วันสงกรานต์ : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

“สงกรานต์” คือ ประเพณีของชนชาติในกลุ่มประเทศ AEC อันประกอบด้วย ไทย ลาว กัมพูชา พม่า ชนกลุ่มน้อยชาวไตแถบเวียดนาม และมณฑลยูนนานของจีน รวมถึงศรีลังกา และประเทศทางตะวันออกของประเทศอินเดีย สันนิษฐานกันว่า “ประเพณีสงกรานต์” นั้นได้รับวัฒนธรรมมาจาก “เทศกาลโฮลี” ในอินเดีย แต่เทศกาลโฮลีจะใช้การสาดสีแทน ซึ่งจะจัดขึ้นทุกวันแรม 1 ค่ำ เดือน 4 ก็คือ เดือนมีนาคม

“สงกรานต์” เป็นภาษาสันสกฤตที่หมายถึงการเคลื่อนย้ายโดยเป็นการอุปมาถึงการเคลื่อนย้ายการประทับใน “จักรราศี” หรือการเคลื่อนย้ายเข้าสู่ “ปีใหม่” ตามความเชื่อของไทย และบางประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยเราใช้วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเรื่อยมา จนถึงปี พ.ศ.2483 รัฐบาลในสมัยนั้น จึงเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่มาเป็นวันที่ 1 มกราคม เพื่อให้เข้ากับหลักสากลที่นานาประเทศนิยมปฏิบัติ ในสายตาชาวโลก

วัน “สงกรานต์” ในประเทศไทย มีชื่อเสียงขจรขจายไปทั่วโลก นับเป็นวัฒนธรรมประเพณีติดอันดับเทศกาลที่มีสีสันที่สุด 1 ใน 5 ของเอเชีย ประเพณีวันสงกรานต์ จึงหมายถึงการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

เดิมทีวันสงกรานต์จะมีการคำนวณทางดาราศาสตร์ แต่ในปัจจุบันได้มีการกำหนดแน่นอน คือ ตั้งแต่วันที่ 13-15 เมษายน แต่เดิมนั้นถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ไทย ตามที่กล่าวข้างต้น คือ เป็นวันเริ่มปฏิทินของไทย จนถึง พ.ศ.2431 และได้มีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่จนถึงปี พ.ศ.2483

Advertisement

เมื่อกาลก่อน “พิธีสงกรานต์” เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว หรือชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงให้ “พิธีสงกรานต์” นั้นเป็น “เทศกาลสงกรานต์” โดยได้ขยายออกไปสู่สังคมวงกว้างขึ้น และมีแนวโน้มจะเปลี่ยนทัศนคติตลอดจนความเชื่อไป แต่เดิมในพิธีสงกรานต์จะใช้ “น้ำ” เป็นสัญลักษณ์ที่เป็นองค์ประกอบหลักของพิธี แก้กันกับความหมายของฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนย้ายเข้าสู่ราศีเมษ ในวันนี้จะใช้น้ำรดให้แก่กัน เพื่อความชุ่มชื่น มีการขอพรจากผู้ใหญ่ มีการ “รำลึก” และ “กตัญญู” ต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ต่อมาในสังคมไทยสมัยใหม่ เกิดเป็นประเพณี “กลับบ้าน” ในช่วงวันเทศกาลสงกรานต์ นับว่าวันสงกรานต์เป็น “วันครอบครัว” อีกทั้งยังเป็นประเพณีสืบทอดกันมาตั้งแต่ดั้งเดิม อย่างการสรงน้ำพระซึ่งนำมาซึ่งความเป็นสิริมงคล เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ไทยที่มีความสุข ปัจจุบันได้มีการประชาสัมพันธ์ในเชิงการท่องเที่ยว (เพื่อหารายได้เข้าประเทศ) ว่าเป็น “Water Festival” หรือ “เทศกาลแห่งน้ำ” เป็นต้น
ในช่วงเทศกาล จะมีกิจกรรมสำคัญที่พึงกระทำกัน คือ 1.การทำบุญตักบาตร นับว่าเป็นการสร้างบุญสร้างกุศลให้กับตนเอง อีกทั้งยังเป็นการอุทิศส่วนกุศลนั้นให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว การทำบุญในลักษณะนี้ มักจะมีการเตรียมไว้ล่วงหน้า เมื่อถึงเวลาทำบุญก็จะนำอาหารไปตักบาตรถวายพระภิกษุที่ศาลาวัด โดยจัดเป็นที่รวมสำหรับการทำบุญในวันเดียวกันนี้ หลังจากได้ทำบุญเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีการก่อเจดีย์ทรายอันเป็นประเพณีที่สำคัญในวันสงกรานต์อีกด้วย

2.การดน้ำ นับว่าเป็นกิจกรรมสำคัญที่สื่อสารว่าเป็นการอวยพรปีใหม่ให้แก่กันและกัน น้ำที่นำมาใช้รดหัวในการนี้มักเป็นน้ำหอมที่เจือด้วยน้ำธรรมดา

3.การสรงน้ำพระ เป็นการรดน้ำพระพุทธรูปที่บ้านและที่วัด ซึ่งในบางที่ก็จะมีการจัดให้มีการ “สรงน้ำพระสงฆ์” เพื่อเป็นสิริมงคลอีกด้วย

Advertisement

4.การบังสุกุลอัฐิ สำหรับเถ้าอัฐิของญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้วมักทำที่เกิดเป็นลักษณะของเจดีย์ในลานวัด ปัจจุบันนี้ย้ายมาบรรจุใส่ช่องกล่องที่กำแพงวัดก็มี หรือถ้าอัฐิญาติโยมมีอยู่ที่บ้านที่ใส่โกฏิไว้ ก็จะนำติดมาที่วัด (พร้อมกับตักบาตร) จากนั้นก็จะนิมนต์พระไปบังสุกุลเพื่อแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที อุทิศบุญส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว

5.การรดน้ำผู้ใหญ่ คือการที่เราไปอวยพรผู้ใหญ่ที่เราเคารพนับถือ ตั้งแต่ บิดา มารดา ครูบาอาจารย์ ฯลฯ มักจะนั่งลงกับที่พื้น จากนั้นผู้จะรดน้ำก็จะเอาน้ำหอมเจือกับน้ำธรรมดารดลงไปที่มือ ผู้หลักผู้ใหญ่ก็จะให้ศีลให้พรผู้ที่ไปรด หากเป็น “พระ” ก็จะเอา “สบง” ไปถวายเพื่อให้ผลัดเปลี่ยนด้วย แต่ถ้าหากเป็น “ฆราวาส” ก็จะหาผ้าถุงหรือผ้าขาวม้าไปให้เปลี่ยน มีความหมาย : กับการเริ่มต้นในสิ่งใหม่ๆ อันเป็นมงคลในวันปีใหม่ไทย

6.การดำหัว มีวัตถุประสงค์คล้ายกันกับการรดน้ำของทางภาคกลาง ส่วนใหญ่จะพบเห็นการดำหัวได้ทาง “ภาคเหนือ” การดำหัวทำเพื่อการแสดงความเคารพต่อผู้อาวุโสกว่า ไม่ว่าจะเป็นพระ ผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีการขอขมาในสิ่งที่ได้ล่วงเกิน หรือเน้นการขอพรปีใหม่จากผู้ใหญ่ ของที่ใช้การดำหัวหลักๆ ประกอบด้วย อาภรณ์ มะพร้าว กล้วย ส้มป่อย เทียน และดอกไม้

7.การปล่อยปลา ถือว่าเป็นการล้างบาปที่เราได้ทำไว้เป็นการสะเดาะเคราะห์ร้ายให้กลายเป็นดี มีแต่ความสุขความสบายในวันขึ้นปีใหม่

8.การขนทรายเข้าวัด ทางภาคเหนือนิยมขนทรายเข้าวัดเพื่อเป็นนิมิตโชคลาภ ให้พบแต่ความสุขความเจริญ เงินทองไหลมาเทมา ดุจทรายที่ขนเข้าวัด แต่ก็มีบางพื้นที่มีความเชื่อว่าการนำทรายที่ติดเท้าออกจากวัดเป็นบาป จึงต้องขนทรายเข้าวัดเพื่อไม่ให้เกิดบาปติดตัวเราไปและก็จะทำอะไรก็เจริญรุ่งเรือง

13 เมษายน นอกจากจะเป็นวัน “มหาสงกรานต์” แล้ว ยังถูกยังกำหนดให้เป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” อีกด้วย โดยในสมัยรัฐบาล “พลเอกเปรม ติณสูลานนท์” ได้ตระหนักถึงความสำคัญของ “ผู้สูงอายุ” และปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งประชากรวัยผู้สูงอายุจะมากขึ้นตามลำดับ เพราะการดูแลของสุขภาพของประชาชนดีขึ้น อันเนื่องมาจากการแพทย์และสาธารณสุขของไทยมีการพัฒนาจากงานสาธารณสุขมูลฐานตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 สู่ปี 2543 เป็นปีสุขภาพดีถ้วนหน้า แม้กระทั่งองค์การอนามัยโลก และประเทศไทย ส่งเสริมให้ประชาชนคนไทยตระหนัก “การสร้างสุขภาพนำซ่อมสุขภาพ”…คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2525 อนุมัติให้วันที่ 13 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” และได้เลือก “ดอกลำดวน” เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ

“ผู้สูงอายุ” หมายถึงบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปทั้งชายและหญิง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม 1.กลุ่มผู้สูงอายุตอนต้น : หมายถึงบุคคลที่มีอายุ 60-69 ปี ทั้งชายและหญิง 2.กลุ่มผู้สูงอายุตอนปลาย : บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไปทั้งชายและหญิง

ประเทศไทยมีการจัดตั้ง “สถานสงเคราะห์คนชราบ้านบางแค” เป็นแห่งแรกของประเทศไทย ในปี พ.ศ.2496 ในสมัย “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” โดยมีวัตถุประสงค์ 5 ประการ ได้แก่ 1.ให้การสงเคราะห์คนชรา ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้หรือมีปัญหาทุกข์ยาก เดือดร้อน ยากจน ไม่มีที่อยู่อาศัย หรือไม่สามารถอยู่กับครอบครัวได้ 2.เพื่อให้บริการแก่คนชรา ที่อยู่กับครอบครัวของตนแต่ต้องการบริการสถานสงเคราะห์คนชราบางอย่าง เช่น การรักษาพยาบาล กายภาพบำบัด บำบัดสุขภาพจิต นันทนาการ 3.เพื่อแบ่งเบาภาระครอบครัวที่มีรายได้น้อย หรือยากจน ที่ไม่สามารถอุปการะเลี้ยงดูได้ 4.เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคมเกี่ยวกับคนชรา ไม่ให้เร่ร่อน ทำความเดือดร้อนรำคาญแก่สังคมและให้สามารถอยู่ในสังคมอย่างผาสุกตามอัตภาพ 5.ผู้สูงอายุจะได้คลายวิตกกังวล เมื่อชราภาพไม่สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้แล้ว ทางรัฐบาลมีหน้าที่ที่จะเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูต่อไป

นอกจากวันผู้สูงอายุ 13 เมษายนแล้ว ในสมัย “พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ” เป็นนายกรัฐมนตรีได้มีมติ ครม.เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2532 กำหนดให้วันที่ 14 เมษายน เป็น “วันครอบครัว” เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดความรักความอบอุ่นและความสุขในครอบครัวมากที่สุด เพราะ “สถาบันครอบครัว” เป็นจุดเริ่มต้นของ “คุณภาพชีวิต” ของผู้คนแต่ละคน “ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข” ก็ถือได้ว่าเป็นความเข้มแข็งของชุมชน หมู่บ้านและสังคมด้วยเช่นกัน “ครอบครัว” หมายถึงผู้ร่วมครัวเรือน คือ สามี ภรรยา และบุตร สำหรับตามแนวพุทธศาสตร์นั้นไม่มีการกำหนดตายตัว แต่กล่าวถึงลักษณะอื่นเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวของสมาชิกในครอบครัวเท่านั้น ในทางพุทธศาสนาจะกล่าวถึงครอบครัวของสมาชิกในรูปของสามีภรรยา บิดามารดาเท่านั้น ซึ่งถือว่าบิดามารดาก็ดี เป็นส่วนประกอบของครอบครัวที่สำคัญ

ในแง่ “ความหมายของสถาบัน” หมายถึงการอยู่ร่วมกันของชายหญิงในรูปของสามีภรรยา มีหน้าที่ให้กำเนิดบุตรและเลี้ยงดูบุตร เพื่อให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ในสังคม สมาชิกในครอบครัวมีการแสดงออกทางพฤติกรรมต่อกันและกัน ในรูปของการปฏิบัติตามสถานภาพและบทบาทอันเป็นหน้าที่ของสมาชิก

ความสำคัญของ “ครอบครัว” : ถือเป็น “สถาบันมูลฐาน” ของมนุษยชาติ เป็น “หน่วยขนาดเล็กที่สุดของสังคม” เป็นผู้สร้างและกำหนดสถานภาพ สิทธิ หน้าที่ของบุคคลอันพึงปฏิบัติต่อกันในสังคม เป็น “สถาบันแห่งแรก” ใน “การถ่ายทอดวัฒนธรรมและพัฒนา” ผู้ร่วมครัวเรือน คือ สามี ภรรยา และบุตร รวมถึงบิดา มารดา (ของทั้งสองฝ่าย) การที่ทางราชการกำหนดวันครอบครัวขึ้นมานั้น เนื่องจากต้องการให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของครอบครัวให้มากขึ้น เพราะการที่วิถีของคนในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไป ย่อมทำให้ “ครอบครัว” มีความขัดแย้งและห่างเหินกันมาก ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมาภายหลังได้ ฉะนั้น เป้าหมายหลัก คือ “การให้เกิดเป็นวันที่มีความสุข คุณภาพชีวิตที่ดี”

อนึ่ง การกำหนดวันสงกรานต์จึงตกอยู่ระหว่างวันที่ 13, 14 และ 15 เมษายน ซึ่งทั้ง 3 วันจะมีชื่อเรียกขาน ดังนี้ วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า “วันมหาสงกรานต์” หมายถึงวันที่ดวงอาทิตย์ก้าวเข้าสู่ราศีเมษอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ผ่านการเข้าสู่ราศีอื่นๆ แล้ว จนครบ 12 เดือน หรือเรียกอีกว่า “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ”

วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า “วันเนา” หมายถึงวันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนเข้าอยู่ราศีเมษประจำเรียบร้อยแล้ว หรือเรียกอีกชื่อว่า “วันครอบครัว”

วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า “วันเถลิงศก” หรือ “วันขึ้นศก” หมายถึงวันที่เริ่มเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ การที่กำหนดให้อยู่ในวันนี้นั้น เพื่อให้แน่ใจได้ “ดวงอาทิตย์โคจรขาดจากราศีมีนขึ้นสู่ราศีเมษแน่นอนแล้วอย่างน้อย 1 องศา”

โดยสรุป “คุณค่าและสาระสำคัญ” ของวัน “เทศกาลสงกรานต์” จะเห็นได้ว่าสงกรานต์เป็นประเพณีที่งดงาม อ่อนโยนเอื้ออาทร และเต็มไปด้วยบรรยากาศของ “ความกตัญญู” ความเคารพรักและนับถือกันและกัน และเป็นประเพณีที่ให้ความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ในสังคม โดยใช้ “น้ำ” มาเป็น “สื่อ” ในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกัน มิใช่เทศกาลแห่งน้ำที่นำมาใช้สร้างจุดขายเสริมสร้างรายได้เข้าประเทศ แต่กลับเป็นการสร้างความเข้าใจผิดให้แก่คนทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่คนไทยด้วยกันเอง คลาดเคลื่อนและหลุดลอยไปจากสาระและคุณค่าเดิมของประเพณี “สงกรานต์” ที่มีมาแต่เดิมไปทุกปี

ท้ายสุดผู้เขียนอยากฝากแฟนๆ มติชนทุกท่านว่าวันสงกรานต์ยังมีคุณค่ายิ่งที่พวกเราแสดงความกตัญญูกตเวที ตอบแทนพระคุณคุณพ่อคุณแม่ อาจสรุปได้ 3 อย่าง ง่ายๆ คือ

ข้อที่ 1 เลี้ยงท่านทาง “กาย” เช่น เลี้ยงท่านด้วยอาหารปัจจัย 4 ยามท่านชราแก่เฒ่าลง

ข้อที่ 2 ทำได้เลยทันทีไม่ต้องรอ คือ เลี้ยงท่านทาง “ใจ” เลี้ยงใจนี้สำคัญมาก กล่าวคือ ช่วยให้ใจของท่านสบาย มีความสุข ให้ท่านเห็นแล้วได้ปลื้มใจ ไม่หนักใจ เช่น ประพฤติตัวดี ตั้งใจเรียนหนังสือ ตั้งใจทำมาหากินดี มีความสุขความเจริญ นั่นเป็นการเลี้ยงใจพ่อแม่ ทำให้พ่อแม่มีความสุข ชื่นใจ ปลื้มใจตลอดเวลา

ข้อที่ 3 สำคัญที่สุดอีกข้อหนึ่งที่…ลูกตอบแทนพระคุณอย่างสูงสุดแก่พ่อแม่ ด้วยการให้สิ่งที่ประเสริฐแก่ชีวิตของท่าน เช่น ถ้าพ่อแม่เป็นคนที่ไม่มีศรัทธา ทำให้ท่านมีศรัทธา พ่อแม่ไม่มีศีล ทำให้ท่านประพฤติดี ประพฤติมีศีลได้ พ่อแม่ไม่มีจาคะ ไม่มีความเสียสละ ลูกทำให้พ่อแม่มีจาคะ เป็นคนเสียสละ บำเพ็ญประโยชน์ได้ พ่อแม่ไม่มีปัญญา ลูกก็ช่วยหาทางเกื้อหนุนให้ท่านมี “ปัญญา” ขึ้นได้ เช่น มีปัญญารู้ธรรมะ เข้าใจหลักพระศาสนา รู้เท่าทันธรรมดาของโลกและชีวิตโดยโน้มนำท่านอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยวิธีเหมาะสมแก่อัตภาพ อย่างนี้ คือ เป็นการตอบแทนพระคุณอย่างสูง

จึงนับได้ว่า “วันสงกรานต์” ปีนี้เราได้สร้างคุณค่าและสาระสำคัญให้กับชีวิตของตนเองและบุคคลสำคัญใน “ครอบครัว” ของเราได้อย่างภาคภูมิใจและมีความสุข สดชื่น ไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image