เส้นทางหืด รบ.ใหม่ เผชิญหน้า วิกฤต การเมือง เศรษฐกิจ สังคม

วันที่ 7 พฤษภาคม คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติรับรองผล ส.ส.ระบบเขต จำนวน 349 คน จากจำนวน 350 คน

เหลือเพียง 1 เขต คือ เขต 8 จังหวัดเชียงใหม่ที่ กกต.ให้ใบส้ม และกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่วันที่ 26 พฤษภาคม

วันที่ 8 พฤษภาคม ช่วงเช้าศาลรัฐธรรมนูญแถลงผลวินิจฉัยประเด็นที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า มาตรา 128 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 91 เกี่ยวกับวิธีการคำนวณ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ

ผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเอกฉันท์ว่า ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

Advertisement

ในช่วงเย็น กกต.ได้ประกาศรับรอง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 149 คน จาก 150 คน ตามเงื่อนไขของ มาตรา 129 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

ส.ส.บัญชีรายชื่อดังกล่าว กกต.รับรองทั้งหมด 26 พรรค

เมื่อรวมกับพรรคเพื่อไทยซึ่งมี ส.ส.เขต แต่ไม่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทำให้สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้มีพรรคการเมืองทั้งสิ้น 27 พรรค

Advertisement

ถือเป็นสภาผู้แทนราษฎรที่มีพรรคการเมืองมากที่สุดครั้งหนึ่งประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ผลจากการประกาศรับรอง ส.ส.ดังกล่าวย่อมมีผลได้และผลเสียต่อการจัดตั้งรัฐบาล

ฝ่ายไหนได้ประโยชน์

ผลจากการรับรอง ส.ส.ทั้ง 2 ระบบ รวมทั้งสิ้น 498 คน หากนำมาแบ่งตามขั้วเพื่อไทย และขั้วพลังประชารัฐตามกระแสข่าวที่เปิดเผยออกมาก่อนหน้านี้แล้ว สามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่ม

กลุ่มแรกไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 136 คน พรรคอนาคตใหม่ 80 คน พรรคเสรีรวมไทย 10 คน พรรคประชาชาติ 7 คน พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 คน พรรคเพื่อชาติ 5 คน พรรคพลังปวงชนไทย 1 คน รวมเป็น 245 คน

กลุ่มที่สองสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ 115 คน พรรคภูมิใจไทย 51 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 10 คน พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5 คน พรรคชาติพัฒนา 3 คน พรรคท้องถิ่นไท 3 คน พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 คน และพรรคอื่นๆ อีก 12 พรรค พรรคละ 1 คน รวม 201 คน

กลุ่มที่สามคือ พรรคประชาธิปัตย์ มีทั้งกลุ่มที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ และกลุ่มที่ไม่สนับสนุน โดยกำลังแข่งขันแย่งชิงหัวหน้าพรรคคนใหม่แทนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อยู่

พรรคประชาธิปัตย์มี ส.ส. 52 คน

หากพรรคประชาธิปัตย์ไปรวมขั้วพรรคเพื่อไทย จะมี ส.ส. 297 คน

ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไปรวมขั้วพรรคพลังประชารัฐ จะมี ส.ส. 253 คน

อย่างไรก็ตาม ขั้วที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ยังมี ส.ว.อีก 250 คนที่ คสช.คัดเลือกตั้ง ซึ่งเชื่อว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ตอนโหวตเลือก

แนวโน้มจึงเป็นไปได้อย่างสูงว่า ขั้วพลังประชารัฐจะได้เป็นรัฐบาล

ยิ่งถ้ากระแสงูเห่าเป็นจริง พรรคพลังประชารัฐยิ่งมีโอกาสมากขึ้น

การวัดพลังว่าฝ่ายใดมีชัยจะเกิดขึ้นในวันที่ 23 พฤษภาคม เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร

ณ วันนั้น ด้วยจำนวน ส.ส.ที่กำลังจับขั้วกันฝุ่นตลบอยู่ในขณะนี้จะต้องตัดสินใจว่าจะเลือกอยู่ขั้วไหน

ทั้งนี้ มีกระแสข่าวจากพรรคพลังประชารัฐ ว่าได้เฟ้นหาตัวบุคคลที่เหมาะสมกับตำแหน่งดังกล่าวเอาไว้แล้ว ขณะเดียวกัน นายสุชาติ ตันเจริญ ก็ออกมาประกาศความพร้อม ส่วน นายวิรัช รัตนเศรษฐ ก็มีความหวังลึกๆ ว่าจะได้เป็น

เกิดเป็นกระแสแข่งขันเล็กๆ ภายในพรรคพลังประชารัฐ

เช่นเดียวกัน กระแสการ “แบ่งโควต้ารัฐมนตรี” ที่กำลังกลายเป็นเรื่องที่ต้องต่อรองกันอย่างเข้มข้น

เมื่อพรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวแปรสำหรับการจัดตั้งรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ย่อมมีอำนาจต่อรอง แต่ขณะเดียวกัน พรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีเสียงไม่แตกต่างจากพรรคประชาธิปัตย์ก็เริ่มขยับ โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค โพสต์ทำนองว่ายังไม่ตัดสินใจ

ทำให้พรรคภูมิใจไทยเป็นอีกพรรคที่กระโจนเข้าสู่วงต่อรอง

ทั้งนี้ กระแสข่าวแบ่งโควต้ามีทั้งโควต้าของ คสช. ซึ่งต้องให้เพื่อนพ้องน้องพี่ ทั้งโควต้าของ 4 รัฐมนตรี โควต้าของกลุ่ม 3 มิตร แล้วก็โควต้าของพรรคการเมืองต่างๆ ที่เข้ามาร่วมรัฐบาล

นอกจากโควต้ารัฐมนตรีแล้ว ยังมีการพาดพิงไปถึงเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ที่แวดวงการเมืองจัดเป็นเกรดเอ เกรดบี

การต่อรองทุกอย่างกำลังเกิดขึ้น และต้องจบลงก่อนวันที่ 23 พฤษภาคม

เพราะวันนั้นจะเป็นวันโชว์เสียงในสภา

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น มีแนวโน้มว่ารัฐบาลชุดใหม่จะต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์วิกฤตทุกวัน

ประการแรก คือ วิกฤตในสภา ทั้งนี้ เพราะเสียงสนับสนุนของพรรคการเมืองทั้งขั้วพลังประชารัฐ และขั้วเพื่อไทย มีโอกาสพลิกผันได้ตลอดเวลา แม้ตอนเลือกนายกรัฐมนตรีจะมีเสียงของ ส.ว.เข้ามาสนับสนุน 250 เสียง แต่ตอนที่ผ่านร่างกฎหมายอื่นๆ โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย

โอกาสที่เสียงในสภาจะไม่เพียงพอนั้นมีสูง

ประการที่สอง คือ วิกฤตในรัฐบาล ทั้่งนี้ เพราะกลุ่มก้อนที่มารวมกันเป็นรัฐบาลผสมนั้นมีมาก การแบ่งปันเก้าอี้รัฐมนตรีจึงมีปัญหาตั้งแต่ต้น และเมื่อรัฐบาลขับเคลื่อนไปสักพัก อาจจะมีอาการกระทบกระทั่งกันระหว่างนายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรี ซึ่งจำเป็นต้องใช้ศาสตร์การบริหารเข้ามาช่วยอย่างสูง เนื่องจากอำนาจตามมาตรา 44 ไม่มีแล้ว

ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความสามารถของนายกรัฐมนตรีล้วนๆ

ประการที่สาม คือ วิกฤตของโลก โดยเฉพาะปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่ประเมินกันว่าปี 2562 นี้เศรษฐกิจโลกจะมีปัญหา ผนวกกับการต่อสู้กันทางการค้าของมหาอำนาจใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาและจีน ย่อมส่งผลกระทบต่อไทยไม่มากก็น้อย

ยิ่งไปกว่านั้น ประเมินกันว่าเสถียรภาพรัฐบาลหรือเสถียรภาพทางการเมืองก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน

หากการเมืองไร้เสถียรภาพ รัฐบาลไม่สามารถจูงใจให้ภาคธุรกิจมาลงทุนได้ การส่งออกมีปัญหา ผู้คนไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย

เศรษฐกิจย่อมได้รับผลกระทบ

ประการที่สี่ คือ วิกฤตความศรัทธา ทั้งหากจับอารมณ์ทางสังคมจะพบว่าสังคมไทยเริ่มหวาดหวั่นต่อสถานการณ์ของประเทศ โดยเฉพาะสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ หากรัฐบาลดำเนินการไปแล้วเศรษฐกิจไม่ฟื้น

ผลกระทบเศรษฐกิจจะกลับย้อนมาเป็นผลกระทบทางการเมือง ซึ่งรัฐบาลต้องรับไปเต็มๆ อย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

วิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้น คือ การบ้านที่รัฐบาลชุดใหม่ต้องเผชิญหน้า

เป็นงานหนักที่รัฐบาลหน้าจะต้องพิสูจน์ให้สังคมเห็นฝีไม้ลายมือ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image