เป้าหมาย คือ ‘ไม่เสียของ’ คสช. ยิ่งทำ ยิ่งยุ่ง ต้นเหตุจาก ‘ไม่เสียของ’

การยึดอำนาจเมื่อปี 2557 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ เป็นการยึดอำนาจอีกครั้งหลังจากที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เคยทำมาแล้วเมื่อปี 2549

เหตุที่ต้องทำการยึดอำนาจ แม้เหตุผลที่ประกาศคือ รักษาความสงบ

แต่เมื่อสืบสาวหาเหตุที่แท้จริงแล้ว ส่วนหนึ่งพบว่า มาจากการยึดอำนาจเมื่อปี 2549 นั้น “ยังไม่สำเร็จ”

กระทั่งมีกระแสเสียงแสดงความเสียดายว่า ในช่วงนั้นทำอะไรไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด

Advertisement

ผลที่ออกมาจึง “เสียของ”

การยึดอำนาจเมื่อปี 2557 จึงตั้งเป้าหมายเอาไว้

นั่นคือ “ไม่เสียของ”

คําว่า “เสียของ” ดังกล่าวผูกโยงกับขั้วการเมืองซึ่งแต่เดิมคือพรรคไทยรักไทย มี “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นหัวหน้า

หลังจากยึดอำนาจเมื่อปี 2549 ขั้วไทยรักไทยต้องคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญจนต้องถูกยุบ แต่พอการเลือกตั้งปี 2550 พรรคพลังประชาชน ซึ่งมีดีเอ็นเอจากไทยรักไทยก็ชนะการเลือกตั้ง มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ

ถือเป็นปรากฏการณ์ที่บ่งชี้ถึงอาการ “เสียของ”

แม้ภายหลังจากการยื่นคำร้อง กระทั่งนายสมัครพ้นจากตำแหน่ง และมีคำสั่งยุบพรรคพลังประชาชน กระทั่งกำเนิดพรรคเพื่อไทย และสลับขั้วกลางอากาศโดยพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ

สุดท้ายเมื่อมีการเลือกตั้งในปี 2554 พรรคเพื่อไทยก็ได้รับชัยชนะการเลือกตั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ

นี่ก็เป็นอีกเหตุการณ์ที่บ่งชี้อาการ “เสียของ”

กระทั่งมีการยึดอำนาจปี 2557 พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช.ได้เป็นนายกฯ เอง และตั้ง “แม่น้ำ 5 สาย” ขึ้นมาจัดการบริหารประเทศ

มีเป้าหมายคือ “ไม่เสียของ”

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา ผลการเลือกตั้งกลับปรากฏว่า พรรคเพื่อไทย ซึ่งแม้จะไม่มี “ทักษิณ ชินวัตร” ไม่มี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” แล้ว ยังได้ ส.ส.ระบบเขตมากที่สุด

จากจำนวนเขตทั้งหมด 350 เขต พรรคเพื่อไทยส่ง 250 เขต ได้ ส.ส. 134 คน

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐที่มีเป้าหมายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นนายกฯ อีกครั้ง ได้ ส.ส.ไม่ถึงร้อย

ปัญหาจึงตามมา

เพราะเกิดการแย่งชิงจำนวน ส.ส. เพื่อให้พรรคฟากฝั่งของตัวเองได้จัดตั้งรัฐบาล

พรรคขั้วไหนได้จำนวน ส.ส.เกิน 250 คน ก็มีโอกาสได้จัดตั้งรัฐบาล จำนวน ส.ส.ดังกล่าวนอกจาก ส.ส.เขตเลือกตั้งแล้ว ยังต้องรวมกับ ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก 150 คน

แต่ผลการเลือกตั้ง ส.ส.เขตที่ออกมา ไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงเกินกว่า 250 เสียง

พรรคเพื่อไทยจึงชิงการนำโดยการจับมือ 7 พรรค แถลงยืนยันคัดค้านสืบทอดอำนาจ

ท้าทายเป้าหมาย “ไม่เสียของ” ของ คสช.อย่างชัดแจ้ง

อย่างไรก็ตาม คำประกาศดังกล่าวยังไม่ถือเป็นเด็ดขาด เพราะ กกต.ต้องพิจารณารับรองการเลือกตั้งภายในวันที่ 9 พฤษภาคม คือ 2 เดือนหลังจากวันที่ 24 มีนาคมซึ่งเป็นวันเลือกตั้ง

ช่วงระยะ 2 เดือนนี้ กกต.ต้องพิจารณาให้ใบส้ม รวมทั้งคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคควรจะได้

ปรากฏว่าทั้งการให้ใบส้ม และการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อล้วนมีปัญหา

กลายเป็นประเด็นขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้

ท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้น มีหนทางที่จะทำให้ “ไม่เสียของ” หลายหนทาง

กระแสข่าวแรก คือ “งูเห่า” หมายถึงการดึงเอา ส.ส.ของพรรคการเมืองขั้วตรงข้าม หรือดึงเอาพรรคการเมืองขั้วตรงข้ามมาสนับสนุนฝ่ายตัวเอง

ข่าวแจ้งว่ามีการนำเสนอผลประโยชน์ในระหว่างการต่อรอง แต่ทุกอย่างยังคงไม่ยุติ เพราะ กกต.ยังไม่รับรองผล

กระแสข่าวที่สะพัดต่อมา คือการให้ใบส้ม ที่มีผลต่อจำนวน ส.ส.เขตของพรรคการเมือง และอาจจะมีการขยายผลไปสู่พรรคการเมือง รวมถึงขั้วสนับสนุน และขั้วคัดค้าน คสช.ด้วย

ณ ปัจจุบัน กกต.ได้ออกใบส้มว่าที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย จังหวัดเชียงใหม่ เขต 8 ไปแล้ว เพราะถวายปัจจัย 2,000 บาทให้พระเกจิ

สัปดาห์หน้า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จะเข้าชี้แจงกรณี กกต.มีมติแจ้งข้อกล่าวหาว่านายธนาธรถือหุ้นบริษัทสื่อ

อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยก็เริ่มตอบโต้ โดยยื่น กกต.ให้พิจารณาใบส้มแก่ว่าที่ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ กทม.เขต 15

และอีกกระแสข่าวที่กำลังสุดฮอตคือ กกต.มีความเห็นว่า มาตรา 128 ของ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น ขัดกับ มาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ จึงยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติ 7 ต่อ 2 ไม่รับวินิจฉัย เพราะเห็นว่าเป็นหน้าที่ของ กกต.ที่จะคำนวณตามกฎหมาย ส่วนหน้าที่การยื่นศาลรัฐธรรมนูญหากมีประเด็นขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญต้องเป็นองค์กรอื่น

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเอกฉันท์เห็นว่า มาตรา 128 มีบทบัญญัติที่เกินกว่าที่ มาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญกำหนด

เห็นว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

มติของผู้ตรวจการแผ่นดินนี้ย่อมมีผลต่อการเลือกตั้งที่กำลังรอการประกาศผล

อาจจะส่งผลทำให้การเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นโมฆะหรือไม่

สถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน นอกจากปัญหาเรื่อง “เสียงปริ่มน้ำ” ที่ทั้งขั้วพรรคพลังประชารัฐ และขั้วพรรคเพื่อไทยกำลังเผชิญหน้ากันอยู่แล้ว

ยังมีเค้าลางว่าอาจจะมีการเลือกตั้งใหม่ โดยรัฐบาลชุดปัจจุบันยังรักษาการในสภาพอำนาจเต็มอยู่ต่อไป

แต่หากมีการเลือกตั้งใหม่ก็ไม่มีใครรับประกันว่า พรรคพลังประชารัฐจะได้รับเสียงสนับสนุนโดยปราศจากปัญหา “เสียงปริ่มน้ำ”

หรือถ้าพรรคพลังประชารัฐจัดตั้งรัฐบาลได้ตามเป้าหมาย ปัญหาเรื่อง “เสียงปริ่มน้ำ” ก็ยังจะตามรังควาน

ต้นเหตุแห่งความยุ่งยากกลับมาที่ประชาชนยังคงเลือกพรรคฝั่งตรงข้าม

ต้นเหตุอยู่ที่เป้าหมายที่วางไว้ คือ “ไม่เสียของ”

ผลที่ปรากฏจึงหนีไม่พ้นความวุ่นวาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image