จิตวิวัฒน์ : วินัยกับครอบครัวไทย : โดย ธัญลักษณ์ ศรีสง่า

“ครอบครัว” เป็นหน่วยทางสังคมขนาดเล็กที่มีความสำคัญอย่างมาก เป็นจุดเริ่มของการพัฒนามนุษย์ และเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาสังคม ถ้าครอบครัวมีกระบวนการเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัวที่ดี สมาชิกในครอบครัวเหล่านี้ก็จะกลายเป็นพลังสำคัญของสังคมต่อไป

ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของครอบครัว ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) จึงได้จัดประชุมวิชาการ “คุณธรรมในพื้นที่ทางสังคม : วินัยกับครอบครัวไทย” เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2562 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยประเด็นคำถามหลักของงานประชุมวิชาการครั้งนี้ คือ กระบวนการส่งเสริมวินัยในครอบครัวไทยที่สอดคล้องกับบริบทปัจจุบันควรเป็นอย่างไร

งานประชุมวิชาการแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก คือ เวทีปลุกพลัง สร้างแรงบันดาลใจ : ถอดรหัสสร้างความสำเร็จได้ด้วยวินัย เริ่มด้วย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น และผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ในหัวข้อ “วินัยกับครอบครัวไทย” ที่เริ่มจากการให้ภาพการเลี้ยงลูกในครอบครัวว่ามีใน 3 ลักษณะ คือ 1.ครอบครัวที่เลี้ยงแบบใช้อำนาจ 2.ครอบครัวที่เลี้ยงแบบปล่อยปละละเลย และ 3.ครอบครัวที่เลี้ยงแบบมีส่วนร่วม คุณหมอเดวกล่าวถึงครอบครัวในปัจจุบันที่เลี้ยงลูกแบบสำลักความรัก ซึ่งนำไปสู่การขาดวินัยที่เหมาะสม

และปิดท้ายด้วย 5 คุณลักษณะของผู้ใหญ่ที่เป็นมิตรกับเด็กทุกเจเนอเรชั่นว่าประกอบไปด้วย 1.รักอบอุ่น และไว้วางใจ แต่ต้องร่วมทุกข์ร่วมสุข 2.สื่อสารด้วยการเป็นผู้ฟังที่ดีต่อกัน 3.บ้านต้องมีวินัย มั่นคง มีหลักการ มีเหตุผล มีความยืดหยุ่น 4.ควบคุมตัวเองได้ดี ทั้งอารมณ์และพฤติกรรม 5.ยอมรับความสามารถของเด็ก เข้าใจและสนับสนุนในความสามารถด้านอื่นๆ

Advertisement

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในหัวข้อ “การเรียนรู้ของพ่อแม่” เริ่มด้วยประโยคของ ฌอง ปอง ซาตร์ ที่ว่า “มนุษย์ถูกสาปให้มีเสรีภาพ” (MAN IS CONDEMNED TO BE FREE) โดยเสนอให้พ่อแม่มองว่าลูกเกิดมาพร้อมกับเสรีภาพ การตัดสินใจ การเรียนรู้ ที่จะสร้างชีวิตตามเส้นทางชีวิตที่ปรารถนา ลูกเกิดมาเพื่อจะมี Singularity หรือความเป็นเอกพจน์ในตัวเอง และเชิญชวนให้พ่อแม่ลองค้นหาและเรียนรู้ความเป็นเอกพจน์ในตัวลูก

อาจารย์เดชรัตยกตัวอย่างว่าได้เรียนรู้จากลูกชายเรื่องการออกแบบเกมที่นำมาประยุกต์จัดกระบวนการเรียนรู้ และเรียนรู้เรื่องการแขวนความคิด ที่ทำให้เข้าใจและรู้เท่าทันกับความคิดของตนเองจากลูกสาวที่สนใจปรัชญา รวมทั้งชี้ให้เห็นอันตรายจาก “ความหวังดี” ที่ปราศจากความเข้าใจของพ่อแม่ ว่าอาจทำลายความเป็นเอกพจน์ในตัวลูก ดังนั้นพ่อแม่จึงควรเป็น “กองหนุน” และร่วมเรียนรู้ไปกับลูกๆ

คุณอรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ กรรมการบริษัท ไลฟ์ เอ็ดดูเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมแลกเปลี่ยนในหัวข้อ “พฤติกรรมเชิงบวกในวัยรุ่น” โดยชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างความคาดหวังของผู้ใหญ่ต่อพฤติกรรมวัยรุ่นกับพฤติกรรมของวัยรุ่น ซึ่งพฤติกรรมวัยรุ่นที่แสดงออกมานั้นแท้ที่จริงแล้วมีวิธีคิด (Mindset) เป็นตัวกำกับ

ดังนั้น จึงต้องทำงานกับวิธีคิดของวัยรุ่นเพื่อสร้างพฤติกรรมเชิงบวก โดยกระบวนการที่สำคัญประกอบไปด้วย Reflective ฝึกสะท้อนคิด สะท้อนความรู้สึกเป็นประจำ Reframing ปรับมุมมอง การให้ความหมายต่อสิ่งรอบตัว และ Practice ให้เวลา ฝึกฝนการคิด ได้ปฏิบัติจริง เช่น ได้ทำงานอาสาร่วมกับคนอื่น ซึ่งสามารถวัดผลวิธีคิดของวัยรุ่นได้จาก 1.เห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Empathy) 2.เชื่อว่าตัวเองเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้ (Growth mindset) 3.ควบคุมตัวเองได้ (Self Control) และ 4.นับถือตัวเอง (Self Esteem)

ช่วงที่สอง เวทีเสวนาวิชาการ “วินัย สร้างได้ในครอบครัว” ผู้ร่วมเสวนาประกอบไปด้วย คุณทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และ อ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น และเจ้าของเพจ “เลี้ยงลูกนอกบ้าน”

คุณทิชา ณ นคร กล่าวถึงสถานการณ์ของครอบครัวว่าถูกคาดหวังว่าต้องรับผิดชอบดูแลเด็กเพื่อไปขับเคลื่อนสังคม แต่สิ่งที่ควรตั้งคำถามคือสังคมมีการลงทุนอย่างจริงจังเพียงใดกับครอบครัว ครอบครัวเป็นต้นน้ำ โรงเรียนเป็นกลางน้ำ ส่วนบ้านกาญจนาและสถานพินิจเป็นพื้นที่ปลายน้ำ จึงต้องมีการเพิ่มการจัดการที่ต้นน้ำและกลางน้ำ สำหรับการดำเนินการของบ้านกาญจนาภิเษก คือ การเสริมสร้างกำลังใจให้กับเด็ก และพ่อแม่ของเด็ก การเปิดพื้นที่กลางระหว่างพ่อแม่และเด็กให้สื่อสารกัน เรียนรู้กัน

ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร เล่าถึงกระบวนการเลี้ยงดูที่ช่วยเพิ่มพัฒนาการของเด็กว่าประกอบไปด้วย 1.เปลี่ยนจากการสั่งเป็นการสอน 2.เปลี่ยนจากดุเป็นการปลอบ และ 3.เปลี่ยนจากการต่อว่าเป็นชื่นชม โดยสมองของเด็กเปรียบเหมือนกระปุก การสั่งคือการหยอดลบ ดุหรือต่อว่าก็เท่ากับหยอดลบลงไปเพิ่ม ขณะที่หยอดบวกเยอะก็สามารถหยิบบวกออกมาใช้ได้เยอะ สมองจะประมวลว่าสิ่งที่หยอดลงไปเป็นอย่างไร และจะมองตนเองเป็นแบบนั้น นำมาสู่การสร้างอัตลักษณ์ในช่วงวัยรุ่น

ด้วยเหตุนี้ประสบการณ์ที่มีคุณภาพจะนำไปสู่การคิดและตัดสินใจที่เหมาะสม วินัยเชิงบวกจึงเกี่ยวข้องกับการกระทำของพ่อแม่ในการสะสมประสบการณ์ที่มีคุณภาพให้กับเด็ก เพื่อกลายเป็นทักษะของเด็กในอนาคต

อ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กล่าวถึงวัยรุ่นว่าเป็นผลลัพธ์จากวัยเด็ก ในช่วงเวลา 10 ปี เด็กจะมีพ่อแม่เป็นต้นแบบในการสร้างตัวตน แนวทางที่พ่อแม่ควรปฏิบัติ คือการให้ความรักกับเด็กตั้งแต่วัยเด็ก มา ไม่ใช่มาเริ่มในตอนวัยรุ่น ต้องให้เวลา ให้ความรักในวัยตั้งต้นของชีวิตโดยเฉพาะกับปีแรก สิ่งเหล่านี้เป็นรากฐานของชีวิต และในเรื่องของการฝึกวินัยเป็นเรื่องของการลงมือทำเพื่อให้เกิดการพัฒนาตนเอง

จากโจทย์ที่ว่ากระบวนการส่งเสริมวินัยในครอบครัวไทยที่สอดคล้องกับบริบทปัจจุบันควรเป็นอย่างไร เสียงสะท้อนจากการประชุมวิชาการครั้งนี้ คือ ทิศทางการส่งเสริมวินัยในครอบครัว ควรเป็นการสร้างวินัยเชิงบวก ที่จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการเปิดพื้นที่ให้สื่อสารอย่างเคารพซึ่งกันและกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว

โดยในพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่สมาชิกในครอบครัว “แขวนความคิด” “แขวนการตัดสิน” จากมุมมองของตนเอง เปิดใจรับฟัง ร่วมเรียนรู้ และเติบโตไปด้วยกัน

ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image