ระบบกฎหมายในสหรัฐอเมริกา กับการแก้ผ้าเข้าร้านสะดวกซื้อ : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

นายจอห์น วอลช์ พนักงานดับเพลิงอายุ 60 ปีแห่งเมืองลินฟิลด์, รัฐแมสซาชูเซตส์

ประเทศสหรัฐอเมริกาประกอบด้วยมลรัฐต่างๆ 50 รัฐ รวมตัวเข้าเป็นประเทศเดียวกันเรียกว่า สหรัฐอเมริกา แต่บรรดามลรัฐทั้งหมดนี้ถือว่ามีอำนาจอธิปไตยเป็นของแต่มลรัฐอย่างเต็มที่ เพียงแต่แบ่งอำนาจอธิปไตยบางส่วนให้รัฐบาลกลางไปเท่านั้น

ดังนั้น รัฐบาลกลางจะมีอำนาจส่วนใหญ่เกี่ยวกับกรณีระหว่างมลรัฐต่อมลรัฐ และกรณีระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกากับประเทศอื่นๆ ดังนั้น เรื่องใดที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ภายในมลรัฐของแต่ละมลรัฐโดยเฉพาะและไม่เกี่ยวกับมลรัฐอื่น และไม่ปรากฏจากรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใดว่าอยู่ในอำนาจของรัฐบาลกลาง มลรัฐนั้นๆ ย่อมมีอำนาจเด็ดขาดและสูงสุด

เพราะแต่ละมลรัฐ มีรัฐบาลของตนเอง มีผู้ว่าการมลรัฐเป็นหัวหน้ารัฐบาล มีหน่วยรัฐการต่างๆ เป็นผู้รับผิดชอบการบริหารกิจการต่างๆ ภายในมลรัฐ แต่ละมลรัฐมีเมืองหลวงของมลรัฐเอง มีรัฐสภาของตนเอง มีศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลสูงสุดของมลรัฐเอง และมีการออกกฎหมายของตนเองได้ แต่ต้องไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของประเทศ จึงไม่เป็นการแปลกประหลาดที่การกระทำในเรื่องเดียวกัน บางกรณีอาจเป็นความผิดในรัฐหนึ่งและอาจไม่เป็นความผิดในอีกรัฐหนึ่งก็ได้ ดังนั้น ระบบกฎหมายและระบบศาลของสหรัฐอเมริกาจึงมีความซับซ้อนและแตกต่างจากประเทศอื่นโดยทั่วไป

แผนที่แสดงที่ตั้งของมลรัฐแมสซาชูเซตส์กับโรดไอส์แลนด์

ระบบกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ละรัฐจะมีอิสระในการบัญญัติกฎหมายของตนเองโดยรัฐบาลกลางไม่สามารถแทรกแซงได้ เช่น การกำหนดว่าการกระทำใดจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ อย่างไร และมีหลักเกณฑ์ในการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับวิธีพิจารณาความอย่างไรนั้นเป็นอำนาจของมลรัฐทั้งสิ้น เนื่องจากมีเหตุผลพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ในการรวมตัวเป็นสหรัฐอเมริกาในอดีตที่ไม่ต้องการให้รัฐบาลกลางมีอำนาจมากเกินไปจนถึงขนาดที่จะเข้ามาควบคุมรัฐบาลของมลรัฐได้ จึงเป็นที่รับรู้กันว่ารัฐบาลของมลรัฐเท่านั้นที่จะทำหน้าที่ปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

Advertisement

รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกามีบทบัญญัติที่เขียนแบ่งแยกอำนาจอย่างชัดเจนทั้งในแนวราบ และแนวดิ่ง โดยในแนวราบที่ว่า ก็คือ หลักการการแบ่งแยกอำนาจ ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ส่วนในแนวดิ่ง ก็จะแบ่งแยกอำนาจระหว่างรัฐบาลมลรัฐ และรัฐบาลกลางอย่างชัดเจนเช่นกัน

โดยรัฐบาลกลางจะมีอำนาจในการออกกฎหมายที่มุ่งควบคุมกิจกรรมของรัฐบาลในระดับมลรัฐได้ในเฉพาะอำนาจที่กำหนดไว้เท่านั้น โดยกำหนดไว้ชัดแจ้งว่า อำนาจใดที่ไม่ได้กำหนดให้เป็นอำนาจของรัฐบาลกลางสหรัฐ ย่อมเป็นอำนาจของมลรัฐทั้งสิ้น โดยอำนาจที่บัญญัติว่าเป็นอำนาจของรัฐบาลกลาง เช่น อำนาจเกี่ยวกับการจัดทำถนนหนทาง อำนาจทางการกิจการต่างประเทศ อำนาจในการสถาปนาสกุลเงินให้มีเพียงหนึ่งเดียว (ไม่อย่างนั้นก็จะมีเงินตราถึง 50 สกุล) ฯลฯ

นี่แหละครับที่คนอเมริกันเขารู้กันดีว่าในแต่มลรัฐย่อมมีกฎหมายไม่เหมือนกันจึงเกิดเป็นเรื่องฮาแบบขำไม่ออกขึ้นโดย นายจอห์น วอลช์ พนักงานดับเพลิงอาวุโส อายุ 60 ปี มีอายุการทำงานเป็นพนักงานดับเพลิงที่เมืองลินฟิลด์ มลรัฐแมสซาชูเซตส์ถึง 40 ปีแล้วได้ลาพักร้อนด้วยการพาเพื่อนสาวอายุ 20 ปี ขับรถไปพักผ่อนกันที่มลรัฐโรดไอส์แลนด์ที่อยู่ติดกับรัฐแมสซาชูเซตส์ทางทิศใต้

เมื่อขับรถไปถึงเมืองมิดเดิลทาวน์ ในโรดไอส์แลนด์ประมาณบ่ายสามโมง นายจอห์น วอลช์ก็พูดกับแฟนสาวคราวลูกว่าที่มลรัฐโรดไอแลนด์ไม่มีกฎหมายห้ามคนแก้ผ้าเข้าไปซื้อของในร้านสะดวกซื้อ ซึ่งแฟนสาวไม่เชื่อก็เลยท้าให้นายจอห์นลองแก้ผ้าเข้าไปซื้อน้ำอัดลมในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นในเมืองดู นายจอห์น วอลช์ ก็แน่หรือบ้าพอตัวจึงจอดรถแล้วแก้ผ้าเดินยิ้มเข้าไปซื้อน้ำอัดลมแบบไดเอต (ไม่มีน้ำตาล) ขวดหนึ่งแล้วก็กลับมาขับรถต่อไปหน้าตาเฉย

แต่สาวเจ้าพนักงานของร้านสะดวกซื้อไม่สนุกด้วยเนื่องจากกลัวจะถูกปล้ำข่มขืนมากจึงโทรศัพท์ไปแจ้งตำรวจ พร้อมบอกหมายเลขทะเบียนรถซึ่งเป็นทะเบียนของมลรัฐแมสซาชูเซตส์ด้วยทำให้ตำรวจตามจับนายวอลช์กับเพื่อนสาวได้โดยไม่ยากนัก พร้อมทั้งตั้งข้อหาว่านายจอห์น วอลช์ ทำอนาจารเป็นโทษทางอาญาระดับลหุโทษซึ่งอาจทำให้นายวอลช์ต้องถูกออกจากงานประจำที่เป็นพนักงานดับเพลิงได้

อย่างว่าละครับมีแฟนเด็กก็เลยต้องโชว์เสียหน่อย

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image