สะพานแห่งกาลเวลา : เทรนด์ของสมาร์ทโฟน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

เทคโนโลยีของสมาร์ทโฟนปรับเปลี่ยนกันใหม่แทบทุกปี หรืออย่างน้อย 2 ปีก็ต้องมีสมาร์ทโฟนที่เพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยีใหม่ออกมายั่วน้ำลายผู้ใช้อย่างเราๆ ท่าน ให้อยากได้มาเป็นเจ้าของอยู่ตลอดเวลา

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือเมื่อถึงตอนที่คิดกันว่า บรรดาผู้ผลิตสมาร์ทโฟนเริ่ม “หมดมุข” ไม่รู้จะแข่งอะไรกันแล้ว เพิ่มเทคโนโลยีกล้องดิจิทัลกันไว้จนเต็มพิกัด จู่ๆ ก็เริ่มมีกระแส โทรศัพท์พับได้ ที่เปลี่ยนมือถือให้เป็นแท็บเล็ตได้ในพริบตาออกมาให้หลายคนตาโตกัน ทั้ง ซัมซุง, หัวเว่ย แล้วก็เสี่ยวมี่

ปัญหาอยู่ตรงที่ ยิ่งนับวัน สมาร์ทโฟนเหล่านี้ก็ยิ่งแพงมากขึ้นทุกวันเช่นเดียวกัน กาแล็กซี โฟลด์ ที่เดิมซัมซุงจะวางขายในวันที่ 26 เมษายนนี้แล้วต้องเลื่อนออกไปนั้น ตั้งราคาไว้ถึงเครื่องละ 1,980 ดอลลาร์ หรือกว่า 60,000 บาทกันเลยทีเดียว

สตีเฟน เวคลิง ผู้ก่อตั้งแล้วก็ซีอีโอ ของ โฟไบโอ ที่เชี่ยวชาญด้านตลาดเทคโนโลยี บอกว่า แนวโน้มที่สมาร์ทโฟนใหม่ๆ ราคาแพงขึ้นทุกทีนี้ทำให้เกิดเทรนด์ในหมู่ผู้ใช้ขึ้นทั่วโลกที่สำคัญ 2 อย่าง

Advertisement

อย่างแรกนั้นไม่น่าแปลกใจ เพราะเขาชี้ว่า ผู้ใช้สมาร์ทโฟนในเวลานี้ เลือกที่จะใช้งานสมาร์ทโฟน
ตัวเดิมนานมากขึ้น แทนที่จะเปลี่ยนทุกปี หรือ 2 ปีตามเทรนด์เทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยน

เหตุผลนั้่นไม่เพียงแค่เพราะราคาที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะผู้ให้บริการเครือข่าย เลิกวิธีการเสนอแผนการจัดซื้อแบบที่ให้การสนับสนุนราคา เพื่อขยายฐานผู้ใช้ของตนที่นิยมใช้กันมากก่อน
หน้านี้ไป แต่หันมาใช้วิธีการผูกสัญญาการใช้งานต่อเนื่องแทน โดยผู้ใช้ต้องยอมจ่ายเงินก้อนโตไม่น้อยก่อนอีกด้วย

ทำให้หลายคนลังเลและตัดสินใจไม่เปลี่ยนสมาร์ทโฟน ทนใช้งานต่อไปนานกว่าเดิม

Advertisement

แนวโน้มถัดมาน่าสนใจมาก นั่นคือการขยายตัวของอุตสาหกรรมรับแลกสมาร์ทโฟนเก่ากับใหม่ครับ

อุตสาหกรรมทำนองนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่เวคลิงระบุว่าในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้มีการขยายตัวมากเป็นพิเศษ เพราะแรงกระตุ้นของเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทำให้หลายคนตัดสินใจ “เทรด-อิน” สมาร์ทโฟนที่ใช้อยู่แต่เดิม จะได้จ่ายเงินน้อยลงเพื่อให้ได้เครื่องใหม่และเทคโนโลยีใหม่มาใช้งานกัน

ราคาจะได้มากหรือน้อย หรือบริษัทเทรด-อินที่ว่านี้ จะรับแลกสมาร์ทโฟนของเราหรือไม่ นอกเหนือจากสภาพการใช้งานแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับยี่ห้อและรุ่นของสมาร์ทโฟนนั่นแหละครับ

เวคลิงบอกว่า ธุรกิจนี้ขึ้นหน้าขึ้นตาจนขยับขยายไปครอบคลุมถึงพวกสมาร์ทวอทช์ทั้งหลายกันแล้ว

ที่เห็นกันชัดเจนคือคนที่ใช้ แอปเปิลวอทช์ ซีรีส์ 3 เริ่มนำเข้ามาเทรด-อิน ซีรีส์ 4 กันแล้ว ทั้งๆ ที่ใช้งานกันมาได้แค่ปีเดียวเท่านั้น ต่างกันแอปเปิลวอทช์รุ่นแรก ที่พอซีรีส์ 2 ออกมาเมื่อปี 2017 ก็ยังไม่มีการเทรด-อินกันเลย

นอกจากนั้น ตลาดเทรด-อิน ที่เมื่อก่อนจำกัดอยู่แค่ในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ก็เริ่มมีผู้ให้บริการผ่านออนไลน์นานาชาติกันมากขึ้นเช่นเดียวกัน

สมาร์ทโฟนที่ใช้แล้วเหล่านี้ รับแลกมาแล้วไปจบที่ตรงไหน? น่าสนใจครับ

บริษัทที่รับแลกสมาร์ทโฟนเก่ากับรุ่นใหม่ๆ นั้น นำเครื่องเก่าที่ได้รับมาเข้ามา “รีแพร์” คือซ่อม แล้วก็ “รีเฟอร์บิช” คือปรับแต่งเสียใหม่จนแทบไม่เหลือเค้าผ่านการใช้งานมา จากนั้นก็นำมาขายต่อครับ

ตลาดระดับนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในเวลานี้คือ ฮ่องกง ใกล้ๆ กับเรานี่เอง

เหตุผลที่ ฮ่องกงกลายเป็นตลาดใหญ่ของสมาร์ทโฟน รีเฟอร์บิช ก็เพราะอยู่ใกล้กับจีน ซึ่งเป็น
ผู้ผลิตชิ้นส่วนสมาร์ทโฟนทั้งหลายแหล่มากที่สุด
ทำให้สะดวกต่อการจัดซื้อเพื่อการซ่อมแซม

แล้วก็ยังใกล้กับตลาดรับซื้อสมาร์ทโฟนใช้แล้วที่ว่านี้ด้วย นั่นคือจากฮ่องกงก็กระจายไปทั่วภูมิภาคเอเชียทั้งภูมิภาค

เวคลิงบอกว่า ตลาดรับซื้อสมาร์ทโฟนรีเฟอร์บิช ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย คือ เวียดนาม กับ ฟิลิปปินส์
ครับ

เขายังเชื่อด้วยว่า ถ้าสมาร์ทโฟนพับได้ ไปได้ดี ตลาดรีเฟอร์บิชสมาร์ทโฟนก็คงโตขึ้นอีกไม่น้อยทีเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image