ที่เห็นและเป็นไป : ประชาชนหรือ‘เชลย’ : โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

ประเทศเข้าสู่โหมดการเมืองอย่างรวบรัดในเส้นทาง “รัฐประหารไม่เสียของ” อันหมายถึงบุคคลกลุ่มหนึ่งยังควบคุมอำนาจรัฐไว้ได้หลังการเลือกตั้ง

เป็นบุคคลกลุ่มหนึ่งกลุ่มเดียวที่แม้จะพยายามปฏิเสธก็ด้วยเหตุผลที่พร่าแปร่ง ทำให้คนคล้อยตามได้ยาก

แต่กระนั้นก็ตาม ประเทศไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเดินตามกลไกที่ “ดีไซน์ไว้เพื่อพวกเรา” ของ “พวกเขา”

สิ่งที่เกิดขึ้นเกินกว่าจะคาดคิด และดูเหลือเชื่อ ด้วยหากใครจะบอกก่อนการเลือกตั้งว่าการแจกเก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จะเป็นแบบที่ทำกันอยู่ คนที่บอกจะถูกมองเป็นมนุษย์ที่ความคิดประหลาด

Advertisement

แต่วันนี้ความคิดประหลาดนั้นเป็นจริงขึ้นมาแล้ว จนส่งผลให้อึ้งกันไปทั้งบ้านทั้งเมือง

รัฐธรรมนูญที่ดีไซน์ด้วยเป้าหมายให้บั่นทอนพลังของพรรคการเมือง เพื่อเปิดโอกาสให้คนกลุ่มนั้นขับเคลื่อนอำนาจได้ง่ายๆ ก็ “โอ้โฮ” กันอยู่แล้วในหมู่คนที่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยที่ต่อต้านการไม่ให้ราคากับอำนาจประชาชน

แต่หลังเลือกตั้งที่เกิดการแจกเก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แบบ 2 ฐานคะแนน

Advertisement

ชุดแรกใช้ “ฐาน ส.ส.พึงมีที่ 70,000 กว่าคะแนน”

หลังจากเกิดความยุ่งยากของคนกลุ่มนี้จากการรวบรวมเสียง ส.ส.ให้ได้เกินครึ่ง เกิดกระบวนการจัดฐาน ส.ส.พึงมีใหม่ ให้ล็อต 2 ใช้การแจกพรรคเล็กพรรคละเก้าอี้ ด้วยการไล่แจกให้พรรคที่ได้เสียงไม่ถึง “ฐานพึงมี” ล็อตแรกจากมากมาหาน้อย ให้ครบ 150 คน จนฐานสุดท้าย “ส.ส.พึงมี” เหลือแค่ไม่ถึง 30,000 เสียง

แค่นั้นก็พูดไม่ออกบอกไม่ถูกกันเป็นแถว

แต่นั้นยังไม่พอ

การสรรหา “ส.ว.” ซึ่งรัฐธรรมนูญดีไซน์ไว้ให้มีอำนาจกำหนดชะตากรรมความเป็นไปของประเทศอย่างล้นเหลือมากกว่าที่เคยเป็นมาหลายเท่า ยิ่งก่อความรู้สึก “เฮ้ย! อะฮ้า” ยิ่งกว่า

รัฐมนตรีลาออกแทบหมด ครม. เพื่อตอบรับคำเชิญเป็น ส.ว. เช่นเดียวกับข้าราชการเกษียณ และใกล้เกษียณที่ยื่นใบลาออกมาสมทบ

มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ยกมือลงมติเอกฉันท์ ส่งเสียงชื่นชมความดีงามของผู้มีอำนาจมาตลอดการทำหน้าที่เกือบ 5 ปีที่ผ่านมา ยื่นใบลาออกเพื่อตอบรับคำเชิญให้มาเป็น ส.ว.ต่อจาก “คณะกรรมการสรรหา” ที่ไม่ต้องการเปิดเผยตัว

ยังมีนักรับใช้อำนาจจากอดีตสภาปฏิรูป คณะกรรมการปฏิรูป และอื่นๆ

ประเทศที่มีประชาชน 70 กว่าล้านคน ทำหน้าที่เสียภาษีให้ผู้มีอำนาจรัฐเอาไปใช้จ่าย แต่พอถึงเวลาคัดสรรคนที่จะเข้ามาจัดการประเทศ กลายเป็นว่าโอกาสเป็นของคนกลุ่มเดียว

เวียนเทียนกันเข้ามารับตำแหน่งโน้นบ้าง ตำแหน่งนี้บ้าง ด้วยเหตุผลว่าคนหน้าเดิมๆ เหล่านี้พิสูจน์แล้วว่าเชื่อได้ ไม่มีใจเป็นอื่น

การแบ่งสรรปันส่วนอำนาจให้กับพวกพ้อง โดยมองข้ามความรู้สึกนึกคิดของคนที่มองเห็นความไม่เป็นธรรม ด้วยการอ้างถึงความจำเป็นในการจัดการให้เกิดความสงบ อาจจะทำให้ผู้มีอำนาจก้าวพ้นความรู้สึกไม่เหมาะไม่ควร

แต่หากมองให้ลึกลงไป จนตั้งสติเพื่อให้เกิดปัญญาพอที่จะรับรู้ได้ว่าความสงบที่แท้จริงของการอยู่ร่วมกัน คือการรักษาหลักการแห่งคุณธรรมไว้ได้

ผู้มีอำนาจจะกระจ่างว่า การตอกย้ำความมีอำนาจ โดยไม่ใส่ใจต่อความเป็นธรรมนั้น สวนทางกับการสร้างระบบการอยู่ร่วมกันด้วยความสงบสุขอย่างสิ้นเชิง

หากรับรู้ว่ากติกาที่ใช้ร่วมกันให้ความได้เปรียบกับคนกลุ่มหนึ่ง กดข่มคนกลุ่มอื่นๆ อีกทั้งการใช้กติกายังกระฉอกไปทางโน้นทีทางนี้ที แล้วแต่ผู้มีอำนาจอยากให้ไปทางไหน ไม่มีใครหรอกที่ทำใจให้อยู่ร่วมกันการบริหารจัดการเช่นนี้ด้วยความรู้สึกสุขสงบ

อย่างดีที่สุดคือ จำยอมให้สามัญสำนึกถูกกดทับไว้ด้วยความรู้สึกว่าจำเป็นต้องอดทนต่อความไม่เป็นธรรม

ชีวิตเช่นนี้เป็นชีวิตของเชลย ที่ไม่มีทางต่อสู้ในวันนี้

ในสภาวะของจิตใจเช่นนี้ ไม่มีทางที่จิตใจจะสงบสุขได้

ผู้มีอำนาจอาจจะมองว่า การสยบทุกอย่างให้ทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมาย “ไม่เสียของ” ได้

ถือเป็นความสำเร็จ ถือเป็นชัยชนะ

ในสนามรบ เพื่อชัยชนะ นักรบทำทุกอย่างได้ ไม่ว่าจะโหดเหี้ยม หรือไร้คุณธรรมแค่ไหน

แต่การบริหารจัดการบ้านเมืองอันส่งผลกระทบต่อหลักยึดเหนี่ยวของการอยู่ร่วมกันด้วยศรัทธาและสามัคคี

ผู้นำที่มุ่งแต่ชัยชนะโดยไม่เลือกวิธี

นับเป็นว่าชาญฉลาดได้หรือ

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image