จิตวิวัฒน์ : บังคับป่วย ป่วย (ถ้า) บังคับ โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย

ในช่วงที่ผ่านมา คุณแม่ผมป่วยครับ อาการป่วยส่งผลให้แข้งขาไม่มีแรง เดินไปนิดหน่อยก็เหนื่อย ขาก้าวไม่ออก หลังจากพบคุณหมอไปร่วมครึ่งโหล จึงวินิจฉัยอาการได้ว่าอาจจะเป็นที่ “หัวใจ” เพราะเส้นเลือดที่เข้าหัวใจคุณแม่ตีบไปหนึ่งเส้น ต้องทำการผ่าตัดใส่บัลลูนเพื่อรักษา และถึงแม้การผ่าตัดเป็นไปด้วยดี และร่างกายเริ่มกำลังฟื้นฟู แต่มีอยู่อย่างหนึ่งที่แพทย์แผนปัจจุบันไม่สามารถรักษาให้แม่ได้

… นั่นก็คือความวิตกกังวล

ครูบาอาจารย์หลายท่านกล่าวไว้ว่าในเวลาที่เราปกติ เป็นช่วงที่เราจะ “มีกำลัง” ในการฝึกฝนทั้งร่างกายและจิตใจ หมายถึงมีความพร้อม เพราะการฝึกนั้นมีนัยยะของการฝืน ฝืนเพื่อออกจากแบบแผนเดิมๆ ของความคุ้นชิน บางครั้งเราจึงเรียกด้วยภาษาสวิงสวายว่า “ฝึกฝืน”

เฉกเช่นเดียวกับจอมยุทธ์ที่ฝึกวิชาและทำซ้ำๆ (ภาวนา) เป็นเวลาสิบๆ ปี จนกระทั่งสามารถทำในสิ่งที่เหนือความธรรมดา จิตใจก็เช่นกันเราจะฝึกมันอย่างไรให้สามารถรับมือกับช่วงเวลาวิกฤตของชีวิตได้อย่างไม่หวั่นไหว

Advertisement

ถึงแม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดทางการเมืองของอาจารย์พุทธทาส แต่เรื่องเล่าในช่วงเวลาสุดท้ายที่พระอาจารย์สิงห์ทอง ผู้อยู่ข้างกายท่านนำมาถ่ายทอด ก็ทำให้รู้สึกประทับใจในศีลหรือความเป็นปกติที่ท่านแสดงออก โดยในวาระสุดท้ายท่านยังเอ่ยถึงความแข็งของลิ้นที่ทำให้พูดออกมาเป็นคำได้ยาก โดยไม่ได้แสดงออกถึงความกลัวแต่อย่างใด

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ความวิตกกังวลขยายตัวเป็นความกลัวก็คือ “ความคิด” ผมแปลกใจที่คุณแม่ของผมมีความวิตกกังวลว่าท่านจะเดินไม่ได้ ความคิดเช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ และสร้างความทรมานใจให้กับท่านจนนอนไม่หลับ ท่านมักจะคิดไปเองว่ากล้ามเนื้อของท่านกำลังลีบเหลวและหมดสภาพ ผมจึงต้องงัดเอาความรู้วิชาเพาะกายที่อเมริกา มาอธิบายให้แม่ได้เห็นว่ากล้ามเนื้อส่วนใดที่ทำหน้าที่ในการเคลื่อนไหวร่างกาย และวิชานวดจับเส้นซึ่งผมฝึกฝนอยู่สองปี มายืนยันกับแม่ว่ากล้ามเนื้อของแม่ปกติ …แต่เวลาคนเราวิตกกังวล เหตุผลอะไรก็ใช้ไม่ได้ทั้งนั้น

เมื่อเหตุผลใช้ไม่ได้ และภาวะภายในไม่ได้ฝึกฝน แม่จึงรู้สึกว่า “ยา” เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด แม่ฝันถึงยาวิเศษที่ญาติบอกว่าใครๆ ไปรักษากับคนนี้ เป็นยาวิตามินฉีดแค่สองเข็มก็เดินได้ตามปกติ ซึ่งผมรู้สึกว่าไม่สามารถทำใจให้เชื่อได้ว่าจะมียาวิเศษขนาดนั้นจริง แต่มันทำให้ผมได้เรียนรู้อยู่อย่างหนึ่งว่าขณะที่น้องๆ ของผมพยายามใช้อินเตอร์เน็ตค้นหาคุณวุฒิของคุณหมอทุกคนที่มารักษาแม่ ว่าเรียนจบจากสถาบันไหน ไปจบเมืองนอกมาหรือเปล่า แม่กลับเลือกที่จะเชื่อคำบอกเล่าของญาติใกล้ชิดที่พูดถึงหมอวิเศษ ซึ่งรักษาคนในตลาดหาย จึงเรียกว่าแม่ผมเป็นนักปฏิฐานนิยมตัวเอ้คนหนึ่งเลยทีเดียว

Advertisement

ไม่ใช่ทุกคนที่จะเตรียมตัวเผชิญกับสภาวะความเจ็บป่วยของตนเอง ดังนั้น ถ้าเราเป็นสมาชิกในครอบครัวที่มีผู้ป่วยทุกอย่างที่เราทำย่อมมีผลไปในทางรุ่งหรือร่วง

สิ่งแรกที่ผมได้เผชิญเมื่อแม่ป่วยก็คือความขัดแย้งในหมู่ญาติพี่น้อง มันเป็นช่วงเวลาที่เหมือนกับว่าทุกคนยืนอยู่บนแผ่นเหล็กร้อนๆ การพูดอะไรผิดใจเพียงนิดเดียวเรื่องเล็กจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ แน่นอนว่าแม้แต่ญาติสนิทหรือพี่น้องคลานตามกันมาย่อมมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องวิธีการรักษาพยาบาลขึ้นอยู่กับคนคนนั้นถือชุดวิธีคิดหรือเชื่อมั่นในกระบวนทัศน์แบบใด

ตัวผมเองชอบไปในทางการรักษาแบบองค์รวม ส่วนสมาชิกในบ้านส่วนใหญ่แม้นไม่ถึงกับเห็นต่างก็อยู่ในระดับไม่ถึงกับกระตือรือร้น สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นต่างจากการรักษาแผนปัจจุบันก็คือสมมุติฐานตั้งต้น แพทย์แผนปัจจุบันมีสมมุติฐานว่าร่างกายของคนที่มาหาหมอนั้นผิดปกติ และต้องหาทางแก้ในจุดที่ผิดปกติ ส่วนแพทย์องค์รวมมองว่าร่างกายของคนที่มาหาหมอนั้นเคยเป็นปกติ แต่มีสมดุลบางอย่างที่เสียไป และการรักษาคือนำสมดุลนั้นกลับมาเท่าที่จะสามารถทำได้ ผมว่าแนวความคิดตั้งต้นจะมีผลต่อการรักษา และมีผลต่อวิธีคิดของผู้ป่วย

หลังจากการผ่าตัดใส่บัลลูนที่เส้นเลือดหัวใจของแม่ แม่รู้สึกว่าตนเองควรจะหายกลับมาเป็นปกติ และเมื่อพบว่ามันไม่เหมือนกับการปิดเปิดสวิตช์ไฟ ความวิตกกังวลก็เข้าครอบงำอีกครั้ง ส่วนหมอที่รักษาในทางองค์รวมบอกกับแม่ว่าร่างกายของแม่ต้องใช้เวลาฟื้นฟูอย่างน้อย 6 เดือน เพราะเลือดในร่างกายของแม่น้อยเกินไป และมีภาวะไตพร่อง หมอให้ไปต้มสมุนไพรจีนบางตัวเพื่อดื่มและกำชับเรื่องอาหารว่าควรจะทานของไม่ทอดน้ำมันและไม่เข้ากะทิ และให้สวมใส่ถุงเท้าเพื่อสร้างความอบอุ่นให้กับเท้าซึ่งเป็นส่วนที่เลือดไปเลี้ยงไม่ถึง คำแนะนำแบบนี้เราจะไม่ได้ยินจากหมอแผนปัจจุบัน

ผมพบว่าวิธีคิดแบบการแพทย์สมัยใหม่นั้นจะมองหาความผิดปกติ ส่วนแพทย์องค์รวมจะมองหาความปกติ เมื่อมองหาความผิดปกติ อะไรก็ผิดปกติทั้งนั้นสำหรับร่างกายของคนเรา ไม่ต้องรอให้อายุ 70 เหมือนคุณแม่ผมหรอกครับ พอเรามองหาความผิดปกติ สิ่งที่เราจะพบก็คือความผิดปกติเต็มไปหมด มันอาจจะใช้กับโรคที่มีความตรงไปตรงมา แต่สำหรับผู้สูงอายุที่ระบบต่างๆ เชื่อมโยงและมักจะป่วยเป็น “แพคเกจ” คือเบาหวาน ความดันและอะไรต่อมิอะไรที่พ่วงกันเข้ามา การแพทย์สมัยใหม่มีความรุ่มร่ามและต้องใช้หมอเฉพาะทางทุกด้าน ในแวดวงจิตวิวัฒน์ที่จังหวัดแพร่ เขามีคำเรียกเหตุการณ์แบบนี้ว่า การ “บังคับป่วย”

การบังคับป่วยไม่ได้หมายถึงระบบการแพทย์สมัยใหม่แต่อย่างเดียว แต่ยังหมายถึงระบบความคิดของญาติๆ ด้วย ที่บ้านผมถกเถียงกันว่าเราควรจะหาผู้ช่วยพยาบาลมาเฝ้าแม่ตลอด 24 ชั่วโมงดีไหม ซึ่งแวดวงจิตวิวัฒน์ที่จังหวัดแพร่ เขาคุยกันเรื่องนี้อย่างกว้างขวางและพบว่านั่นคือวิธีการบังคับป่วยแบบหนึ่ง เพราะในที่สุดการมีผู้ช่วยจะทำให้ผู้ป่วยไม่อยากจะทำอะไรด้วยตัวเอง เรื่องง่ายๆ ที่ควรจะทำด้วยตัวเองได้ก็ไม่ทำ และการมีพยาบาลมาอยู่ข้างเตียงเป็นสัญญาณเตือนในระดับจิตใต้สำนึกอยู่ตลอดเวลาว่าผู้ป่วยนั้น “กำลังป่วยหนัก” มีหลายเหตุการณ์ที่พิสูจน์ว่าหลังจากที่มีผู้ช่วยพยาบาลไปเฝ้าผู้ป่วยตลอดเวลาแล้วผู้ป่วยนั้นก็กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงไปอย่างสมบูรณ์แบบ

เมื่อแม่ผมออกจากโรงพยาบาลและมีอาการดีขึ้นเล็กน้อย ผมได้พาไปหาคุณหมอองค์รวมที่ดูแลอาการของแม่อยู่ หมอยังยืนยันคำเดิมว่าต้องมีการบำรุงเลือดให้แม่อย่างต่อเนื่อง และต้องใช้เวลาอีกยาวนาน วันต่อมาแม่ได้เข้าไปตรวจเช็กสุขภาพกับหมอแผนปัจจุบันที่โรงพยาบาล น่าแปลกที่คุณหมอที่โรงพยาบาลก็พูดคล้ายๆ กับคุณหมอองค์รวมของผม ท่านบอกว่า “เลือดมีสีจาง” เล็กน้อย และแม่ต้องได้รับการบำรุงด้วยวิตามิน

สรุปว่า ผลของการวินิจฉัยของแม่ไม่ว่าจะเป็นคุณหมอสมัยใหม่หรือคุณหมอองค์รวมต่างพูดไปในทิศทางเดียวกัน ต่างกันตรงที่คุณหมอองค์รวมของผมไม่ได้ใช้เครื่องมือในการตรวจวัดแม่เป็นพิเศษแต่อย่างใด ไม่ได้ขอตัวอย่างเลือดไปวัดในแล็บให้เจ็บตัวด้วย เพราะอุปกรณ์ของเขาก็คือนิ้วมือ เขาใช้นิ้วมือแตะเพื่อฟังชีพจรและอาศัยความชำนาญที่บ่มเพาะมาเป็นเวลาเกือบชั่วชีวิต แค่เพียงเท่านั้น

ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image