แดนสีเทาของ‘น้ำเมา’ (และน้ำที่ไม่เมา) : โดย กล้า สมุทวณิช

เทศกาลสงกรานต์ เป็นเหมือนช่วงเวลาที่ฝีหนองที่บ่งในซ่อนใต้สังคมไทยปูดพองขึ้นมาเห็นได้ชัดเจนแทบทุกเรื่อง แต่ที่อยากจะชวนคุยในวันนี้ เป็นเรื่องของการเมาแล้วขับ

โดยปกติในสายตาคนไทยส่วนหนึ่ง การเมาแล้วขับก็ดูไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรอยู่แล้ว แต่ในช่วงสงกรานต์ ยิ่งเหมือนกับเป็นเรื่องธรรมดาของทั้งผู้ดื่มและผู้ขับ ปรากฏเป็นข่าวและคลิปมากมายให้เราดูกันแล้วจิตตก เช่นครอบครัวของนายตำรวจท่านหนึ่งที่เสียชีวิตหมดทั้งพ่อและแม่ ส่วนลูกสาวบาดเจ็บสาหัส หรือรถปิกอัพที่ผู้ควบคุมเมาจนหลุดจากถนนพุ่งเข้าหาบ้านคน แต่เคราะห์ดีที่เด็กๆ ซึ่งเล่นน้ำสงกรานต์กันอยู่นั้นตาดีวิ่งหนีทัน

ในปีนี้มีความพยายามที่จะแก้ปัญหานี้โดยฝ่ายบริหาร ด้วยการวางนโยบายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำสำนวนให้คดีเมาแล้วขับจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายนั้นเป็นความผิดสถานหนัก ถือเทียบว่าเป็นเจตนาฆ่าคนตาย แต่เรื่องนี้ฝ่ายตุลาการคือศาลท่านไม่เอาด้วย เพราะแม้เจตนาจะมุ่งรักษาความปลอดภัยสาธารณะด้วยการมุ่งลงโทษอย่างรุนแรงไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง แต่การฟ้องคดีเช่นนั้นก็เป็นการบิดเบือนหลักกฎหมายอาญาเกินไป

อธิบายสั้นๆ นิดหนึ่งว่า ในการกระทำที่ละเมิดกฎหมายอาญา ตามหลักกฎหมายจะถือเป็นความผิดและลงโทษได้นั้น ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาที่สมบูรณ์ที่จะทำความผิดนั้นโดยประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผล นั่นคือมีเจตนาตั้งต้นที่จะกระทำการให้เป็นความผิดนั้น กรณีการฆ่าผู้อื่นคือตั้งใจจะให้ใครสักคนตาย จะเจาะจงตัวคนหรือไม่ก็ตาม

Advertisement

หากกฎหมายประสงค์จะลงโทษในการกระทำใดที่ไม่มีเจตนา แต่ผลสุดท้ายเป็นเรื่องร้ายแรง ก็ต้องมีกฎหมายที่ชัดเจนระบุให้เรื่องนั้นเป็นความผิดไว้แล้ว เช่นกรณีที่เจตนาตั้งต้นเป็นการทำร้ายร่างกาย แต่ในที่สุดผลที่เกิดขึ้นคือความตาย ก็ต้องมีกฎหมายกำหนดความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนา หรือไม่มีเจตนาเลยอย่างการกระทำโดยประมาท แต่เมื่อส่งผลร้ายจนมีผู้ต้องเสียชีวิตสังเวยความประมาทนั้น ก็ต้องมีความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้คนตาย

ในกรณีเมาแล้วขับนั้นชัดเจนว่า คนที่กระทำผิดเช่นนั้นมีเจตนาเพียงการดื่มเหล้าแล้วขับรถ เจตนาจึงไปสุดที่การไม่เคารพกฎหมายนั้น แต่ไม่ใช่การตั้งใจแต่ต้นที่จะไปฆ่าใคร เช่นนี้การตั้งข้อหาไปถึงฆ่าคนตายจึงไปไกลกว่าเจตนาซึ่งขัดต่อหลักการลงโทษทางอาญา

อาจจะมีผู้โต้แย้งว่า ในทางตำรากฎหมายอาญา ยังมีการอธิบายถึงการฆ่าคนโดยเจตนาเล็งเห็นผล ตัวอย่างคลาสสิกคือการกราดยิงปืนไปในที่ชุมชน โดยไม่ได้ประสงค์จะฆ่าใครเป็นรายบุคคล แต่เล็งเห็นผลว่าน่าจะมีคนตายแน่ๆ เช่นนี้ เราจะถือว่าการที่เมาแล้วฝืนขับรถออกมาบนถนนที่มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าน่าจะชนใครเจ็บหรือตายได้นั้น จะมองว่าเป็นการกระทำโดยเจตนาเล็งเห็นผลได้หรือไม่ ส่วนตัวก็ยังเห็นว่ามันไม่ชัดเจนถึงขนาดนั้น เพราะการกราดยิงปืนไปกลางชุมชนมันไม่อาจมีเจตนาเป็นอื่นไปได้เลย ต่างจากการเมาแล้วขับที่คงจะไม่มีใครคิดว่าออกจากบ้านรอบนี้จะไปชนรถครอบครัวสักคันให้ตายยกคัน

Advertisement

และสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้คนยำเกรงกฎหมายนั้น ไม่ใช่การที่กฎหมายกำหนดบทลงโทษสถานหนักเท่ากับการลงโทษอย่างแน่นอนและจริงจัง เพราะต่อให้โทษหนักเพียงไรแต่สุดท้ายก็ได้รอการลงโทษหรือลดโทษไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็ไม่เพียงพอต่อการเหนี่ยวรั้งให้คนไม่กล้ากระทำความผิด

ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ การจะสร้างสภาพบังคับที่จริงจังและสร้างความตระหนักในเชิงป้องกัน ทางฝ่ายศาลก็อาจจะประกาศ “นโยบาย” หรือ “ยี่ต๊อก” ให้ชัดเจนต่อสาธารณชน ว่ากรณีเมาแล้วขับระดับเท่าไร ต้องติดคุกแน่นอนไม่ต้องลุ้นรอการลงโทษ หรือถ้าเมาแล้วขับชนคนตาย ก็รับประกันไปใช้ชีวิตในเรือนจำแน่นอน กี่ปีก็ว่าไป ตามโทษที่มีบัญญัติไว้แล้วในกฎหมาย รวมถึงมีการตัดสินคดีอุทาหรณ์ไว้เป็นเยี่ยงอย่างและสม่ำเสมอ

ข้อเสนอนี้อาจจะฟังดูก้าวล่วงบทบาทของฝ่ายตุลาการไปบ้าง แต่ถ้าท่านอยากจะช่วยสังคมแก้ปัญหานี้ก็น่าจะลองพิจารณา เพราะท่านๆ เองในฐานะของปัจเจกชนที่ลงจากบัลลังก์ไป ก็มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตของตัวเองหรือคนในครอบครัวเพราะพวกเมาแล้วขับเช่นกัน

อีกเรื่องที่เกี่ยวกับ “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ที่เป็นประเด็นขึ้นมาเบาๆ ก่อนสงกรานต์ คือการที่เบียร์เจ้าใหญ่ยี่ห้อหนึ่ง เริ่มทำตลาด “เบียร์ 0%” หรือ “เบียร์ไร้แอลกอฮอล์”

เครื่องดื่มที่ว่านี้ หากบรรยายกันตามความเป็นจริง มันคือเครื่องดื่มมอลต์หมักมีฟองซ่าๆ คล้ายน้ำอัดลมขมๆ นั่นเอง ถ้าใครสังเกตดูฉลากและแสตมป์ ก็เป็นแบบเดียวกับน้ำแร่มีฟองจากต่างประเทศ ไม่ใช่แสตมป์แบบเหล้าเบียร์

อย่างไรก็ตาม ด้วยความกำกวมในสถานะของมันเช่นนี้ ทำให้แม้ว่ามันจะไม่มีแอลกอฮอล์เลย แต่เพราะมันใช้ตรายี่ห้อเดียวกันกับเบียร์ ก็ทำให้ต้องถูกควบคุมวัน เวลา และเงื่อนไขในการซื้อขายเช่นเดียวกับเบียร์จริงๆ นั่นคือเราจะซื้อน้ำอัดลมมอลต์รสขมได้ก็ในเวลาที่กฎหมายอนุญาตคือสิบเอ็ดโมงถึงบ่ายสอง และห้าโมงเย็นถึงเที่ยงคืน รวมถึงไม่อาจซื้อได้ในวันพระใหญ่หรือวันเลือกตั้งอีกด้วย

รวมถึงมีการแย้มแนวคิดจากทางภาครัฐที่จะเก็บภาษีจากเครื่องดื่มเบียร์ 0% นี้ในอัตราสูงเทียบเท่าเบียร์จริงๆ ด้วย เพื่อป้องกันการทำราคา ซึ่งปัจจุบันยังขายได้ถูกกว่าเบียร์จริงอยู่ราวสิบกว่าบาท

สำหรับคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่เรื่องนี้ เจ้าเครื่องดื่มคล้ายเบียร์นี้เป็น “ผีน้อย” ตัวใหม่ที่ไม่รู้จะจัดการอย่างไรดี เพราะตามนิยามของกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งถือนิยามตาม พ.ร.บ.สุรา นั้น “สุรา” ได้แก่ “วัตถุทั้งหลายหรือของผสมที่มีแอลกอฮอล์…” ซึ่งถ้าข้อเท็จจริงยุติว่า เจ้าน้ำขมซ่าชนิดนี้มีปริมาณแอลกอฮอล์เป็นศูนย์คือปราศจากแอลกอฮอล์จริงๆ ก็ย่อมไม่เข้านิยามตามกฎหมาย และก็จะไม่อยู่ในอำนาจของหน่วยงานที่ว่านั้นด้วย

แต่กระนั้นผู้รับผิดชอบบังคับใช้กฎหมายก็แสดงความกังวลว่า การที่มีเครื่องดื่มหน้าตาเหมือนเบียร์เปี๊ยบมาขายได้ทั่วไป เด็กก็ซื้อดื่มได้เสรีทุกเวลา หรือสามารถทำตลาดโฆษณาได้โดยไม่ต้องบังคับตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสุราเมรัยแล้ว ก็เท่ากับเปิดโอกาสให้บริษัทน้ำเมาสามารถ “สร้างแบรนด์” และภาพจำให้นักดื่มหน้าใหม่ได้

แม้ข้อกังวลนี้อาจจะดูจะน้ำหนักเบาไปบ้าง เพราะก่อนหน้านี้ก็มีน้ำดื่มและโซดาตราสัตว์ทั้งหลาย ที่มีกิจการเบียร์ในชื่อและตราเดียวกันนั้นด้วย แต่ก็ใช่ว่ามันจะไม่มีเหตุผลเสียเลย เพราะการที่มีเครื่องดื่มที่คล้ายเบียร์ทุกอย่างทั้งรสชาติและกลิ่น เพียงแต่กินแล้วไม่เมาหรือมีอันตรายอื่นใดจากแอลกอฮอล์ และใครๆ ก็สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย มันก็อาจจะเป็น “ชานพัก” ชั้นแรก หรือเป็นเครื่องดื่มกึ่งวิถี ที่จะนำพาผู้ไม่เคยลิ้มลองเครื่องดื่มประเภทนี้เข้าไปสู่โลกแห่งเครื่องดื่มอย่างเดียวกัน แต่กินแล้วเมาก็ได้

อย่างไรก็ตามในอีกทางหนึ่ง การมีเครื่องดื่มคล้ายเบียร์แต่ไม่มีแอลกอฮอล์นี้ ก็มีประโยชน์หลายประการ ต่อผู้ไม่ดื่มเหล้าดื่มเบียร์ หรืออยากเลิกอยากลด

เช่นสิ่งหนึ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าในหลายวงงานนั้นมีวัฒนธรรมการทำงานที่ต้องออกไปดื่มหรือสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงานหรือลูกค้าเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน ทั้งเป็นการผ่อนคลายเสริมสร้างความสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกัน หรือแม้แต่การเจรจาต่อรองกับลูกค้า ที่การตัดสินใจสุดท้ายจะเกิดขึ้นในการกินดื่มในยามค่ำคืน

การมี “เครื่องดื่มคล้ายเบียร์แต่ไม่มีแอลกอฮอล์” นี้ จึงเป็นทางออกที่ดียิ่งสำหรับคนไม่ดื่มสุราเมรัยในวัฒนธรรมการทำงานเช่นนั้น หรืออยู่ในสังคมที่ต้องดื่มกินเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ ให้สามารถประนีประนอมกับสังคมและวัฒนธรรมเช่นนั้นได้โดยต้องฝืนหรือเสีย “ศีล” ของตัวเอง แต่ก็ไม่แปลกแยกแตกต่างจากเพื่อนฝูง

หรือสำหรับคนที่ต้องการจะลดหรือเลิก การค่อยๆ ประนีประนอมด้วยการเสริมเจ้าเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์ลงไปในปริมาณเดิมที่เคยดื่มกินตามปกติ เช่นเดิมเคยดื่มวันละสามขวด ก็อาจจะเป็นเบียร์จริงๆ ขวดเดียว อีกสองขวดเป็นเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ ที่ในที่สุดอาจจะช่วยลดหรือนำไปสู่การเลิกดื่มได้แบบค่อยเป็นค่อยไปได้

เคยอ่านหนังสือแนว How to ประสบการณ์ชีวิตของสาวออฟฟิศชาวญี่ปุ่นคนหนึ่ง ซึ่งเธอจะต้องดื่มเบียร์หลังเลิกงานหนึ่งขวด ไม่งั้นจะรู้สึกว่าปิดวันไม่ลง หรือความเครียดจากการทำงานยังไม่คลี่คลาย หากวันหนึ่งเธอไปลองซื้อเบียร์ยี่ห้อใหม่มาลองโดยไม่รู้ว่าเป็นเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์ และเธอก็ดื่มเจ้าเครื่องดื่มที่ว่านั้นเพื่อ “ปิดวัน” อยู่หลายวัน กว่าจะมารู้ข้อเท็จจริงนี้ และนั่นก็ทำให้เจ้าตัวได้รู้ว่า สิ่งที่เธอต้องการในการปิดวัน ไม่ใช่แอลกอฮอล์ในเบียร์ แต่เป็นการได้ดื่มอะไรขมๆ ซ่าๆ หลังเลิกงานเท่านั้นก็เพียงพอต่อการเรียกพลังงานกลับคืนและสลายความเครียดในแต่ละวันได้

หรือสำหรับคนที่เลิกดื่มเหล้าเบียร์ไปแล้ว แต่ก็คงมีสักวันกระมัง ที่นึกเหนื่อยล้าหรือนึกครึ้มอกครึ้มใจอยากได้บรรยากาศในการดื่มเบียร์เย็นๆ ไปนั่งพูดคุยกับเพื่อนฝูงในวงเหล้าตามคติโกวเล้งว่า “ข้ามิได้พึงใจในรสชาติสุรา แต่ข้าพึงใจในบรรยากาศของการร่ำสุรา” การมีเครื่องดื่มที่ช่วยทดแทนในบรรยากาศนั้นโดยไม่ต้องหวนกลับไปหาความมึนเมาก็ไม่เลวนัก

เช่นนี้ เรื่องเบียร์ 0% หรือเบียร์ไร้แอลกอฮอล์นั้นจึงอาจกล่าวว่า ในโทษนั้นก็มีประโยชน์ และในประโยชน์นั้นก็อาจจะแฝงโทษ

หากพิจารณาแต่ในแง่มุมเชิงกฎหมายและอำนาจรัฐ เราอาจจำเป็นต้องทบทวนเจตนารมณ์ของกฎหมายกันว่า ที่เราต้องควบคุมการดื่มและการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เพื่อต้องการผลใด เพื่อป้องกันอันตรายนานาประการจากผลร้ายของแอลกอฮอล์หรือไม่ ดังนั้นหากจะมีเครื่องดื่มที่ชื่อเหมือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่มีผลร้ายเช่นนั้น มันก็ควรอยู่นอกขอบเขตการควบคุมของกฎหมาย

แต่ถ้าเจตนารมณ์นั้นเลยไกลไปถึงลดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เพื่อการลดพิษภัยของสุราเมรัยที่จะมีต่อสังคมในภาพรวมระยะยาว เรื่องนี้ก็พึงพิจารณาให้ลึกลงไปมากกว่าการมีหรือไม่มีแอลกอฮอล์ ดื่มแล้วเมาหรือไม่เมา

โดยส่วนตัวแล้ว ผมเห็นว่าสำหรับเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์นั้น มันไม่ควรถูกจำกัดเคร่งครัดเข้มงวดระดับเดียวกับเบียร์ที่ดื่มแล้วเมา แต่ก็ไม่ใช่จะอยู่ในระดับเดียวกับน้ำหวานน้ำอัดลม ที่เด็กสิบขวบจะซื้อยกแพคไปดื่มกินกับมิตรสหายวัยกระเตาะได้

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image