ความรู้เรื่องทางการเงิน กับการแก้ไขปัญหาหนี้ ของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดย สุวิภา ฉลาดคิด

หากพูดถึงเรื่องการพัฒนาประเทศทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทย คงต้องย้อนกลับมาที่พื้นฐานสำคัญก่อนนั่นก็คือ การพัฒนาการศึกษาของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้เยาวชนไทยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพได้มาตรฐานอย่างเท่าเทียมกัน จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2538 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2539 ให้เริ่มดำเนินการกองทุนในลักษณะเงินทุนหมุนเวียนตามนัยมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ.2491 ต่อมารัฐบาลได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2541 มีผลให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษามีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยอยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กู้ยืมเงินแก่นักเรียนหรือนักศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (สายสามัญและสายอาชีพ) จนถึงระดับปริญญาตรีที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพระหว่างศึกษา

กยศ.นับเป็นหนึ่งในกลไกที่สำคัญของรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนการขยายโอกาสทางการศึกษาให้แก่เยาวชนไทยอย่างทั่วถึง โดยเงินที่นำมาให้กู้ยืมทั้งหมดมาจากเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งก็คือเงินภาษีอากรของคนไทยทั้งประเทศ หากแต่ระบบการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษานั้นกลับดำเนินการอย่างไม่ค่อยมีประสิทธิภาพมากนัก สาเหตุสำคัญเนื่องมาจากการขาดวินัยทางการเงินของเยาวชนไทย ทำให้ผู้กู้ยืมบางส่วนไม่ชำระเงินคืนกองทุนฯ จึงส่งผลกระทบกับเงินที่จะนำมาหมุนเวียนเพื่อให้กู้ยืมกับนักเรียนนักศึกษารุ่นต่อไป

ปัจจุบัน กยศ.มีผู้ที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาไปแล้วจำนวนกว่า 4.5 ล้านราย เป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 4.7 แสนล้านบาท มีหนี้ค้างชำระจำนวน 2 ล้านราย เป็นเงิน 5.6 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่ค้างชำระนี้สามารถแยกออกได้เป็น 2 กลุ่ม กล่าวคือ (1) กลุ่มที่ตกงานหรือมีเงินเดือนไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ (2) กลุ่มที่มีงานทำและได้เงินเดือนเพียงพอที่จะชดใช้หนี้ แต่กลับละเลยไม่ชำระหนี้ น่าแปลกใจที่แม้ว่ากลุ่มนี้จะไม่มีปัญหาทางด้านการเงินแต่กลับเลือกที่จะไม่ชำระหนี้คืนกองทุนฯ พฤติกรรมทางการเงินที่ไม่เหมาะสมเช่นนี้ยังส่งผลต่อเนื่องไปยังการติดตามทวงหนี้ ซึ่ง กยศ.สูญเสียค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายความติดตามทวงหนี้กว่า 3,200 ล้านบาท ขณะที่ได้เงินกลับคืนมาเพียง 3,000 ล้านบาท โดยในปี พ.ศ.2559 กยศ.ตั้งเป้าในการติดตามทวงหนี้ให้ได้ขั้นต่ำ 1.9 หมื่นล้านบาท และเตรียมฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้กู้ที่เบี้ยวชำระหนี้คืนกองทุนฯ อีกกว่า 1.3 แสนราย

ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น กยศ.ได้ออกมาตรการกระตุ้นการชำระหนี้โดยร่วมมือกับองค์กรนายจ้างภาครัฐและภาคเอกชนจำนวนกว่า 35 แห่ง ในการเข้าร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือและข้อตกลงในโครงการ ?กยศ. กรอ. เพื่อชาติ? เพื่อสร้างความร่วมมือในการส่งเสริมความซื่อสัตย์สุจริตและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นตามนโยบายรัฐบาล โดยการสร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและสังคม รวมทั้งสร้างวินัยทางการเงินให้กับบุคลากรที่เป็นผู้กู้ยืมให้ชำระเงินคืนกองทุนฯ นอกจากนี้ กยศ.ยังมีนโยบายนำบัญชีของผู้กู้ทั้งหมดเข้าเป็นสมาชิกของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ภายในปี พ.ศ.2561 อีกด้วย

Advertisement

จากผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความรู้เรื่องทางการเงินของกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ภายใต้โครงการ ?คนไทยก้าวไกล ใส่ใจการเงิน? ดำเนินการโดยสถาบันคีนันแห่งเอเซีย โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิซิตี้ พบว่ามีความสอดคล้องกันอยู่หลายประเด็น กล่าวคือ เยาวชนไทยยังขาดความรู้และทักษะด้านการบริหารการเงินส่วนบุคคลแบบองค์รวม หนึ่งในเหตุผลหลักเกิดจากความรู้ ความเข้าใจ และความสามารถทางการเงินที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้เยาวชนไทยจำนวนมากมีวิจารณญาณในการตัดสินใจเรื่องทางการเงินที่ไม่ค่อยดีและไม่รอบคอบเพียงพอ

อีกทั้ง เรื่องทัศนคติต่อเงินก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมทางการเงินของบุคคล โดยเยาวชนส่วนใหญ่แสดงทัศนคติต่อการบริโภคในปัจจุบันว่ามีความสำคัญมากกว่าการออมเงินไว้สำหรับอนาคต ทำให้ไม่มีการวางแผนทางการเงิน ประกอบกับสื่อโฆษณาและกระแสบริโภคนิยมที่กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายเงินอย่างขาดความระมัดระวัง

นอกจากนี้ยังพบว่านักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่มีความสนใจในการบันทึกรายรับและรายจ่าย แต่พวกเขาไม่ได้ลงมือปฏิบัติจริง และมีเงินออมไม่มากพอที่จะจัดการกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดมาก่อน หรือในบางรายก็ไม่มีเงินออมเลย อีกทั้งยังไม่สามารถค้นหาข้อมูลข่าวสารทางการเงินได้ด้วยตนเอง อาจสรุปได้ว่าปัญหาหลักของความรู้เรื่องทางการเงินในกลุ่มเยาวชนดูเหมือนจะไม่ใช่เพราะขาดความสนใจ แต่ขาดการลงมือปฏิบัติและขาดการศึกษาหาความรู้ ซึ่งมีความหมายเป็นนัยว่า นักเรียนนักศึกษาไม่ตระหนักถึงความสำคัญของความรู้เรื่องทางการเงินและข้อมูลข่าวสารทางการเงินที่สามารถใช้ในชีวิตประจำวัน

Advertisement

ทั้งนี้ จากการสัมภาษณ์กลุ่มนักศึกษาเกี่ยวกับประเด็นเรื่อง กยศ. หลายคนกล่าวว่ามีการนำเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษามาใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็นอื่นๆ ที่มิได้เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา รวมทั้งให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า การไม่มีการกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงสำหรับการไม่ชำระหนี้คืนเป็นประเด็นหลักที่ทำให้เกิดปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ของเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

ซึ่งในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ ผู้แทนนักเรียนนักศึกษาหลายคนเสนอว่า ควรนำเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาเข้าสู่ระบบการตรวจสอบข้อมูลสินเชื่อบุคคลของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เพื่อลดพฤติกรรมของลูกหนี้ที่ไม่พึงประสงค์ และสร้างวินัยทางการเงินที่ดีแก่นักเรียนนักศึกษาต่อไป

นอกจากนี้ เยาวชนจำนวนมากรับรู้ว่า การบริหารจัดการทางการเงินนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างสำคัญ ดังนั้น การสร้างทัศนคติที่ดีต่อเงินควรเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ เมื่อต้องการพัฒนาความรู้เรื่องทางการเงินให้แก่กลุ่มเยาวชน

เนื่องด้วยในปัจจุบันเยาวชนไทยจำนวนมากยังไม่ต้องรับผิดชอบต่อภาระทางการเงินของตนเอง แต่เยาวชนเหล่านี้ก็จำเป็นต้องมีทักษะและความรู้เรื่องทางการเงินและทราบแนวทางการสร้างความอยู่ดีมีสุขทางสถานะการเงินของตนเอง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนออกไปสู่โลกการทำงานจริงหลังจบการศึกษา ซึ่งพวกเขาจะมีรายได้เป็นของตนเอง และหากมีการบริหารจัดการการเงินที่ไม่ดีเพียงพอก็อาจก่อให้เกิดปัญหาหนี้สินตามมา ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องร่วมมือในการให้ความรู้เรื่องทางการเงินแก่เยาวชนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างวินัยทางการเงินที่ดีและทักษะการบริหารการเงินส่วนบุคคล ซึ่งอาจให้ความรู้ผ่านช่องทางของสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยจัดให้มีการเสริมสร้างทักษะความรู้เรื่องทางการเงินลงไปในโครงการปัจฉิมนิเทศสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 4 นอกเหนือจากการให้ความรู้เรื่องการสมัครงาน การพัฒนาบุคลิกภาพ และอื่นๆ ซึ่งเป็นกิจกรรมบังคับที่นักศึกษาทุกคนจะต้องเข้าร่วมก่อนสำเร็จการศึกษา และมุ่งเน้นการให้ความรู้ทางการเงินที่เป็นรูปธรรมและเกี่ยวโยงกับวิถีชีวิตประจำวันของนักศึกษา วิธีการนี้เองจะเป็นอีกหนทางหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันต่อความเสี่ยงและภัยด้านการเงินให้แก่เยาวชนได้

อีกข้อเสนอแนะหนึ่งที่ควรนำมาพิจารณาอย่างจริงจัง นั่นก็คือการกำหนดเรื่องการพัฒนาความรู้ทางการเงินให้เป็นวาระแห่งชาติหรือแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ โดยมีหน่วยงานจัดตั้งในรูปแบบศูนย์ความรู้ทางการเงินทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางในการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ ทิศทางการพัฒนา และโครงการให้ความรู้ทางการเงินระดับประเทศ ซึ่งควรดำเนินการให้เป็นขั้นตอนและมีการกำหนดแผนปฏิบัติให้ชัดเจน เพื่อเป็นกรอบให้สถาบันการศึกษาสามารถนำไปปฏิบัติตามได้ โดยสร้างกรอบพื้นฐานที่มหาวิทยาลัยนำไปปรับประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทที่แตกต่างกันของแต่ละมหาวิทยาลัย โดยให้อิสระทางความคิดภายใต้แนวทางเดียวกัน

ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ กยศ.อย่างยั่งยืน การให้ความรู้เรื่องทางการเงินอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ การประยุกต์ใช้องค์ความรู้ต่างๆ และการสร้างทัศนคติทางการเงินที่ดี จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรถูกละเลย ด้วยคำนึงถึงปัญหาดังกล่าว มูลนิธิซิตี้ สถาบันคีนันแห่งเอเซียและสถาบันพันธมิตร กำลังพยายามผลักดันให้มีการส่งเสริมความรู้เรื่องการบริหารการเงินส่วนบุคคล เข้าเป็นวิชาหลักที่บรรจุอยู่ในหลักสูตรของนิสิต นักศึกษา ชั้นปีที่ 4 โดยส่งเสริมทั้งในด้านการเรียนรู้ในหลักสูตรและกิจกรรม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมนิสิต นักศึกษา ให้มีความรู้และความพร้อมก่อนเข้าสู่โลกทำงานจริง และสร้างค่านิยมทางสังคมใหม่ในเรื่องการคิดและวางแผนทางการเงินก่อนการบริโภค

ซึ่งท้ายที่สุดจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมทางการเงินของเยาวชนได้อย่างแท้จริง และส่งผลสะท้อนไปยังการยกฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและเป็นการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจไทยให้มีเสถียรภาพต่อไปในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image