เสียง เครื่องดนตรี และบทเพลง ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จากร่องรอยอดีตถึงปัจจุบัน : โดย สุกรี เจริญสุข

“เสียงคืออำนาจ”
ต้นเดือน (4-6) พฤษภาคม 2562 เป็นช่วงเวลาของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งในพระราชพิธีที่สำคัญครั้งยิ่งใหญ่นี้ ประชาชาชนได้สัมผัสเสียงดนตรีจากร่องรอยอดีตถึงปัจจุบัน เนื่องจากดนตรีที่ใช้ประกอบพระราชพิธีเป็นดนตรีพิธีกรรม เป็นดนตรีที่เชื่อถือว่าเป็นเสียงศักดิ์สิทธิ์ สังคมจำต้องสืบทอดรักษาและดำรงไว้ให้มั่น และจำทรงไว้ต่อไป ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้

เสียงเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญสำหรับพระราชพิธี เพราะพิธีกรรมที่สำคัญทุกๆ พิธีต้องใช้เสียงดนตรีเป็นหุ้นส่วนสำคัญ เสียงเป็นพลังงานที่มีอำนาจ เสียงอยู่ที่ไหนอำนาจก็จะอยู่ที่นั่น อำนาจของเสียงเป็นอำนาจของผู้นำและพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่

พัฒนาการของเสียงที่มีอำนาจนั้น อยู่คู่กับผู้นำซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ร่องรอยของเสียงเครื่องดนตรี และบทเพลงที่สำคัญ จะบอกร่องรอยประวัติศาสตร์ พัฒนาการของมนุษยชาติด้วย

มนุษย์มีความกลัวเป็นพื้นฐาน เสียงดังทำให้ความกลัวของมนุษย์หายไป มนุษย์ก็คิดวิธีจะควบคุมเสียงไว้เป็นอาวุธเพื่อจะขจัดความกลัวโดยเอาเสียงมาไว้ใกล้ตัว นอกจากเพื่อขจัดความกลัวแล้ว มนุษย์ใช้เสียงที่ถูกควบคุมไว้กับผู้ทำพิธีกรรม อาทิ ผู้นำศาสนา ผู้นำความเชื่อ ผู้ทำพิธีกรรม ผู้นำลัทธิแม้แต่หมอผีก็ใช้เพลงสวดหรือการบริกรรมคาถา ทั้งนี้ก็เพื่อจะขจัดความกลัวทั้งสิ้น

Advertisement

ผู้นำโลกสมัยใหม่ พระมหากษัตริย์ ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี ฯลฯ ก็จะมีกองทหารเกียรติยศที่ประกอบด้วยวงดุริยางค์ ประโคมและบรรเลงรับเสด็จ มีวงดนตรีกองเกียรติยศไว้สำหรับการต้อนรับ

“เสียงของพิธีกรรมดั้งเดิม”
โปงเป็นระฆังไม้เนื้อแข็ง ใช้ในพิธีกรรมที่วัดหรือพื้นที่ทางศาสนา โปงมีน้ำหนักมากตามธรรมชาติ มีเสียงดังไม่ไกล เมื่อมนุษย์คิดค้นโลหะขึ้นได้ ก็นำมาทำเป็นฆ้องและระฆังเพื่อใช้ในพิธีกรรม เสียงของเนื้อโลหะตีดังกังวานไปได้ไกล อาทิ ฆ้องหุ่ย กลองมโหระทึก บางครั้งเรียกว่ากลองกบ เป็นการตีกลองกบเพื่อขอฝน (กบเขียด) เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ฝนตกสามารถปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารได้ ฆ้องหุ่ยและมโหระทึกเป็นเครื่องดนตรีท้องถิ่นซึ่งใช้ในพระราชพิธีตีมีเสียงดังกังวาน ซึ่งยังมีวงปี่พาทย์ประโคมด้วย

“เสียงพิธีกรรมจากพราหมณ์”
สำหรับพระมหากษัตริย์ไทยนั้น ยังมีวงเครื่องสูง บัณเฑาะว์ แตร สังข์ วงปี่กลอง ซึ่งเป็นพิธีแบบพราหมณ์ สังข์เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ในพิธีกรรมที่เก่าแก่ที่สุด มีความเป็นธรรมชาติที่สุดก็คือ ใช้เปลือกของหอยสังข์ซึ่งเป็นหอยตัวใหญ่อยู่ในทะเลน้ำลึก (ทะเลอันดามัน) เมื่อเอาเปลือกหอยมาตัดที่ส่วนท้าย ก็จะได้เป็นรู ใช้ปากเป่าลมผ่านรูก้นหอย ก็จะเกิดเสียงดัง กระพุ้งเปลือกหอยก็จะอุ้มเสียงให้ดังกังวานหวาน เสียงของสังข์ ใช้ในฐานะบอกสัญญาณของพระราชพิธี

Advertisement

แตรงอน เดิมนั้นเป็นเขาสัตว์ (เขาวัว เขาควาย เขากวาง) มีลักษณะโค้งงอน เมื่อตัดปลายเขาเจาะให้เป็นรูแล้ว ใช้เป่าด้วยปาก ท่อรูปทรงกรวยของเขาสัตว์ เมื่อเป่าก็จะเป็นเสียงที่ดังหวานละมุน เสียงผ่านกระบอกส่งสัญญาณไปได้ไกล แต่ก็เป็นเพียงเสียงสัญญาณ ไม่สามารถทำเสียงเป็นเพลงได้

ต่อมา เมื่อมนุษย์คิดค้นโลหะได้ ก็ทำท่อด้วยโลหะเลียนแบบเขาสัตว์ เรียกว่า แตรงอน ที่เรียกชื่อว่าแตรนั้น เพราะเมื่อเป่าลมเข้าไปแล้วเสียงที่ดัง “แพร่ แพร่ แกร แตร” คนไทยจึงเรียกว่าแตรงอน เสียงที่ได้จากแตรงอนก็ใช้เป็นสัญญาณบอกว่าเป็นพระราชพิธีของพระมหากษัตริย์

บัณเฑาะว์เป็นเครื่องดนตรีที่พราหมณ์ใช้แกว่งไกวเพื่อปัดรังควาน โดยให้ปัดเอาสิ่งไม่ดีออกไป บัณเฑาะว์เป็นเครื่องดนตรีที่ประดิดประดอยมาก เสียงก็ไม่ได้ดังไปได้ไกลนัก บัณเฑาะว์เป็นเครื่องดนตรีใช้เป็นสัญลักษณ์ของพระราชพิธีเป็นหลัก

วงปี่กลอง (ปี่ไฉนกลองชนะ) ใช้สำหรับการแห่ในพระราชพิธี ยังมีวงปี่พาทย์เพื่อประโคมให้เป็นบทเพลงที่ไพเราะ ความไพเราะถือว่าเป็นความศักดิ์สิทธิ์ ขลัง และเสียงทรงพลัง บทเพลงพิธีกรรมนั้นเป็นบทเพลงประหนึ่งเสียงสวรรค์ กล่าวคือไม่มีอารมณ์ของมนุษย์ (รักโลภโกรธหลง) เข้าไปปะปน มีแต่เสียงดนตรีเพื่อถวายแด่สรวงสวรรค์ หมายถึงถวายแด่พระมหากษัตริย์

เพลงของปี่ไฉน นักปี่เป่าตามเสียงพราหมณ์ที่ “ร่ายคาถา” เหมือนกับบทสวดมนต์ ปี่จึงไม่ได้เป่าเพลง แต่เป่าปี่สวดจากบทคาถา ยกเว้นหากนักปี่สวดบทคาถาไม่ได้ นักปี่ก็ต้องจำเสียงปี่จากครูปี่รุ่นเก่า

“สรรเสริญพระบารมีอย่างสากล”
พัฒนาการเสียงดนตรีในพระราชพิธี เพิ่มเติมโดยรับเอาเครื่องดนตรีจากสังคมโลกตะวันตก เพราะมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า พัฒนาการจากสงคราม การค้า การล่าอาณานิคม จึงได้พัฒนาเครื่องดนตรีในพระราชพิธีเพิ่มขึ้น มีแตรฝรั่ง (Natural Trumpet) บางครั้งก็เรียกว่าแตรบาโรค (Baroque Trumpet) แตรในยุคนั้นยังไม่มีนิ้ว แตรฝรั่งมีท่อยาว พนักงานเป่าเปลี่ยนเสียงโดยใช้ริมฝีปาก เสียงที่ทำได้เฉพาะคู่เสียงที่เป็นคู่ธรรมชาติเท่านั้น การสร้างทำนองเพลงจึงทำเสียงได้จำกัด ให้เสียงเป็นสัญญาณและเป็นทำนองไพเราะ

แตรฝรั่งเป็นแตรท่อยาว มีปากแตรบาน เสียงดังไกล เมื่อก่อนเรียกกันว่าแตรวิลันดา เป็นของชาวฮอลันดานำเข้ามาในสมัยอยุธยา (พระเอกาทศรถ พ.ศ.2148-2153) มีหลักฐานจากจิตรกรรมฝาผนัง ยังมีเครื่องมืออื่นอย่างเลื่อยฉลุ ที่ช่างไม้ใช้งานเลื่อยรูเล็กๆ เรียกว่า “เลื่อยลัดดา” ซึ่งเป็นอุปกรณ์ของชาวฮอลันดานำเข้ามาใช้ เพลงที่เป่าด้วยแตรวิลันดาก็คือ เพลงวิลันดา มาจากเพลงที่พนักงานเป่าแตรเพื่อให้สัญญาณเมื่อเรือจะออกจากท่า เรือจะเข้าท่า เมื่อเรือจะทอดสมอ บทเพลงของแตรฝรั่งในสมัยอยุธยา เมื่อนักดนตรีปี่พาทย์ ต้องการเลียนแบบเพลงแตรฝรั่ง ก็ตั้งชื่อเพลงว่า “วิลันดาโอด”

แตรฝรั่งที่ใช้ในพระราชพิธีชุดปัจจุบัน (ทำเลียนแบบของโบราณที่ใช้อยู่เดิม) สร้างโดยบริษัทแตรโบราณ (Thein-blechblastrumente.de) ตั้งอยู่ที่เมืองเบรเมน (Breman) เยอรมนี ศึกษาโดย ดร.เจมส์ อัพตัน (James Upton) สนับสนุนการสร้างโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อ 20 เมษายน 2543

ทำนองเพลงแตรที่ใช้ในพระราชพิธี มีเหลืออยู่เพียงทำนองเดียวเท่านั้น ซึ่งพนักงานแตรจำทำนองและรักษาเอาไว้สืบต่อกันมา เมื่อปี พ.ศ.2509 ครูสมาน กาญจนะผลิน (นักเป่าแตร) นำทำนองไปเรียบเรียงเกรินเพลงสดุดีมหาราชา ซึ่งเป็นเพลงเอกประกอบในภาพยนตร์เรื่อง “ลมหนาว” โดยครูสมานได้เอาเพลงแตรรับเสด็จ จึงทำให้ทำนองเพลงรับเสด็จในพระราชพิธีเป็นที่รู้จักแพร่หลาย

ในสมัยรัชกาลที่ 4 พ.ศ.2395 วงทหารแตรและกลองมะริกัน เข้ามาเพิ่มในพระราชพิธี ซึ่งวงทหารแตรสมัยนั้นเป่าเพลงสรรเสริญพระบารมีอังกฤษ (God Save the Queen) หรือเพลงจอมราชจงเจริญ

เพลงสรรเสริญพระบารมี (ฉบับปัจจุบัน) ใช้บรรเลงรับเสด็จครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2431 ในงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลเจ้าเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยกองทหารเกียรติยศ เป็นสิ่งที่เพิ่มเติมขึ้น รูปแบบวัฒนธรรมของยุโรป โดยมีครูฝรั่งเป็นผู้ฝึกทหารกองเกียรติยศ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้มีบทเพลงเพิ่มในขบวนเสด็จขึ้น คือเพลงสรรเสริญเสือป่า ซึ่งเรียบเรียงจากบทเพลงบุหลันลอยเลื่อน โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต (ทูลกระหม่อมบริพัตร) ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีบทเพลงเฉลิมพระเกียรติเพิ่มขึ้นในขบวนเสด็จฯอีก อาทิ เพลงพระราชนิพนธ์ธงชัยเฉลิมพล เรียบเรียงโดยพระเจนดุริยางค์ เพลงพระราชนิพนธ์มาร์ชราชวัลลภ โดยอาจารย์วิจิตร จิตรังสรรค์

และเพลงสรรเสริญพระนารายณ์ เพลงพระราชนิพนธ์ใกล้รุ่ง และเพลงพระราชนิพนธ์ยามเย็น ซึ่งได้เรียบเรียงขึ้นใหม่โดยพันเอกประทีป สุพรรณโรจน์ (กองทัพบก)

“มหรสพสมโภช”
เสียงดนตรีพระราชพิธี เครื่องดนตรี และบทเพลงที่เคยมีมาแล้วในอดีต ถูกนำมาใช้ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ครบถ้วน ได้มีบทเพลงเพิ่มเติมขึ้นใหม่เพื่อให้ทันยุคสมัย ซึ่งเป็นมิติของการเฉลิมฉลองสมโภชพระเกียรติยศเพื่อสรรเสริญพระบารมีอันยิ่งใหญ่

ในส่วนของมหรสพสมโภชครั้งนี้ เนื่องจากมีการนำเทคโนโลยีพัฒนาก้าวไกล การแปรขบวนโดรนเข้าร่วมสมโภชเฉลิมพระเกียรติ จึงเป็นเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นในรัชกาลปัจจุบัน บทเพลงใหม่ที่ได้เรียบเรียงขึ้นโดยพันเอกประทีป สุพรรณโรจน์ เป็นเพลงประกอบการแปรขบวนโดรน แสดงในพื้นที่ท้องสนามหลวง คืนวันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม 2562 เวลา 19.00 น. จำนวน 2 เพลง

เพลงพระบรมราชาภิเษก (Coronation) ประกอบโดรนชุดใหญ่ (7.37 นาที) ได้นำทำนองส่วนหนึ่งจากเพลงสรรเสริญพระนารายณ์ (สายสมร) โดยพันเอกประทีป สุพรรณโรจน์ เล่นประกอบการแสดงบังคับอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) แปรขบวนเป็นรูปและอักษรถวายสดุดีจักรีวงศ์ เพื่อใช้ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเป็นการเฉพาะ บทเพลงเทิดทูนพระปรีชาสามารถพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี ที่ทรงสร้างอาณาจักรไทยให้เป็นปึกแผ่น ให้มีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมอาณารยประเทศ สร้างบ้านเมืองมีความสงบสุขร่มเย็น ประชาชนมีความรักสามัคคีทุกหมู่เหล่า

เพลงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (Majesty) ประกอบโดรนชุดเล็ก (6.03 นาที) โดยนำทำนองมาจากเพลงสรรเสริญ (Hymn) ของแจ๊ค เฮฟอร์ด (Jack Hayford) เป็นแรงบันดาลใจจากผู้มีจิตศรัทธาที่สูงส่ง ประกอบด้วยนางฟ้าและเทวดาทั้งหลาย ต่างแซ่ซ้องสรรเสริญชื่นชมพระบารมี พระผู้สถิตอยู่ในสรวงสวรรค์ที่ได้เสด็จฯลงมายังโลกมนุษย์ เพื่อปราบทุกข์เข็ญและนำมาซึ่งความผาสุกร่มเย็นให้กับพสกนิกรของพระองค์ เรียบเรียงเพลงโดยพันเอกประทีป สุพรรณโรจน์

กรณีของการใช้บทเพลงสวด (Hymn) นั้น ได้มีการนำทำนองเพลงสวดหลายบท ในบริบทต่างๆ ในสังคมไทย อาทิ เพลงยี่เฮ็ม (Hymn) ซึ่งวงปี่พาทย์ไทยเล่นอยู่ในเพลง 12 ภาษา เป็นที่รู้จักก็คือเพลงตัดเค้กแต่งงาน หรือเพลงจอมราชจงเจริญ นำเพลงสวด (Hymn) ซึ่งเป็นเพลงชาติของอังกฤษ โดยนำมาใช้เป็นบทเพลงสรรเสริญพระบารมีของไทย อยู่ 20 ปี (พ.ศ.2395 ถึงปี พ.ศ.2414)

บทเพลงพระบรมราชาภิเษกและเพลงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บรรเลงและบันทึกเสียงโดยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา (Thai Symphony Orchestra) ประกอบด้วยนักดนตรีที่มีฝีมือสูงของชาติ ทุกคนตั้งจิตตั้งใจ บรรเลงถวายเป็นเพลงเกียรติยศแห่งยุค เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าที่สมสมัย ประดุจการประกาศพระเกียรติยศของพระองค์ให้กึกก้องกังวาน เพื่อเป็นของที่ระลึกให้กับชาวโลก สร้างความภาคภูมิใจแก่ปวงพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกใช้เสียงโบราณ เครื่องดนตรีโบราณ บทเพลงบ่งบอกถึงร่องรอยของอดีตเสียงขับไล่ปัดรังควาน เสียงฆ้องระฆัง มโหระทึก แตรสังข์ เสียงสวดร่ายคาถาของปี่ไฉนกลองชนะ บทเพลงอัญเชิญเทวดาฟ้าดิน บทเพลงสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย โดยใช้วงซิมโฟนีออร์เคสตรา ด้วยมีวัตถุประสงค์เดียวกันคือ “ขอพระองค์ทรงพระเจริญ”

สุกรี เจริญสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image