93 เมื่อ’ญาติ-พี่น้อง’ฆ่ากันเอง เพราะเห็นต่าง นิยายเรื่องสุดท้ายของวิกตอร์ อูโก

22 พฤษภาคมที่ผ่านมา นอกจากเป็นวันครบรอบ 2 ปี รัฐประหารครั้งล่าสุดของประเทศไทยแล้ว ยังเป็นวันที่วิกตอร์ อูโก (Victor Hugo) นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน รัฐบุรุษ กวี นักเขียนบทละคร และนักเขียนแนวโรแมนติกชื่อก้องโลกชาวฝรั่งเศสเสียชีวิตครบ 131 ปี
เขาเกิดวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 1802 และจากไปในวันที่ 22 พฤษภาคม 1885 ด้วยวัย 83 ปี

พูดถึงอูโก หลายคนมักนึกถึงนวนิยาย 2 เรื่องของเขา คือ “คนค่อมแห่งนอทเทรอดาม (Notre-Dame de Paris /1831)” และ “Les Miserables (เล-มี-เซ-ราบเบลอะ/1862)” หรือชื่อย่อ “เลมิส” ซึ่งรู้จักกันในภาษาไทยว่า “เหยื่ออธรรม”
ตามชื่อที่ตั้งไว้โดยผู้แปลคนแรกคือ “จูเลียต” หรือคุณชนิด สายประดิษฐ์ในปี 1960

นวนิยายทั้ง 2 เรื่อง ซึ่งสะท้อนความทุกข์ยากของมนุษย์ผู้ตกเป็นเหยื่อความอยุติธรรมจากโครงสร้างการปกครองที่มีคนชั้นบนคอยเอารัดเอาเปรียบนั้น นอกจากได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลกในภาษาต่างๆ กัน ก็ยังมีผู้นำเนื้อหาไปสร้างเป็นภาพยนตร์, ภาพยนตร์โทรทัศน์, ซีรีส์โทรทัศน์, ละครวิทยุ และละครเวทีอีกมากมายหลายเวอร์ชั่น

กล่าวเฉพาะ “เลมิส” ต้องถือว่ายิ่งโด่งดังเพราะ “ละครเพลง” ซึ่งเป็นผลงานการประพันธ์ของโกล๊ด มิเชล เชินเบิร์ก
และอแลง บูบลิล โดยมีเฮอร์เบิร์ต เครทซเมอร์ เป็นผู้ดัดแปลงบทพูดและคำร้องจากภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาอังกฤษ

Advertisement

แม้มีเสียงวิจารณ์ว่าเพลงใน “เลมิส” ไม่ไพเราะเท่าบทเพลงในละครเพลงอีกหลายเรื่องที่ประพันธ์โดยนักประพันธ์เพลงชื่อดัง อาทิ จอร์จและไอร่า เกิรช์วิน, เจอโรม เคิร์น, เออร์วิง เบอร์ลิน และแอนดรูว์ ลอยด์ เว็บเบอร์ แต่หลายบทเพลงในละครเพลงเรื่องนี้ก็เป็นที่จดจำโดย “เนื้อหา” ที่ซาบซึ้งสะเทือนอารมณ์ของมันเอง เช่นเพลง “I Dreamed a Dream”, “Castle on a Cloud” และ “Do You Hear the People Sing?”

ความโดดเด่นของ “คนค่อมแห่งนอทเทรอดาม” และ “เลมิส” ทำให้เราหลายคนเกือบลืมผลงานอื่นๆ ของอูโก โดยเฉพาะนวนิยายเรื่องสุดท้ายที่ได้รับการตีพิมพ์ก่อนเขาเสียชีวิตเพียง 11 ปี คือ “Quatrevinght-treize” (กาตเทรอแว็ง-แทรซเซอ)” ซึ่งมีความหมายว่า “93”

นวนิยายเรื่อง 1984 อันโด่งดัง เป็นนวนิยายเรื่องสุดท้ายของจอร์จ ออร์เวล ตีพิมพ์ในปี 1949 มีเนื้อหาเกี่ยวกับสังคมดิสโทเปียที่ปกครองด้วยอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จ ซึ่งออร์เวลจินตนาการว่ามันเกิดขึ้นในปี 1984
กาตเทรอแว็ง-แทรซเซอ (93) เป็นนวนิยายเรื่องสุดท้ายของวิกตอร์ อูโก ตีพิมพ์ในปี 1874 ก่อนเขาเสียชีวิตเพียง 11 ปี เป็นนวนิยายอิงเหตุการณ์จริงในปี 1793 ซึ่งเกิดการลุกฮือของชาวฝรั่งเศสที่แคว้นวองเด (Vendee) เพื่อต่อต้านความโหดเหี้ยมของรอแบ็สปิแยร์ผู้ขึ้นมามีอำนาจหลังการปฏิวัติใหญ่ฝรั่งเศส 1789 แล้วจัดตั้งสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 1

Advertisement

ซึ่งกลายเป็นยุคแห่งความน่าสะพรึงกลัว (la Terreur) เพราะเขาใช้อำนาจกวาดล้าง “ศัตรูแห่งการปฏิวัติ” และฆ่าคนที่เขาเห็นว่าเป็นศัตรูตายไปนับหมื่น ก่อนจะสิ้นสุดยุคด้วยการที่เขาเองถูกกิโยตินคืนสนองในปี 1794

วงการวรรณกรรมทั่วโลกยกย่อง “กาตเทรอแว็ง-แทรซเซอ” ว่าเป็นงานเขียนที่มีพลังมากที่สุดเรื่องหนึ่งของอูโก เส้นเรื่องของมันคือการต่อสู้ระหว่างกลุ่มที่สนับสนุนระบอบการปกครองแบบเก่ากับกลุ่มสนับสนุนระบอบสาธารณรัฐ

ในเรื่องนี้ คนสองกลุ่มที่มีความคิดแตกต่างกันแม้จะเป็นญาติพี่น้องกันก็ต้องเข่นฆ่าห้ำหั่นกันเพียงเพราะคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกัน

เรื่องราวเปิดฉากในปี 1793 เมื่อกองร้อย “เสื้อฟ้า” หรือทหารของสาธารณรัฐฝรั่งเศสรุกเข้ามาในแคว้นบริตทานี หรือเบรอตาญทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศฝรั่งเศสซึ่งเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มสนับสนุนระบอบเก่า พวกเขาพบกับมิเชล เฟลชาร์ด หญิงม่ายชาวนากับลูกๆ ทั้ง 3 ของเธอคือ ฌอร์แฌต โกร-แอลง และเรอเน่-ฌ็อง ชาวบ้านธรรมดาๆ ผู้ไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองใดๆ สามีและพ่อแม่ของมิเชลถูกฆ่าตายในกบฏชาวนาซึ่งสนับสนุนโดยกลุ่มระบอบเก่า หัวหน้ากองร้อยราดูบ์ปล่อยมิเชลและเด็กๆ เป็นอิสระ

ขณะเดียวกัน กลุ่มระบอบเก่า “เสื้อขาว” กำลังแล่นเรืออยู่ในทะเลเพื่อเตรียมขึ้นฝั่งที่บริตทานีโดยการสนับสนุนของมาร์กีส์ เดอ ลองเตอนัก ขุนนางใหญ่แห่งแคว้นบริตทานี แต่ระหว่างเดินทางเกิดลมพายุทำให้การบังคับปืนใหญ่ขัดข้องเล็กน้อย

แม้ที่สุดกะลาสีจะแก้ปัญหาสำเร็จ ลองเตอนักก็สั่งฆ่ากะลาสีเรือ เมื่อเขาขึ้นบกสำเร็จก็ถูกล่าโดยพวกเสื้อฟ้า แต่ขอทานคนหนึ่งซึ่งเคยได้ทานจากเขาเข้ามาช่วยเหลือเขาเป็นการตอบแทน ลองเตอนักจึงสามารถจับพวกเสื้อฟ้ากับชาวบ้านที่เขาสงสัยว่าให้การสนับสนุนเสื้อฟ้ามาประหารชีวิต ในกลุ่มชาวบ้านนั้นมีมิเชลรวมอยู่ด้วย ลองเตอนักจับลูก 3 คนของเธอไปเป็นตัวประกันที่ปราสาทลาตูร์ก เมื่อขอทานที่เคยช่วยลองเตอนักพบว่ามิเชลยังไม่ตาย ก็หันมาช่วยพยาบาลมิเชลจนหายดี

ในปารีส ผู้นำฝ่ายสาธารณรัฐคือ ดังต็อง, รอแบ็สปีแยร์ และมาราต์ เห็นพ้องกับการสั่งประหารกบฏและทุกคนที่มีส่วนช่วยพวกกบฏ พวกเขาออกคำสั่งให้ซิมูร์แด็ง อดีตพระซึ่งกลายมาเป็นนักปฏิวัติจับตามองโกแว็ง ทหารของกองกำลังฝ่ายสาธารณรัฐที่บริตทานีซึ่งเป็นญาติกับลองเตอนัก โดยไม่รู้ว่าซิมูร์แด็งเป็นครูของโกแว็งตอนเด็กและรักโกแว็งเสมือนลูกชาย

โกแว็งนำทัพฝ่ายสาธารณรัฐเข้าโจมตีกองทัพของลองเตอนักที่ดอลเดอเบรอตาญ ลองเตอนักถูกกักไว้ในปราสาทลาตูร์กที่เขาขังลูก 3 คนของมิเชลไว้ เมื่อมิเชลฟื้นขึ้นมาและได้ยินว่าลูกๆ ของเธออยู่ที่ปราสาทก็รีบออกไปตามหาลูก ราดูบ์และโกแว็งกำลังสู้รบกับฝ่ายลองเตอนักซึ่งเมื่อเห็นว่าจะพ่ายแพ้ก็จุดไฟเผาปราสาทแล้วหนีไปตามทางลับ ขณะไฟโหมกระพือ มิเชลมาถึงทันได้เห็นลูกๆ ของเธอติดอยู่ในปราสาทจึงร้องโหยหวนด้วยความโศกเศร้าอาดูร ลองเตอนักรู้สึกสำนึกผิดเมื่อได้ยินเสียงร้องนั้น จึงหวนกลับมาปล่อยเด็กๆ จากที่คุมขังและถูกจับ

ต่อมา โกแว็งรู้ว่าซิมูร์แด็งจะประหารชีวิตลองเตอนักซึ่งเป็นลุงของเขาด้วยกิโยติน เขาไปเยี่ยมลองเตอนักที่คุก ลองเตอนักยืนยันความเชื่อของเขาเรื่องระบอบเก่า ส่วนโกแว็งยืนกรานว่าคุณค่าของความเป็นมนุษย์อยู่เหนือขนบประเพณีทั้งหมด เขาช่วยให้ลองเตอนักหนีไปและยอมรับผิดเอง โกแว็งถูกสอบข้อหาทรยศ คณะตุลาการประกอบด้วยซิมูร์แด็ง ราดูบ์ และผู้ช่วยของโกแว็งคือ กูเอชองป์ ราดูบ์ออกเสียงให้ปล่อยตัวโกแว็ง แต่คนอื่นเห็นว่าควรประหารรวมถึงซิมูร์แด็งซึ่งเป็นหัวหน้าคณะ

เมื่อซิมูร์แด็งซึ่งยังคงอาลัยรักโกแว็งแต่ยึดมั่นในอุดมการณ์ของสาธารณรัฐจึงไม่อาจปล่อยให้ศัตรูของการปฏิวัติมีชีวิตรอด มาคุยกับโกแว็งเป็นครั้งสุดท้ายในคุก โกแว็งเล่าความใฝ่ฝันของเขาว่า อยากเห็นสังคมในอนาคตมีรัฐบาลขนาดเล็ก ไม่มีการเก็บภาษี มีเทคโนโลยีก้าวหน้า และมีความเท่าเทียมทางเพศ
เช้าวันต่อมา โกแว็งถูกประหารด้วยกิโยติน ส่วนซิมูร์แด็งฆ่าตัวตาย

ในหนังสือเล่มนี้ อูโกประกาศจุดยืนชัดเจนของเขาในการสนับสนุนสาธารณรัฐ แต่ขณะเดียวกันเขาก็ชี้ให้เห็นว่าพวกสนับสนุนสาธารณรัฐกับพวกสนับสนุนระบอบเก่านั้น เหมือนกันตรงที่ต่างฝ่ายต่างถูกครอบงำด้วยอุดมคติและความฝันอันสูงส่งของตนเอง พวกเขาต่างอุทิศชีวิตให้แก่การต่อต้านศัตรูซึ่งอาจจะออกมาในรูปของการกระทำที่โหดร้ายรุนแรงเหมือนๆ กัน จนยากจะบอกว่าฝ่ายไหนดีกว่าหรือเลวกว่า ฉวยโอกาสมากกว่าหรือน้อยกว่า หรือสมควรถูกประณามมากกว่า

อูโกให้ภาพชาวบ้านธรรมดาอย่างมิเชล เฟลชาร์ด ว่าเสมือนเป็นตัวประกันของสองฝ่ายที่ต่อสู้ห้ำหั่นกันทางการเมือง ซึ่งไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายชนะ ชาวบ้านธรรมดาๆ ก็คือผู้ได้รับผลกระทบอันโหดร้าย

บางเรื่องราวในกาตเทรอแว็ง-แทรซเซอ ชวนให้คิดถึงความขัดแย้งแดง-เหลืองในสังคมไทย ซึ่งจนบัดนี้ก็ยังไม่ถึงฝั่งฝันแห่งความปรองดอง บางทีสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากกาตเทรอแว็ง-แทรซเซอและอูโกจึงอาจเป็นว่า ความคิดขัดแย้งไม่ใช่เรื่องน่าหวาดกลัวที่ต้องหลีกเลี่ยง เท่ากับความคิดต้องการเอาชนะแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่เหลือพื้นที่ให้คนอื่น ซึ่งจะนำไปสู่แนวทางเผด็จการชนิดต้องฆ่าอีกฝ่ายให้สิ้นซากแม้เป็นญาติพี่น้องคนคุ้นเคยของเราเอง

วิกตอร์ อูโก มีชีวิตผ่านความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลายครั้งของสังคมฝรั่งเศสหลังจากปฏิวัติใหญ่ในปี 1789 เขาเติบโตมากับความศรัทธาในระบอบเก่าก่อนจะเปลี่ยนไปนิยมสาธารณรัฐและยืนยันในคุณค่าตลอดจนสิทธิเสรีภาพของมนุษย์เสมอมา การเมืองทำให้เขาต้องลี้ภัยเมื่ออายุ 49 ปี กว่าจะได้กลับบ้านเกิดก็เมื่ออายุ 68 ปี และขณะเขาเสียชีวิตในยุคสาธารณรัฐที่ 3 นั้น ฝรั่งเศสก็ยังไม่ได้เป็นสรวงสวรรค์อันงดงามหาที่ติมิได้

ความจริงคือทุกประเทศดำรงอยู่ได้ด้วยประชาชน และประชาชนของแต่ละประเทศคือผู้ร่วมกันสร้างสรรค์สังคมที่ประชาชนใฝ่ฝัน ซึ่งเป็นความฝันที่มีชีวิตและเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่งตลอดกาล เช่นเดียวกับลมหายใจของมนุษย์ มันมิใช่ภาพสวยงามที่วางอยู่นิ่งๆ ในกรอบรูปสำหรับแขวนผนัง

ไม่เคยมีการต่อสู้ครั้งสุดท้ายให้พลีชีพแล้วสรวงสวรรค์จะปรากฏ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image