คุณภาพคือความอยู่รอด ตอน สร้างคนยุค 4.0 : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

ประเทศเยอรมนีเป็นประเทศแรกที่เสนอแนวความคิดเกี่ยวกับ “อุตสาหกรรม 4.0” (Industry 4.0) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยประกาศเป็น German Standardization Roadmap : Industries 4.0 ในเดือนตุลาคม ค.ศ.2015

นักวิชาการอุตสาหกรรมเยอรมันได้แบ่ง “การปฏิวัติอุตสาหกรรม” ของโลกออกเป็น 4 ยุค ดังนี้

Industry 0.0 คือ ยุคของเกษตรกรรมและหัตถกรรมที่ผลิตสิ่งของต่างๆ ด้วยมือคน โดยใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ง่ายๆ จากธรรมชาติ หรือใช้สัตว์ช่วยในการผลิต

Industry 1.0 (Mechanization) คือ ยุคแรกของการผลิตด้วยพลังงานไอน้ำ/เครื่องจักรกลไอน้ำ เป็นครั้งแรกที่ใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคนและสัตว์

Advertisement

Industry 2.0 (Electrification) คือ ยุคของการการผลิตด้วยพลังงานไฟฟ้า/มอเตอร์ไฟฟ้า เพื่อทดแทนเครื่องจักรกลไอน้ำ ทำให้สามารถผลิตสินค้าที่มีลักษณะที่เหมือนๆ กันได้จำนวนมากขึ้นและเร็วขึ้นด้วย จึงเกิดการผลิตแบบ Mass Production

Industry 3.0 (Digitization) คือ ยุคของการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์/ดิจิทัล/หุ่นยนต์กระบวนการผลิตทุกอย่างเริ่มอัตโนมัติมากขึ้น ทำงานซ้ำๆ และเหมาะสำหรับงานที่ต้องการความแม่นยำสูง อาทิ โรงงานประกอบรถยนต์ โรงงานผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ มีการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้งานทดแทนแรงงานคน

Industry 4.0 (Internet / Connection) คือ ยุคของการผลิตด้วยการนำเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเพื่อการเชื่อมโยงข้อมูลการผลิตระหว่างเครื่องจักรอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการผลิตที่มีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ เป็นยุคใหม่ของการรวมพลังระหว่างเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลเพื่อควบคุมการทำงานของเครื่องจักร โดยให้เครื่องจักรสื่อสารข้อมูลกันเอง ด้วยระบบ อินเตอร์เน็ต/ไซเบอร์

Advertisement

Industry 4.0 จึงเป็นการนำเทคโนโลยี ระบบดิจิทัล และอินเตอร์เน็ตมาใช้ร่วมกันในการผลิตสินค้า ทำให้สามารถผลิตสินค้าได้หลากหลายที่ตอบสนองตามความต้องการเฉพาะของลูกค้าแต่ละรายได้ (Customization) จึงเป็นการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจนถึงขนาดที่ว่า คนสามารถสื่อสารกับเครื่องจักรและเครื่องจักรสามารถสื่อสารกันเองได้ (ส่งข้อมูลระหว่างกันได้) ซึ่งนำไปสู่การผลิตที่มีประสิทธิภาพ และใช้แรงงานน้อยลง

ส่วน “ประเทศไทย 4.0” (Thailand 4.0) นั้น เป็น “วิสัยทัศน์” ของประเทศ ที่มุ่งเน้นการสร้าง “มูลค่าเพิ่ม” ให้กับสินค้าและบริการของไทยด้วย “นวัตกรรม” และ “เทคโนโลยีที่ทันสมัย” เพื่อให้คนไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ทั้งหมดทั้งปวงนี้ “คน” ก็ยังคงเป็น “ปัจจัยสำคัญ” ของกระบวนการผลิตในทุกยุคทุกสมัย เพราะมีแต่ “คน” เท่านั้นที่สามารถออกแบบระบบต่างๆ เพื่อให้การผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น และ ถูกต้องแม่นยำขึ้น

ดังนั้น การพัฒนา “คน 4.0” ให้มีความรู้ความสามารถใหม่ๆ เพื่อรับมือกับ “ยุค 4.0” จึงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และไม่ทำให้พวกเรา “ตกขบวน” ครับผม !

วิฑูรย์ สิมะโชคดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image