เหยี่ยวถลาลม : ไม่สืบทอดอำนาจ

ภายหลังใช้กำลังพลรบและยุทโธปกรณ์ของกองทัพเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2534 พล.อ.สุจินดา คราประยูร แกนนำ “รสช.” วางตัวดีมาก ให้หา “คนกลาง” ที่มีชาติตระกูลดี ประวัติดี ได้ นายอานันท์ ปันยารชุน “ผู้ดีรัตนโกสินทร์” มานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

ภาคประชาชนคนวงนอกไม่คาดคิดแม้แต่น้อยว่า “รสช.” ผู้มาดีจะ “สืบทอดอำนาจ”

แต่ถ้าจะว่ากันตามประวัติศาสตร์ ยังไม่เคยมีปรากฏว่า “คณะรัฐประหารรายใด มาแล้วจากไปมือเปล่า”

พลันที่ลั่นระฆังให้มีการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2535 “พรรคสามัคคีธรรม” ก็ปรากฏขึ้นในลักษณะเดียวกับ “พลังประชารัฐ” เวลานี้

Advertisement

มีหัวหน้าพรรคเป็นพลเรือน ไม่ใช่ “พรรคทหาร” แต่ทรงพลังในการ “ดูด” จนเป็นที่มั่นใจของนักการเมืองผู้เคี่ยวกรำทั้งหลายว่า “มาแน่” จึงแห่กันเข้าซบ

เมื่อพรรคสามัคคีธรรมประสบชัยชนะในการเลือกตั้งตามคาด ฉับพลันทันที นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าก็เจอวิกฤตจากแบล๊กลิสต์จากสหรัฐอเมริกาจนต้องถอยออกมา

พันธมิตร 5 พรรค อันมี สามัคคีธรรม, ชาติไทย, กิจสังคม, ประชากรไทย และราษฎร ร่วมกันสนับสนุน พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็น “นายกรัฐมนตรี”

Advertisement

เส้นทางสู่สภาของ “สุจินดา” ย่อมไม่ใช่ความบังเอิญ

เมื่อ “สุจินดา” ประกาศ “ยอมเสียสัตย์เพื่อชาติ” รับความปรารถนาดีจาก 5 พรรคการเมือง ด้วยการขึ้นนั่งเก้าอี้ “นายกรัฐมนตรคนที่ 19” ของประเทศ

คำว่า “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ก็กลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว

แกนนำ จปร.7 ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมาในกองทัพนำไปขยายผลร่วมกับพรรคการเมืองที่จะต้องเป็น “ฝ่ายค้าน”

นิสิตนักศึกษาปัญญาชนออกมาคัดค้าน ขบวนการต่อต้าน “สุจินดา” ขยายวงออกไปอย่างกว้างขวาง

ที่จริงแล้ว “สุจินดา” เป็นนายทหารสุภาพอ่อนโยน ไม่ก้าวร้าวหยาบคาย มีท่วงท่าสง่า องอาจ น่าเสียดายที่ “เสียสัตย์เพื่อชาติ” นำไปสู่เหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” 2535

ต่างกับวันนี้ ที่ “ไม่มีคำสัตย์” !

จึงไม่มีคำว่า “เสียสัตย์เพื่อชาติ”

จะมีก็แต่ “เสียงเพลง” ที่ใช้ท่วงทำนองวิงวอนร้องขอ “ขอเวลาอีกไม่นาน”

ไม่ใช่เรื่องบิงเอิญ “แม้แต่น้อย” ที่เกิดพรรคพลังประชารัฐขึ้นกลางรัฐบาล “คสช.”

ขอเวลาไม่นาน-เพื่อตระเตรียมการ

“ไม่สืบทอดอำนาจ” แต่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป (อีกไม่นาน) เพื่อสืบสานภารกิจยุทธศาสตร์ 20 ปี !?!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image