สุจิตต์ วงษ์เทศ: ประติมากรรมสำริดประโคนชัย จ. บุรีรัมย์ รัฐพุทธมหายานเก่าสุดในสุวรรณภูมิ

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสำริด ที่ The Metropolitan Museum of Art นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา (กลาง) ป้ายจัดแสดงระบุชัดเจนว่ามาจากปราสาทเขาปลายบัด จ. บุรีรัมย์ (ถ่ายโดย ดร. รังสิมา กุลพัฒน์ นักวิจัยประจำแคโรไลนา เอเชีย เซ็นเตอร์ มหาวิทยาลัยนอร์ธ แคโรไลนา)

ประติมากรรมสำริดประโคนชัย มีจำนวนหนึ่งถูกลักลอบจาก อ. ประโคนชัย จ. บุรีรัมย์ ไปอยู่ยุโรปและอเมริกา
คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงจัดเสวนาวิชาการ บ่ายวันอาทิตย์ 22 พฤษภาคม 2559 ตั้งแต่ 13.00 น. เป็นต้นไป

ประโคนชัย มาจากตะลุง แปลว่า ต้นเสา
อ. ประโคนชัย จ. บุรีรัมย์ อยู่ลุ่มน้ำมูล เขตอีสานใต้
ประโคนชัย ได้ชื่อจากบ้านเมืองเดิมว่า เมืองตะลุง (มีหน้าที่ส่งส่วยไหมให้กรุงเทพฯ ยุคต้นรัตนโกสินทร์)
ตะลุง เป็นภาษาเขมร แปลว่า ต้นเสา (หนังตะลุง หมายถึง หนังตัวเล็กที่มีไม้ไผ่เหลาปลายแหลม ใช้เป็นเสาปักต้นกล้วยเวลาแสดงในโรง)
เมื่อยกฐานะเมืองตะลุงเป็นอำเภอ ได้เปลี่ยนคำว่า ตะลุง เป็น ประโคน แปลอย่างเดียวกันว่า ต้นเสา บางทีเรียก เสาประโคน

วิพากษ์อย่างเสรี วิชาโบราณคดีประวัติศาสตร์ศิลป์

โบราณคดีในประเทศไทย เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับประวัติศาสตร์ศิลป์ คือ วิธีคิดอย่างหนึ่ง ซึ่งมนุษย์ใช้เป็นเครื่องมือค้นหาความจริง ไม่ว่าความจริงจะมีอยู่ในธรรมชาติ หรือสร้างขึ้นใหม่ (ทั้งที่เป็นประโยชน์ในทางปฏิบัติและไม่เป็น)
ดังนั้น ความรู้ที่เป็นความจริง หรือความรู้ที่แท้จริง จึงมีทั้งอยู่ในธรรมชาติ และทั้งสร้างขึ้นใหม่
ความรู้จากนักวิชาการด้านโบราณคดีประวัติศาสตร์ศิลป์ เป็นความรู้ที่สร้างขึ้นใหม่ ซึ่งยังยุติไม่ได้ว่าเป็นความรู้ที่แท้จริง จึงยังมีช่องให้ทักท้วงถกเถียงกันได้ โดยไม่ปิดกั้นความคิดเสรี และความคิดเชิงวิพากษ์อย่างอิสระ และพร้อมน้อมรับฟังคำวิพากษ์จากคนอื่น
ประชาธิปไตยจึงขาดไม่ได้ในการศึกษาโบราณคดีประวัติศาสตร์ศิลป์ ทั้งในเชิงปฏิบัติ และการยืนยันคุณค่าของวิธีคิด
(ปรับปรุงใหม่จากบทความ เรื่อง วิพากษ์มนุษยศาสตร์ฯ ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2558 พิมพ์เผยแพร่ 2559)

แบ่งปันความรู้สู่สาธารณะ

ความรู้ทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลป์ มักถูกกีดกันและปิดกั้น ไม่แบ่งปันสู่สาธารณะด้วยเหตุต่างๆ ทำให้ประชาชนคนทั่วไปเสียโอกาสเข้าถึงความรู้ ซึ่งมีกว้างๆ อย่างน้อย 2 ส่วน ผสมกลมกลืนอยู่ด้วยกัน ได้แก่ ข้อมูลดิบ กับการตีความ และอธิบายความหมาย
1. ข้อมูลดิบ หมายถึง เรื่องราวความเป็นมาของสิ่งต่างๆ ในอดีต ซึ่งมีในรูปต่างๆ เช่น ตำนาน, พงศาวดาร, ศิลปวัตถุสถาน, ภาพถ่าย, รูปวาด, แผนผัง ฯลฯ
2. การตีความ และอธิบายความหมาย มักถูกผูกขาดและกีดกันโดยคนกลุ่มเล็กๆ ที่ได้เปรียบทางสังคม ดูได้จากใช้ภาษาวิชาการยอกย้อน สื่อสารไม่ได้กับสังคม ทำให้สังคมตามไม่ทันความรู้อันมีประโยชน์นั้นๆ แต่ไม่พยายามสื่อสารด้วยภาษาง่ายๆ
เสวนาวิชาการเรื่องประติมากรรมสำริดประโคนชัยฯ เป็นความพยายามอันควรสนับสนุนยกย่องและให้กำลังใจทำต่อไปอย่างสม่ำเสมอ ในกิจกรรมแบ่งปันความรู้สู่สาธารณะอย่างง่ายๆ ทั้งโดยอาจารย์และนักศึกษา
โดยเฉพาะความเป็นมาของเรื่องราวเกี่ยวข้องต่างๆ ซึ่งมีมาก จะยกตัวอย่างดังต่อไปนี้

Advertisement

“มหิธรปุระ” ต้นวงศ์กษัตริย์กัมพูชา อยู่ลุ่มน้ำมูล

[จากหนังสือ โคราชของเรา โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2558 หน้า 128-130]
บริเวณต้นน้ำมูลตั้งแต่เขตปราสาทพนมวัน, ปราสาทพิมาย, ปราสาทพนมรุ้ง เป็นถิ่นเดิมหรือถิ่นบรรพบุรุษเกี่ยวดองเป็น “เครือญาติ” ของกษัตริย์กัมพูชาที่สถาปนาอาณาจักรกัมพูชาขึ้นบริเวณทะเลสาบ มีพยานหลักฐานทั้งที่เป็นศิลาจารึกและโบราณวัตถุสถาน ตลอดจนลักษณะทางสังคมวัฒนธรรมจำนวนมาก
ทั้งปราสาทพิมายและปราสาทพนมรุ้ง ล้วนเป็นของที่สร้างโดยกษัตริย์ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่เรียกว่ามูลเทศะกับภีมปุระมาก่อน ซึ่งบรรดานักวิชาการเรียกว่าราชวงศ์มหิธร ปุระ ไม่ว่าพระเจ้าสุริยวรรมันที่ 2 ผู้สร้างปราสาทนครวัด (หรือวิษณุโลก) รวมทั้งพระเจ้าชัยวรรมันที่ 7 ผู้สร้างเมืองนครธม (หรือศรียโศธรปุระ) ก็ล้วนแต่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าเป็นเชื้อสายของราชวงศ์มหิธรปุระด้วยกัน

บริเวณลุ่มแม่น้ำมูลเป็นที่ตั้งของรัฐมหิธรปุระ ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของราชวงศ์มหิธร ปุระ ที่มีความเกี่ยวข้องกับพระเจ้าสุริยวรรมันที่ 2 (ผู้ทรงสร้างปราสาทนครวัด) นักปราชญ์บางท่านเชื่อว่าปราสาทพิมายมีอายุอยู่หลัง พ.ศ. 1600 เป็นศาสนสถานสำคัญที่สุด อาจเป็นศูนย์กลางของรัฐมหิธรปุระ

แผนที่แสดงเทือกเขาพนมดงรัก (เขาไม้คาน) พรมแดนไทย-กัมพูชา ระหว่างที่ราบสูงอีสาน(เขมรสูง) กับที่ราบลุ่มต่ำทะเลสาบในกัมพูชา (เขมรต่ำ) มีช่องเขานับร้อย แต่ที่นิยมใช้เป็นเส้นทางคมนาคมถึงทุกวันนี้ มีดังนี้ 1. ช่องตะโก2. ช่องสระแจง	3. ช่องโอบก 4. ช่องตาเมือน	5. ช่องจอม	6. ช่องพริก
แผนที่แสดงเทือกเขาพนมดงรัก (เขาไม้คาน) พรมแดนไทย-กัมพูชา ระหว่างที่ราบสูงอีสาน(เขมรสูง) กับที่ราบลุ่มต่ำทะเลสาบในกัมพูชา (เขมรต่ำ) มีช่องเขานับร้อย แต่ที่นิยมใช้เป็นเส้นทางคมนาคมถึงทุกวันนี้ มีดังนี้
1. ช่องตะโก     2. ช่องสระแจง 3. ช่องโอบก
4. ช่องตาเมือน 5. ช่องจอม 6. ช่องพริก

รัฐมหิธรปุระมีพระราชาทรงพระนามว่าหิรัณยวรรมัน และมเหสีคือพระนางหิรัณยลักษมี ทรงมีราชโอรส 2 พระองค์ที่ได้เสวยราชย์เป็นกษัตริย์กัมพูชา ทรงพระนามว่าพระเจ้าชัยวรรมันที่ 6 (พระเชษฐา เสวยราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1633-1651) กับพระเจ้าธรณินทรวรรมันที่ 1 (พระอนุชา เสวยราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1651-1655)

Advertisement

พระราชาหิรัณยวรรมันแห่งรัฐมหิธรปุระทรงมีนัดดา (หลาน) องค์หนึ่งคือพระเจ้ากษิตีนทราทิตย์ (ทรงอภิเษกสมรสกับราชธิดาของพระราชาหิรัณยวรรมันและพระนางหิรัณยลักษมี) พระเจ้ากษิตีนฯ ทรงเป็นพระราชบิดาของพระเจ้าสุริยวรรมันที่ 2 (เสวยราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1655-1695) ผู้ทรงโปรดให้สร้างปราสาทนครวัด

นอกจากนั้นยังมี “เครือญาติ” ในราชวงศ์มหิธรปุระจากลุ่มแม่น้ำมูลมีอำนาจในอาณาจักรกัมพูชาอีก 2 พระองค์ คือ พระเจ้าธรณินทรวรรมันที่ 2 ระหว่าง พ.ศ. 1695-1724) กับพระเจ้าชัยวรรมันที่ 7 (ระหว่าง พ.ศ. 1724-1744)

จะเห็นว่าโดยเฉพาะพระเจ้าสุริยวรรมันที่ 2 ผู้ทรงโปรดให้สร้างปราสาทนครวัด ทรงเป็นกษัตริย์ที่สำคัญยิ่งอีกองค์หนึ่งของกัมพูชา ฉะนั้นทรงมีอำนาจทางการเมืองเหนือดินแดนลุ่มน้ำมูลด้วย จึงมีศาสนสถานหลายแห่งในอีสานมีลักษณะทางศิลปะสถาปัตยกรรมร่วมสมัยกับศิลปะแบบนครวัด

โดยเฉพาะปราสาทพิมายนั้น นักปราชญ์มีความเห็นว่าลักษณะของหลังคาปราสาทเป็นแบบอย่างให้แก่ปราสาทนครวัด นอกจากนี้จารึกปราสาทพิมายที่กรอบประตูซุ้มระเบียงคดก็กล่าวถึงพระนามของพระเจ้าธรณินทรวรรมันที่ 1 ซึ่งสนับสนุนให้เห็นความสัมพันธ์ของบ้านเมืองในลุ่มแม่น้ำมูลกับราชวงศ์มหิธรปุระที่ครองอยู่อาณาจักรกัมพูชาได้อย่างดี

หลักฐานที่ยืนยันว่าอำนาจทางการเมืองของพระเจ้าสุริยวรรมันที่ 2 ลงมา บ้านเมืองในดินแดนอีสานมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับอาณาจักรกัมพูชาอีกครั้งหนึ่งในสมัยพระเจ้าชัยวรรมันที่ 7 พบร่องรอยโบราณวัตถุสถานที่สร้างตามแบบศิลปกรรมของกษัตริย์พระองค์นี้ในบริเวณต่างๆ ของภาคอีสานเกือบทั้งหมด แล้วยังเลยไปถึงฝั่งลาวบริเวณรอบๆเมืองเวียงจันด้วย

บ้านเมืองเหล่านี้ไม่มีหลักฐานว่าชื่อจริงคืออะไร ยกเว้นชื่อเมืองพิมาย มีในจารึกปราสาทพิมายว่าวิมายปุระ ตรงกับจารึกปราสาทพระขรรค์ในกัมพูชา แสดงว่ารายชื่อเมืองอีกจำนวนหนึ่ง ที่มีในจารึกปราสาทพระขรรค์และเคยเข้าใจกันว่าอยู่ในภาคกลางน่าจะอยู่ในอีสานนี่เอง

อำนาจทางการเมืองของพระเจ้าชัยวรรมันที่ 7 มีอยู่ดินแดนสองฟากแม่น้ำโขงหมดทั้งเขตอีสานและลาว (เวียงจัน) หลังรัชกาลนี้อิทธิพลทางการเมืองและวัฒนธรรมขอมจากกัมพูชาค่อยๆเสื่อมลง ศูนย์กลางของ “ชาวสยาม” ที่เวียงจันเป็นเอกเทศและมีบทบาทสำคัญมากขึ้น

ต่อมามีปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในดินแดนอีสาน คนอีสานโบราณส่วนหนึ่งก็เคลื่อนย้ายไปตั้งหลักแหล่งหาที่ทำกินใหม่ที่อุดมสมบูรณ์และปลอดภัยกว่า แต่อีกส่วนหนึ่งยังอยู่ที่เดิมในอีสาน

แผนที่แสดงเส้นทางคมนาคม ความสัมพันธ์ระหว่างที่ราบสูง (อีสาน) กับที่ราบต่ำ (เขมร)
แผนที่แสดงเส้นทางคมนาคม ความสัมพันธ์ระหว่างที่ราบสูง (อีสาน) กับที่ราบต่ำ (เขมร)

ลุ่มน้ำมูล แหล่งเดิมบรรพชนขอมกัมพูชา

[จากคอลัมน์สยามประเทศไทย ในมติชน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม 2559]

ขอม ไม่ใช่ชื่อชนชาติเฉพาะ ฉะนั้นชนชาติขอมจึงไม่มีจริง แต่คนส่วนมากถูกครอบงำให้เชื่อว่ามีชนชาติขอมจริงๆ

ขอมเป็นชื่อทางวัฒนธรรม ใช้สมมุติเรียกคนบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่นับถือศาสนาพราหมณ์และพุทธคติมหายาน แล้วใช้ภาษาเขมรสื่อสารในชีวิตประจำวัน กับใช้อักษรเขมรทางพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ เรียกอักษรขอม

[เช่นเดียวกับคำว่า แขก ใช้สมมุติเรียกผู้นับถือศาสนาอิสลาม และคำว่า คริสเตียน, คริสตัง ใช้สมมุติเรียกผู้นับถือศาสนาคริสต์]

ศูนย์กลางขอมเก่าสุดน่าจะอยู่ที่รัฐละโว้ (ลพบุรี) ต่อมาขยายลงไปอยู่ที่อโยธยาศรีรามเทพ (ต่อไปคือกรุงศรีอยุธยา) แล้วขยายไปอยู่กัมพูชา และอาจขึ้นถึงที่ราบสูงลุ่มน้ำมูล หรือไกลกว่านั้น

ด้วยเหตุนี้ใครก็ตามไม่ว่ามอญ เขมร มลายู ลาว จีน จาม หรือ ไทย ฯลฯ จะได้ชื่อว่าขอมทั้งนั้น ถ้านับถือศาสนาพราหมณ์และพุทธคติมหายาน อยู่ในสังกัดรัฐละโว้-อโยธยา และรัฐกัมพูชา

แต่คนทั่วไปมักเข้าใจต่างกันเป็น 2 อย่างว่า “ขอมไม่ใช่เขมร” และ “ขอมคือเขมร” ขณะที่ชาวเขมรไม่เคยเรียกตัวเองว่าขอม จึงไม่รู้จักขอม ถ้ารู้ก็รู้จากไทยในสมัยหลังๆ

พระโพธิสัตว์สำริด ที่บริษัทเอกชนในต่างประเทศประมูลขาย โดยระบุว่ามาจาก อ. ประโคนชัย จ. บุรีรัมย์
พระโพธิสัตว์สำริด ที่บริษัทเอกชนในต่างประเทศประมูลขาย โดยระบุว่ามาจาก อ. ประโคนชัย จ. บุรีรัมย์

พิมาย ลุ่มน้ำมูล นับเป็นแหล่งเดิมบรรพชนขอมกัมพูชา

ต้นวงศ์กษัตริย์กัมพูชาอยู่ลุ่มน้ำมูล เพราะบริเวณต้นน้ำมูลตั้งแต่เขตปราสาทพนมวัน, ปราสาทพิมาย, ปราสาทพนมรุ้ง เป็นถิ่นเดิมหรือถิ่นบรรพชนเกี่ยวดองเป็นเครือญาติของกษัตริย์กัมพูชาที่สถาปนาอาณาจักรกัมพูชาขึ้นบริเวณโตนเลสาบ

ไม่ว่าขอมจะเป็นใครในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เมื่อถึงยุคอยุธยาที่พระเจ้าแผ่นดินตรัสภาษาไทย ขอมเหล่านั้นก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนเป็นไทยตามอำนาจรัฐใหม่

ความรู้เหล่านี้ได้จากการศึกษางานวิจัยของจิตร ภูมิศักดิ์ และ อ. ศรีศักร วัลลิโภดม เพราะผมไม่เคยคิดอะไรได้เอง มีแต่สั่งสมจากนักปราชญ์รุ่นก่อนๆ จนถึงนักวิชาการรุ่นปัจจุบัน

รัฐพุทธมหายาน เก่าสุด อยู่ลุ่มน้ำมูล ในไทย ต้นแบบนครธม ในกัมพูชา

[จากคอลัมน์สุวรรณภูมิในอาเซียน ในมติชน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม 2559]

พุทธมหายาน เมืองพิมาย เก่าสุดในลุ่มน้ำมูล

เมืองพิมาย มีปราสาทพิมายเป็นพุทธสถานฝ่ายมหายานเก่าแก่ที่สุดในอีสาน [เก่าแก่กว่ามหายานที่ปราสาทบายน เมืองนครธมในกัมพูชา และปรางค์สามยอดเมืองละโว้ (จ. ลพบุรี)]

หลักฐานทางโบราณคดีทั้งเทวรูปโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ซึ่งพบที่บ้านโตนด (อ. โนนสูง จ. นครราชสีมา) ก็ดี รวมทั้งปราสาทพิมายที่สร้างเนื่องในพุทธศาสนาลัทธิมหายานก็ดี ล้วนแสดงให้เห็นว่าบ้านเมืองในบริเวณนี้ให้ความสำคัญกับพุทธศาสนามหายาน

บริเวณนี้คือเขตแดนที่เรียกว่ามูลเทศะ มีเมืองสำคัญเรียกว่าภีมปุระ ซึ่งต่อมาก็คือ วิมายปุระ [หรือเมืองพิมาย] ตามหลักฐานจารึกโบราณในสมัยก่อนเมืองพระนครและสมัยเมืองพระนคร

บริเวณเมืองพิมายตามลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูล (เช่น ลำห้วยแถลง, ลำนางรอง, และลำปลายมาศ) ไปจนถึงเขตเขาพนมรุ้ง จ. บุรีรัมย์ พบชุมชนโบราณที่มีคูน้ำล้อมรอบหลายแห่งเป็นระยะๆ ไป บางแห่งมีพัฒนาการมาตั้งแต่ราว พ.ศ. 1-500 แล้วเติบโตเป็นบ้านเมืองในสมัยทวารวดี ราวหลัง พ.ศ. 1000 เช่น บ้านเมืองฝ้าย, บ้านผไทรินทร์, บ้านกงรถ เป็นต้น

ชุมชนโบราณเหล่านี้มักพบศาสนสถาน, พระพุทธรูป, พระโพธิสัตว์ ฯลฯ ในพุทธศาสนามหายาน ในสมัยทวารวดีมีทั้งหินและสำริด ล้วนเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของบ้านเมืองจากเขตพิมายไปถึงเขตพนมรุ้ง อันเป็นเส้นทางโบราณที่จะผ่านช่องเขาในทิวเขาพนมดงรัก ลงสู่เมืองพระนครบริเวณที่ราบต่ำในกัมพูชา

ปราสาทหินพิมาย จ.นครราชสีมา
ปราสาทหินพิมาย จ.นครราชสีมา

เขตภูเขาไฟบุรีรัมย์

จ. บุรีรัมย์ ตามทิวเขาพนมดงรัก บริเวณเคยเป็นภูเขาไฟมาก่อน มีภูเขาไฟลูกเล็กๆ ที่ดับแล้วหลายแห่ง ได้แก่ ภูพนมรุ้ง, ภูปลายบัด, ภูอังคาร ฯลฯ

บนยอดภูมีร่องรอยของศาสนสถานที่เป็นปราสาทขอมแทบทุกแห่ง ยกเว้นที่ ภูอังคารเป็นศาสนสถานมีเสมาหินสลักภาพเทวรูปปักรอบ เสมาหินทำขึ้นเนื่องในระบบความเชื่อที่มีมาก่อนการสร้างปราสาทบนภูพนมรุ้ง

ส่วนบนภูปลายบัดแม้จะมีปราสาทขอม แต่มีกรุบรรจุพระพุทธรูปกับเทวรูปสำริด ในคติมหายานแบบที่พบที่บ้านเมืองฝ้ายกับที่บ้านโตนดเป็นจำนวนมาก แต่มีผู้ลักลอบขนไปขายให้ชาวต่างประเทศเกือบหมด มีรอดพ้นและตามคืนได้แล้วรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจำนวนไม่มากนัก

บรรดาพระพุทธรูปและเทวรูปเหล่านี้ก็คือรูปเคารพของผู้คนในบ้านเมืองตั้งแต่เขต พิมายเรื่อยไปจนถึงเขตพนมรุ้ง ก่อนนับถือศาสนาฮินดูแบบเมืองพระนคร

พิมาย ลุ่มน้ำมูล แหล่งเดิมบรรพชน “ขอม”

หลัง พ.ศ. 1500 วัฒนธรรมขอม (เขมร) จากโตนเลสาบ กัมพูชา แผ่ถึงแอ่งโคราช เข้าสู่อีสานและโขง-ชี-มูล

ขณะเดียวกัน การค้าโลกขยายกว้างขึ้น เพราะจีนค้นพบเทคโนโลยนีก้าวหน้าทางการเดินเรือทะเลสมุทร ส่งผลให้บริเวณสองฝั่งโขง-ชี-มูล ที่มีทรัพยากรมั่งคั่งต่างเติบโตมีบ้านเมืองแพร่กระจายเต็มไปหมด

รวมถึงเมืองพิมาย ซึ่งตั้งอยู่ขอบทุ่งกุลาร้องไห้ แล้วมั่งคั่งขึ้นจากการค้าเกลือและเหล็ก

ต้นวงศ์กษัตริย์กัมพูชาอยู่ลุ่มน้ำมูล เพราะบริเวณต้นน้ำมูลตั้งแต่เขตปราสาทพนมวัน, ปราสาทพิมาย, ปราสาทพนมรุ้ง เป็นถิ่นเดิมหรือถิ่นบรรพชนเกี่ยวดองเป็น “เครือญาติ” ของกษัตริย์กัมพูชาที่สถาปนาอาณาจักรกัมพูชาขึ้นบริเวณโตนเลสาบ

ทำให้กษัตริย์อาณาจักรกัมพูชาขึ้นมาก่อสร้างปราสาทสำคัญๆ ไว้ในอีสานจำนวนมาก แต่ที่รับรู้ไปทั่วโลก คือปราสาทพระวิหารในกัมพูชา หันหน้าทางอีสาน และมีบันไดทางขึ้นลงยื่นยาวเข้ามาในไทยทาง จ. ศรีสะเกษ

ปราสาทปลายบัด 2 ยังมีร่องรอยหลุมขนาดใหญ่จากการลักลอบขุดเมื่อราว 50 ปีที่ผ่านมา
ปราสาทปลายบัด 2 ยังมีร่องรอยหลุมขนาดใหญ่จากการลักลอบขุดเมื่อราว 50 ปีที่ผ่านมา

รัฐเอกเทศในอีสาน

อีสานยุคดั้งเดิม ไม่ได้มีการเมืองการปกครองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือเป็นอาณาจักรเดียวกัน

แต่มีลักษณะเป็นรัฐเอกเทศหลายรัฐที่เกี่ยวดองเป็นเครือญาติ ซึ่งวิชาการสมัยใหม่เรียก มัณฑละ ดังนี้

บริเวณตอนต้นแม่น้ำมูล มีมัณฑละศรีจนาศะ ตั้งแต่นครราชสีมาถึงบุรีรัมย์ นับถือพุทธมหายาน

[เกี่ยวกับมัณฑละศรีจนาศะ มีคำอธิบายอย่างละเอียดอยู่ในวารสารเมืองโบราณ (ปีที่ 42 ฉบับที่ 1) มกราคม-มีนาคม 2559]

บริเวณตอนปลายแม่น้ำมูล หรือจุดรวมโขง-ชี-มูล มีรัฐเจนละ ตั้งแต่อุบลราชธานีและปริมณฑล ได้แก่ สุรินทร์, ศรีสะเกษ, ยโสธร ฯลฯ
บริเวณลุ่มน้ำชี ตั้งแต่ชัยภูมิ, ขอนแก่น, กาฬสินธุ์ ฯลฯ นับถือพุทธเถรวาท
บริเวณสองฝั่งโขงอีสานเหนือ มีรัฐศรีโคตรบูร มีเวียงจันเป็นศูนย์กลาง นับถือพุทธเถรวาท

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสำริด ที่ The Metropolitan Museum of Art นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา (กลาง) ป้ายจัดแสดงระบุชัดเจนว่ามาจากปราสาทเขาปลายบัด จ. บุรีรัมย์ (ถ่ายโดย ดร. รังสิมา กุลพัฒน์ นักวิจัยประจำแคโรไลนา เอเชีย เซ็นเตอร์ มหาวิทยาลัยนอร์ธ แคโรไลนา)
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสำริด ที่ The Metropolitan Museum of Art นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา (กลาง) ป้ายจัดแสดงระบุชัดเจนว่ามาจากปราสาทเขาปลายบัด จ. บุรีรัมย์ (ถ่ายโดย ดร. รังสิมา กุลพัฒน์ นักวิจัยประจำแคโรไลนา เอเชีย เซ็นเตอร์ มหาวิทยาลัยนอร์ธ แคโรไลนา)
เศียรพระโพธิสัตว์ หล่อด้วยสำริด (สัญลักษณ์ที่ผมหายไป) เกล้าผมทรงชฎามงกุฎ มีพระมัสสุ (หนวด) อายุราว พ.ศ. 1200  ฝีมือช่างเขมรแบบไพรกเม็ง (จัดอยู่ในกลุ่ม “ประติมากรรมแบบประโคนชัย”)  พบที่บ้านโตนด อ. โนนสูง  จ. นครราชสีมา (จัดแสดงในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)
เศียรพระโพธิสัตว์ หล่อด้วยสำริด (สัญลักษณ์ที่ผมหายไป) เกล้าผมทรงชฎามงกุฎ มีพระมัสสุ (หนวด) อายุราว พ.ศ. 1200 ฝีมือช่างเขมรแบบไพรกเม็ง (จัดอยู่ในกลุ่ม “ประติมากรรมแบบประโคนชัย”) พบที่บ้านโตนด อ. โนนสูง จ. นครราชสีมา (จัดแสดงในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image