คอลัมน์เดินไปในเงาฝัน ประวัติศาสตร์มีชีวิตที่เชียงคาน โดย : สาโรจน์ มณีรัตน์ [email protected]

ต้องยอมรับความจริงว่าถ้าพูดถึงจังหวัดเลย ต้องย้อนไปสมัยวัยหนุ่ม เพราะตอนนั้นผมรู้จักแค่ภูกระดึง ต่อมาจึงมารู้จักภูเรือ และโดยส่วนตัวผมมีโอกาสขึ้นภูกระดึง 2 ครั้ง แต่ไม่เคยขึ้นภูเรือสักครั้งเดียว

จนมาถึงช่วงเวลาของการทำงาน ผมไม่ค่อยมีโอกาสไปจังหวัดเลย มีแต่นั่งรถข้ามผ่านเพื่อมุ่งหน้าไปจังหวัดขอนแก่น

มารู้จักชื่อภูทอกอีกทีในภายหลัง เพราะภูทอกอยู่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ซึ่งผมเองได้ยินชื่ออำเภอเชียงคานหลายครั้ง แต่ไม่เคยไปสักครั้ง

จนเมื่อไม่นานผ่านมามีโอกาสมาทำงานที่เชียงคาน

Advertisement

มีโอกาสไปเยือนภูทอกแบบชะโงกทัวร์

แต่กระนั้น ก็ยังมีโอกาสไปเยี่ยมชมบ้านพิพิธภัณฑ์ไทดำนาป่าหนาด อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ชีวิตวัฒนธรรมของพวกไทดำ หรือไททรงดำ หรือลาวโซ่ง

เพียงแต่บรรพบุรุษของไทดำของที่นี่สืบเชื้อสายมาจาก สปป.ลาว และเมืองเดียนเบียนฟู ประเทศเวียดนาม ซึ่งคล้ายคลึงกับทางจังหวัดสุพรรณบุรีและเพชรบุรี

Advertisement

 

จึงทำให้ทราบว่าไทดำสมัยอดีตเคยตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณสิบสองจุไทย ใกล้กับแม่น้ำแต แม่น้ำต๋าว แม่น้ำอู และแม่น้ำโขง
โดยมีพระเจ้าล้านเจื้องเป็นผู้สร้างเมืองแถง (เดียนเบียนฟู) ทั้งยังสถาปนาเป็นเมืองหลวงในปี พ.ศ.2006

โดยทิศใต้ และทิศตะวันตกติด สปป.ลาว ขณะที่ทิศตะวันออกติดเวียดนาม และทิศเหนือติดจีน

กล่าวกันว่าไทดำมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน โดยมีกษัตริย์ปกครองถึง 45 พระองค์ ทั้งยังมีขนบธรรมเนียม จารีตประเพณีงดงาม สำคัญไปกว่านั้นไทดำยังมีภาษาพูด ภาษาเขียนเป็นของตนเอง

ทั้งยังมีธงชาติของตัวเองด้วย

วันที่ผมไปเยือนบ้านพิพิธภัณฑ์ไทดำนาป่าหนาดมีโอกาสเดินชมบ้านเรือน สิ่งของเครื่องใช้ และอุปกรณ์ในการแต่งกายของพวกเขา ซึ่งเห็นแล้วทำให้รู้สึกประทับใจ ที่พวกเขายังคงรักษาเอกลักษณ์วัฒนธรรมไว้อย่างเหนียวแน่น

ทั้งยังมีการเชื่อมโยงกับกลุ่มไทดำ ไทยทรงดำ และลาวโซ่งในภาษาเรียกที่แตกต่างกันอีกกว่า 16 จังหวัดทั่วประเทศด้วย

น่าสนใจมาก

ใครมีโอกาสไปเชียงคาน ต้องมิควรพลาดบ้านพิพิธภัณฑ์ไทดำนาป่าหนาดด้วยประการทั้งปวง

ต่อจากนั้น ผมมีโอกาสไปเยือนถนนคนเดินเชียงคาน ซึ่งต้องยอมรับว่าผมได้ยินกิติศัพท์เมืองเชียงคานหลายครั้ง โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการอนุรักษ์บ้านเรือน และอาคารไม้เก่าแก่ตลอดสองข้างทางที่มีความยาวกว่า 3 กิโลเมตร

โดยฝั่งหนึ่งจะติดกับแม่น้ำโขง

ซึ่งก่อนที่ผมจะมา พอดีมีโอกาสคุยกับอาจารย์ท่านหนึ่งที่ทำงานทางด้านอนุรักษ์สถาปัตยกรรมโบราณของเมืองไทยจากสถาบันอาศรมศิลป์ อาจารย์ท่านนี้บอกผมว่าการทำงานทางด้านอนุรักษ์บ้านเรือน และอาคารไม้เก่าแก่ที่ถนนคนเดินเชียงคานนั้นเป็นตัวอย่างหนึ่งของการดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม

เพราะนอกจากคนในชุมชนจะมีความเข้มแข็ง เขายังเห็นประโยชน์ในการอนุรักษ์อาคารบ้านเรือน เพราะอาคารบ้านเรือนเหล่านี้มีอายุมากกว่า 100 ปี ทั้งยังมีประวัติศาสตร์ชุมชนเกี่ยวข้องกับการอพยพผู้คนจากศึกสงครามมาตั้งแต่ พ.ศ.1400

โดยศึกสงครามเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของ สปป.ลาวด้วย

เพราะฉะนั้นในเรื่องของการย้ายถิ่นฐานจึงเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของประวัติศาสตร์ชุมชน ขณะที่อาคารบ้านเรือนก็เป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้วิถีชีวิตของคนในชุมชนถนนคนเดินเชียงคานต่างเต็มไปด้วยเรื่องราวมากมาย

จนทำให้คนในชุมชนภูมิใจ

และดีใจที่ในวันนี้อาคารบ้านเรือนของพวกเขากลายเป็นประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต เพราะไม่แต่เพียงนักท่องเที่ยวจากอำเภออื่นๆ ในจังหวัดเลยจะเข้ามาเที่ยว พักผ่อน

และมาใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ที่นี่

หากยังมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก และจากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศต่างอยากเดินทางมาเที่ยวเมืองเชียงคานสักครั้ง จนทำให้ทุกเสาร์-อาทิตย์ต่างคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวมากมาย

ซึ่งผมเองก็เป็นหนึ่งในจำนวนเหล่านั้น

เพราะนอกจากจะมีเกสต์เฮาส์ บูธีคโฮเต็ลและโรงแรมหลายแห่งติดกับแม่น้ำโขง หากยังมีอาหารการกินต่างๆ มากมายที่ได้รับอิทธิพลบางอย่างจาก สปป.ลาว และเวียดนาม ผสมปนเปไปกับวัฒนธรรมอาหารการกินด้วย

หรือถ้าใครอยากชมวัดก็มีวัดศรีคุณเมืองอันเป็นสถาปัตยกรรมเก่าแก่สมัยล้านนา และล้านช้าง พร้อมๆ กับถ้าใครชอบทำบุญตักบาตรที่นี่ก็จะมีการตักบาตรข้าวเหนียวทุกเช้า คล้ายๆ กับที่หลวงพระบาง

น่าไปเที่ยวมากครับ

โดยเฉพาะฤดูหนาว

ผมจึงอยากเชิญชวนทุกคนไปเที่ยวเมืองเชียงคานกัน ?

สาโรจน์ มณีรัตย์

[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image