คุณภาพคือความอยู่รอด ตอน งานประจำที่ถูก AI คุกคาม : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

เมื่อต้นเดือนเมษายน ที่ผ่านมานี้ มีข่าวที่น่าสนใจข่าวหนึ่งว่า ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท IBM ได้ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ CNBC ว่า “ในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า AI จะเปลี่ยนโฉมหน้างานที่เป็นอยู่ในวันนี้ไป 100%”

AI ที่ว่านี้ คือ “Artificial Intelligence” หรือ “ปัญญาประดิษฐ์” ซึ่งเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ที่เกี่ยวข้องกับวิธีการทำให้คอมพิวเตอร์มีความสามารถคล้ายมนุษย์หรือเลียนแบบพฤติกรรมมนุษย์ โดยโปรแกรม Software (ซอฟต์แวร์) ต่างๆ ที่ใช้กับคอมพิวเตอร์มีความสามารถในการคิดเองได้ หรือมีปัญญานั่นเอง ปัญญานี้มนุษย์เป็นผู้สร้างให้คอมพิวเตอร์ จึงเรียกว่า “ปัญญาประดิษฐ์”

AI จะแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ ตามความสามารถที่มนุษย์ต้องการ อันได้แก่ การกระทำคล้ายมนุษย์ (Acting Humanly) การคิดคล้ายมนุษย์ (Thinking Humanly) การคิดอย่างมีเหตุผล (Thinking Rationally) และกระทำอย่างมีเหตุผล (Acting Rationally)

ตัวอย่างงานด้าน AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ มีให้เห็นมากมายในปัจจุบัน ได้แก่ การวางแผน และการจัดตารางเวลาอัตโนมัติ โปรแกรมเล่นเกมหมากรุก การควบคุมระบบการทำงานอัตโนมัติ การวินิจฉัยโดยคอมพิวเตอร์ การแก้โจทย์ปัญหาด้วยคอมพิวเตอร์ โปรแกรมควบคุมยานอวกาศระยะไกล หุ่นยนต์ (Robotics) หุ่นยนต์ ASIMO หุ่นยนต์เล็กช่วยในการผ่าตัด หุ่นยนต์อ่านข่าว หุ่นยนต์วิทยาศาสตร์ เป็นต้น

Advertisement

ทุกวันนี้ เราอยู่ในยุคของ “การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4” (Industry 4.0) โดย ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะมีบทบาทมากขึ้นและมีผลให้การวิเคราะห์ BIG DATA และระบบอัตโนมัติเปลี่ยนแปลงงานแทบทุกชนิดในอีกไม่นานนี้

ขณะนี้บริษัท IBM ของอเมริกา กำลังลงทุนมหาศาลในการฝึกอบรมพนักงานในงานทักษะแบบใหม่ๆ ที่เรียกว่างานประเภท “New Collar” เป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการพัฒนาแรงงานในอนาคต เพื่ออุดช่องว่างของทักษะในการทำงานของคน

ผู้บริหาร IBM ได้ให้คำแนะนำเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในยุค 4.0 นี้ สรุปได้ว่า ปัจจุบันบริษัทต่างๆ จะต้องให้ความสำคัญกับ 3 สิ่ง คือ (1) การฝึกอบรม (2) การจ้างคนทำงานที่ไม่จำเป็นต้องจบปริญญา 4 ปี จากมหาวิทยาลัย และ (3) การต้องคิดทบทวนใหม่เพื่อพิจารณาดูว่าคนที่มาสมัครงานมีทักษะที่เหมาะสมกับบทบาทของงานใหม่อย่างไรบ้าง

Advertisement

ในอนาคตอันใกล้นี้ AI และ หุ่นยนต์ จะแทนที่งานประจำที่น่าเบื่อและงานประเภทที่ต้องทำซ้ำๆ เดิม ดังนั้น งานที่มีอยู่เดิมจะเหลือน้อยลง จึงทำให้องค์กรสามารถลดรายจ่ายได้ เพื่อไปเพิ่มเป็นรายได้ให้กับคนที่พร้อมจะทำงานใหม่ๆ จึงเท่ากับผลักดันผู้คนต้องไปเรียนรู้วิธีทำงานใหม่ๆ ที่เหมาะกับสภาพแวดล้อมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป

การเปลี่ยนแปลงในโลกแรงงานยุคต่อไปนี้อาจจะสร้างปัญหาแรงงานมากขึ้นก็ได้ เพราะงานแบบ “Blue Collar” ที่เน้นแรงงาน หรืองานแบบ “White Collar” ที่เป็นงานนั่งโต๊ะทำงานในสำนักงาน ต่างก็อยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะตกงานพอๆ กัน

คือ จะเหลือแต่งานแบบ “New Collar” ที่เกิดใหม่ ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าเป็นงานลักษณะใด หรือ อย่างไรบ้าง และยังไม่รู้ว่าจะเหลืองานให้พวกเราทำอยู่อีกกี่มากน้อย ครับผม !

วิฑูรย์ สิมะโชคดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image