ต้อง ‘ทะลุถึงหัวใจ’ โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

แฟ้มภาพ

จุดมุ่งหมายของการ “ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ” คือเพื่อให้มีคำตอบว่า “รัฐธรรมนูญ” ที่จะประกาศใช้ต่อไปนี้เป็นฉบับที่ประชาชนส่วนใหญ่ให้การยอมรับ

เพื่อให้นานาประเทศได้รับรู้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไทยเราเลือกแล้วที่จะให้มี “การปกครองระบอบประชาธิปไตยตามรูปแบบที่เขียนไว้ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้”

เป็นการเลือกของประชาชนส่วนใหญ่อันเป็นหลักการของประชาธิปไตยสากล

เสียงเรียกร้องให้เปิดกว้างเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อได้ช่วยกันตีความ ทำความเข้าใจในสาระของรัฐธรรมนูญจึงเกิดขึ้น

Advertisement

เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด และสร้างความเข้าใจให้กันและกัน เพื่อให้เป็น “ประชามติที่มีคุณภาพ”

“รัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติอย่างมีคุณภาพ” ควรจะเป็นจุดประสงค์ที่แท้จริงมากกว่า “แค่ผ่านไปเฉยๆ”

ท่ามกลางความแตกแยกของคนในสังคมไทย และความไม่ไว้วางใจของนานาชาติ

Advertisement

ทุกอย่างถูกตีความในเจตนาอย่างน้อย 2 ทางเสมอ

เมื่อมี หนึ่ง เป็นประชามติที่สะท้อนความต้องการของคนส่วนใหญ่ของประเทศ ก็ต้องมี สอง เป็นแค่เสียงส่วนใหญ่ที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้แอบอ้าง ขณะที่สาระที่แท้จริงถูกควบคุมให้เป็นไปตามที่ผู้มีอำนาจต้องการอย่างเข้มข้น

ที่ต้องพิจารณาคือ “ประชามติแบบไหนกันที่ได้รับการยอมรับที่แท้จริง”

การให้อิสระที่ประชาชนจะเกื้อกูลกันในความรู้ ความคิด และความเข้าใจจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องสร้างให้เห็นการเปิดกว้าง

เพราะขณะที่ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า การจัดการต่างๆ ในขณะนี้เป็นเรื่องของการเดินหน้านำประเทศกลับสู่ประชาธิปไตย นำการเมืองกลับไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นการคืนอำนาจการบริหารประเทศกลับไปให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน

เป็นการเดินหน้า

แต่อีกฝ่ายหนึ่งกลับมองเห็นในมุมว่า เป็นการถอยหลัง เรากำลังจะมีรัฐธรรมนูญที่นักการเมืองจากการเลือกตั้งถูกทำให้เป็นเป็ดง่อย มีนักการเมืองจากการแต่งตั้งยกโขยงกันเข้ามาควบคุมอำนาจทั้งในรูปแบบของสมาชิกรัฐสภา และกรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ โดยมีอำนาจการแต่งตั้งอยู่ที่คนกลุ่มหนึ่งที่กำหนดสิทธิทางการเมืองไว้เหนือกว่า มากกว่าคนทั่วไป ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

เป็นการถอยหลัง

ความแตกต่างในมุมมองเช่นนี้ จำเป็นจะต้องมีการตัดสินว่าจะเลือกมุมมองใดในการจัดการประเทศ

และเมื่อเลือกที่จะใช้คำว่า “ประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย” ความจำเป็นที่จะต้องทำให้เกิดการยอมรับในเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ซึ่งตามหลักการประชาธิปไตยถือเป็นอำนาจสูงสุดเป็นเรื่องจำเป็น

เนื่องจากหากไม่ทำ หรือทำแต่ทำให้เกิดการยอมรับไม่ได้ ย่อมหมายถึงเข้าไม่ถึงหัวใจของหลักการนี้

การทำประชามติที่ไม่เกิดการยอมรับเป็นเรื่องแทบไม่มีประโยชน์ เพราะการนำประชามตินี้ไปใช้จะถูกให้ค่าว่าเป็นการแอบอ้างอำนาจประชาชน ด้วยวิธีการจัดการที่ไม่โปร่งใส

จะเป็นการทำประชามติที่ลงทุน-ลงแรงไปแล้วไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา

ตราบที่เป้าหมายของประชามติที่แท้จริงคือ การให้ประชาชนเป็นผู้เลือก ใช้เสียงส่วนใหญ่มาตัดสินว่าประเทศจะเอาอย่างไรในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

ประชามติที่ถูกตั้งข้อกังขาจากทุกฝ่ายทั้งในประเทศ ต่างประเทศ ย่อมไปไม่ถึงคุณค่านั้นตั้งแต่เริ่มต้น

ที่มองว่าเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยจะยังคงความคิดของตัวเองไว้ เช่นเดียวกับคนที่มองว่าถอยหลังเข้าคลองก็จะยังไม่ยอมรับ

ตราบใดที่เสียงส่วนใหญ่ยังถูกสงสัยว่าได้มาด้วยวิธีการที่ไม่โปร่งใส

การเปิดกว้างให้ประชาชนได้เกื้อกูลความรู้ ความคิด ความเข้าใจกัน ควรทำให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง เป็นรูปธรรม

ยิ่งโดยไร้ข้อสงสัยในเจตนาซ่อนเร้นยิ่งดี

เพราะจะทำให้รักษา “หัวใจของประชามติ” ไว้ได้ อย่างไร้ข้อกังขา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image