คุณภาพคือความอยู่รอด ตอน OTOP ของดีมีคุณภาพ : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

ทุกวันนี้ สินค้า OTOP ของไทย ก้าวหน้าไปไกลมากและเป็นแหล่งรายได้สำคัญที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็งมากขึ้น เพราะนอกจากจะวางขายทั่วไปในจังหวัดต่างๆ แล้ว เดี๋ยวนี้สินค้า OTOP ยังขึ้นห้าง และขึ้นสนามบิน หลายแห่งแล้ว

คำว่า “OTOP” ย่อมาจาก “One Tambon One Product” หรือ “หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์”

OTOP คือ โครงการส่งเสริมและกระตุ้นการประกอบธุรกิจของท้องถิ่น โดยการนำเอาของดีและของมีชื่อเสียงของแต่ละตำบลหรือแต่ละท้องถิ่นมาส่งเสริมให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในแต่ละชุมชนดีขึ้น สินค้าในโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์มีตั้งแต่อาหารการกิน อาหารแปรรูป สินค้าหัตถกรรม และงานฝีมืออื่นๆ เป็นต้น โดยมีเป้าหมายการส่งเสริมให้ครบ 7,000 ตำบลทั่วประเทศไทย

โครงการ OTOP ของไทย ได้รับแรงบันดาลใจมาจากโครงการ “OVOP” (One Village, One Product) ของเมืองโออิตะ ประเทศญี่ปุ่น

Advertisement

สำหรับสินค้า OTOP ที่ขายดีในสนามบินจำนวน 10 อันดับแรก ได้แก่ (1) มะขามแกะเม็ด 500 กรัม (เพชรบูรณ์) ยังคงเป็นสินค้าที่ขายดีที่สุดอันดับหนึ่ง มียอดขายเฉลี่ยต่อเดือน 4.25 แสนบาท (2) น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น Tropicana (นครปฐม) ยอดขาย 2.22 แสนบาท (3) หมอนรองคอ (นครราชสีมา) ยอดขาย 2.19 แสนบาท (4) เสื้อปีกค้างคาว (สกลนคร) ยอดขาย 1.85 แสนบาท (5) ต้มยำโป๊ะแตก (จันทบุรี) ยอดขาย 1.80 แสนบาท (6) ผ้าห่มผ้าฝ้ายทอมือ (ร้อยเอ็ด) ยอดขาย 1.58 แสนบาท (7) ปูอบโอ่ง (จันทบุรี) ยอดขาย 1.53 แสนบาท (8) น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น เรือนสมุทร (สมุทรสงคราม) ยอดขาย 1.52 แสนบาท (9) ผ้าคลุมไหล่มัดหมี่ลายข้างสี (สกลนคร) ยอดขาย 1.49 แสนบาท และ (10) ชุดแซค (สุโขทัย) ยอดขาย 1.46 แสนบาท

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการ OTOP มักมีปัญหาเรื่องของการเงิน (การลงทุน) ควบคู่กับเรื่องของการตลาด โดยเฉพาะปัญหาเรื่องตัวสินค้า ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ “คุณภาพ” และ “บรรจุภัณฑ์หรือหีบห่อ” (Packaging) เป็นสำคัญ

คุณภาพของสินค้า OTOP ก็คือ ต้องทำให้ได้ตามมาตรฐานที่ยอมรับกันในตลาด และต้องมีความสม่ำเสมอคงเส้นคงวาด้วย โดยยึดเอา “ความต้องการของลูกค้า” เป็นหัวใจในการผลิตและการพัฒนาสินค้า เพื่อให้ลูกค้ามีความพอใจมากขึ้นๆ จนกระทั่งประทับใจกลายเป็น “ลูกค้าประจำ” ของเราในที่สุด

Advertisement

เพราะเบื้องหลัง “ตรายี่ห้อ” (Brand Name) ของสินค้า ล้วนแต่ผูกพันยึดโยงกัน “คุณภาพ” และ “อัตลักษณ์” ของสินค้าชิ้นนั้น (ซึ่งเป็นที่มาของตัวสินค้าทั้งจากแรงบันดาลใจและประวัติศาสตร์)

ปัญหาของสินค้า OTOP ในวันนี้ ยังอยู่ที่ “สถานที่” วางจำหน่ายด้วย ซึ่งน่าจะมีมุมเฉพาะของสินค้า OTOP วางขายเป็นสัดส่วนอย่างเด่นชัดในห้างสรรพสินค้า หรือ โรงแรม เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่นและที่อื่นๆ

ถึงวันนี้ “ส่วนผสม 4P ทางการตลาด” (Marketing Mix) ของ Kotler ปรมาจารย์ด้านการตลาด นั่นคือ Product, Price, Place และ Promotion ยังคงขลังและประยุกต์ใช้งานได้เสมอ

สวัสดีวันปีใหม่ไทย สงกรานต์ 2562 ครับผม !

วิฑูรย์ สิมะโชคดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image