เดินหน้าชน : นิเวศดิจิทัล-สำนึก : โดย สัญญา รัตนสร้อย

คําสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 4/2562 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อช่วยผู้ประกอบการ 2 กลุ่ม

กลุ่มแรกคือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ที่หลายรายทำท่าจะไปไม่รอด จึงเปิดโอกาสให้คืนใบอนุญาตได้ โดยแจ้งไปยัง กสทช.ภายใน 30 วัน หรือภายใน 10 พฤษภาคม

จากนั้น สำนักงาน กสทช.จะพิจารณากำหนดค่าชดเชย โดยดูผลประโยชน์ที่ผู้ประกอบการรายนั้นๆ ได้รับระหว่างที่ประกอบกิจการ และค่าธรรมเนียมคลื่นความถี่ที่ชำระแล้ว

นอกจากนี้ ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัลไม่ต้องนำเงินค่าประมูลงวดที่ 5 และ 6 ซึ่งเป็น 2 งวดสุดท้าย รวมเป็นเงิน 13,622 ล้านบาท มาชำระให้ กสทช. ส่วนรายใดที่ชำระไปแล้ว ก็มาขอคืนได้ แต่หากรายใดที่ยังจ่ายงวดที่ 4 ไม่ครบ ก็ให้มาชำระให้ครบภายในเดือนพฤษภาคมนี้

Advertisement

ส่วนค่าเช่าโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล (มักซ์) กสทช.จะช่วยสนับสนุน โดยจะนำเงินไปชำระให้ผู้ประกอบการโครงข่ายมักซ์ จนสิ้นสุดอายุใบอนุญาต

อีกส่วนคือช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคม โดยขยายเวลาการชำระเงินประมูลคลื่น 900 MHz จากเดิม 4 งวด ออกไปเป็น 10 งวด เริ่มนับจากปีแรกที่ได้รับใบอนุญาต

การขยายเวลาชำระเงินดังกล่าว มีเงื่อนไขว่าผู้ประกอบการต้องเข้ารับการจัดสรรคลื่น 700 MHz ที่เรียกคืนมาจากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล เพื่อรองรับเทคโนโลยี 5G “กสทช.” คาดว่าจะสรุปหลักเกณฑ์การจัดสรรคลื่นในปลายเดือนพฤษภาคมนี้

Advertisement

จากนั้นจะจัดการสรรคลื่นได้ในเดือนมิถุนายน ตั้งเป้าว่าจะใช้งานได้วันที่ 1 ตุลาคม 2563

การจัดสรรคลื่น 700 MHz จะทำให้รัฐมีรายได้อย่างน้อย 75,000 ล้านบาท เมื่อนำไปชดเชยให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ในงวดที่เหลือรวม 13,622 ล้านบาท และค่ามักซ์ 18,604 ล้านบาท รัฐจะมีรายได้เพิ่มขึ้นราว 42,772 ล้านบาท

หากผู้ประกอบการโทรคมนาคมไม่รับเงื่อนไข ก็ต้องชำระตามกรอบระยะเวลาเดิม

มาตรการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการจัดระบบ “นิเวศดิจิทัล” ในการผลักดัน 5G ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อขับเคลื่อนทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศและประชาชน

มีการประเมินกันว่า 5G จะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยถึง 2.3 ล้านล้านบาท ภายในปี 2578 โดยมาจากภาคการผลิต 634,000 ล้านบาท ภาคการขนส่งหรือโลจิสติกส์ 124,000 ล้านบาท ภาคการเกษตร 96,000 ล้านบาท และยังช่วยลดต้นทุนด้านสาธารณสุขและบริการทางการแพทย์ประมาณ 38,000 ล้านบาทต่อปี

แน่นอนว่ามาตรการดังกล่าว มีนักวิชาการบางคนไม่เห็นด้วย โดยมองว่าอุ้มภาคเอกชนมากเกินไป ก็ต่างมุมมองกันได้

แต่ที่น่าระอา ก็คือมีกรรมการ กสทช.บางคน ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ โจมตีการใช้ ม.44 กรณีนี้

ทั้งที่ตัวเองยังนั่งเก้าอี้นี้ได้ก็ด้วย ม.44 ที่ให้ดำรงตำแหน่งต่อ แม้หมดวาระไปแล้วกว่า 1 ปีครึ่ง

เหมือนข้าราชการเกษียณไปแล้ว แต่ คสช.ใช้ ม.44 ให้อยู่ต่อ ได้เงินเดือนสูงลิ่ว แถมเบี้ยเลี้ยง และสิทธิพิเศษอื่นอีกมากมาย

แม้จะมีหลายฝ่ายออกมาจี้ให้ลาออก ไม่ควรอยู่ต่อด้วยคำสั่ง ม.44 แต่ทำเป็น “หูทวนลม” หรือว่า ม.44 ที่ตัวเองได้ประโยชน์กลับเงียบ แต่ถ้า ม.44 ที่ขัดหูขวางตาก็ออกมาด่า

แล้วข้อมูลที่นำมางัดค้าง ฟังแล้วมึนงง ที่ว่าค่าประมูลคลื่นเป็นต้นทุนจม ไม่สามารถผลักภาระให้ผู้บริโภคได้…ถ้าเป็นอย่างนั้นคงไม่มีเอกชนหน้าไหนมาประมูลแน่

ส่วนที่ว่าประเทศไทยยังไม่พร้อมรับ 5G เพราะตัวอุปกรณ์ที่ใช้งานยังมีน้อย และชิปเซตยังไม่เพียงพอ

เรื่องนี้เหมือนปัญหาโลกแตกว่า “ไก่กับไข่” อะไรเกิดก่อนกัน หากไม่จัดสรรคลื่นความถี่ก่อน อุปกรณ์ที่จะนำมาใช้ก็ไม่เกิด

ดังนั้น ถ้ากรรมการ กสทช.ผู้นี้ ไม่สำนึกถึงตำแหน่งตัวเองว่าได้มายังไง และรับไม่ได้กับ ม.44 ที่ออกมาช่วยจัดระบบ “นิเวศดิจิทัล” ก็ควรลาออก แล้วจะไปวิพากษ์วิจารณ์อะไรก็เชิญตามสบาย…ดีกว่าไหม

สัญญา รัตนสร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image