หลังเลือกตั้ง ยังฝุ่นตลบ การเมือง ลูกผี-ลูกคน บนเส้นทาง สู่ ปชต.

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ เปิดบ้านสี่เสาเทเวศร์ต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. และคณะ

เป็นการเปิดบ้านเนื่องในโอกาสวันสงกรานต์

ในวันนั้น พล.อ.เปรมได้ให้พรแก่ผู้เข้ารดน้ำขอพรว่า ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีเพื่อนรัก พวกเรายินดีที่ได้เห็นนายกฯ กองทัพกับข้าราชการหน่วยต่างๆ ช่วยดูแลชาติบ้านเมืองจนกระทั่งมาจนถึงทุกวันนี้

พูดได้เต็มปากว่า รัฐบาลของนายกฯไม่โกง เพราะเป็นคนที่เห็นแก่ส่วนรวมจริงๆ

Advertisement

คนที่จะซื่อสัตย์สุจริตต้องเป็นคนที่มีความคิดกว้างไกลทำเพื่อคนอื่นไม่ใช่ทำเพื่อตนเองหรือปกป้องพี่น้องที่อยู่ใกล้ชิด เพราะฉะนั้นที่ผมพูดเสมอว่ารัฐบาลนี้เก่งไม่เก่งก็ดูเอาเองก็แล้วกัน

“บอกได้เลยว่ารัฐบาลนี้ไม่โกง ยืดอกพูดได้เลยว่ารัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่โกง แต่ถ้าพูดผิดนายกฯก็ต้องไปจัดการ”

คำพูดของป๋าในวันนั้น กลายเป็นกำลังใจให้ พล.อ.ประยุทธ์ ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ยัง “ลูกผีลูกคน”

Advertisement

ยังไม่รู้ว่าพรรคการเมืองขั้วพลังประชารัฐจะเอาชนะขั้วเพื่อไทยได้มากน้อย

ทุกสายตาล้วนจับตามองวันที่ 9 พฤษภาคม

วันที่ 9 พฤษภาคม เป็นวันสุดท้ายที่คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องประกาศรับรองผลการเลือกตั้่ง ส.ส.

ประกาศรับรอง ส.ส.เขต และประกาศรับรอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ

แม้ว่าหลังการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม ดูเหมือนว่าการจัดการการเลือกตั้งจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก แต่ในคำวิจารณ์ที่มีปัญหา ดูเหมือนว่าปัญหาการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อตามรัฐธรรมนูญ และตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะเป็นเรื่องหนักอก เพราะเกี่ยวพันกับกฎหมาย

ทั้งนี้ เพราะวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อของ กกต.ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ มีผลออกมาว่าจะมีพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่ต่ำกว่า 25 พรรค

ขณะที่พรรคการเมือง ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ และอื่นๆ ต่างมองต่างมุม

พรรคการเมืองมองว่าเมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ได้ต้องมีจำนวนไม่มากกว่า ส.ส.พึงมีตามรัฐธรรมนูญกำหนด

และจำนวน ส.ส.พึงมีก็เกี่ยวพันกับคะแนนเสียงที่ต้องนำเอาจำนวนบัตรดีไปหารด้วยจำนวนเก้าอี้ในสภา คือ 500

ผลออกมาว่า พรรคที่มีสิทธิลุ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อคือต้องมีเสียงมากกว่า 71,000 เสียง

หวนกลับไปดูพรรคการเมืองที่มีเสียงเกินกว่า 71,000 เสียง มีเพียง 16 พรรค

ในจำนวนนี้มีพรรคที่มี ส.ส.เขตเกินกว่าจำนวน ส.ส.ที่พึงมี 2 พรรคคือ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชาติ

ทำให้พรรคการเมืองที่น่าจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเหลือ 14 พรรค

ไม่ใช่ 25 พรรคเหมือนอย่างที่ กกต.คำนวณ

ปมขัดแย้งเกี่ยวกับคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองเริ่มขยายบานปลายกลายเป็นประเด็นสำคัญ จนในที่สุดคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องส่งตีความ

ก่อนปิดยาวเทศกาลสงกรานต์ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่เอกสารข่าวผลการประชุม กกต.

ที่ประชุมมีมติส่งเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณเพื่อจัดสรรจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองพึงมีได้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ทั้งนี้ กกต.เห็นว่าวิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อตามมาตรา 128 (5) ของ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ทำให้พรรคที่มี ส.ส.พึงมีเบื้องต้นต่ำกว่า 1 คนมีสิทธิได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วย

แต่มาตราดังกล่าวมีผลขัดหรือแย้งกับมาตรา 91 (2) และ (4) ของรัฐธรรมนูญ เพราะมีผลให้พรรคการเมืองมีจำนวน ส.ส.จะพึงมีได้ ตาม (2) ต่ำกว่า 1 คน สามารถได้รับการจัดสรรให้มี ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ 1 คน จึงอาจทำให้พรรคการเมืองบางพรรคมีจำนวน ส.ส.เกินกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมี ซึ่งต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 (4)

จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดว่า กกต.จะคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 ซึ่งทำให้พรรคการเมืองบางพรรคที่มีจำนวน ส.ส.ที่จะพึงมีได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ส.ส.ที่พึงมี ได้ ส.ส. 1 คน ได้หรือไม่

และการดำเนินการดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 91 หรือไม่

การเมืองในช่วง 2 เดือนก่อนจะถึงวันที่ 9 พฤษภาคมจึงยังดำรงอยู่ที่ กกต. ซึ่งมีหน้าที่ในการรับรองผลการเลือกตั้ง

ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวเรื่องการออกใบส้ม กระทั่งเกิดกระแสข่าวลือเรื่องการออกใบแดงและใบเหลือง

ขยายผลกลายเป็นคดีความหมิ่นประมาทที่เป็นอีกประเด็นปัญหาที่ทับถมเข้ามา

และเมื่อที่ประชุม กกต.ตัดสินใจส่งปมปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ

ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นอีกองค์กรที่เข้ามาอยู่ในสถานการณ์การเมือง 2 เดือนนี้

ประเด็นแรก คือ ศาลรัฐธรรมนูญจะรับวินิจฉัยหรือไม่ และหากรับวินิจฉัยแล้วจะใช้เวลานานเท่าใดในการพิจารณา

ประการที่สอง คือ หากศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยแล้ว ผลการวินิจฉัยจะเป็นเช่นไร

ทุกจังหวะก้าวของการเมืองจึงยังต้องรอ

ขณะที่การเมืองยังต้องรอผลการวินิจฉัย ทั้งจาก กกต. และจากศาลรัฐธรรมนูญ การดำเนินการเกี่ยวกับคดีอื่นๆ ก็เริ่มกลายเป็นประเด็นขัดแย้ง

เมื่อ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถูกเรียกไปแจ้งข้อกล่าวหากระทำผิดตาม ม.116

ในวันนั้นนายธนาธรมิได้ไปคนเดียว หากมีแต่บรรดาเจ้าหน้าที่ทูตจากประเทศต่างๆ ทั้งยูเอ็นและประเทศอื่นๆ ไปติดตามดูด้วย

ผลจากวันนั้นทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ฝากให้กระทรวงการต่างประเทศไปเคลียร์ และกลายเป็นท่าทีของกระทรวงการต่างประเทศต่อเจ้าหน้าที่ทูตประเทศเหล่านั้น

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ บอกว่าต้องมีการทำความเข้าใจกันทั้งเรื่องหลักการและเรื่องจรรยา

หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ทูตทยอยเข้าพบตามคำรับเชิญ

และตามมาด้วยท่าทีของประเทศที่ถูกพาดพิง

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า คณะทูตานุทูตจากชาติตะวันตกได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาของกระทรวงการต่างประเทศของไทย พร้อมกับยืนยันว่าสิ่งที่ได้ดำเนินการไปถือเป็นแนวปฏิบัติปกติทางการทูต

ผู้แทนสหภาพยุโรป (อียู) ประจำประเทศไทย ออกแถลงการณ์ระบุว่า เป็นการดำเนินการตามหลักปฏิบัติปกติทางการทูตที่ทำกันทั่วโลก

“ไม่ได้แทรกแซงทางการเมือง”

ท่ามกลางการรอคอยการรับรองผลการเลือกตั้ง ทุกจังหวะก้าวยังคงไม่แจ่มชัด ปัญหาในประเทศ ปัญหาต่างประเทศยังคงสุมทับ

กระทั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณกังวล

กังวลถึงการตั้งรัฐบาล กังวลถึงเสถียรภาพรัฐบาลหน้า

แม้การเลือกตั้งจะผ่านไป แต่การคืนกลับสู่เส้นทางประชาธิปไตยนั้นยังต้องลุ้น

จะไปได้ตลอดรอดฝั่งแค่ไหน ยังคงเป็นคำถาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image