พัฒนาความคิด ประชามติ รัฐธรรมนูญ ประชามติ ‘คสช.’

แฟ้มภาพ

เหตุปัจจัยอะไรทำให้เรื่องของ “การเลือกตั้ง” มีความสัมพันธ์กับ “ประชามติ” ทั้งๆ ที่เป้าหมายมีความแตกต่างกัน

การเลือกตั้งต้องมี “คู่แข่ง” หรือคู่ “สัประยุทธ์”

ขณะที่การประชามติมิได้มีคู่แข่ง มิได้มีคู่ต่อสู้ เพราะที่เสนอตัวเข้ามาคือ “ร่างรัฐธรรมนูญ” อันผ่านกระบวนการของ “คณะกรรมการ”

ในความเป็นจริง “ประชามติ” กับ “การเลือกตั้ง” มีความสัมพันธ์กัน

Advertisement

เพราะหากประชามติ “ร่างรัฐธรรมนูญ” ผ่านความเห็นชอบ หมายถึงโอกาสที่จะมี “การเลือกตั้ง” ตามโรดแมปก็จะเป็นไปได้สูงยิ่ง

หากประชามติ “ไม่ผ่าน” ก็จะเนิ่น-ยาวออกไป

กระบวนการเช่นนี้เองที่นำไปสู่บทสรุปอย่างรวบรัดในลักษณะว่า หากประชามติ “ร่างรัฐธรรมนูญ” ไม่ผ่านความเห็นชอบ ก็ร่างกันใหม่

Advertisement

เหมือนกับจะเป็นแค่นั้น ไม่มีอะไรซับซ้อน

กระนั้น ก็ยังมีปัจจัยอันสะท้อน “ความเป็นจริง” หลายประการในทางการเมืองที่แสดงให้เห็นว่า ไม่น่าจะง่ายดายอย่างนั้น

ตรงนี้แหละที่เขาเรียกว่าเป็น “ความละเอียดอ่อน” เป็น “ความอ่อนไหว”

ถามว่ากระบวนการร่างและจัดทำ “รัฐธรรมนูญ” มีความสัมพันธ์กับสถานการณ์ของการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 หรือไม่

ตอบได้เลยว่า “สัมพันธ์”

1 เพราะรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 บัญญัติไว้ในมาตรา 35 กำหนดกรอบของการยกย่างรัฐธรรมนูญเอาไว้ครบถ้วน

นี่จึงเหมือนกับเป็น “ธง”

ขณะเดียวกัน 1 ไม่ว่าจะปรากฏในชื่อ “คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ” ไม่ว่าจะปรากฏในชื่อ “คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ” ล้วนมาจาก “คำสั่ง” และกระบวนการของ คสช.และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557

เรียกได้ว่าเป็น 1 ใน “แม่น้ำ 5 สาย”

อย่าได้แปลกใจที่ “รายละเอียด” ของร่างรัฐธรรมนูญไม่ว่าในชุดของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ไม่ว่าในชุดของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ จึงล้วนอยู่ในการกำกับและควบคุมภายใน “แม่น้ำ 5 สาย” อย่างเคร่งครัด

เป็นไปตามความต้องการของ “คสช.”

จึงมิใช่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรอกที่อยู่ในฐานะ “เจ้าภาพ” หากเป็น 1 คสช. 1 ครม. 1 สนช. 1 สปท.และ 1 กรธ.ที่เล่นบท “เจ้าภาพ” อย่างเต็มพิกัด

เจตจำนงของ “ร่างรัฐธรรมนูญ” เท่ากับเจตจำนงของ “คสช.”

พลันที่ “ร่างรัฐธรรมนูญ” เปิดตัวต่อสาธารณะตั้งแต่เดือนมกราคมและเดินหน้าเข้าสู่การทำประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม

จึงเท่ากับเป็น “ผลึก” แห่ง “กระบวนการ”

ไม่เพียงแต่จะเป็นกระบวนการอันนำไปสู่ “การเลือกตั้ง” ตามโรดแมปภายในปี 2560 เท่านั้น หากแต่ยังเป็นกระบวนการอันสัมพันธ์กับรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 อย่างแนบแน่น

มิอาจแยกขาดออกจากกันได้

คล้ายกับว่า ปัญหาจะมาจากความคิดในการคัดค้าน ต่อต้าน ซึ่งพรรคเพื่อไทยและโดยเฉพาะ นปช.คนเสื้อแดงแสดงออกอย่างต่อเนื่องอย่างเป็นด้านหลัก

เป็นเช่นนั้น แต่ก็ดำเนินไปอย่าง “ขยายวง”

ขยายวงเพราะบทบาทและความต้องการของ คสช.มิได้ดำรงอยู่เพียงเพื่อมาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในห้วงระหว่างเดือนตุลาคม 2556-พฤษภาคม 2557 เท่านั้น

หากแต่เป็นไปตามบทสรุปของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่ว่า “เขาอยากอยู่ยาว”

ตรงนี้แหละที่ทำให้วาระครบ 2 ปีของการรัฐประหารอึงอลด้วยบทสรุปและประเมินผลอันมิได้เป็นไปตามเป้าหมายอย่างที่ คสช.ปรารถนา และเสียงทวงถาม “ประชาธิปไตย” เริ่มดังกึกก้อง แม้กระทั่งภายในพันธมิตรที่เคยร่วมและเห็นด้วยกับ คสช.

นี่คือ ปัจจัย “ใหม่” ซึ่งกำลังพัฒนากลายเป็น “ตัวแปร”

ตัวแปรนี้เองที่เพิ่มความละเอียดอ่อนและความอ่อนไหวให้กับการทำประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม

นั่นก็คือ ไม่เพียงแต่จะเป็นคำตอบว่าจะยอมรับ “ร่างรัฐธรรมนูญ” หรือไม่ หากแต่ยังจะสามารถยอมรับ “คสช.” ให้อยู่ในสถานภาพแห่ง “ผู้ปกครอง” อันทรงอำนาจต่อไปอีกได้หรือไม่

ในที่สุด จะเป็น “ประชามติ” รับหรือ “ไม่รับ” คสช.มากกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image