คุณภาพคือความอยู่รอด ตอน โอกาสจากกฎหมายใหม่ : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

ประเด็นที่โรงงานในปัจจุบันให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ ก็คือ “โรงงานไม่ต้องต่ออายุใบอนุญาตอีกต่อไปแล้ว” ก็เป็นเรื่องจริงจนได้ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ประกาศไว้หลายเดือนแล้ว เพราะมีพระราชกฤษฎีกาประกาศใช้ “พระราชบัญญัติโรงงาน” 2 ฉบับใหม่ (ฉบับที่ 2 และ 3) เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 28 ตุลาคม 2562 นี้

เหตุผลในการประกาศใช้ “กฎหมาย (ว่าด้วย) โรงงาน” ฉบับใหม่ (พระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562) ก็คือ กฎหมายโรงงานฉบับที่ใช้อยู่ (ตั้งแต่ พ.ศ.2535) ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว ทำให้บทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมและไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะหลักเกณฑ์การควบคุมการประกอบกิจการโรงงานที่มีความเข้มงวดและล่าช้า อันสร้างปัญหาและอุปสรรคต่อการประกอบกิจการโรงงาน

ดังนั้นหลักเกณฑ์ของการควบคุมการประกอบกิจการโรงงานตามกฎหมายใหม่ จะควบคุมการประกอบกิจการโรงงานเพียงเท่าที่จำเป็น เกิดความรวดเร็ว ประหยัด และลดภาระแก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน โดยเฉพาะผู้ประกอบกิจการโรงงานขนาดเล็ก ด้วยการปรับปรุงขั้นตอน และระยะเวลาการพิจารณาของผู้อนุญาตและพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายให้มีความชัดเจน ลดการใช้ดุลพินิจ ยกเลิกการกำหนดให้มีการต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน และแก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษ รวมทั้ง ปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียม เพื่อให้เหมาะสมยิ่งขึ้นและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน

ส่วนเหตุผลในการประกาศใช้ พระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกำหนดกลไกเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้จากการดำเนินการตามภารกิจที่ถ่ายโอนให้ด้วย

Advertisement

กฎหมายโรงงานฉบับใหม่ ได้ให้คำนิยามความหมายของคำต่างๆ ขึ้นใหม่หลายคำ อาทิ

(1) “โรงงาน” หมายความว่า อาคาร สถานที่ หรือยานพาหนะที่ใช้เครื่องจักรมีกำลังรวมตั้งแต่ห้าสิบแรงม้าหรือกำลังเทียบเท่าตั้งแต่ห้าสิบแรงม้า หรือใช้คนงานตั้งแต่ห้าสิบคนขึ้นไปโดยใช้เครื่องจักรหรือไม่ก็ตามเพื่อประกอบกิจการโรงงาน ทั้งนี้ ตามประเภทหรือชนิดของโรงงานที่กำหนดในกฎกระทรวง

(2) “ตั้งโรงงาน” หมายความว่า การนำเครื่องจักรสำหรับประกอบกิจการโรงงานมาติดตั้งในอาคาร สถานที่ หรือยานพาหนะที่จะประกอบกิจการโรงงาน หรือนำคนงานมาประกอบกิจการโรงงานในกรณีที่ไม่มีการใช้เครื่องจักร

Advertisement

(3) “ประกอบกิจการโรงงาน” หมายความว่า การทำ ผลิต ประกอบ บรรจุ ซ่อม ซ่อมบำรุง ทดสอบ ปรับปรุง แปรสภาพ ลำเลียง เก็บรักษา หรือทำลายสิ่งใดๆ ตามลักษณะกิจการของโรงงานแต่ไม่รวมถึงการทดลองเดินเครื่องจักร

กฎหมายโรงงานฉบับใหม่นี้ จะทำให้การประกอบกิจการเล็กๆ ไม่เข้าข่ายเป็น “โรงงาน” (เหมือนแต่ก่อน) ทำให้ไม่ต้องขออนุญาต เท่ากับเป็นการส่งเสริมให้กิจการประเภท SMEs มีโอกาสเกิด พัฒนาและเติบใหญ่ต่อไปได้

ดังนั้นหากเราคิดบวกทำบวกแล้ว ทุกครั้งที่มีกฎหมายออกมาใหม่ เกิดเทคโนโลยีใหม่ และนวัตกรรมใหม่ๆ ก็จะมี “โอกาสใหม่ๆ” เกิดขึ้นเสมอ ซึ่งทำให้พวกเรามีโอกาสแจ้งเกิดด้วย ครับผม !

วิฑูรย์ สิมะโชคดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image