ช่วยแร้งเชิงรุก โดย ผศ.นสพ.ดร.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว

 

ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่สำคัญในด้านความหลากหลายทางชีวภาพของนกนานาชนิดกว่า 1,057 ชนิด พบนกนักล่าในเวลากลางวัน ได้แก่ เหยี่ยว นกอินทรีและอีแร้ง 60 ชนิด ล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 มีรายงานพบนกอินทรีปีกลายเล็ก (Indian Spotted Eagle) เป็นนกใหม่เมืองไทย ที่ จ.เพชรบุรี

ในบรรดานกนักล่าดังกล่าว แร้งไทย นับว่ามีสถานการณ์น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะด้วยวิถีการจัดการซากสัตว์ที่เปลี่ยนไปจากอดีต ชาวบ้านปล่อยซากปศุสัตว์ให้เน่าสลายไปเองตามธรรมชาติ กลายเป็นแหล่งอาหารหลักของแร้ง สัตว์กินซากที่ถือว่าเป็น ผู้ทรงศีลแห่งนภากาศ เพราะไม่พรากชีวิตสัตว์อื่นเป็นอาหาร เหมือนเหยี่ยวและนกอินทรี

แร้งไทย 5 ชนิด แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ตามพฤติกรรมการอาศัย คือ แร้งประจำถิ่น มี 3 ชนิด ได้แก่ พญาแร้ง แร้งเทาหลังขาว และแร้งสีน้ำตาล ทั้งสามชนิดล้วนเรียกได้ว่าสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติในบ้านเราหมดแล้ว เนื่องจากไม่มีรายงานการทำรังวางไข่มานานกว่า 30 ปี อันเป็นผลมาจากภาวะขาดแคลนซากสัตว์ที่เป็นอาหารหลัก การล่า ยาเบื่อ และการรบกวนจากคนบางคนที่ถือว่าพบเห็นแร้ง คือพบเห็นความตาย นับเป็นเรื่องอัปมงคล

Advertisement

หากในปัจจุบัน ใครพบเห็นแร้งต้องบอกว่าโชคดี เพราะสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ในระดับโลก จึงเกิดความร่วมมือระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อจะพยายามเพาะพันธุ์พญาแร้งในกรงเลี้ยง แล้วปล่อยคืนสู่ถิ่นอาศัยเดิมในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

ส่วนแร้งไทย อีกกลุ่มเป็นแร้งอพยพเข้ามาในฤดูหนาว ประกอบด้วย แร้งดำหิมาลัยและแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย แร้งหิมาลัยทั้งสองชนิดนี้เป็นนกบินได้ขนาดใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย ด้วยความยาวของปีกซ้ายจรดปีกขวา ระหว่าง 2.8-3 เมตร น้ำหนักตัว 8-12 กก. ตัวใหญ่กว่านกอินทรี ปีกของแร้งดำหิมาลัยยาวกว่าแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย

แต่ในทางกลับกัน แร้งสีน้ำตาลหิมาลัยมีน้ำหนักตัวมากกว่าแร้งดำหิมาลัย เมื่อแร้งหิมาลัยย้ายถิ่นออกจากถิ่นผสมพันธุ์ในเขตอบอุ่น ตั้งแต่ประเทศมองโกเลีย (เฉพาะแร้งดำหิมาลัยเท่านั้น) จีน ถัดไปทางทิศตะวันตกจรดภูมิภาคเอเชียกลาง เข้ามาในประเทศอาเซียนล้วนประสบอุปสรรคสำคัญ คือ หาซากสัตว์ประทังชีวิตยากขึ้น อีกทั้งด้วยการใช้ยาบางชนิดอย่างพร่ำเพรื่อ ไม่มีสัตวแพทย์ดูแลให้มีระยะถอนยาจากเนื้อสัตว์จนกว่ายานั้นจะถูกขับถ่ายออกจากร่างกายของสัตว์ก่อนจะตายและนำมาเป็นอาหาร จึงเพิ่มโอกาสปนเปื้อนยาอันตรายในกลุ่มยาต้านอักเสบ (Non-steroidal anti-inflammatory drugs: NSAID) โดยเฉพาะยาไดโคลฟีแนค ที่เป็นสาเหตุของปรากฏการณ์ล้มตายเป็นใบไม้ร่วงของพญาแร้งและแร้งเทาหลังขาวในประเทศอินเดีย

Advertisement

ในประเทศไทยจะพบแร้งหิมาลัยอพยพเข้าประเทศในภาคเหนือ ที่ จ.เชียงรายและเชียงใหม่ ตามชายแดนไทย-เมียนมา ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน จะพบมากขึ้น เป็นฝูง ฝูงละ 3-15 ตัว ในเดือนธันวาคม เมื่อลมหนาวจากประเทศจีนโหมกระพือ เป็นลมส่งท้ายหรือ Tail-wind ให้แร้งนกยักษ์ขนาดใหญ่ร่อนมาเรื่อยๆ โดยไม่ต้องเปลืองแรงกระพือปีกบิน

เมื่อเข้าแร้งหิมาลัยมีเส้นทางอพยพผ่านไทย 2 สาย สายที่ 1 เส้นทางภาคเหนือ-ตะวันตก-ใต้ แร้งจะใช้ภูมิประเทศเทือกเขาที่ทอดยาวตั้งแต่ภาคเหนือตามเทือกเขาถนนธงไชยและตะนาวศรี ไปถึงภาคใต้ เรียกว่า สายเหนือใต้ แร้งหิมาลัยกลุ่มนี้ บางตัวเมื่อหาซากสัตว์กินไม่ได้ ประกอบกับลมหนาวหมดแรงส่ง จะร่วงลงพื้นในจังหวัดต่างๆ ในภาคตะวันตก และภาคใต้ ตั้งแต่ จ.กาญจนบุรี ชุมพร จรด ตรัง ส่วนใหญ่จะพบฝั่งอันดามันมากกว่าฝั่งอ่าวไทย

เส้นทางที่ 2 สายอินโดจีน แร้งหิมาลัยจะบินไปทางภาคอีสาน ผ่าน จ.ชัยภูมิ นครราชสีมา นครนายก ฉะเชิงเทรา ไปหมดแรงร่วงที่จังหวัดในภาคตะวันออก อาทิ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี

ที่เรียกสายที่ 2 นี้ว่าสายอินโดจีน เพราะว่าพบแร้งหิมาลัย 2 ชนิด บินไปถึงประเทศกัมพูชาด้วย แร้งหิมาลัยในสายอินโดจีน อาจบินพลัดหลงจากฝูงและหมดแรงร่วง ในภาคเหนือตอนล่าง หรือภาคกลาง อาทิ จ.พิจิตร และกรุงเทพมหานคร

ในแต่ละปี ตั้งแต่ พ.ศ.2551 ที่มีการฟื้นฟูสุขภาพแร้งดำหิมาลัย 1 ตัว และแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย 4 ตัว เพื่อปล่อยคืนธรรมชาติโดยหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ อันเป็นการจุดประกายโครงการฟื้นฟูสุขภาพของนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาตินั้น

ปรากฏว่า 12 ปีที่ผ่านมา หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อฯ ฟื้นฟูสุขภาพแร้งหิมาลัย รวมแล้ว 32 ตัว เป็นแร้งดำหิมาลัย 2 ตัว และแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย 30 ตัว ทั้งนี้แร้งหิมาลัยทั้งสองชนิดมีภัยคุกคามประชากรมาอย่างต่อต่อเนื่องทั่วโลก สถานภาพใกล้ถูกคุกคาม (Near-threatened) ทำให้ประชากรของแร้งหิมาลัยทั้งสองชนิดลดลงเหลืออยู่เพียง 21,000 ตัว และ 66,000 ตัว ตามลำดับ

ดังนั้น การฟื้นฟูสุขภาพของแร้งร่วงที่ผ่านมาจึงเป็นการช่วยเหลือเชิงรับ หากจะช่วยเหลือแร้งหิมาลัยอพยพเหล่านี้โดยไม่ต้องรอให้ปัญหาเกิดขึ้นมาก่อน จึงต้องจัดหาแหล่งอาหารที่สะอาด ปลอดภัยจากยาต้านอักเสบ ให้แร้งประทังชีวิตไปตลอดฤดูหนาว

งานวิจัยนกนักล่าและอายุรศาสตร์การอนุรักษ์ร่วมกับหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อฯ จึงริเริ่มโครงการจัดทำ ร้านอาหารแร้งขึ้น 2 แห่ง ได้รับความร่วมมือจากสถานีวิจัยสัตว์ป่าคลองแสง กลุ่มถ่ายภาพนกและธรรมชาติที่ภูเก็ต กลุ่ม Bird Home และชมรมอนุรักษ์นกเหยี่ยวปากพลี จ.นครนายก บนเส้นทางอพยพของแร้งหิมาลัย ในภาคใต้ ที่ ต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต และ อ.ปากพลี จ.นครนายก

ปรากฏว่าร้านอาหารแร้งภูเก็ตตั้งอยู่บนภูเขาไม้สิบสองในพื้นที่ส่วนบุคคลของผู้เมตตาต่อแร้งอพยพ สัตว์ป่าคุ้มครอง ด้วยการสนับสนุนงบประมาณของกองทุนวิจัยนกนักล่าเพื่อการอนุรักษ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ พบแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย จำนวน 5 ตัว อาศัยร้านอาหารแร้งเป็นแหล่งอาหารตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2562 และ 14 กุมภาพันธ์ ก็เดินทางอพยพขึ้นเหนือต่อไป

ส่วนร้านอาหารแร้งปากพลี จัดทำจุดวางซากสัตว์ที่ปลอดจากโรคระบาด และยาต้านอักเสบที่เป็นอันตรายต่อแร้ง พบแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย อย่างน้อย 7 ตัว ลงมากินอาหาร ระหว่างวันที่ 3 กุมภาพันธ์ และ 9 มีนาคม ศกนี้

จากการทวนสอบกับเครือข่ายการอนุรักษ์แร้งที่ประเทศกัมพูชา ซึ่งจัดทำร้านอาหารแร้งเพื่อฟื้นฟูประชากรแร้งประจำถิ่นของเขา ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ก็พบแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย 1-2 ตัว ลงมากินซากร่วมกับแร้งประจำถิ่นด้วย เป็นการยืนยัน บนเส้นทางอินโดจีนในปีนี้มีแร้งหิมาลัยอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวจริงๆ

นับเป็นก้าวที่ 2 ที่สำคัญในการช่วยเหลือฟื้นฟูประชากรของแร้งหิมาลัยที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายและพบเห็นยาก ที่สำคัญยังเป็นวิธีช่วยเหลือแร้งหิมาลัยเชิงป้องกัน ที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในครั้งแรกที่มีการทำร้านอาหารแร้งในประเทศไทย อันเป็นวิธีอนุรักษ์แร้งที่
นานาประเทศดำเนินการมานานหลายทศวรรษ ตั้งแต่ พ.ศ.2509 ในประเทศแอฟริกาใต้ และต่อมาในประเทศสเปน อินเดีย เนปาล และกัมพูชา ซึ่ง การจัดทำ “ร้านอาหารแร้ง”

เป็นแหล่งอาหารที่ปลอดภัยให้แร้งในระยะยาว จะเป็นต้นแบบ ใช้ต่อยอดในการฟื้นฟูประชากรของพญาแร้งไทยในถิ่นอาศัยที่ป่าห้วยขาแข้งต่อไปอีกด้วย

หมายเหตุ สอบถาม/สนับสนุนโครงการร้านอาหารแร้ง ที่อีเมล์ [email protected] หรือเพจ www.facebook.com/KasetsartUniversityRaptorUnit

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image