ภาพเก่าเล่าตำนาน : ไฟไหม้…ทำลายล้างทุกอย่างสิ้น : โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

(Photo by Fouad Maghrane / AFP)

เคยมีสุภาษิตว่า…“โจรปล้นบ้านสิบครั้ง ไม่เท่าไฟไหม้บ้านครั้งเดียว” เป็นคำพังเพย เปรียบเทียบความพินาศ ความพลัดพราก สูญเสียจากเหตุไฟไหม้ที่เผาผลาญทุกสิ่งทุกอย่าง ไฟจะทำลายแบบสิ้นซากไม่เหลือหรอ … ซึ่งในชีวิตจริง ไม่มีใครอยากโดนปล้น และก็ไม่มีใครอยากให้เกิดไฟไหม้…

ช่วงเย็นของวันที่ 15 เมษายน ตามเวลาท้องถิ่นในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพลิงลุกไหม้มหาวิหารนอเทรอดามแห่งปารีส (Cathédrale Notre-Dame de Paris) ศาสนสถานอายุ 850 ปีในกรุงปารีสของฝรั่งเศส คาดว่าต้นเพลิงน่าจะมาจากการซ่อมแซมปรับปรุงตัวอาคาร

แต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวแวะมาเยือนมหาวิหารแห่งนี้ ราว 13 ล้านคน

(Photo by AFP)

ภาพที่ถ่ายทอดสดออกมาทางสื่อทุกชนิด สร้างความสะเทือนใจให้กับผู้คนทั้งโลก ด้วยความรู้สึกหวง เสียดาย อาวรณ์กับสิ่งก่อสร้างที่สวยงาม มีคุณค่าทางจิตใจเกินบรรยาย
ชาวฝรั่งเศสเอง เคยกล่าวว่า… ไม่มีสถานที่ใดเป็นตัวแทนของฝรั่งเศสได้อย่างมหาวิหารนอเทรอดาม

Advertisement

หอไอเฟล คู่แข่งสำคัญในฐานะสัญลักษณ์ประจำชาติ มีอายุแค่ 100 กว่าปีเท่านั้น มหาวิหารแห่งนี้ตั้งตระหง่านเหนือกรุงปารีสมาราว 850 ปี

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มหาวิหารที่ผ่านร้อนผ่านหนาว เป็นสถานที่ประดุจ “แก้วตา-ดวงใจ” ของคนฝรั่งเศส ยืนตระหง่านในกรุงปารีสในขณะที่กองทัพนาซีเยอรมันบุกยึดกรุงปารีสได้ในมิถุนายน-กรกฎาคม พ.ศ.2483 และพร้อมที่จะบดขยี้มหาวิหารแห่งนี้ลงได้ในพริบตา แต่ศาสนสถานแห่งนี้รอดจากการทุบทำลายของผู้ชนะโดยแทบไม่ได้รับความเสียหาย

ชาวฝรั่งเศสต้องตกตะลึงเมื่อต้องมองดูสัญลักษณ์ของชาติถูกไฟเผาผลาญและยอดมหาวิหารถล่มลง สำหรับมหาวิหารนอเทรอดาม เป็นมหาวิหารในคริสต์ศาสนา นิกายโรมันคาทอลิก ถือเป็นอาสนวิหารประจำอัครมุขมณฑลปารีส มีอายุมากกว่า 800 ปี ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.1706 สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.1888 เทียบได้กับยุคพระยาเลอไทย สมัยกรุงสุโขทัย

Advertisement

ในทวีปยุโรป ดินแดนที่เจริญรุ่งเรือง ด้วยศิลปวิทยาการก่อนใครในโลกหล้า ราชอาณาจักร ชนเผ่าต่างๆ ในยุโรป ว่างๆ ก็ทำศึกสงครามกันเอง เดี๋ยวก็หันมาเป็นมิตร เผลอแป๊บเดียวหักหลังกันกลายเป็นศัตรู รบราฆ่าฟัน แย่งชิงดินแดนกัน ฝรั่งเศสเป็นชนชาติที่โดดเด่นไม่เป็นรองใครในโลก มหาวิหารแห่งนี้เป็น “ศูนย์รวมใจ” ของคนฝรั่งเศส

ไฟไหม้ครั้งประวัติศาสตร์อีกแห่ง 1 ที่โลกบันทึกไว้ คือ มหาอัคคีภัยแห่งลอนดอน (Great Fire of London) เป็นเหตุเพลิงเผาผลาญครั้งใหญ่ที่ลุกลามใหญ่โต ทำลายพื้นที่ส่วนกลางของกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน ถึงวันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ.2209 อัคคีภัยครั้งใหญ่ในลอนดอนครั้งนี้เกิดขึ้นตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ต้นเพลิงที่เผาลอนดอนมหานครเอกของโลก เริ่มเกิดที่ร้านทำขนมปังของนายโทมัส ฟาริเนอร์ ที่อยู่ในตรอกพุดดิงช่วงเวลาหลังเที่ยงคืนเล็กน้อยและลุกลามอย่างรวดเร็ว
เพลิงได้ลุกไหม้เมืองยุคกลางที่ตั้งอยู่ในกำแพงเมืองโบราณสมัยโรมัน ลุกลามไปเกือบย่านคนชั้นสูงเขตเวสต์มินสเตอร์ พระราชวังของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 และเกือบถึงสลัมใหญ่ชานเมือง เพลิงได้เผาไหม้บ้านไป 13,000 หลัง โบสถ์ประจำชุมชน 87 แห่ง รวมทั้งอาสนวิหารเซนต์พอล โบสถ์สำคัญของอังกฤษ และอาคารที่ทำการของทางการเกือบทั้งหมด

ประมาณว่าเพลิงได้เผาบ้านทำให้ประชากร 70,000 คนไร้ที่อยู่อาศัย ไฟลุกไหม้ข้ามวันข้ามคืน ลอนดอนกลายเป็นทะเลเพลิง มีข่าวลือว่าชาวฝรั่งเศสและชาวดัตช์ ที่เคยเป็นศัตรูของอังกฤษเป็นผู้วางเพลิง ซวยแล้วซวยอีก…คนเหล่านี้ถูกรุมทำร้ายกลายเป็นเหตุจลาจล เพลิงได้ขยายลุกลามไปเกือบทั่วเมือง เผาไหม้อาสนวิหารเซนต์พอลและลามข้ามแม่น้ำฟลีต (แม่น้ำใต้ดิน) มุ่งสู่ราชสำนักของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 2 ที่ไวท์ฮอลล์

ไฟเผาลอนดอนเป็นนรกบนดินอยู่ 3 วันเต็ม ทั้งคืนทั้งวัน ท่ามกลางความสิ้นหวัง ในที่สุดพนักงานดับเพลิงตัดสินใจใช้ดินระเบิดของคลังแสงที่สะพานลอนดอนมาระเบิดอาคารทิ้งให้เป็นพื้นที่ว่างเปล่า เพื่อสร้างแนวกันไฟ ที่ได้ผลกว่าการใช้คนรื้อ

ผลที่ตามมาจากอัคคีภัยครั้งนี้ยิ่งใหญ่มาก ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมของอังกฤษมหาศาล

ลองมาดูประวัติศาสตร์ของสยามกันบ้างครับ….

ประวัติศาสตร์ของสยามมีบันทึกพอสังเขปว่า การระงับเหตุไฟไหม้ในยุคเริ่มแรก คือ ตั้งหอกลองขึ้นภายในกำแพงพระนคร สูงประมาณ 1 เส้น โดยหอกลองพระมหาระงับดับเพลิง ใช้ตีเมื่อเวลาไฟไหม้ในกำแพงเมืองให้ตี 3 รา ไหม้นอกกำแพงเมืองพนักงานจะตีกลอง เป็นจังหวะสม่ำเสมอไปจนกว่าไฟจะดับ สยามเพิ่งมาเลิกใช้กลองในสมัยรัชกาลที่ 5 นี่เอง

อัคคีภัยในสยามเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่าย คือ จะเกิดเหตุไฟไหม้ในวัดเพราะจุดธุปจุดเทียนบูชาพระ และไฟไหม้ชุมชนครั้งสำคัญ คือ ไฟไหม้สำเพ็ง ด้วยเหตุจุดธูปไหว้เจ้า ใช้ฟืน ถ่าน หุงหาอาหาร อาคารบ้านเรือน หลังคามุงด้วยจากหรือฟาง ที่โดนสะเก็ดไฟแล้วลุกไหม้ทันที

เรื่องของ “อัคคีภัยในสยาม” ไม่มีเหตุการณ์ครั้งใหญ่เช่นในยุโรป เพราะอาคารบ้านเรือนไม่หนาแน่นเป็นกลุ่มก้อนแบบเมืองใหญ่ในยุโรป แต่มีเกร็ดความรู้การป้องกันไฟไหม้ของสยามที่ขอนำมาบอกเล่าครับ….

ในหลวง รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ออกกฎหมายคุมเข้ม น้ำมัน เพราะกลัวไฟไหม้บ้านเรือน ทั้งเรื่องคลังเก็บน้ำมันและการบรรทุก

สยามเริ่มใช้น้ำมันก๊าด แทนการใช้น้ำมันพืชและไขสัตว์ เพื่อใช้จุดตะเกียงให้แสงสว่างตามบ้านและถนนหนทาง เป็นครั้งแรก พ.ศ.2431 ในรัชสมัยในหลวง ร.5 โดยสั่งซื้อน้ำมันก๊าดจากประเทศรัสเซีย

เรือบรรทุกน้ำมันลำแรก ชื่อ มิวเร็กซ์ ของบริษัท เชลล์ ทรานสปอร์ต แอนด์ เทรดดิ้ง ขนส่งน้ำมันก๊าด ตรามงกุฎ เข้ามายังสยามเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ.2435 จำนวน 1,250 ตัน

ภายหลังจึงมีประเทศอื่นนำมาจำหน่าย เช่น พ.ศ.2435 บริษัท รอยัลดัทช์และเชลล์ (ปัจจุบัน คือ บริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด) เป็นบริษัทต่างชาติเข้ามาทำการค้าเกี่ยวกับน้ำมันในประเทศไทยเป็นครั้งแรก พ.ศ.2437 บริษัท แสตนดาร์ดออยล์ แห่งนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา (ปัจจุบัน คือ บริษัทเอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด)
น้ำมันก๊าดได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในสยาม สิ่งที่ต้องระแวดระวังตามมาคือ เพลิงไหม้

ในหลวง ร.5 ทรงหารือกับคณะเสนาบดีว่า มีเรือบรรทุกน้ำมันเข้ามาในกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก ทรงเกรงว่าจะเกิดเพลิงไหม้บ้านเรือน จึงเห็นควรให้มีโรงเก็บน้ำมันที่สวนเหนือเมืองนครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง) ซึ่งห่างจากบ้านเรือนประชาชน

จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ภาค 8 พระราชนิพนธ์ฯ ทรงกล่าวถึงโรงสำหรับจัดเก็บน้ำมันที่จะสร้างว่า

…“ได้เอสติเม็ด (Estimate : ประมาณการ : ผู้เขียน) ราคาที่จะต้องลงทุนทำโรงแลรักษา กับกฎหมายบังคับเรือที่บรรทุกน้ำมันแลลูกค้าที่ขายน้ำมันฉบับ 1 ไปให้ทุกกงสุล เมื่อกงสุลเห็นการประการใดให้แจ้งความมาให้ทราบ บัญชีเอสติเม็ด โรงยาว 39 ฟุตครึ่ง กว้าง 86 ฟุตครึ่ง สูง 16 ฟุต เสาตั้ง 12 ฟุต ไว้น้ำมันได้ 16,000 หีบ…”

…“ฝาขัดแตะเป็นเสาพื้น เครื่องบนไม้จริง หลังคาสังกะสี หน้าต่างที่บานแลลูกกรงเหล็ก หลังคามีรางน้ำตกที่คูรอบโรง แล้วทิ้งดินขึ้นข้างคูข้างนอกเป็นคันสูง 8 ฟุต กว้าง 10 ฟุต…”

…“ถ้าโดยเกิดเพลิงไม่ให้น้ำมันไหลลงแม่น้ำได้ แล้วมีสะพานข้ามชักได้ มีรั้วข้างนอกอีกแล้วปลูกต้นไม้รอบข้างนอกมีโรงๆ อีก 3 หลัง แล้วมีคูมีรั้วเหมือนกัน มีสะพานสำหรับขึ้นลงรวมประมาณเงิน 115 ชั่ง แลค่าใช้สอยสำหรับโรงนั้น การซ่อมแซมคิดเดือนละ 50 บาท เสมียนคนหนึ่งเดือนละ 60 บาท กุลี 2 คน เดือนละ 30 บาท คนนั่งยาม 2 คน เดือนละ 20 บาท คนเรือ 2 คน เดือนละ 16 บาท รวมเดือนละ 176 บาทที่จะต้องใช้เสมอทุกเดือน…”

และนี่คือต้นกำเนิดของคลังของบริษัทต่างๆ ที่ช่องนนทรีย์ คลองเตย กรุงเทพฯในปัจจุบัน

เชื่อว่าผู้คนทั้งหลายเสียใจกับเหตุการณ์ไฟไหม้มหาวิหารนอเทรอดาม ขอส่งกำลังใจไปถึงคนฝรั่งเศส และผู้ที่รักมรดกทางวัฒนธรรมทั้งปวง สรรพสิ่งโบราณวัตถุที่ถูกเผาทำลาย เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหาอะไรมาทดแทนได้ในเชิงของมรดกสถาปัตยกรรมโกธิกฝรั่งเศส

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image