เขตอุทยานสวนจตุจักร : โดย บัณฑิต จุลาสัย – รัชดา โชติพานิช

ต้นชมพูพันธุ์ทิพย์หน้าสวนจตุจักรผลิดอกสีชมพูในช่วงเดืองมีนาคม-เมษายนของทุกปี

เขตจตุจักร หนึ่งในห้าสิบเขตของกรุงเทพมหานคร ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ด้วยเป็นที่ตั้งของตลาดนัดสวนจตุจักร เขตจตุจักรจัดเป็นเขตชั้นกลาง ครอบคลุมพื้นที่ 32.91 ตารางกิโลเมตร โดยมีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ต่างๆ ดังนี้

ทิศเหนือ ติดต่อกับเขตหลักสี่ มีคลองบางเขนเป็นเส้นแบ่งเขต

ทิศตะวันออก ติดต่อกับเขตบางเขน และเขตลาดพร้าว มีคลองบางบัวและคลองลาดพร้าวเป็นเส้นแบ่งเขต

ทิศใต้ ติดต่อกับเขตห้วยขวาง เขตดินแดง และเขตพญาไท มีคลองน้ำแก้ว คลองพระยาเวิก และคลองบางซื่อเป็นเส้นแบ่งเขต

Advertisement

ทิศตะวันตก ติดต่อกับเขตบางซื่อและอำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี มีทางรถไฟสายเหนือและคลองประปาเป็นเส้นแบ่งเขต

ที่มาของเขตจตุจักร
เขตจตุจักร เริ่มจากเป็นเพียงตำบลหนึ่ง คือ ตำบลลาดยาว ในท้องที่ปกครองของอำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร ในอดีตมีสภาพเป็นทุ่งนา ผู้คนตั้งถิ่นฐานเบาบาง กระจายเป็นกลุ่มๆ ตามริมคลองต่างๆ เช่น คลองเปรมประชากร คลองบางซื่อ คลองบางเขน คลองลาดยาว เป็นต้น

ครั้นเมื่อชุมชนเดิมเจริญมากขึ้น และมีบ้านจัดสรรในพื้นที่มากมายหลายโครงการ จึงมีการขยายเขตเทศบาลนครกรุงเทพฯ มาจนถึงตำบลลาดยาว เมื่อปี พ.ศ.2507 ในปี 2514 มีการประกาศรวมจังหวัดพระนครกับจังหวัดธนบุรี เป็นนครหลวงกรุงเทพธนบุรี และเปลี่ยนเป็นกรุงเทพมหานคร ในเวลาต่อมา รวมทั้งเปลี่ยนการเรียกขาน ตำบลและอำเภอ แบบเดิม เป็นแขวงและเขต แบบใหม่ ตำบลลาดยาว จึงเปลี่ยนเป็นแขวงลาดยาว และเป็นหนึ่งในจำนวน 9 แขวงของเขตบางเขน

Advertisement

เนื่องจากพื้นที่ในความรับผิดชอบของแขวงลาดยาวมีถึง 173.81 ตารางกิโลเมตร และอยู่ไกลจากสำนักงานเขต ประชาชนจึงไม่ได้รับความสะดวกในการติดต่อราชการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการประชาชนและการบริหารงาน จึงมีประกาศกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2532 แบ่งพื้นที่เขตบางเขนออกเป็น 3 พื้นที่ คือ บางเขน ดอนเมือง และจตุจักร ที่ครอบคลุมแขวงลาดยาวทั้งหมด

ก่อนจะเป็นสวนจตุจักร เห็นแนวต้นสนพื้นที่สนามกอล์ฟรถไฟ
ภาพถ่ายมุมสูง กำลังสร้างสวนจตุจักร

ครั้นเมื่อประชากรเริ่มหนาแน่นและพื้นที่มีความเจริญมากขึ้น จึงมีประกาศจัดตั้ง เขตจตุจักร พร้อมกับเขตดอนเมือง เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2532 ซึ่งในระยะแรก ประกอบด้วยแขวงลาดยาวเพียงแขวงเดียว

แต่ด้วยพื้นที่ที่กว้างขวาง และประชากรอยู่อาศัยหนาแน่น มีปัญหาเลขที่บ้านซ้ำกัน จึงมีประกาศกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2546 แบ่งพื้นที่เขตจตุจักรเป็น 5 แขวง ได้แก่ แขวงลาดยาว แขวงเสนานิคม แขวงจันทรเกษม แขวงจอมพล และแขวงจตุจักร

ที่มาของตลาดนัดจตุจักร
ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ.2491 ที่มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น รัฐบาลได้สั่งการให้ทุกจังหวัดจัดตลาดนัด ทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ เพื่อประชาชนซื้อหาสินค้าราคาถูก สำหรับกรุงเทพฯได้เลือกพื้นที่สนามหลวงเป็นสถานที่จัดตลาดนัด เปิดจำหน่ายสินค้านานาชนิดจากทั่วทุกภาค รวมทั้งสินค้าจากต่างประเทศด้วย จนเป็นที่นิยมของผู้คน

ในปีต่อมา เนื่องจากมีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่สนามหลวงจัดพระราชพิธี และมีโครงการปรับปรุงทางเท้าคอนกรีตรอบสนามหลวง จึงย้ายตลาดนัดไปจัดที่พระราชอุทยานสราญรมย์จนกระทั่งปี พ.ศ.2500 กำหนดให้พระราชอุทยานสราญรมย์เป็นสวนสาธารณะ และพื้นที่จัดงานต่างๆ รวมทั้งการประกวดนางสาวไทย จึงต้องย้ายตลาดนัดไปที่สนามหลวงตามเดิม

เมื่อใกล้จะถึงงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ที่ต้องใช้สนามหลวง เป็นสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆ จึงโยกย้ายตลาดนัด มาจัดชั่วคราวที่พหลโยธิน ในปี พ.ศ.2521 โดยใช้ชื่อว่า ตลาดนัดย่านพหลโยธิน จนถึงปี พ.ศ.2525 กรุงเทพมหานคร จึงได้ขอเช่าที่ดินจำนวน 68 ไร่ จากการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อให้เป็นที่จัดตลาดนัดถาวร แต่ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่ติดกับสวนจตุจักร ชาวบ้านจึงเรียกขานนับแต่นั้นมาว่าตลาดนัดจตุจักร หรือตลาดนัดสวนจตุจักร

ที่มาของสวนจตุจักร
เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 48 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2518 การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินย่านพหลโยธิน จำนวน 100 ไร่ ซึ่งพระองค์พระราชทานให้แก่กรุงเทพมหานคร สำหรับสร้างสวนสาธารณะให้แก่ประชาชน

การรวมพื้นที่สวนทั้งสามให้เป็นอุทยานสวนจตุจักร ที่มา งานสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร, พ.ศ.2550
ตลาดนัดสวนจตุจักรเมื่อแรกที่ย้ายมา
ตลาดนัดสวนจตุจักร สมัยที่ยังเป็นเต็นท์ผ้าใบ

เดิมที พื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ลุ่มน้ำท่วม มีสภาพรกร้าง เต็มไปด้วยพงหญ้ารก ไม่มีการใช้ประโยชน์ใดกรุงเทพมหานครจึงนำขยะมูลฝอย จากสถานทิ้งขยะดินแดงมาถม อีกทั้งขุดบ่อ คู และสระน้ำ ปรับแต่งระดับดิน พร้อมทั้งปลูกพืชพันธุ์ไม้นานาชนิด ด้วยความสนพระทัย จึงโปรดเกล้าฯ ให้คณะกรรมการดำเนินงานฯ กราบบังคมทูลความคืบหน้าทุกระยะ 6 เดือน ตลอดระยะเวลาการก่อสร้าง อีกทั้งการรถไฟแห่งประเทศไทย ยังได้มอบที่ดินเพิ่มเติมอีก 90 ไร่ เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ จึงเปิดให้บริการประชาชน ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2523 โดยได้รับพระราชทาน นามว่า สวนจตุจักร ซึ่งตรงกับ คำในภาษาสันสกฤต ที่หมายถึง สี่รอบราศี

ปัจจุบันในบริเวณสวนจตุจักร ยังมี สวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติ 36 พรรษา พลตรีหญิง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นพื้นที่สำหรับออกกำลังกาย โดยติดตั้งอุปกรณ์กายบริหารต่างๆ มากมาย

สำหรับ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เดิมทีอยู่ทางทิศใต้ของสนามกอล์ฟรถไฟ โดยกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ด้วยการสนับสนุนของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ในสังกัดกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานเอกชน ร่วมใจน้อมเกล้าฯ ถวายเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ครบ 5 รอบ วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2535 ซึ่งมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2539

สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ มีพื้นที่กว้างขวางถึง 196 ไร่ เป็นสวนพฤกษศาสตร์ มีความสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ รวมพันธุ์กล้วยกว่า 70 ชนิด ต้นเถาสีทอง พันธุ์ไม้หายาก สวนการเรียนรู้ของผู้พิการ และสวนไม้มงคลพระราชทาน 76 จังหวัด รวมทั้ง พิพิธภัณฑ์เด็ก กรุงเทพมหานคร อาคารเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา และอาคารพรรณไม้ไทยเทิดไท้บรมราชินีนาถ ที่จัดแสดงพรรณไม้ในวรรณคดี พรรณไม้หอม และพรรณไม้อันเกี่ยวเนื่องในสถาบันพระมหากษัตริย์

ยังมี สวนวชิรเบญจทัศ ที่กรุงเทพมหานคร จ่ายค่าชดเชยให้การรถไฟแห่งประเทศไทย จำนวน 555 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงพื้นที่สนามกอล์ฟรถไฟเดิม ให้เป็นสวนสาธารณะ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2541 ต่อมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อครั้งที่ยังดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า สวนวชิรเบญจทัศ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2545 ซึ่งตรงกับโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมายุ 50 พรรษา

สวนวชิรเบญจทัศ มีขนาดพื้นที่กว้างขวาง ถึง 375 ไร่ นอกจากสวนสนาม และพืชพันธุ์ไม้ธรรมชาติแล้ว ยังมีกิจกรรมที่หลากหลายสำหรับครอบครัว มีพื้นที่สำหรับเด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุ มีศูนย์นันทนาการชุมชน อุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพฯ พิพิธภัณฑ์รถไฟ ศูนย์เยาวชนวชิรเบญจทัศ และเมืองจราจรจำลอง รวมทั้งหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ที่จัดสร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเนื่องในโอกาสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา

ที่มาของอุทยานสวนจตุจักร
ด้วยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชวิสัยทัศน์ไกล จึงมีพระราชกระแส เมื่อเกือบยี่สิบปีมาแล้ว คือในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2544 ให้กรุงเทพมหานครดำเนินการ รวมสวนจตุจักร สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ และสวนวชิรเบญจทัศ เข้าด้วยกันให้เป็นอุทยานสวนจตุจักร เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ในบริเวณใกล้เคียง

…การสร้าง “Transportation Hub” กินที่ในสวนจตุจักร
สวนจตุจักรถูกตัดทอนพื้นที่มาแล้วจนเหลือน้อยมาก…
…ตลาดจตุจักร สวน Queen’s Park SRT Botanical Park
(กอล์ฟรถไฟ)
เมื่อรวมทั้งหมดเป็น “สวนจตุจักร” ก็จะสมพระเกียรติ…

ด้วยเหตุนี้ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2546 และวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2546 ให้รวมสวนสาธารณะทั้ง 3 แห่ง คือ สวนจตุจักร สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ และสวนวชิรเบญจทัศ เข้าด้วยกัน โดยให้กรุงเทพมหานคร จัดทำเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในปี พ.ศ.2550 ที่ทรงพระราชทานนามไว้แล้วว่า อุทยานสวนจตุจักร

ในขณะนี้ กระทรวงมหาดไทย และการรถไฟแห่งประเทศไทย รวมทั้งคณะกรรมการมูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ผู้รับผิดชอบโครงการ ต่างเร่งการดำเนินงานในการรวมพื้นที่สวนทั้งสามแห่งเข้าด้วยกัน ตามงบประมาณที่ได้รับในปี พ.ศ.2562 กว่าร้อยแปดสิบล้านบาท สำหรับงานล้อมต้นไม้ เพื่อขยายและเชื่อมทางให้ติดต่อกัน งานก่อสร้างสกายวอล์ก หรืออุโมงค์ทางลอดถนนกำแพงเพชร ที่อยู่ระหว่างสวน และการก่อสร้างอาคารจอดรถ เพื่อรองรับผู้มาใช้บริการ

คงจะอีกไม่นานที่กรุงเทพฯจะมีสวนสาธารณะกลางเมืองที่ใหญ่ที่สุด ด้วยพื้นที่ที่มากถึง เจ็ดร้อยกว่าไร่ มากกว่าสวนหลวง ร.9 แขวงหนองบอน เขตประเวศ ที่เคยเป็นสวนสาธารณะและสวนพฤกษศาสตร์ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ และสวนลุมพินี ที่มีพื้นที่ 360 ไร่

จะเป็นอุทยานสวนจตุจักร แห่งพระนคร เป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่แห่งมหานคร ที่จะเสริมสร้างภูมิทัศน์อันงดงามแห่งกรุงเทพมหานคร และที่สำคัญ จะเป็นประจักษ์พยานแห่งพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระราชวงศ์แห่งจักรีวงศ์ สร้างความร่มเย็นเป็นสุขให้กับปวงชน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกหมู่ ทุกเหล่า ทุกเชื้อ ทุกชาติ ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในแผ่นดินไทย

จากท้องทุ่งมาเป็นบ้านเรือน จากเพิงพักมาเป็นตึกสูง จากที่ลุ่มน้ำขังมาเป็นสวนสวย จากสวนจะเป็นอุทยานฯ จากหาบเร่มาเป็นแผงลอย จากร้านค้ามาเป็นตลาดนัด จากที่ซื้อขายมาเป็นสถานท่องเที่ยว จากท้องถิ่นมาเป็นนานาชาติ และจากหมู่บ้านมาเป็นตำบล เป็นแขวง และเป็นเขตจัตุจักร ที่เป็นนามพระราชทาน เขตที่มีแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก และต่อไปจะมีสวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในพระนคร

บัณฑิต จุลาสัย
รัชดา โชติพานิช
หน่วยปฏิบัติการวิจัยแผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์ จุฬาฯ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image