สุจิตต์ วงษ์เทศ : ความคิดเสรี ในกิจกรรมทางการศึกษาไทย

ห้องเรียนในเชิงปฏิบัติอย่างเลิศที่สุดคือกิจกรรมในสังคมเสรีประชาธิปไตยที่ให้เสรีภาพแก่นิสิตนักศึกษาประชาชน ถ้าไม่มีประชาธิปไตย ก็ไม่เกิดความคิดเสรีและความคิดเชิงวิพากษ์ (บน) เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 15 พฤษภาคม ที่ห้องประชุมบุญชู โรจนเสถียร ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ นำโดย นายรังสิมันต์ โรม, นายรัฐพล ศุภโสภณ, นางสาวชนกนันท์ รวมทรัพย์ และนายวรวุฒิ บุตรมาตร ได้จัดกิจกรรม "จับผิดกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ใครบิดเบือนกันแน่" แสดงความเห็นแย้งต่อคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ 10 ข้อ พร้อมทั้งประกาศว่าขบวนการประชาธิปไตยใหม่ได้มีเว็บไซต์ของกลุ่มขึ้นมาชื่อ www.ndmth.org เพื่อใช้ประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ ของกลุ่ม รวมถึงแถลงการณ์ต่อกรณีต่างๆ เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพและการเมือง นอกจากนี้ยังมีช่องทางการสื่อสารอื่นๆ ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไลน์ และจุลสาร (ภาพและข่าวจาก มติชนออนไลน์ วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม 2559)

“ความคิดเสรี และความคิดเชิงวิพากษ์ เป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดของการศึกษามนุษยศาสตร์

ผู้เรียนมนุษยศาสตร์มีเสรีภาพที่จะติดตามการศึกษาเรื่องอะไร และอย่างไร ได้อย่างอิสระเสรี แต่ต้องพร้อมจะรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์จากผู้อื่น

ดังนั้น ห้องเรียนมนุษยศาสตร์ต้องเป็นห้องเรียนประชาธิปไตย ถึงแม้บรรยากาศมหาวิทยาลัยปัจจุบันจะมืดมนลงก็ตาม”

“วิธีคิดทางมนุษยศาสตร์จะได้รับการฟื้นฟูขึ้นในการศึกษาของมนุษย์ได้ ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้คน

Advertisement

ไม่ใช่ด้วยอำนาจของรัฐในการจัดการศึกษา หรือด้วยอำนาจของนักการเมืองที่ฉวยโอกาสร่วมมือกับคณะรัฐประหารเพื่อจัดการศึกษาตามอุดมคติของตน”

“ประชาธิปไตยจึงขาดไม่ได้ในการศึกษามนุษยศาสตร์ทั้งในเชิงปฏิบัติ คือการเรียนการสอน และการยืนยันคุณค่าของวิธีคิด”

สรุปจากบทความเรื่องวิพากษ์มนุษยศาสตร์/มนุษยศาสตร์วิพากษ์ : น้ำยามนุษยศาสตร์ในสังคมไทย ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ [พิมพ์ใน ชุมทางอินโดจีน : เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปริทัศน์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ. พิษณุโลก ปีที่ 5 ฉบับที่ 8 (มกราคม-มิถุนายน) 2559 หน้า 19-20]

Advertisement

ตรวจสอบได้

ประวัติศาสตร์โบราณคดีอยู่ในกลุ่มมนุษยศาสตร์ ก็ต้องมีเสรีภาพที่จะวิพากษ์วิจารณ์ และรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์

จะครอบงำอย่างมัดมือชกมิได้ว่าศิลาจารึกถูกต้องแม่นยำไม่เป็นที่สงสัย จัดเป็นหลักฐานชั้นที่ 1 เช่น ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ฯลฯ

ศิลาจารึกทุกหลักต้องถูกตรวจสอบก่อนใช้งาน เพราะทำขึ้นโดยมนุษย์ที่ล้วนมีความไม่เป็นกลางพอๆ กับจดหมายเหตุ, พงศาวดาร, ตำนานนิทาน ฯลฯ

ประวัติศาสตร์โบราณคดีของไทย ได้ต้นแบบจากเจ้าอาณานิคมยุโรป ราว 100 ปีมาแล้ว ต้องเปิดช่องให้นักศึกษาและประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ได้ โต้แย้งได้ตลอดเวลา

แต่มหาวิทยาลัยไทยเปลี่ยนมนุษยศาสตร์ให้กลายเป็นเครื่องมือของการครอบงำมากกว่าครึ่งศตวรรษ เพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มที่อิงเผด็จการ

มหาวิทยาลัยหลายแห่งจึงปิดกั้นนิสิตนักศึกษามิให้มีกิจกรรม ไม่ว่าทางการเมือง หรือทางวิชาการตรงข้ามกระแสหลัก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image