คอลัมน์ภาพเก่าเล่าตำนาน เลือดนอง ก็ต้องนองเลือด…ในศรีลังกา (2) โดย : พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

สืบเนื่องต่อจากบทความตอนที่แล้วนะครับ…ผมไล่เรียงเหตุร้ายสุดโหดในประเทศศรีลังกาที่ชน 2 เผ่า คือ ชาวสิงหล กับ ชาวทมิฬ ไม่ถูกชะตาเข่นฆ่ากันมานานด้วยเหตุเชื้อชาติ ศาสนา และความไม่เป็นธรรมในสังคม ที่ชาวทมิฬถูกกีดกันในทุกโอกาส

ศรีลังกาได้รับเอกราชจากอังกฤษในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2481 มีการเลือกตั้ง ชาวสิงหล เป็นชนชั้นปกครอง

พ.ศ.2499 รัฐบาลศรีลังกาได้เสนอกฎหมาย Sinhala Only Act of 1956 กำหนดให้ใช้ภาษาสิงหลเป็นภาษาราชการและมาตรการสารพัดเพื่อให้ชาวสิงหลเป็นพลเมืองชั้น 1 และชาวทมิฬเป็นพลเมืองชั้น 2 เลยกลายเป็นเหตุให้เลือดนองแผ่นดินในศรีลังกาในช่วงปี พ.ศ.2526 ถึง พ.ศ.2552 ประชาชนผู้บริสุทธิ์ เด็ก ผู้หญิง เสียชีวิตราว 8 หมื่นคน อพยพพลัดถิ่นราว 1 ล้านคน

มหาอำนาจอังกฤษที่เคยปกครองศรีลังกา (เดิมชื่อ ซีลอน) ใช้นโยบายแบ่งแยกแล้วปกครอง (Divide and Rule) ประชาชน 2 เผ่า คือ ชาวทมิฬและชาวสิงหล ในประเทศศรีลังกา ถ่างสังคมให้เกิดช่องว่าง จนกลายเป็น “ขมิ้นกับปูน”

Advertisement

กฎ ระเบียบ การศึกษา ล้วนสนับสนุนเฉพาะชาวสิงหล (Sinhalese) จนทำให้ชาวทมิฬ (Tamils) ต่ำต้อยด้อยโอกาส ถูกกดดันทั้งกายใจจนต้องตั้งกองกำลัง “พยัคฆ์ทมิฬอีแลม” (Liberation Tigers of Tamil Elam: LTTE) จับอาวุธขึ้นต่อสู้

“กองกำลังพยัคฆ์ทมิฬอีแลม” ได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายอันดับต้นๆ ของโลกระดับ “ตัวพ่อ-ของจริง” กองกำลังนี้คือผู้ให้กำเนิดการใช้ยุทธวิธีระเบิดพลีชีพ โดยการนำระเบิดแรงสูง

ซ่อนผูกติดตัว เดินเข้าหาเป้าหมายแล้วกดระเบิดให้ตายหมู่พร้อมกันคราวละมากๆ

Advertisement

ผู้นำระเบิดผูกติดตัวแล้วกดระเบิดพลีชีพส่วนหนึ่งเป็นเด็กและสตรี

มาเข้าประเด็นของความโหดในศรีลังกาครับ

ความเหลื่อมล้ำแบบ “ตายทั้งเป็น” ทำให้ชาวทมิฬตกเป็นพลเมืองชั้น 2 ในการใช้ชีวิต ชาวทมิฬเป็นไก่รองบ่อน ทำอะไร เรียนอะไร ทำมาหากินแบบไหน ก็เสียเปรียบชาวสิงหล แบบแพ้ตั้งแต่เกิดจนตาย…

ชาวทมิฬเคยพยายามตั้งพรรคการเมือง ต่อสู้ในทางการเมือง เคยชนะได้จัดตั้งรัฐบาล แต่ต่อมาก็เพลี่ยงพล้ำ เมื่อจนตรอก ไม่มีอะไรจะเสียไปกว่านี้ ก็ต้องจับอาวุธขึ้นต่อสู้ …ตายเสียดีกว่าจะอยู่อย่างผู้แพ้

ประชากรในศรีลังการาว 20 ล้านคน เป็นชาวสิงหล ราวร้อยละ 74 เป็นชาวทมิฬ ร้อยละ 12 ที่เหลือเป็นเผ่าอื่นๆ

กองกำลังพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (LTTE) ก่อตั้งขั้นต้นเมื่อปี พ.ศ.2518 จุดประสงค์เพื่อแบ่งแยกดินแดนทางตอนเหนือและภาคตะวันออกของเกาะศรีลังกา เพราะชาวทมิฬโดนกดขี่ รังแก เอาเปรียบจากชาวสิงหลที่ปกครองประเทศ

ชาวทมิฬในศรีลังกามีประชากรกว่า 3 ล้านคน เมื่อตั้งกองกำลังแบ่งแยกดินแดน ชาวทมิฬกลายเป็นกองกำลังที่วินัยเป๊ะ เข้มแข็ง เด็ดขาด กล้าหาญและทุกคนยอมพลีชีพ ในกรณีถ้าถูกจับ ทหารของพยัคฆ์ทมิฬจะมีเชือกห้อยหลอดเล็กๆ ที่บรรจุไซยาไนด์ พวกเขาจะชิงปลิดชีวิตตัวเองเสียก่อนด้วยการกัดกลืนหลอดไซยาไนด์ลงไป

วันเสียงปืนแตกในศรีลังกา คือวันที่ 23 กรกฎาคม 2526 กองกำลังทมิฬเปิดฉากซุ่มโจมตีกองกำลังทหารฝ่ายรัฐบาลศรีลังกาเสียชีวิตทันที 13 ศพ ในพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ

ชาวทมิฬมีฐานที่มั่นที่เมืองจาฟน่า (Jaffna) เมืองใหญ่ทางตอนเหนือที่อยู่ไม่ไกลจากรัฐทมิฬนาดู (Tamil Nadu) ของอินเดีย ชาวทมิฬมีผู้นำ คือ นายเวฬุพิลัย ประภาการัน (Velupillai Prabhakaran) หรือที่ชาวทมิฬเรียกว่า แอนนา

ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา… เกิดระเบิดสถานที่ราชการ ระเบิดในชุมชน ซุ่มยิง เป็นรายบุคคล สังหารเป็นหมู่คณะแบบดุร้าย โหดหินแพร่กระจายไปทั่วดินแดนแคว้นศรีลังกา…แผ่นดินลุกเป็นไฟ

ทฤษฎีการต่อสู้เพื่อเอาชนะจิตใจ ครองใจประชาชน (To win hearts and minds) ในการต่อสู้ในศรีลังกาถือว่า “ล้มเหลว” เป้าหมายคือ การสังหารฝ่ายตรงข้ามให้มากที่สุด รุนแรงที่สุด โหดที่สุด ไม่ต้องสนใจว่าจะเป็นเด็กเล็ก ชายหญิง ไม่ต้องเอาใจใครทั้งนั้น

ที่เลวร้ายที่สุด คือ การสังหารหมู่ในที่สาธารณะที่โลกตะลึงกับยุทธวิธี “ระเบิดพลีชีพ” ตายครั้งละ 20-30-100 คน

กองกำลังพยัคฆ์ทมิฬอีแลมยังจัดตั้งหน่วยรบทางทะเล ดัดแปลงเรือประมงนำมาติดอาวุธเข้าโจมตีเรือของรัฐบาลศรีลังกาอย่างได้ผล ชาวทมิฬใช้รถไถนาดัดแปลงเป็นยานเกราะติดอาวุธเพื่อต่อสู้กับทหารรัฐบาลศรีลังกา

ชาวทมิฬสู้ยิบตา เลือดต้องล้างด้วยเลือดเพื่อขอตั้งอาณาจักรของชาวทมิฬที่จะไม่เป็นทาสของชาวสิงหล ชาวทมิฬผลิตอากาศยานเอง ใช้เครื่องยนต์ดัดแปลง สร้างอากาศยานบินขึ้นในอากาศได้ บรรทุกระเบิดบินขึ้นไปดำดิ่งไปทิ้งระเบิดใส่ที่ทำการรัฐบาลหลายแห่งแบบที่ใครก็นึกไม่ถึงว่าจะทำได้

ชาวทมิฬบ้าเลือด ขับรถบรรทุกระเบิดพุ่งเข้าชนค่ายทหารหลายแห่ง คลังแสงของทหารระเบิดแล้วตายพร้อมระเบิด ไม่มีสถานที่แห่งใดปลอดภัยจากระเบิด ที่ไหนมีคน ที่นั่นมีระเบิดฆ่าตัวตาย

ไม่มีอะไรน่ากลัวเท่ากับคนที่ไม่กลัวตาย…และคนที่ไม่มีอะไรจะเสีย

ประชาชนทั้งประเทศ คือ เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายตลอดกาล เศรษฐกิจศรีลังกาทรุดตัวลงอย่างรวดเร็ว สหประชาชาติ ประเทศนอร์เวย์ ยื่นมือ ยื่นหน้าเข้ามาทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยเพื่อหยุดการนองเลือด ที่นองแผ่นดิน เคยมาประชุม พูดคุยกันที่กรุงเทพฯ

รัฐบาลกลางของอินเดีย โดย นายกรัฐมนตรี ราชีพ คานธี ของอินเดีย ตัดสินใจส่งกองกำลังเข้าไปรักษาสันติภาพ (Indian Peace Keeping Force) ในศรีลังกา แต่ในที่สุด กองกำลังสันติภาพของอินเดียที่เข้าไปหย่าศึกในศรีลังกา ดันไปสู้รบกับ LTTE เสียเอง… เค้าให้เป็นกรรมการห้ามมวย ดันกลับไปช่วยเค้ารุมชกต่อยชาวทมิฬ

ขอนำข้อมูลตรงนี้มาตีแผ่ครับ….

วันหนึ่ง…กองกำลังสันติภาพของอินเดียที่เข้าไปศรีลังกา ตัดสินใจจู่โจมเข้าตีฐานทัพกลุ่มกบฏทมิฬอีแลม เพื่อจะสังหารนายประภาการัน แม่ทัพใหญ่ของฝ่ายทมิฬ แต่ผิดแผน จับตัวไม่ได้ กลุ่มกบฏทมิฬโกรธแค้นทหารอินเดียที่ไม่เป็นกลาง

ชาวทมิฬขอ “เช็กบิล-เอาคืน” บ้าง …ปลายปี พ.ศ.2532 ราชีฟ คานธี ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอินเดีย แต่ยังคงเป็นหัวหน้าพรรคทำหน้าที่หาเสียงให้ลูกพรรค

21 พฤษภาคม 2534 ราชีพ รตนะ คานธี (Rajiv Ratana Gandhi) อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 7 ขณะหาเสียงเลือกตั้งซ่อม ใกล้เมืองเจนไน ประเทศอินเดีย สตรีชาวศรีลังกาเผ่าทมิฬ …เธอและทีมสังหารพลีชีพรวม 3 คน ไปรอริมถนน ต้อนรับนายราชีพขณะหาเสียง เมื่อนายราชีพเดินเข้ามาทักทาย เธอก้มตัวลงคล้ายจะสัมผัสที่เท้านายราชีพ …เธอกดระเบิดที่ผูกรอบเอวไว้แบบพลีชีพตายพร้อมกัน นายราชีพ คานธีและผู้คนทั้งปวงร่างเละ แหลกเหลวตายเกลื่อนถนน…

นี่คือการแก้แค้นที่อินเดียส่งทหารเข้าไปรักษาสันติภาพในศรีลังกาและไปลอบสังหาร ผบ.หน่วย LTTE

ในอดีต…มารดาของนายราชีพ คือ นางอินทิรา คานธี (Indira Gandhi) นายกรัฐมนตรีสตรีคนแรกของอินเดีย ก็ถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2527 ในวัย 67 ปี ด้วยเหตุขัดแย้งเรื่องการแบ่งแยกดินแดนของชาวซิกข์

ทั้งแม่และลูกชาย ตระกูลคานธี ถูกลอบสังหารด้วยเหตุความขัดแย้งของ “ชนเผ่า” ในอินเดียที่โลกจารึกไว้เป็นประวัติศาสตร์

ทั้งหลายแหล่ที่เล่ามานี้ คือ สงครามระหว่างชาวสิงหล ที่ครองอำนาจทั้งใน-นอกสภา มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2499 ข่มเหง รังแก เอาเปรียบ ชาวทมิฬมาตลอด และในที่สุด ชาวทมิฬจึงต้องพลีชีพสู้แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน

การสู้รบผ่านไปราว 26 ปี กำลังทหารของรัฐบาลศรีลังกาที่มีจำนวนมากกว่ายืนระยะอยู่ได้ ในขณะที่กองกำลังพยัคฆ์ทมิฬอีแลมขาดการสนับสนุนทั้งปวงจึงถูกสังหารตายเกลื่อน เลือดนองแผ่นดินทางตอนเหนือของศรีลังกา นายประภาการัน หัวหน้ากลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ
อีแลมถูกสังหารในการรบ และกองกำลัง LTTE ที่เหลือยอมจำนนเมื่อ พ.ศ.2552 สงครามยุติพร้อมทั้งแผลเป็นในใจของคนทั้งชาติ

เช้าวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา เกิดระเบิด 8 จุดในศรีลังกา ตายไปอีกไม่น้อยกว่า 359 คน บาดเจ็บอีกราว 500 คน

ต้นเดือนพฤษภาคม 2562 ทางการศรีลังกาจับคนร้ายและผู้ต้องสงสัยได้ 60 คน นายไมตรีพละ ศิริเสนา ประธานาธิบดีศรีลังกา ประกาศใช้กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉิน ห้ามสตรีมุสลิมสวมผ้าคลุมหน้าทุกชนิดที่ปกปิดอัตลักษณ์บุคคล ทั้งแบบ นิกอบ ผ้าคลุมศีรษะและใบหน้าแต่เว้นดวงตา และบูร์กา ผ้าคลุมตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ด้วยเหตุผลความปลอดภัย….

สถานการณ์กำลังจะพัฒนาไป หรือหวนกลับ และจะเกิดอะไรตามมาอีก? ..ขอเป็นแรงใจให้ประชาชนชาวศรีลังกาเลือก “ความยุติธรรม ซึ่งจะนำมาซึ่งสันติภาพ” ครับ

ข้อมูลบางส่วนจาก Suicide terrorism in the Sri Lankan civil war (1983-2009) By Krishan Kuruppu and Iain Overton on 15 Oct 2018

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image