สุจิตต์ วงษ์เทศ : เมืองพระรถ อ. พนัสนิคม จ. ชลบุรี ยุคทวารวดี ราว 1,500 ปีมาแล้ว

ตำนานพระรถ เมรี ที่เมืองพนัสนิคม มีป้ายขนาดใหญ่ตั้งกลางถนน

อ. พนัสนิคม จ. ชลบุรี มีเมืองพระรถ เป็นเมืองโบราณ ยุคทวารวดี ราว 1,500 ปีมาแล้ว มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ยังเหลือซากให้เห็นเป็นพยาน ด้านตะวันออกที่ถูกถนนสายพนัสนิคม-ฉะเชิงเทรา เฉือนไปบางส่วน ทำให้มองเห็นถนัด
บริเวณริมถนนไม่มีป้ายบอก แต่มีป้ายอยู่ลึกเข้าไป ถ้าไม่ค้นหาจริงๆ มองไม่เห็น
ควรทำนิทรรศการง่ายๆ ไว้ริมถนนตรงนี้ ให้คนผ่านไปมาแวะดูสะดวก โดยทำผังอย่างสวยงามดูง่ายไว้ด้วย มีคำอธิบายย่อๆ สั้นๆ
ข้อมูลต่างๆ หาไม่ยาก ผมเคยเขียนไว้ส่วนหนึ่ง กับมีรายละเอียดในหนังสือของทางการ
เมืองเก่าสุด 1,500 ปีมาแล้ว
เมืองเก่าสุดของพนัสนิคม อยู่ในตัวอำเภอ เรียกสมัยหลังว่าเมืองพระรถ (ชื่อสมมุติจากนิทานลาว)
เป็นเมืองโบราณยุคทวารวดี รับศาสนาจากอินเดีย อายุอยู่ในราวหลัง พ.ศ. 1000 รุ่นเดียวกับเมืองนครปฐมโบราณ

เมืองร้าง

เมืองโบราณยุคทวารวดีที่พนัสนิคม ลดความสำคัญ ในที่สุดรกร้างไปราวหลัง พ.ศ. 1500 หรือ 1,000 ปีมาแล้ว
เพราะเส้นทางคมนาคมเปลี่ยนไป แล้วมีบ้านเมืองแห่งใหม่ใกล้ทะเลเติบโต มีความสำคัญแทนที่

ผังเมืองพระรถ [ปรับปรุงจากหนังสือ เมืองโบราณบริเวณชายฝั่งทะเลเดิมของที่ราบภาคกลาง ประเทศไทยฯ โดย ผ่องศรี วนาสิน และทิวา ศุภจรรยา งานวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2524  (ไม่มีเลขหน้า)]
ผังเมืองพระรถ [ปรับปรุงจากหนังสือ เมืองโบราณบริเวณชายฝั่งทะเลเดิมของที่ราบภาคกลาง ประเทศไทยฯ โดย ผ่องศรี วนาสิน และทิวา ศุภจรรยา งานวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2524 (ไม่มีเลขหน้า)]

ลาวจากนครพนม บุกเบิกพนัสนิคม

ลาวลุ่มน้ำโขง หักร้างถางพงบุกเบิกก่อบ้านสร้างเมืองพนัสนิคม มีเจ้าเมืองชื่อ พระอินทรอาษา ตั้งแต่ยุค ร.3 ระหว่าง พ.ศ. 2367-2394 เกือบ 200 ปีมาแล้ว

พระพนัสบดี

พระพุทธรูปศิลา ปางแสดงธรรมสองพระหัตถ์ ประทับเหนือพนัสบดี (จำลอง)
งานช่างแบบทวารวดี อายุราว พ.ศ. 1300-1400 ที่หอพระ กลางสระน้ำ เทศบาลเมืองพนัสนิคม จ. ชลบุรี
พระพุทธรูปปางแสดงธรรม (วิตรรกมุทรา) ทั้งสองพระหัตถ์ เป็นลักษณะเด่นของงานช่างในวัฒนธรรมทวารวดี ทางภาคกลางตอนล่างของประเทศไทย ราวหลัง พ.ศ. 1300 เป็นต้นมา

Advertisement

ส่วนพนัสบดี เป็นคำที่ผู้คนในยุคหลังใช้เรียกและอธิบายรูปสัตว์ในจินตนาการนี้ตามข้อสันนิษฐานของตนเอง และในปัจจุบันก็ยังไม่มีข้อมูลใดที่พอจะสืบทราบได้เลยว่า ในวัฒนธรรมทวารวดีเรียกสัตว์ประหลาดตนนี้ว่าอะไร?

ภาพจากหนังสือวัฒนธรรมพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดชลบุรี พิมพ์โดยคณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 หน้า 48
ภาพจากหนังสือวัฒนธรรมพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดชลบุรี พิมพ์โดยคณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 หน้า 48

นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่าพนัสบดี เป็นสัตว์ผสมระหว่างพาหนะทั้งสามของเทพผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดทั้งสามองค์ในศาสนา พราหมณ์-ฮินดู (พระตรีมูรติ) บางท่านก็ว่าเป็นสัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์
อย่างไรก็ตาม รูปสัตว์ประหลาดแบบเดียวกันนี้ก็พบอยู่ตามภาพสลักในศิลปะขอม ทั้งในประเทศกัมพูชา (เช่น ทับหลังจากปราสาทโลเลย และปราสาทบากอง ในเขต ต. ร่อลวย ไม่ห่างจากเมืองพระนคร) และในประเทศไทย (หน้าบันปราสาทยายเหงา จ. สุรินทร์)
ประติมากรรมรูปพระพุทธเจ้าประทับเหนือพนัสบดีองค์นี้ มีประวัติความเป็นมาไม่ชัดเจน พบโดยชาวบ้านในเมืองพนัสนิคม บ้างก็ว่าขุดพบที่บริเวณ ต. หน้าพระธาตุ อ. พนัสนิคม เมื่อ พ.ศ. 2474 บ้างก็ว่าพบอยู่ในคลองสายหนึ่งเมื่อร้อยกว่าปีก่อน
กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนพระพุทธรูปองค์นี้เป็นโบราณวัตถุตั้งแต่ พ.ศ. 2474 แต่ยังเก็บรักษาโดยนางเบี้ยว (ไม่ทราบนามสกุล) ซึ่งอ้างว่าเป็นมรดกตกทอดจากบรรพชน
พระพุทธรูปประทับเหนือพนัสบดี ที่ประดิษฐานอยู่ในหอพระกลางสระน้ำ ของเทศบาลเมืองพนัสนิคม สร้างจำลองขึ้นเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2517

อธิบายโดย ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

Advertisement

เมืองพระรถ

[สรุปย่อจากจากหนังสือวัฒนธรรมพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดชลบุรี พิมพ์โดยคณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 หน้า 47-49]

ตั้งอยู่ที่บ้านหน้าพระธาตุ อ. พนัสนิคม จ. ชลบุรี
ปัจจุบันถนนฉะเชิงเทรา-พนัสนิคม ตัดทับส่วนหนึ่งของกำแพงและคูเมืองทางด้านตะวันออก ตัวเมืองส่วนใหญ่อยู่ทางทิศตะวันตกของถนน เมืองนี้อยู่ห่างจาก อ. พนัสนิคมขึ้นมาทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 1 กิโลเมตร
จากโบราณวัตถุโบราณสถานที่พบที่เมืองพระรถนี้ นักโบราณคดีเชื่อว่า เมืองนี้เป็นเมืองในสมัยทวารวดี (อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-16) และเจริญสืบเนื่องมาจนถึงสมัยลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ 17-18)
โบราณสถานที่พบที่เมืองพระรถมี 2 ประเภท คือ ผังเมืองและศาสนสถาน
ผังเมืองพระรถที่เหลือร่องรอยให้เห็นเป็นผังเมืองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 1,550 x 850 เมตร มีกำแพงเมืองเป็นคันดิน 2 ชั้น สูงจากพื้นดินประมาณ 2 ศอกเศษ ห่างกันชั้นละ 5 วา คูรอบเมืองกว้างประมาณ 3 ศอก

ศาสนสถานที่พบคือ เนินพระธาตุซึ่งอยู่ตอนหลังของตัวเมืองด้านตะวันตก เป็นเนินพระสถูปรูปสี่เหลี่ยมก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ เป็นฐานสถูปแบบทวารวดี ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขุดแต่งไว้ ส่วนตอนบนได้ก่อพระเจดีย์คร่อมทับไว้ เป็นศาสนสถานที่เคารพของผู้คนในละแวกนี้ เดิมมีการสมโภชกันในเดือน 6 มีการแห่เซิ้งบั้งไฟ แต่ปัจจุบันไม่ได้ทำแล้ว
ทางด้านเหนือเนินพระธาตุยังมีเนินดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าอีกแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ติดกับสระน้ำโบราณ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่าสระฆ้อง เนินนี้มีหินปักอยู่ตามมุมทิศสำคัญๆ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นฐานโบสถ์ หรือวิหารอะไรสักอย่างหนึ่ง

โบราณวัตถุที่พบที่บริเวณเมืองพระรถ ได้แก่ เครื่องปั้นดินเผาทั้งชนิดเคลือบและไม่เคลือบกระจายอยู่ทั่วไป พร้อมทั้งเศษเปลือกหอยแครง, ชิ้นส่วนของพระนารายณ์สวมหมวกแขก, พระพุทธรูปแบบทวารวดีปางนาคปรก, หินบดยา, ระฆังหิน และแท่นพระพุทธรูปทำด้วยหินขนาดใหญ่
ส่วนโบราณวัตถุชิ้นเล็กๆ ที่พบ ได้แก่ พระพุทธรูปสำริดแบบลพบุรี
พระพนัสบดี เป็นพระพุทธรูปศิลาแบบทวารวดี ปางประทับยืนเหนือตัวพนัสบดี
พระพุทธรูปองค์นี้ชาวบ้านพบที่คูเมืองด้านใต้ ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกกันว่า พระพนัสบดี เป็นสัญลักษณ์ของ อ. พนัสนิคม
เมืองพระรถนี้จัดว่าเป็นเมืองขนาดใหญ่สมัยทวารวดี ตั้งอยู่ระหว่างที่สูงและที่ลุ่มมาบรรจบกัน บริเวณรอบเมืองเป็นแหล่งที่เหมาะแก่การเพาะปลูกข้าวแบบทดน้ำ มีลำน้ำไหลผ่านหลายสาย
ลำน้ำที่ไหลผ่านเข้ามาในเขตเมืองพระรถ ได้แก่ คลองสระกลาง, ลำน้ำคลองหลวง, ลำน้ำพานทอง

เมืองนี้จึงมีสภาพเป็นศูนย์กลางของการคมนาคมท้องถิ่น เพราะลำน้ำต่างๆ เป็นตัวเชื่อมเมืองพระรถกับชุมชนร่วมสมัยอื่นๆ เช่น เมืองมโหสถ (อ. ศรีมโหสถ จ. ปราจีนบุรี), เมืองพญาเร่ (อ. บ่อทอง จ. ชลบุรี)
ส่วนทางด้านตะวันตก ถ้าออกจากเมืองพระรถไปตามลำน้ำพานทอง จะไปออกทะเลที่ปากแม่น้ำบางปะกง ริมฝั่งทะเลด้านใต้ของอ่าวบางปะกง มีเมืองโบราณอีกเมืองหนึ่งเรียกว่าเมืองศรีพโล หรือศรีพะโร (อ. เมือง จ. ชลบุรี)

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image