ก่อนจะลดโลกร้อน… ลดเมืองร้อนกันก่อนไหม โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ประเทศไทยโดยเฉพาะกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ร้อนขึ้นเรื่อยๆ แต่คนส่วนมากมักจะแก้ปัญหาเรื่องของความร้อนโดยการบ่นในโลกโซเชียล ติดแอร์ที่บ้าน หรือออกไปอยู่ตามศูนย์การค้าหรืออาคารสาธารณะที่มีแอร์ฟรี

ไม่ค่อยมีการปรึกษาหารือ หรือจับประเด็นให้เห็นชัดๆ ว่า ตกลงความร้อนกับเมืองนั้นมีความเกี่ยวข้องกันขนาดไหน

เรื่องนี้อยากให้ลองเปรียบเทียบดูกับความตื่นตัวของสังคม โดยเฉพาะสังคมเมืองในเรื่องของปัญหารถติด น้ำท่วม หรือแม้กระทั่งมลพิษทางอากาศในช่วงที่ผ่านมาซึ่งจะเห็นความตื่นตัวของประชาชน รัฐบาลกลาง และ รัฐบาลท้องถิ่นระดับเมืองอย่างเห็นได้ชัด

อย่างที่ได้บอกไว้แล้วน่ะครับ ว่าปัญหาเรื่องความร้อนในเมืองนั้น ไม่ถูกทำให้เป็นประเด็นว่าเป็นปัญหาที่สำคัญในเมือง แม้จะรณรงค์กันทุกหย่อมหญ้ากับปัญหาโลกร้อน แต่ก็ไปเน้นแต่เรื่องการงดแจกถุงพลาสติก และการช่วยชีวิตเต่าในทะเลจากหลอดกาแฟ

Advertisement

เรื่องที่ไม่ได้คุยกันก็คือ เมืองไม่ได้ร้อนเองครับ โดยเฉพาะกรุงเทพฯนั้นไม่ได้ร้อนโดยกำเนิด

แต่กรุงเทพฯร้อนเพราะคนทำให้ร้อน และที่สำคัญ นอกจากเราจะทำให้มันร้อนแล้ว เรายังปล่อยให้มันร้อนขึ้นด้วย

พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าเราทุกคนทำให้กรุงเทพฯร้อนเท่าๆ กันนะครับ แต่ก่อนที่จะแยกแยะเรื่องนี้ มาดูภาพรวมกันก่อนว่าเมืองกับความร้อนนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด

ข้อค้นพบที่มีมานานแล้วก็คือ เมืองนั้นเป็นพื้นที่ที่ร้อนกว่าชนบท และบางส่วนขอเมืองนั้นยิ่งเป็นส่วนที่เสมือนกับเกาะแห่งความร้อน (urban heat island) นอกจากเพราะเราอยู่ใกล้กันแล้ว เรื่องใหญ่ก็เพราะวัสดุของเมือง หมายถึงอุปกรณ์ก่อสร้างในเมืองนั้นเก็บความร้อนได้มากกว่าวัสดุที่ก่อสร้างในพื้นที่ชนบท

อาทิ ปูน และยางลาดถนน

เรื่องราวของความสนใจที่จะมีต่อการกำกับดูแลการก่อสร้างในเมืองเพื่อลดความร้อนดูจะยังไม่ค่อยเป็นที่สนใจในประเทศไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร

รวมไปถึงเรื่องความสนใจในการปลูกต้นไม้เพื่อลดความร้อนในเมืองที่ไม่ค่อยมีคนพูดมากนัก เรื่องต้นไม้มักพูดในฐานะพื้นที่สีเขียวที่สบายตา ดีต่ออากาศบริสุทธิ์ แต่ไม่ได้เน้นเรื่องของการลดอุณหภูมิเมือง

ส่วนหนึ่งเพราะเราสนใจเมืองจากสายตา มากกว่าความสนใจเมืองจากผิวของเราเมื่อรับความร้อน หรือจมูกของเรา เมื่่อเจอฝุ่นละออง และฝุ่นพิษจิ๋วในช่วงที่ผ่านมา

เราจึงเป็นเมืองที่มีแต่โฆษณาเครื่องปรับอากาศประหยัดพลังงาน พัดลมผลิตลมแรง ตู้เย็น ครีมกันแดด ครีมสร้างความชุ่มชื้นให้ผิว แป้งเย็น รวมทั้งลูกอม และเครื่องดื่ืม หรือขนมหวานที่ดับร้อน รวมกระทั่งวัสดุก่อสร้างที่กันความร้อน

แต่ไม่มีการรณรงค์ หรือเอาจริงเอาจัง ในการพยายามลดความร้อนในเมืองลง นอกจากการรณรงค์ให้เปิดแอร์เบาๆ หน่อย ซึ่งเป็นเรื่องที่ตลกร้ายอยู่พอสมควร เพราะคนเขาติดแอร์ก็เพื่อจะให้เย็น ดันจะไปขอให้เขาเย็นน้อยๆ ซึ่งส่วนใหญ่คนที่ทำตามก็น่าจะเป็นเจ้าของตึกนั่นแหละครับ เพราะต้องจ่ายค่าไฟแพง

แต่สำหรับคนที่เขาร้อนและเป็นเจ้าของแอร์รายย่อย เขาคงจะไม่ค่อยให้ความร่วมมือกันเท่าไหร่

ในต่างประเทศนั้น การจัดการลดความร้อนของเมืองนั้น ประกอบด้วยกันสองระบบใหญ่ นั่นคือ การเข้าใจระบบความร้อนในฐานะอุณหภูมิเมือง และการเข้าใจระบบความร้อนในฐานะของความสัมพันธ์ที่เกี่ยวกับการใช้พลังงานในเมือง

เรื่องใกล้ตัวทั่วโลกก็คือ เมื่อความร้อนในเมืองเพิ่มมากขึ้น เราก็มักจะเปิดแอร์ทั้งในอาคารและในรถ ซึ่งเรื่องของการเปิดแอร์เพื่อทำให้เราได้รับความเย็นนี้ โดยหลักการความเย็นในแบบนี้คือความเย็นที่เกิดจากการถ่ายเทความร้อน จากภายในอาคารออกสู่ภายนอกอาคาร หรือจากภายในรถออกสู่ภายนอกรถ

มิหนำซ้ำการทำให้เกิดความเย็นแบบนี้ ทำให้เกิดความร้อนด้านนอกเพิ่มขึ้น ทั้งพัดลมระบายอากาศ อากาศที่ถูกดูด และการทำให้คอยล์ร้อนนั้นทำงาน

พูดง่ายๆ ก็คือ จะเย็นได้ต้องใช้และสร้างความร้อนเพิ่มขึ้นก่อน การสร้างความเย็นเช่นนี้จึงเป็นความเย็นเฉพาะจุดที่ทำให้ความร้อนกระจายตัว และถูกกักกั้นไม่ให้เข้าไปกระทบพื้นที่ความเย็นที่ถูกสร้างขึ้น

นอกจากความเย็นจะถูกสร้างโดยเพิ่มความร้อนภายนอกพื้นที่ที่ถูกปิดกั้นไว้แล้ว กระบวนการทั้งหมดยังทำให้เกิดการใช้พลังงานมากขึ้นไปอีก ดังที่ก็รู้อยู่ว่าค่าไฟนั้นเพิ่มขึ้น และมีคนที่ได้รับผลกระทบจากความร้อนดังกล่าวก็ต้องพยายามปกป้องตัวเองจากการสร้างความเย็นโดยปล่อยความร้อนเช่นนี้ออกมาภายนอก

นี่คือหนึ่งใน “ระบบนิเวศเมือง” ในมิติใหม่ที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าไหร่ เพราะนิเวศวิทยาเมืองแต่เดิมสนใจแต่เรื่องของความสัมพันธ์ของชุมชนในเรื่องการถือและครองที่ดิน ขณะที่นิเวศวิทยาเมืองที่คิดว่าใหม่ (แล้ว) ก็ยังสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมแต่เรื่องของต้นไม้ใบหญ้าหรือความเขียว โดยไม่ได้สนใจเรื่องอุณหภูมิ และความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้คนผ่านการสร้างธรรมชาติใหม่ดังที่กล่าวมาในเรื่องของธรรมชาติของความเย็นที่ถูกผลิตในเมือง

ข้อมูลในระดับโลกชี้ให้เห็นว่า การใช้ไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องกับเครื่องปรับอากาศถือเป็นหนึ่งในห้าของการใช้ไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องกับอาคาร และการใช้เครื่องปรับอากาศทั่วโลกนั้นใช้ไฟฟ้ามากกว่าทวีปแอฟริกาถึงสองเท่าครึ่ง นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่าในอีกสามสิบปีข้างหน้า การใช้พลังงานที่เกี่ยวข้องกับการทำให้เกิดความเย็นในอาคารนั้นจะเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าจากปัจจุบัน และเท่ากับความต้องการพลังงานปัจจุบันของสหรัฐกับเยอรมนีรวมกัน

ส่วนหนึ่งที่ประเด็นความร้อนในเมืองนั้นเป็นเรื่องที่ฝรั่งมังค่าเขาสนใจมากกว่าเรื่องในบ้านเรา ก็เพราะว่าฝรั่งนั้นเมืองเขาร้อนไม่นาน แต่เวลาร้อนจริงๆ ไม่กี่วันนี่ร้อนมาก ร้อนแห้ง แถมยังมีคนตายด้วย ถึงกับมีความพยายามในการชี้ให้เห็นความสำคัญของเรื่องโดยชี้ว่าในสหรัฐนั้นคนตายจากคลื่นความร้อนมากกว่าภัยพิบัติธรรมชาติในรูปแบบอื่น ถ้าเฉลี่ยๆ ดู

การรณรงค์ลดความร้อนในเมือง (ไม่ใช่เอาตัวรอดในบ้าน หรือกับตัวเราเท่านั้น) มีทางออกอยู่หลายทาง เช่น การปลูกต้นไม้ หรือทำให้หลังคามีความร่มรื่น (ที่หนึ่งที่ต้องขอชื่นชมเป็นพิเศษ คือ ชั้นดาดฟ้าของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งมีสวนเล็กทั้งลดความร้อนและเป็นแปลงปฏิบัติการของนิสิต) การสร้างความเขียวเพื่อลดความร้อนมีข้อดีหลายประการ เช่น บังแดด และทำให้การระบายความร้อนดีขึ้น

อีกกรณีคือ สิงคโปร์ที่นอกจากจะปลูกต้นไม้มานาน ยังลามขึ้นไปบนตึกแล้วด้วย ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่แค่การรณรงค์ แต่มีกฎหมายใหม่ๆ ออกมาด้วย อาทิ การกำหนดว่าตึกที่สร้างขึ้นจะต้องมีพื้นที่สีเขียวเท่ากับพื้นที่ของตึก โดยมีการพิสูจน์แล้วว่าการทำเช่นนี้จะลดอุณหภูมิได้ตั้งแต่สองถึงสามองศา

ขณะที่บางพื้นที่ไปไกลกว่านั้น เช่น Oasis Hotel ที่คลุมตึกด้วยต้นไม้ ทำให้เกิดพื้นที่สีเขียวมากกว่าพื้นที่อาคาร 11 เท่า

นอกเหนือจากความเขียวแล้ว ในเมืองนั้นจะลดความร้อนได้ก็จะต้องลดความเข้มของวัสดุก่อสร้าง และทำให้เกิดการสะท้อนได้มากขึ้น (ไม่ใช่กระจก) อาทิ พื้นผิวอาคาร ผิวถนน และหลังคา ดังนั้น การเคลือบหรือทาสีหลังคาด้วยสีขาว ก็มีส่วนสำคัญทำให้ความร้อนลดลง เรื่องนี้มีการพูดถึงอยู่มากในประเทศอเมริกา และ ออสเตรเลีย ขณะที่ในแคลิฟอร์เนียนั้น พยายามลดความร้อนสาธารณะด้วยการทำให้ถนนนั้นมีสีอ่อนโดยการทาสีพื้นผิวถนน

การใช้ประโยชน์และออกแบบพื้นที่น้ำในเมืองก็มีส่วนสำคัญที่จะลดความร้อนให้กับเมืองได้อย่างมีนัยสำคัญ ตั้งแต่ทะเลสาบ บ่อน้ำ น้ำพุ รวมทั้งเครื่องปล่อยละอองน้ำก็มีส่วนสำคัญในการทำให้ความร้อนในพื้นที่สาธารณะลดลง นอกจากเรื่องของความสวยงาม

เรื่องสำคัญในการลดความร้อนในเมืองนั้นไม่มีสูตรสำเร็จ เราจำเป็นจะต้องมีข้อมูลหลายอย่างเพื่อให้เข้าใจถึงความเหมาะสมของการใช้มาตรการต่างๆ ให้สอดคล้องกัน งานวิจัยสมัยใหม่ชี้ว่าความสำคัญที่สุดในการลดความร้อนในเมืองไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงวัสดุก่อสร้าง หรือพื้นที่สีเขียวเท่านั้น แต่ผลของการลดความร้อนที่ดีที่สุดจะต้องมาจากการทำความเข้าใจสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศของพื้นที่นั้นๆ ด้วย เช่น ความชื้น ความแห้ง และความสัมพันธ์กับพื้นที่โดยรอบ

เรื่องนี้ทำให้เห็นว่าประชาชนจะมีส่วนร่วมกับการแก้ปัญหาความร้อนสาธารณะได้ ส่วนหนึ่งต้องเกิดการรวมตัวกดดัน หรือผลักดันให้รัฐบาลท้องถิ่นนั้นให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ นอกเหนือจากมาตรการและโครงการที่สามารถเรียนรู้และนำเข้าจากต่างประเทศดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

อีกสิ่งหนึ่งก็คือการสร้างความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาล และรัฐบาลท้องถิ่น ชุมชน และนักพัฒนาที่ดินในพื้นที่ เพื่อสร้างความร่วมมือและความเข้าใจร่วมกันว่าจะต้องทำให้ท้องถิ่นของเรานั้น ลดความร้อน และประหยัดพลังงานไปด้วยการสร้างอาคารขนาดใหญ่นั้น นอกจากจะต้องประหยัดพลังงานในตึกของตัวเองเพื่อประโยชน์ของตัวเองแล้ว จะต้องไม่สร้างภาระความร้อนให้กับคนอื่นในเมืองด้วย รวมไปถึงจะต้องลงทุนเพิ่มในอีกหลายส่วนเพื่อลดความร้อนที่ได้สร้างขึ้นมา เรื่องเหล่านี้เริ่มมีการ ณรงค์กันในสกอตแลนด์ และนอร์เวย์

รวมไปถึงการวางแผนจัดการความร้อน (heat planning) น่าจะเป็นอีกส่วนที่สำคัญในการรณรงค์ลดเมืองร้อน ก่อนที่จะตื่นตัวแต่กับการลดโลกร้อนนั่นแหละครับ ทั้งความเข้าใจเรื่องระดับจุลภาคของนิเวศวิทยาความร้อนในเมือง (urban heat ecology) ว่าความร้อนเกิดจากอะไรบ้าง ใครเปราะบางกว่ากัน มาจนถึงระดับชุมชน เขต และระดับเมือง และความเข้าใจถึงผลกระทบของความร้อนของเมืองที่มีต่อคนในเมือง และที่มีต่อพื้นที่โดยรอบ เมื่อเมืองปล่อยความร้อนและไอร้อนออกไป

หวังว่ากรุงเทพฯจะร้อนน้อยลงบ้าง ถ้าเราเริ่มสนใจเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง ไม่ใช่รอแต่ฝนตกอย่างเดียวครับ เพราะยังมีคนมากมายในกรุงเทพฯที่เข้าไม่ถึงความเย็น หรือว่าต้องทำงานและพักอาศัยในที่ร้อนเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้เมืองนี้ และให้คนอีกไม่น้อยที่ได้ความมั่งคั่งนั้นไปสร้างความเย็นเฉพาะตัวและครอบครัวของเขาต่อไป

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
([email protected])

(ศึกษาเพิ่มเติมได้จาก heatandthecity.org.uk. P. Oldfield. “What would a heat-proof city look like?”. The Guardian. 18Aug2018. และ H. Hoag. How Cities Can Beat the Heat. Nature. 20Aug2015)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image