มติชนวิเคราะห์ : ตั้งไข่ รบ.ใหม่ ฝุ่นตลบ-ควันโขมง ดิ้นหนี‘เสียงปริ่ม’

หลังการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม บังเกิดความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าในที่สุดแล้ววันที่ 9 พฤษภาคม กกต.จะต้องประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ แต่แค่ “ไม่เป็นทางการ” ก็ทำให้การเมืองฝุ่นตลบ

ทั้งปรากฏข่าว “งูเห่า” ที่สังกัดพรรคซึ่งไปยึดโยงจับมือกับขั้วการเมืองหนึ่ง แต่กระโจนไปอยู่กับพรรคอีกขั้วการเมืองหนึ่ง

ทั้งปรากฏการณ์ความขัดแย้งเรื่องวิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดอย่างหนึ่ง แต่กฎหมายลูกไปกำหนดอีกอย่าง

Advertisement

ทั้งปรากฏการณ์ “คดีการเมือง” ที่เริ่มพาดพิงกล่าวโทษไปถึงพรรคการเมืองและนักการเมือง

ทุกอย่างล้วนมีความเกี่ยวพันกับขั้วการเมืองที่จะจับมือกัน

ทุกอย่างเกี่ยวพันกับการตั้งไข่รัฐบาลใหม่

Advertisement

เหตุที่เกิดเรื่องดังกล่าวขึ้น เพราะผลการเลือกตั้งที่ออกมาแบบ “ไม่เป็นทางการ” ยืนยันจำนวน ส.ส.ระบบเขตที่พรรคเพื่อไทยได้มากที่สุด ขณะเดียวกันยืนยันว่าพรรคพลังประชารัฐมีคะแนนป๊อปปูลาร์โหวตสูงสุด

กระทั่งบานปลายกลายเป็นศึกชิงความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล โดยหวังจะดึงพรรคการเมืองอื่นๆ มาสนับสนุนให้ได้จำนวนเสียง ส.ส.เกิน 250 เสียง

เพื่อจัดตั้งรัฐบาล

ดูเหมือนว่าความตั้งใจของ กรธ.ผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่อยากเห็นทุกคะแนนเสียงของประชาชนมีคุณค่าจะประสบผล เพราะพรรคการเมืองทุกพรรคต่างให้ความสำคัญกับทุกคะแนนที่ตัวเองได้รับ

ความเห็นต่างกันเรื่องการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อบานขยายกลายเป็นเรื่องที่ กกต.ต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ

แม้แต่ประเด็นว่าสมควรยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่ก็ยังเป็นปัญหาที่มีการถกเถียงกันฝุ่นตลบ

ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา แม้จะเป็นวันหยุดยาว ซึ่งปกติแล้วข่าวสารจะนิ่งๆ

แต่สำหรับปีนี้ทุกวันที่ผ่านไป มีประเด็นทางการเมืองสุดฮอตออกมาเรื่อยๆ

บางประเด็นร้อนจนเกิดควันโขมงขึ้นมา

เมื่อปรากฏข่าวว่าพรรคเศรษฐกิจใหม่ และพรรคประชาธิปัตย์บางส่วนจะโยกไปสมทบกับพรรคพลังประชารัฐ

กระแสในโซเชียลได้วิพากษ์วิจารณ์อย่างร้อนแรง จนกระทั่ง “มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์” หัวหน้าพรรค ต้องออกแถลงการณ์

ยืนยันจุดยืนไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ

แล้วสุดท้ายก็เกิดแรงกระเพื่อมภายในพรรคเศรษฐกิจใหม่ ที่มีสมาชิกพรรคยื่นให้ กกต.พิจารณายุบพรรคเพราะนายทุนครอบงำ

เรื่องราวกลายเป็นคดีที่รอการตัดสิน

เป็นคดีที่เกิดขึ้นทางฟากฝั่งของพรรคขั้วเพื่อไทย ที่ประกาศจับมือกับพรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อชาติ พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคพลังปวงชนไทย

เป็นคดีการเมืองที่ประจวบเหมาะเกิดขึ้นในห้วงเวลาที่กำลังมีความเคลื่อนไหวจัดตั้งรัฐบาลกันพอดี

บังเอิญที่เกิดขึ้นเหมือนกับการเรียก “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ มารับข้อกล่าวหา

บังเอิญที่เกิดขึ้นกับ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ที่ต้องข้อกล่าวหา “หมิ่นศาล”

เป็นความบังเอิญที่มีผลกระทบทางการเมืองอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

อาการฝุ่นตลบ ควันโขมงเช่นนี้ทำให้เกิดกระแสข่าวสะพัดเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ

“เทพไท เสนพงศ์” จากพรรคประชาธิปัตย์ บอกสาเหตุที่เสนอเรื่องรัฐบาลแห่งชาติว่า “เพราะเห็นว่าหลังจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ผ่านพ้นไป การเมืองในประเทศไทยจะต้องมีความคืบหน้า ไม่ใช่ว่าทั้ง 2 ขั้วการเมืองยังก้ำกึ่ง ตกลงเรื่องการรวมเสียงตั้งรัฐบาลกันไม่ได้”

และ “หากให้มองข้ามไปถึงกรณีที่ว่ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรวมเสียงตั้งรัฐบาลได้ การบริหารราชการแผ่นดินก็จะเป็นไปในลักษณะรัฐบาลปริ่มน้ำ ไม่มีเสถียรภาพ

ดังนั้น จึงเห็นว่าข้อเสนอที่เสนอไปน่าจะเป็นทางออกได้”

แต่ข้อเสนอดังกล่าวยังไม่ได้รับการตอบรับจากฝ่ายใด แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ

เหตุที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะมีความมั่นใจว่าการตั้งรัฐบาลตามภาวการณ์ปกติจะเกิดขึ้นได้

แล้วหลังจากนั้น จึงค่อยแก้ปัญหาต่อไป

ความห่วงใยเรื่อง “เสียงปริ่ม” มิได้มีแค่นายเทพไท หากแต่ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ก็แสดงความเป็นห่วงด้วย

ทั้งนี้เพราะการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอาจไม่มีปัญหา เพราะใช้เสียง 2 สภาร่วมกันโหวต

เสียง ส.ว. 250 เสียงย่อมโหวตให้ คสช.

แต่เมื่อใดที่มีการพิจารณากฎหมายของสภาผู้แทนราษฎร อาการ “เสียงปริ่ม” เช่นนี้สุ่มเสี่ยงต่อเสถียรภาพรัฐบาลมาก

โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงินที่มีผลต่อการดำรงอยู่ของรัฐบาล

จึงไม่แปลกที่นายไพบูลย์จะเสนอความเห็นอันแหลมคมว่าให้ใช้ ม.270 คือให้ ส.ว.เข้ามาร่วมพิจารณากฎหมายอื่นๆ ด้วย

หากแต่ข้อเสนอดังกล่าวยังไม่เป็นที่ตอบรับ

แม้แต่วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ก็ยังบอกว่าทำได้ไม่ทั้งหมด

ดูเหมือนว่าในช่วงตั้งไข่รัฐบาลใหม่จะติดขัดไปหมด เมื่อเสียง 2 ขั้วมีความใกล้เคียงกัน บรรดาพรรคการเมือง และ ส.ส.ที่ “สงวนท่าที” ของตัวเองมากขึ้น

ขณะเดียวกันบรรดากองเชียร์ของทั้ง 2 ขั้วก็เฝ้าจับตาดูพรรคการเมืองและนักการเมืองที่ตัวเองเลือก

กรณี “งูเห่า” อาจจะเกิดขึ้น แต่ผลที่ตามมาหลังจากเกิด “งูเห่า” ก็ไม่มีใครคาดเดาได้ว่ากองเชียร์ที่ผิดหวังจะลงโทษเช่นไร

กรณีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ต้องขึ้นกับดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญที่ทุกฝ่ายเชื่อว่ายึดกฎหมายและสามารถทำให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยความ “สุจริต เที่ยงธรรม” ได้

กรณีการแจกใบเหลือง แดง ส้ม เบื้องต้นอาจส่งผลให้ ส.ส.พรรคการเมืองหนึ่งลด แต่ถ้ามีการเลือกตั้งใหม่จะทำให้ ส.ส.ขั้วการเมืองนั้นลดลงหรือเพิ่มขึ้นเช่นไร ยังไม่มีใครทราบได้

สถานการณ์การเมืองในห้วงเวลานี้ยังฝุ่นตลบ ควันโขมง

ทุกอย่างยังคง “ไม่เป็นทางการ” ไปจนกว่าจะถึงวันที่ 9 พฤษภาคม ที่ผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจะประกาศออกมา

วันนั้นทุกอย่างเป็นทางการ แล้วหลังจากนั้นปฏิบัติการตั้งไข่รัฐบาลใหม่ก็จะเกิดขึ้นอย่างจริงจัง

ทั้ง “งูเห่า” ทั้งผลคดี และอะไรต่อมิอะไรที่มัวๆ จะปรากฏอย่างแจ่มชัดขึ้น

เพียงแต่ผลจากความชัดแจ้งที่ได้เห็น จะดีหรือเสียต่อการเมืองไทยนั้น

คงต้องลุ้นกันอีกที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image