ถ้าคุณพูดไม่ได้ว่าไฟร้อน : โดย กล้า สมุทวณิช

ในเวลา 10.00 น. ของวันพุธที่ 17 เมษายน 2562 ซึ่งคอลัมน์ที่ท่านอ่านอยู่ในตอนนี้จะลงเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์และช่องทางออนไลน์ของมติชนนี้ ปิยบุตร แสงกนกกุล ว่าที่ ส.ส. และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ มีธุระจะต้องไป “พบเจ้าหน้าที่ตำรวจ” ที่ บก. ปอท. ในฐานะ “ผู้ต้องหา”

โดยผู้กล่าวหา ได้แก่นายทหารผู้ได้รับมอบอำนาจจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งอย่างที่คงไม่มีใครไม่ทราบว่าคือ “แคนดิเดต” ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ คือหัวหน้าคณะดังกล่าว ผู้อาจจะเรียกว่าเป็น “คู่แข่ง” ทางการเมืองก็ว่าได้ ในข้อหาดูหมิ่นศาลในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

ข้อหาที่เชื่อว่าเนื่องมาจากการอ่านแถลงการณ์ของพรรคอนาคตใหม่เกี่ยวข้องกับแถลงการณ์กรณีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินยุบพรรคไทยรักษาชาติ

ท่ามกลางข้อสงสัยว่า ในเรื่องนี้ผู้เสียหาย (หากจะมี) ก็น่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ แต่เท่าที่ทราบตอนนี้คือศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้มีท่าทีอะไรอย่างไร แต่ไฉนจึงกลายเป็นว่า ผู้เดือดร้อนเสียหายไปแจ้งความกลับเป็น คสช.เสียอย่างนั้น

Advertisement

จริงอยู่ที่ทางกฎหมาย ในการริเริ่มคดีอาญาที่เกี่ยวกับความผิดต่อแผ่นดินนั้น ใครจะไปกล่าวโทษให้ดำเนินคดีแก่ใครก็ได้ที่พบเห็นว่ากระทำความผิดโดยอาจจะไม่ต้องเป็นผู้เสียหาย และก็จะเป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานตำรวจที่จะพิจารณาว่าจะสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีตามข้อกล่าวหานั้นหรือไม่

และจริงๆ ในเรื่องนี้ นักต่อสู้หรือนักกิจกรรม “ฝ่ายประชาธิปไตย” เอง ก็เคยไปแจ้งความดำเนินคดีในความผิดต่อแผ่นดินนี้ที่เป็นการกล่าวหา “ผู้มีอำนาจ” ก็หลายครั้ง เช่น ที่นายเอกชัย หงส์กังวาน เคยไปแจ้งความดำเนินคดีต่อ ผบ.ทบ. กล่าวหาว่ากระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ในเรื่องที่แสดงทรรศนะเกี่ยวกับการรัฐประหาร ซึ่งในตอนนั้นตำรวจผู้รับแจ้งความได้ย้อนถามว่า นายเอกชัยเป็นผู้เสียหายหรือ

ทำให้แอบอยากรู้เหมือนกันว่าเจ้าหน้าที่ของ บก.ปอท. ที่รับเรื่องนี้ไว้ จะมีคำถามอย่างเดียวกันต่อ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้แจ้งความกล่าวโทษโดยได้รับมอบหมายจาก คสช. หรือไม่

Advertisement

นี่เป็นอีกหนึ่งในกรณีที่แสดงให้เห็นถึงสภาวะการใช้บังคับของกฎหมายที่ลดทอนการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่เกิดขึ้นอันเกี่ยวเนื่องกับการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งต้องรวมถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ได้แจ้งความดำเนินคดีต่อผู้คนที่เสนอความเห็นให้ถอดถอนตนเอง และวิพากษ์วิจารณ์การจัดการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นด้วย ซึ่งพวกเขาอ้างว่าเป็นการรักษาสิทธิตามกฎหมาย จากการถูกดูหมิ่น เหยียดหยาม จนอาจได้รับการถูกดูหมิ่นเกลียดชัง

โดยกฎหมายหมิ่นประมาทนี้ มี “คุณธรรมทางกฎหมาย” หรือสิ่งที่กฎหมายมุ่งต้องการคุ้มครองได้แก่ชื่อเสียงเกียรติคุณของบุคคล ซึ่งรวมถึงประโยชน์ในประการต่างๆ จากต้นทุนแห่งชื่อเสียงเกียรติคุณนั้น ซึ่งได้แก่ความเชื่อถือเชื่อมั่น ซึ่งสำหรับการค้าหรือธุรกิจแล้วถือเป็นต้นทุนอันคำนวณเป็นเงินได้อย่างหนึ่งด้วย และสำหรับกรณีการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น นอกจากจะเพื่อคุ้มครองตัวบุคคลซึ่งปฏิบัติหน้าที่ให้แก่รัฐแล้ว ยังเป็นไปเพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์แห่งอำนาจรัฐที่ผูกกับตำแหน่งด้วย

แต่สิ่งที่อยู่อีกด้านหนึ่งของแดนแห่งกฎหมายหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นนี้ คือ “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” อันเป็นเสรีภาพที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งในสังคมเสรีและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

การขาดไร้ซึ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หรือมีแต่ก็ถูกลดทอนด้วยอำนาจรัฐหรืออำนาจอื่นที่อาศัยช่องทางของกฎหมายในสังคมเสรีแล้ว เป็นการลดทอนเจตจำนงเสรี และการมีสิทธิ “เลือกเองได้” ซึ่งเป็นหัวใจของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ให้ลองนึกภาพว่า หากท่านจะต้องสอนเด็กสักคนให้รู้จักระวังไฟหรืองูเห่า หากเขาจะต้องพบกับสิ่งนั้นในขณะเวลาที่ท่านไม่อาจอยู่ห้ามหรือปกป้องเขาได้ ท่านต้องสอนให้เด็กรู้จักระวังฟืนไฟหรือสัตว์ร้ายมีพิษนั้นไว้ล่วงหน้า โดยมีข้อจำกัดว่า ท่านห้ามใช้ชุดคำใดๆ ที่มีความหมายถึง “ความร้อน” “การมอดไหม้” “เจ็บปวดแสบร้อน” “พิษ” “อันตราย” หรือ “ความตาย”

แล้วท่านจะสอนเด็กของท่านได้อย่างไร

หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง ที่ท่านซึ่งถูกนำตัวไปอยู่ต่อหน้าโต๊ะที่มีอาหารซึ่งท่านไม่รู้ที่มาที่ไปเลยสี่ห้าอย่าง ท่านต้องเลือกกินอาหารอย่างใดอย่างหนึ่งบนโต๊ะนั้น ซึ่งอาหารเหล่านั้น มีทั้งที่รสชาติดี พอกินได้ หรือแย่จนต้องคายทิ้ง แต่ที่ร้ายที่สุด คือมีจานหนึ่งเป็นอาหารเป็นพิษ

การตัดสินใจของท่านอาจจะต้องอาศัยความเห็นจากผู้คนในห้องนั้นซึ่งเคยกินหรือรู้ที่มาของอาหารนั้น แต่หากผู้คนเหล่านั้นถูกห้ามพูดว่าอาหารจานใดไม่อร่อยหรือเป็นพิษ หาไม่แล้วจะถูกลงโทษสถานหนัก ท่านคิดว่าข้อมูลที่ท่านได้รับจากคนในห้องนั้นจะเพียงพอต่อการตัดสินใจให้ท่านเลือกอาหารที่ดีที่สุด หรืออย่างน้อยก็ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้หรือไม่

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจึงมีความสำคัญต่อเสรีภาพในการเลือกหรือตัดสินใจในสังคมเสรีเช่นนี้เอง หากขอบรั้วของการปกป้องชื่อเสียงเกียรติคุณโดยเฉพาะต่อบุคคลหรือองค์กรสาธารณะนั้นขยายออกไปกว้างขวางขึ้นเท่าไร ก็จะเบียดบังพื้นที่ของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นให้แคบลงเท่านั้น ดังนั้น ตามหลักกฎหมายแล้วจึงมีข้อยกเว้นไว้ ว่าการวิพากษ์วิจารณ์โดยชอบที่เกี่ยวข้องกับประโยน์ของผู้นั้นหรือสาธารณะก็ถือว่าไม่มีความผิด

แต่ในการพิสูจน์นั้นก็จะต้องไปกระทำในชั้นศาล หมายถึงว่าจะต้องถูกดำเนินคดีแล้วนั่นเอง ถ้าในคดีอาญาก็ต้องตกเป็นผู้ต้องหา ต้องประกันตัว ขอปล่อยชั่วคราว หาทนายความมาแก้ต่างกันไป และยังไม่รวมถึงกรณีการใช้เทคนิคทางกฎหมาย ที่ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำการหมิ่นประมาทนี้จะต้องรับภาระในทางคดีที่หนักหนาเกินสมควร เช่นการไปฟ้องร้องในพื้นที่ห่างไกลอย่างไร้เหตุผลด้วย

จึงเป็นเทคนิควิธีที่อาศัยเครื่องมือทางกฎหมายที่เรียกว่าการ “ตบปากโดยกฎหมาย” (SLAP) ที่ย่อมาจาก Strategic Lawsuit Against Public Participation ที่แปลได้ว่า “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน” เช่น โรงงานสักแห่งผลิตสินค้าที่ไร้คุณภาพ แต่ไม่อยากให้ใครกล่าวถึงตนเองในแง่นั้น ก็ใช้วิธีการไล่ฟ้องคดีกับที่ที่กล่าวขวัญถึงสินค้าของตนเองในทางลบ ดังนั้น ถ้าให้หารีวิวสินค้าของโรงงานนั้นก็คงจะไม่เจอข้อมูลความไร้คุณภาพนั้นได้โดยง่ายนัก เพราะคนที่วิจารณ์โดนดำเนินคดีไปหมดแล้ว ไม่ก็ยอมเลิกหรือลบคำวิจารณ์ในแง่ลบนั้นเพื่อแลกกับการถอนฟ้องคดี

แน่นอนว่า เสรีภาพหรือสิทธิในชื่อเสียงเกียรติคุณรวมถึงความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลธรรมดานั้นจะต้องได้รับการคุ้มครอง ไม่ควรมีใครถูกป่าวประกาศต่อสาธารณชนว่าเขาทำอาหารได้แย่ หากเขาทำเขากินของเขาเอง หรือถูกเปิดเผยว่าชอบเปลือยกายไปมาอยู่ในบ้าน หากเขาทำเช่นนั้นในที่รั้วรอบขอบชิด หรือแม้แต่ผู้ดำรงตำแหน่งสาธารณะ แง่มุมส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวข้องกับหน้าที่การงานก็ควรได้รับการปกป้อง

แต่การเรียกร้องปกป้องชื่อเสียงเกียรติคุณสำหรับหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรสาธารณะ รวมถึงธุรกิจการค้าระดับมหาชนนั้น ก็คงจะใช้มาตรฐานเดียวกับการคุ้มครองสิทธิเช่นเดียวกันของปัจเจกชน

เพราะการกระทำหรือใช้อำนาจของเขานั้นส่งผลต่อส่วนรวม เหมือนการทำอาหารให้คนทั่วไปกิน กับทำอาหารให้ตัวเองกินนั่นแหละ

พนักงานบัญชีฟรีแลนซ์สักคนถ้าจะทำงานช้า จนเลยเส้นตายไปแล้วก็ยังมีหน้ามาบอกว่า ยังไม่รู้วิธีที่จะคำนวณหรือลงบัญชีอย่างไร คิดเลขตกหล่นผิดๆ ถูกๆ ตัดตัวเลขอันมีนัยสำคัญทิ้งไปเสียเฉยๆ ความเสียหายนั้นก็ตกแก่ผู้จ้าง หรือผู้คนในวงการที่อาจจะจ้าง แต่พฤติกรรมเดียวกันนั้น หากเป็นเรื่องของผู้มีอำนาจในการจัดการเลือกตั้งระดับชาติ เราจะใช้มาตรฐานเดียวกัน ให้พวกเขาปกป้องเกียรติยศชื่อเสียงเช่นเดียวกับฟรีแลนซ์ผู้ห่วยแตกอย่างนั้นจะดีหรือ

เพราะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้นสำคัญเช่นนี้ และกลไกของกฎหมายในปัจจุบันก็ยังมีปัญหา เปิดช่องให้ใช้กฎหมายที่มีคุณธรรมในการคุ้มครองชื่อเสียงเกียรติคุณอันเป็นประโยชน์ส่วนตัวล้นเกินไปจนกระทบกับประโยชน์ที่สังคมจะได้รับจากเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอยู่

เรื่องนี้จึงควรเป็นการบ้านหนึ่งของฝ่าย “ประชาธิปไตย” ที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงในเรื่องนี้

ข้อเสนอบางประการที่คิดได้ในตอนนี้ ได้แก่ การแก้ไขกระบวนการดำเนินคดีของหน่วยงานของรัฐ องค์กรที่ใช้อำนาจมหาชนหรือกิจการสาธารณะ

ได้แก่อาจจะกำหนดว่า หน่วยงานของรัฐ จะไม่สามารถดำเนินคดีความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นโดยตรงต่อประชาชนได้ เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากอัยการสูงสุดผู้เป็นทนายแผ่นดิน รวมถึงการกำหนดว่า ความผิดเกี่ยวกับการดูหมิ่นเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกรูปแบบ ไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรับแจ้งความกล่าวโทษจากบุคคลทั่วไป พูดง่ายๆ คือ ช่องทางการดำเนินคดีจะต้องมาจากทางหน่วยงานของรัฐผู้เสียหายและอัยการเท่านั้น แม้กระนั้นถึงจะให้อัยการเท่านั้นที่จะริเริ่มคดีหรือฟ้องคดีได้แล้ว ก็ควรกำหนดให้ศาลต้องไต่สวนมูลฟ้องในทุกกรณีด้วย กระบวนการขั้นตอนทั้งหมดนี้ ก็เพื่อที่จะให้ประชาชนผู้วิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น จะต้องได้รับความเดือดร้อนจากกระบวนยุติธรรมเพราะการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์น้อยที่สุด หากจะถูกดำเนินคดีก็จะต้องเป็นเพราะการวิพากษ์วิจารณ์นั้นน่าจะมีปัญหาจริงๆ เท่านั้น

รวมถึงอาจจะกำหนดให้ชัดในกฎหมายว่า ศาลจะต้องชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นก่อนการรับฟ้องคดีประเภทนี้ว่าการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการหมิ่นประมาทนั้น เข้าข้อยกเว้นตามกฎหมายที่ถือว่าไม่เป็นความผิดหรือไม่ ก่อนที่บุคคลจะเข้ามาเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดี ซึ่งข้อนี้ให้ใช้กับการที่องค์กรสาธารณะหรือบุคคลธรรมดาฟ้องร้องหรือกล่าวหาผู้อื่นว่าหมิ่นประมาทด้วย เพื่อให้แน่ใจว่า การกระทำที่กล่าวอ้างกันนั้นน่าจะเป็นความผิด ก่อนที่จะตกเป็นจำเลยและมีภาระต้องพิสูจน์ต่อสู้เพื่อปกป้องตนเองในชั้นศาล

และสุดท้ายคือการปิดช่องทางการแกล้งฟ้องร้องหรือแจ้งความแบบ “ยะลาโมเดล” ที่ให้อำนาจผู้เสียหายไปฟ้องคดีในพื้นที่ห่างไกลโดยไม่มีเหตุผล ซึ่งทั้งผู้อ้างว่าเสียหายและผู้ถูกกล่าวหาก็ไม่มีภูมิลำเนา เพียงอาศัยเหตุ “มูลคดี” ว่าข้อความหมิ่นประมาทนั้นไปปรากฏในพื้นที่นั้นเพราะสัญญาณ 4G เพียงเท่านั้น

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า “ผู้ถูกกระทำ” จากการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพนี้ เมื่อใดที่ท่านมีอำนาจและความสามารถแล้ว ควรจะทำการแก้ไขในสิ่งที่เคยกดขี่ทำร้ายท่านในวันนี้เป็นภารกิจแรกๆ

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image