พระอรหันต์ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต การผจญภัยภายใน & ทวนกระแสจิต : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

ตอนที่ 12 การผจญภัยอันตรายภายใน : ท่านอาจารย์มั่นเล่าต่อไปว่า ณ ค่ำคืนระหว่างแห่งการดำเนินจิต ก็กำลังสว่างไสวและได้ผลนั้น สิ่งที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นมาในเวลา 23.00 น. ก็ได้เกิดขึ้นแล้ว คือ มีอาการสั่นสะเทือนขึ้นทั้งภูเขา ดูรู้สึกเหมือนกับว่าภูเขาลูกที่ท่านนั่งอยู่นั้นจะพลิกคว่ำ ซึ่งขณะนั้นท่านกำลังนั่งหลับตาทำสมาธิอยู่อย่างได้ผล บางครั้งจะได้ยินเหมือนเสียงต้นไม้หักเป็นระราวทีเดียว อากาศเป็นเหมือนกับมืดลมมืดฝน เป็นลักษณะที่น่าสะพรึงกลัวอย่างยิ่ง เกือบจะทำให้ท่านต้องลืมตาออกมาทีเดียว แต่ท่านก็หาได้ลืมตาดูตามลักษณะอาการที่เกิดขึ้นนั้นไม่

ท่านได้พิจารณาเป็นอนุโลมมิกญาณในอริยสัจธรรม พร้อมกับเหตุอันน่าสะพรึงกลัวนั้น ก็ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ ขณะที่เป็นอยู่อย่างนั้นนานเท่าใดไม่อาจทราบได้ ท่านได้กำหนดสติอย่างมั่นคง และได้คำนึง “สติ” นี้เป็นอย่างดี และชัดเจนขึ้นอย่างยิ่งว่า “สติอันที่จะเรียกได้ว่ามีกำลังนั้น ต้องมาต่อสู้และผจญภัย” เพื่อเป็นการทดสอบว่าจะเกิดความหวั่นไหวต่อเหตุการณ์ทั้งภายในและภายนอก จะยังคงพิจารณาอยู่กับร่องกับรอยได้หรือไม่ ท่านได้พิสูจน์แล้วว่า ความหวั่นไหวแห่งสติในขณะนั้นไม่มีเลย ยังคงรักษาระดับการพิจารณา อันเป็นอนุโลมิกญาณได้อย่างปกติ เหตุการณ์หาได้หยุดยั้งลงแต่เพียงแค่นั้นไม่ ยังคงดำเนินอย่างรุนแรงขึ้นทุกขณะ มันประดุจว่าร่างกายของท่านแทบจะถูกบดไปเป็นผุยผง เป็นจุลวิจุณไปทีเดียว เหตุการณ์เช่นนั้นเกิดเป็นเวลานาน

พลันอาการประหลาดก็เกิดขึ้นมาอีก คือ มีอาการร่างกายใหญ่โตขึ้น สูงเท่ากับต้นไม้ มือถือตะบองเหล็กซึ่งมีรัศมีดังเปลวไฟแปร๊บปร๊าบ เดินย่างสามขุมตรงรี่มาหาท่านอย่างผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจ พร้อมกับตวาดว่า “จงลุกจากที่นี่เดี๋ยวนี้ มิฉะนั้น จะต้องตาย” ว่าแล้วก็เงื้อตะบองขึ้นสุดแขนขณะท่านอาจารย์มั่นกำลังพิจารณาอนุโลมมิกญาณอย่างได้ผล ก็มาผจญกับสิ่งลึกลับ อันไม่เคยปรากฏมาแต่กาลก่อน ซึ่งมันทำให้ท่านแทบจะเผลอลืมตาขึ้นมาดู แต่ท่านก็ระงับสภาพอันน่าสะพรึงกลัวนั้นเสียได้ ไม่สะทกสะท้านต่อเหตุการณ์เหล่านั้น กำหนดสติอันทรงพลังของท่าน และท่านก็มั่นใจในสติอันที่ได้อบรมจนเป็นมหาสตินั้น ณ ที่นั้น การที่เกิดความมหัศจรรย์เช่นนี้ ต้องถือว่าเป็นอันตรายต่อการบำเพ็ญจิตขั้นละเอียดเป็นที่สุด เพราะถ้าเสียทีตกใจลืมตา หรือสติอ่อนจะผ่านขั้นนี้ไม่ได้

หลังจากท่านอาจารย์มั่นถูกยักษ์ตนนั้นมันตะคอกเอาแล้วท่านก็กำหนดในใจ พูดตอบยักษ์ไปว่า “เราไม่ลุก” ทันใดนั้นเอง ปรากฏว่ายักษ์ได้หวดตะบองอันใหญ่นั้นลงยังร่างของท่านอย่างน่าใจหายใจคว่ำ ท่านรู้สึกประดุจว่า ตัวของท่านจมลงดินลงไปลึกประมาณ 10 วา แต่ทันใดนั้นก็ปรากฏว่าตัวของท่านลอยขึ้นเหนือแผ่นดินอีก ขณะที่มีอาการเช่นนั้น ท่านหาได้ลืมสติไม่ กำหนดเป็นอนุโลมมิกญาณอยู่ตลอดไป จิตยังแน่วแน่จดจ่ออยู่ ณ ที่เดียว ซึ่งขณะนั้นเป็นการพิจารณาจุดสุดยอดแห่งอนุโลกมิกญาณในขณะนั้นเลยจึงหาได้เกิดความหวาดกลัวหรือสะดุ้งแต่ประการใดไม่ เหตุการณ์ก็หาได้หยุดลงแต่เพียงนั้นก็หาไม่

Advertisement

ทันใดนั้น เจ้ายักษ์ตนนั้นมันก็ถอนต้นไม้ใหญ่ ซึ่งเป็นต้นตะเคียนอยู่ข้างหลังของท่าน ซึ่งต้นตะเคียนนั้นใหญ่ขนาด 10 คนอุ้ม ใหญ่มากทีเดียว มันเอามือทั้งสองข้างฉุดตะเคียน เหมือนกับยกหม้อน้ำ ปรากฏว่ารากตะเคียนได้หลุดจากดินพร้อมกับดินแถวๆ นั้นกระจายไปหมด ปรากฏว่าก้อนดินหล่นกระจายถูกต้องร่างกายทั่วไป และพร้อมกันนั้น มันก็ยกต้นตะเคียนขึ้น พร้อมด้วยความโกรธ ตาแดงยังกับลูกไฟ ยกขึ้นสูงเหนือภูเขาลูกนั้น ฟาดลงมายังร่างของท่านดังสะท้านหวั่นไหว ปรากฏว่าร่างกายของท่านทรุดแบนละเอียดติดอยู่กับก้อนหินนั้น และพร้อมกันนั้นก็ปรากฏว่าหินก้อนที่ท่านนั่งอยู่นั้น ก็แตกละเอียดเป็นจุลไปในชั่วพริบตานั้นเอง ขณะนั้นเกือบจะทำให้ท่านต้องเผลอลืมตาขึ้นมาดูความเป็นไปต่างๆ แต่ว่าท่านได้คำนึง “มหาสติ” อันเป็นเครื่องบังคับกำกับการพิจารณาในจุดสุดยอดแห่งธรรมอันละเอียดอ่อน ทำให้ท่านได้พิจารณาอย่างเสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง แม้เหตุการณ์อันเป็นเครื่องทำให้เกิดอาการหวั่นไหว ท่านก็มิได้มีความหวั่นไหวเลย

ในที่นี้ท่านได้คำนึงต่อไปว่า มีสิ่งหนึ่งอันเป็นประการสำคัญ ซึ่งเป็นมลทินของใจ นั่นคือ การพะว้าพะวังของการปรารถนาพระโพธิญาณ และก็กลับไปปรารถนาเช่นนั้น หันมาเพื่อความพ้นทุกข์อันจะพึงได้บรรลุธรรมอันยิ่งใหญ่ ในขณะนั้นนี่เองที่ทำให้มีมลทินเป็นเครื่องสะกดใจไว้ แต่เมื่อได้สละแล้ว ท่านจึงมิได้คำนึงถึงสิ่งอื่นอันเป็นเหตุให้ต้องประสบสิ่งอันที่หวาดกลัวต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นแล้ว ปรากฏว่าทุกอย่างในโลกนี้มีสภาพเป็นอันเดียว ดุจหน้ากลองชัย โลกนี้ราบลงหมด คือ สว่างราบเตียน ร่างกายของท่านปรากฏว่าประมวลกันเข้าดังเดิม และปรากฏว่ายักษ์ตนนั้นจำแลงตัวเป็นมนุษย์ ลงมากราบไหว้ขอขมาลาโทษท่าน แล้วมันก็หายไป ขณะนั้นไก่ขันกระชั้นแล้ว แสดงว่าใกล้แจ้ง ซึ่งประมาณเวลาราวๆ ตี 3 หรือตี 4 เห็นจะได้ ท่านได้คำนึงถึงญาณ 3 ในอริยมรรค คือ สัจจญาณ กิจจญาณและกตญาณ จิตที่บำเพ็ญถึงสุดอิ่มตัวเป็นญาณ ซึ่งมิใช่ว่าจะถือเป็นชั้นนั้นชั้นนี้เพราะถือว่าได้สำเร็จ การเข้าใจว่าได้ชั้นนี้ คือ การไม่เป็นผลสำเร็จ ซึ่งเป็นการหลงสมุทัยไปทีเดียวเลย

ท่านคำนึงถึงญาณว่า เป็นจุดอิ่มตัว เหมือนกับการรับประทานอาหาร มันมีจุดอิ่มตัว พอมันพอเพียงแก่ความต้องการแล้วก็อิ่ม ไม่ต้องพูดอะไรให้มาก มีอาหารรับประทานเข้าไปก็แล้วกัน ญาณก็เช่นเดียว บำเพ็ญให้ถูกต้องโดยการพิจารณาทุกข์เมื่อถึงจุดอิ่มตัวเมื่อไรก็รู้เอง เหมือนคนรับประทานอาหารอิ่มเมื่อไร เขารู้ตัวของเขาเอง เช่น เมื่อพิจารณากาย คือ ตัวทุกข์นั้นแล้ว พอเมื่อเห็นกายเข้าก็เกิดความสังเวช สลดจิต แล้วก็เกิดความเบื่อหน่าย ความเบื่อหน่ายเป็นญาณ เพราะมันจะเกิดขึ้นเอง จะมาสมมุติให้เกิดขึ้นไม่ได้ คำว่าสัจจะคือความจริง เช่นกับการพิจารณาเห็นตัวทุกข์ ชื่อว่าเห็นจริง มิได้เดาเอา เช่น เห็นว่าผมเป็นธาตุดินอย่างนี้เป็นสัจจญาณ การดำเนินญาณ คือ ความจริงนั้นให้ปรากฏอยู่เสมอ ชื่อว่ากิจจญาณ การถึงจุดละวาง เหมือนกับคนอิ่มอาหาร ละไปแล้วซึ่งความหิวโดยอัตโนมัติเป็น “กตญาณ”

ท่านได้คำนึงถึงสมุทัยว่า อันกามตัณหา ความใคร่ในกาม ภวตัณหา ความอยากมีอยากเป็น วิภวตัณหา ความไม่อยากมีไม่อยากเป็น ที่จริงแล้วคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับจิตใจขณะที่กำลังบำเพ็ญญาณนั้นเอง เพราะกิเลสเกิดขึ้นตอนเจริญปัญญาญาณนี้สำคัญนัก จะเกิดการถือตัวอย่างก้าวไปไกล แก้ไม่หลุด คือ เมื่อเห็นญาณ ความหยั่งรู้เกิดขึ้น ซึ่งละเอียดและอัศจรรย์ เลยยึดเอาว่าเป็นพระนิพพานเสียเลย นี่แหละกิเลสปัญญา เพราะตอนนี้ ผู้บำเพ็ญจะสำคัญตนว่าบรรลุแล้ว มิหนำซ้ำยังตั้งตนเป็นนักพยากรณ์เสียอีกว่า คนนั้นได้ชั้นนั้นคนนี้ได้ชั้นนี้ บางครั้งเกิดอัศจรรย์ขึ้นมาใจจิตว่า ละกิเลสได้หมดแล้ว มีธรรมมาบอก เกิดขึ้นเมื่อวันนั้นเดือนนั้น เราได้บรรลุชั้นนั้นชั้นนี้แล้ว ถ้าหากว่ามีผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ บัญญัติเราเข้าให้อีกว่า แน่แล้วสำเร็จแล้ว ทีนี้ก็จะทำให้จิตต้องนึกว่าสำเร็จบรรลุและถือตนหนักขึ้น ดังนั้นในสมุหทัยสัจ พระพุทธองค์จึงทรงแสดงว่า ปหาตัพพันติ เม ภิกขเว ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมุทัยควรละ ก็ละตรงที่เรียกง่ายๆ ว่าวิปัสสนูปกิเลส ดังกล่าวนั้นแล้ว

ท่านอาจารย์มั่น ท่านได้คำนึงถึงเรื่องนี้ เพื่อความรอบคอบของจิตที่กำลังดำเนินไปอย่างได้ผลว่า เมื่อไม่ข้องอยู่ในอุปทานและห่วงอยู่ในความที่เข้าใจตัวเองว่า บรรลุชั้นนั้นชั้นนี้ได้แล้ว เพราะว่าขณะที่ท่านกำลังบำเพ็ญวิปัสสนาญาณนั้น ได้ทราบชัดว่าวิปัสสนานั้นคือ ความเห็นแจ้ง แต่ธรรมดาแล้วก็คงเห็นแจ้งเฉยๆ เช่น เห็นว่าเป็นธาตุเป็นขันธ์ เกิดขึ้นจากตาในด้วยการพิจารณา แต่ยังไม่ใช่ญาณ การที่จะเป็นญาณขึ้นมาได้นั้น ต้องถึงจุดอิ่มตัวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเอง เช่น พิจารณารู้แจ้งเห็นจริงในขันธ์ทั้งหลาย แล้วพิจารณาไม่หยุดยั้ง จนถึงจุดอิ่มตัว ญาณ คือ ความเบื่อหน่ายจึงเกิดขึ้น นี่แหละจึงจะชื่อว่าเป็นวิปัสสนาญาณ ความเบื่อหน่ายที่เกิดขึ้นเองเนื่องจากการบำเพ็ญวิปัสสนาให้เพียงพอ เช่นเดียวกับความอิ่ม เกิดขึ้นจากความเพียงพอของการรับประทานอาหารนั่นเอง

เพราะความเกิดเอง ในที่นี้เรียกว่าสันทิฏฐิโกความเห็นเอง นิโรธ ควรทำให้แจ้ง คือ การทำให้ไม่ให้คนหลงในมรรคผลนิพพานนั่นเอง เพราะผู้ปฏิบัติทั้งหลายหลงงมงายในความเป็นเช่นนี้มาก ในเมื่อไม่ใช้ปัญญาญาณ เพราะไปใช้แต่สิ่งสำคัญตน จึงต้องใช้การทำให้แจ้งมันจะเป็นอย่างไรขึ้นก็ช่าง เราทำไปแล้ว ธรรมที่ดำเนินไปก็บรรลุเป้าหมายเอง

ตอนที่ 13 ทวนกระแสจิตพบผู้รู้ ผู้เห็น ผู้ไม่ตาย : ในวาระสุดท้าย ท่านอาจารย์มั่น ท่านเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เราได้กำหนดทวนกระแสจิต คือ เมื่อพิจารณาไปแล้วทุกอย่าง นับมาแต่การพิจารณาดูตัวทุกข์ คือ ขันธ์ทั้ง 5 นั้นแล้ว และพิจารณาให้เป็นวิปัสสนา คือ ให้เป็นว่าขันธ์ทั้ง 5 เหล่านั้นเป็นธาตุ เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา และพิจารณาที่ธรรมทั้งหลาย อันละเอียดวิเศษที่สุด จนเข้าใจว่าเป็นบรรลุ ขจัดออกไปทั้งหมด โดยอนุโลมิกญาณแล้ว ท่านก็ทวนกระแสจิต กลับมาหา ฐีติภูตัง คือ ที่ตั้งของจิต ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า เป็นต้นเหตุการณ์ทวนกระแสจิตที่เป็นอนุโลกมิกญาณ ให้เห็นว่า “ใครผู้รู้ ใครผู้เห็น” คือให้รู้ว่า เป็นผู้ไม่ตา ให้เห็นว่าเป็น “ธาตุ” เพราะได้พิจารณาเห็นโดยญาณนั้นเป็นความจริง อันตัว “ผู้รู้ ผู้เห็น อยู่ที่ไหน” อาศัยญาณที่บำเพ็ญขึ้นจนพอแก่ความต้องการ อันที่เรียกว่าอนุโลมิกญาณนั้นแล้ว ก็จะปรากฏว่าได้เห็นตัว “ผู้รู้ ผู้เห็น” “ผู้ไม่ตาย” คราวนี้ก็จะถือได้ว่าเป็นองค์มรรค ภาเวตัพพันติ เม ภิกขเว มรรคควรเจริญให้มาก ผู้ที่มาเห็นตัว “ผู้เห็น” กล่าวว่าเป็นผู้หายความสงสัยแล้วโดยสิ้นเชิง ไม่ต้องห่วงว่าอาจารย์โน้นถูก อาจารย์นี้ผิด เรากำลังทำนี้ จะถูกหรือจะผิดไม่มีในจิตของผู้ของเช่นนี้ ถ้ายังไม่ถึงเช่นนี้ ก็จะยังสงสัยอยู่ร่ำไป แม้ใครจะมาเทศน์ให้ฟังเท่าไร ก็แก้สงสัยไม่ได้

ท่านเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ขณะนั้นปรากฏว่าโลกนี้เตียนราบประดุจหน้ากลองชัย เรียบเอาจริงๆ ท่านได้ย้ำให้ข้าพเจ้าฟัง แต่การราบเรียบเหมือนหน้ากลองชัย เรียบเอาจริงๆ ท่านได้ย้ำให้ข้าพเจ้าฟัง แต่การราบเรียบเหมือนหน้ากลองชัย คือ การอยู่ในสภาพอันเดียวกัน ได้แก่ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย และความไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน แต่การปรากฏขึ้นในจิตนั้น เป็นเช่นนั้น เพราะว่าไม่มีอะไรมาข้องอยู่กับใจในจิตนั้น ท่านพูดกับข้าพเจ้าต่อไปว่า นี้เป็นการที่ได้หนทางเป็นครั้งแรกในใจของเรา ให้หายสงสัยว่าจะเป็นอะไรต่อไป แน่ชัดในใจโดยปราศจากการกังขา ในที่นี้จึงรวมไว้ซึ่งอินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 เป็นที่รวมกำลังทั้งหมดเท่ากับเป็นการรวมกองทัพธรรมใหญ่ พร้อมที่จะขยี้ข้าศึก คือ กิเลส ให้ย่อยยับลงไปในเมื่อการรวมกำลังนี้ สมบูรณ์เต็มที่แต่ละครั้ง เพราะความที่ได้ขยี้ข้าศึก คือกิเลสนี้เอง จึงเกิดเป็นวิสุทธิ 7 ประการ ครั้นเมื่อเป็นดังนี้บริบูรณ์แล้ว คำว่าชั้นนั้นชั้นนี้ก็ไม่ต้องกล่าวถึง เพราะเหตุได้ตัดเสียแล้วซึ่งอุปทาน ท่านได้เล่าเป็นเชิงแนะนำผู้เขียนเป็นลำดับตามวาระแห่งการดำเนินจิตของท่าน จนผู้เขียนไม่อาจนำมาเขียนให้หมดไปทุกคำได้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำพูดที่ท่านแสดงให้ผู้เขียนฟังเท่านั้น เป็นอันว่า 3 วัน 3 คืน ของการพิจารณานั้น ท่านได้รู้แจ้งเห็นแจ้งในธรรมที่ควรรู้และควรเห็น ได้รับผล คือ ความจริงในพระพุทธศาสนาในครั้งนั้น

ท่านเล่าต่อไปว่า ในวันนั้นท่านได้พิจารณารู้แจ้งเห็นแจ้งแล้ว ก็ลุกขึ้นเดินจงกรมในเวลาก่อนแจ้ง รู้สึกเบาตัวไปหมด ได้เวลาไปบิณฑบาตตอนเช้า ท่านได้นุ่งสบงห่มจีวรซ้อนสังฆาฏิเป็นปริมณฑล กับบาตรสะพายไว้ข้าง ประดุจอุ้ม แล้วก็เข้าไปสู่หมู่บ้านที่ท่านเคยไปแต่กาลก่อนนั้น อันชาวบ้านต่างก็พากันเชื่อว่าท่านอาจารย์มั่นได้ตายไปเสียแล้ว เพราะไม่ได้มาบิณฑบาตตั้ง 3 วัน เนื่องจากพระธุดงค์มาตายที่นี่หลายองค์ ท่านอาจารย์มั่นองค์นี้ จะต้องเหมือนกับองค์อื่นๆ ซึ่งชาวบ้านต่างก็พากันสงสัยตั้งแต่เริ่มแรกแล้วซึ่งพอท่านอาจารย์มั่นมาอยู่วันเดียว บิณฑบาตวันเดียวก็หายไปเฉยๆ แต่ก่อนๆ พระธุดงค์ที่มาอยู่ที่นั้น บางองค์ก็ 3 เดือน 6 เดือน จึงตาย แต่ท่านอาจารย์มั่นองค์ใหม่นี้ทำไมจึงตายเร็วนัก เพียงสองสามวันเท่านั้น ชาวบ้างบางคนที่สนใจเป็นพิเศษ พอไม่เห็นท่านมาบิณฑบาต ก็ได้ไปเยี่ยมท่านที่ถ้ำ แต่ก็ไม่เห็น เพราะที่ท่านนั่งสมาธินั้นลี้ลับมาก ครั้งจะค้นให้ทั่ว ก็กลัวจะเป็นการรบกวนสมาธิของท่าน ถ้าท่านกำลังนั่งสมาธิ แต่ถ้าหากท่านตายจริง หลายวันแล้วเดี๋ยวจะเน่าเฟะก็จะลำบาก ชาวบ้านต่างก็โจษขานกันไป และคิดที่จะหาหนทางเอาศพมาบำเพ็ญกุศลกัน

แต่ที่ไหนได้ รุ่งขึ้นเช้าวันที่ 3 นั้น ก็ปรากฏว่าเห็นโฉมหน้าของท่านอาจารย์มั่นกำลังออกบิณฑบาตโดยปกติแล้ว ทุกคนก็บังเกิดความเลื่อมใส ต่างก็ถามท่านว่า “ท่านอาจารย์ครับ 3 วันที่แล้วมา ทำไมจึงไม่มาบิณฑบาต” ท่านอาจารย์ได้ตอบว่า “เราก็ได้ต่อสู้กับความโง่ของตัวเองนั่นแหละโยม เห็นจิตสงบดีจึงไม่ได้มา” แต่ชาวบ้านก็ยังไม่แน่ใจว่า ท่านจะอยู่ไปได้ตลอดหรือไม่ หลังจากท่านบิณฑบาตกลัไปที่ถ้ำแล้วนั้น จากนั้นอาการต่างๆ ก็ปกติดี อาหารทุกอย่างย่อยเป็นปกติ ร่างกายของท่านสมบูรณ์ ในตอนนี้ท่านได้พักผ่อนบำเพ็ญความเพียรตามปกติ และท่านก็หวนพิจารณาถึงพระที่มรณภาพไปแล้ว 6 องค์ว่า เป็นเพราะเหตุใด ก็ได้ทราบว่าประพฤติเป็นศีลวิบัติโดยลักษณะต่างๆ กัน

องค์ที่ 1 ได้มาอยู่ 2 เดือน 29 วัน ก็มรณภาพ องค์นี้ผิดวินัยข้อที่เก็บอาหารเป็นสันนิธิ เป็นอาบัติปาจิตตีย์ในโภชนวรรคสิกขาบทที่ 7 เวลาไปบิณฑบาตแล้ว มีอาหารบางสิ่งที่ไม่บูดเสียแล้ว เก็บไว้ฉันในวันต่อไป องค์ที่ 2 ได้มาอยู่ 3 เดือน 10 วัน ก็มรณภาพ องค์ที่ 2 นี้ได้ตัดต้นไม้ในป่าด้วยตนเอง แล้วนำมาทำร้าน เพื่อเป็นที่สำหรับนั่งและนอนนอกถ้ำ เพราะว่าจะนั่งนอนกับหินและดินก็ชุ่มชื้น นี่ก็เป็นอาบัติปาจิตตีย์ในสิกขาบทที่ 1 แห่งภูตคามวรรค องค์ที่ 3 อยู่ได้ 4 เดือน กับ 22 วัน ก็มรณภาพ องค์ที่ 3 นี้ได้ขุดดินโดยที่แถวนั้นมีมันป่ามาก ก็ขุดเอามันมาไว้และต้มฉันเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่สมณะไม่ควรทำ และผิดวินัยตามพุทธบัญญัติข้อ 1 ของภูตคามวรรค และข้อที่ 10 ของมุสวาทวรรค

องค์ที่ 4 ได้มาพักอยู่ 5 เดือน กับ 20 วัน ก็มรณภาพที่ถ้ำนี้ ชาวบ้านได้นำศพไปบำเพ็ญกุศลตามประเพณี องค์นี้ได้ทำผิดวินัยที่เก็บอาหารบิณฑบาตมาได้ แล้วเอาไว้ฉันต่อไป และได้เก็บผลไม้ต่างๆ ในป่ามาฉันเอง ซึ่งเป็นการผิดวินัยข้อ 8 ของโภชนวรรคปาจิตตีย์ และข้อที่ 1 ของภูตคามวรรคปาจิตตีย์ องค์ที่ 5 อยู่ได้ 6 เดือน กับ 18 วัน ก็มรณภาพองค์นี้ได้ไปเก็บผลไม้จากต้นไม้ เพราะในป่านั้นก็มีผลไม้ป่าต่างๆ เป็นต้นว่า ไม้เค็ง ไม้พอง ผลนมวัว เป็นต้น ท่านได้ไปเก็บจากต้นมาฉันเอง นี่เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ข้อที่ 1 ของภูตคามวรรคและข้อที่ 10 ของโภชนวรรค องค์ที่ 6 อยู่ได้ 7 เดือน กับ 12 วัน แล้วก็ขอให้โยมพาไปส่งที่วัดเดิมของท่านที่ขอนแก่น เมื่อกลับไปอยู่วัดเดิมได้ 1 เดือน ท่านก็มรณภาพ องค์นี้ก็เก็บอาหารต่างๆ ที่เป็นสันนิธิ เป็นอาบัติโดยที่ได้ทำอยู่เป็นอาจิณ แล้วตัวท่านเองก็มิได้รู้ถึงสมุฏฐานแห่งการเป็นอาบัติ จึงต้องศีลวิบัติอันเป็นเหตุให้ถึงแก่ชีวิต และการจะเดินธุดงค์และอยู่ป่านั้น ข้อสำคัญต้องรักษาขนบธรรมเนียมพร้อมด้วยพระธรรมวินัยของพุทธบัญญัติอย่างเคร่งครัด จึงจะเป็นไปเพื่อความสะดวกสบายได้

ในวันหนึ่งท่านได้นั่งสมาธิปลอดโปร่งมาก แต่ว่าการที่ท่านได้มาอยู่ที่ถ้ำนี้นับแต่ท่านพบแสงสว่างแห่งธรรม ท่านก็ได้รับผลแห่งความสงบตลอดทั้งกลางวันกลางคืน ในคืนนั้นท่านพิจารณาถึงการแนะนำสั่งสอนธรรมอันเป็นภายในนี่ว่า เรา “แนะนำพร่ำสอนไฉนหนอจึงเป็นผล” ท่านก็กำหนดพิจารณาดูในขณะนั้นว่า “การแนะนำในขั้นต้นนี้ ควรจะต้องดำเนินไปเฉพาะพระภิกษุสามเณรเป็นประการสำคัญ เพราะพระภิกษุสามเณรแม้องค์เดียว ถ้าได้เห็นธรรมเป็นที่แน่ชัดแล้ว จะไปสอนอุบาสกอุบาสิกาได้เป็นจำนวนมาก และก่อนที่จะสอนใครก็ควรจะต้องพิจารณาจิตใจของผู้นั้นว่า ควรจะได้รับธรรมะอย่าง ผู้นั้นควรจะนำไปปฏิบัติอย่างไร” ท่านอาจารย์มั่นท่านย้ำกับผู้เขียนว่า “ถ้าเราไม่พึงรู้ถึงความเป็นจริง คือ อุปนิสัยวาสนาและปุพเพนิวาสแต่กาลก่อน ซึ่งจะเป็นเหตุให้เราได้ทราบชัดว่าผู้ใดควรได้รับธรรมกัมมัฏฐานอะไร และจะสามารถรู้ซึ้งในกัมมัฏฐานได้แล้ว เราจะยังไม่สอนใครเลยทีเดียว”

ฉะนั้นการสอนกัมมัฏฐานของท่าน จึงได้ผลเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ปรากฏต่อมาว่า เมื่อท่านสอนใครแล้วต้องได้ผล เพราะเราจะเห็นผู้เป็นอาจารย์กัมมัฏฐานองค์สำคัญๆ ที่ได้ทำประโยชน์ใหญ่แก่พุทธศาสนาอยู่ในเวลานี้ ก็เป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์มั่นเป็นส่วนมาก เพราะได้รับการฝึกฝนอย่างถูกต้องจากท่านอาจารย์มั่นนั้นเอง

(ติดตามตอนที่ 14 ตอน ฟังสัตว์ป่าคุยกัน…ฉบับหน้า)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image