลนครศรีธรรมราชอยู่ห่างไกลราชธานีไม่มีใครเปลี่ยนแปลงแก้ไขแบบละครแต่ครั้งกรุงเก่า ขุนศรัทธาหัดไว้อย่างไรก็คงเล่นสืบมาตามแบบเดิม จึงกลายเป็นละครโนราชาตรีไปอีก อย่างหนึ่งในทุกวันนี้”

พระสุธน ตามหานางมโนห์รา จิตรกรรมปลาย ร.3 บนผนังบานแผละในโบสถ์วัดสุทัศน์, กรุงเทพฯ (บานแผละ คือ ผนังตอนที่บานประตูหน้าต่างโบสถ์วิหาร เป็นต้น เมื่อเปิดเข้าไปแล้วแตะอยู่)
พระสุธน ตามหานางมโนห์รา จิตรกรรมปลาย ร.3 บนผนังบานแผละในโบสถ์วัดสุทัศน์, กรุงเทพฯ (บานแผละ คือ ผนังตอนที่บานประตูหน้าต่างโบสถ์วิหาร เป็นต้น เมื่อเปิดเข้าไปแล้วแตะอยู่)

โนรา เล่นไกรทอง

เพราะโนราไม่ใช่การแสดงเอกเทศมาแต่เดิม หากโนราคือละครนอก แต่เรียกละคร ชาตรี จึงนอกจากเล่นเรื่องนางมโนห์ราแล้วยังเล่นเรื่องอื่นๆ ได้อีก เช่น ไกรทอง ดังมีพยานในกาพย์เรื่องพระรถเมรี ของนายเรือง นาใน (หลวงพ่อเมือง วัดสุนทรวาส จ. พัทลุง) ว่า
ไปดูโนรา เล่นนักหนาเรื่องนายไกร
กุมภาชีวาลัย นายไกรได้แม่มาลา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image