การลงประชามติรับร่าง รธน. โดย วีรพงษ์ รามางกูร

บรรยากาศขณะนี้อบอวลไปด้วยข่าวการรณรงค์ให้ประชาชนออกไปร่วมลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว และกำลังจะออกมาอธิบายถึงความดีและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ หากผ่านการลงคะแนนเสียงประชามติซึ่งกำหนดไว้ในวันที่ 7 สิงหาคม ปี 2559 ก็จะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ปกติรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดกำหนดกรอบรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นกฎหมายรับรองอำนาจอธิปไตยของประชาชน รวมทั้งโครงสร้างอำนาจหน้าที่ของสถาบันการเมืองต่างๆ ที่จำเป็นในการปกครองประเทศ ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข

เมื่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญก็ย่อมจะต้องรับผิดชอบต่อผู้แต่งตั้งคือ คสช. จะให้รับผิดชอบต่อประชาชนย่อมจะไม่ถูกต้อง สอดคล้องกับคำกล่าวของท่านรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายว่า “ลงเรือแป๊ะก็ต้องตามใจแป๊ะ” เมื่อร่างรัฐธรรมนูญถูกประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแล้ว ความรับผิดชอบก็ต้องอยู่กับ คสช. หาใช่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญไม่

ประชามตินั้นมีความสำคัญมาก เพราะเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยโดยตรงของประชาชน ไม่ใช่การใช้อธิปไตยผ่านตัวแทนของตนโดยสภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา ในกรณีที่วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน

Advertisement

ประชามติจึงผูกพันสถาบันที่ทำหน้าที่แทนประชาชน ไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือศาล ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน แต่ในกรณีที่อำนาจอธิปไตยมิได้เป็นของปวงชน ประชามตินั้นไม่จำเป็นต้องผูกพันผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งขณะนี้เป็นของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวของหัวหน้า คสช.ว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติก็เป็นอำนาจของหัวหน้า คสช. ซึ่งขณะนี้เป็นองค์อธิปัตย์ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ใช้อยู่ ที่จะหยิบรัฐธรรมนูญเก่าฉบับใดฉบับหนึ่งมาใช้บังคับได้ แต่เมื่อประกาศใช้แล้วก็ต้องรับผิดชอบต่อการเลือกประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนั้นๆ เพราะกิจกรรมทางการเมืองทุกอย่างต้องมีผู้รับผิดชอบ

เนื่องจากผลของประชามติผ่านหรือไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญมีความสำคัญมากในแง่ของความชอบธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติต้องพยายามทำให้ผ่านให้ได้ การจัดตั้งขบวนการ ครู ก. ครู ข. ครู ค. และนักศึกษาวิชาทหารลงไปพบประชาชน ทำนองเดียวกับเรดการ์ด “Red guard” หรือผู้พิทักษ์แดงของท่านประธาน เหมา เจ๋อ ตง เพื่อไปดำเนินการ “ปฏิวัติวัฒนธรรม” จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่าร่างรัฐธรรมนูญจะต้องผ่านประชามติ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประชาชนในชนบทของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีข่าวว่าอาจจะไม่ลงคะแนนเสียงผ่านร่างรัฐธรรมนูญ

การใช้นักศึกษาลงไปดำเนินการอธิบาย ชี้แจงข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็อาจจะมีปัญหา ขัดกับหลักการการลงประชามติโดย “เสรีและโปร่งใส” free and fair กล่าวคือ เมื่อฝ่ายที่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญสามารถรณรงค์อธิบายชี้แจงข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อความเป็นธรรมและโปร่งใสก็ต้องให้เสรีภาพแก่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย สามารถออกมารณรงค์ชี้แจงเหตุผลว่าทำไมคนจึงไม่เห็นด้วย มีข้อเสียข้อไม่ดีอย่างไร แล้วก็ให้ประชาชนผู้มีสิทธิในการออกเสียงประชามติมีเสรีภาพในการออกเสียงประชามติ โดยปราศจากความเกรงกลัวใดๆ รวมทั้งความเกรงกลัวว่าจะ “แรงกว่าฉบับนี้” คล้ายๆ กับการรณรงค์ให้รับร่างรัฐธรรมนูญถาวรฉบับปี 2550 ไปก่อนแล้วค่อยแก้ทีหลัง ซึ่งก็เป็นที่ปรากฏแล้วว่าเป็นวาทกรรมที่เป็นเท็จ ไม่เป็นความจริง ไม่มีผู้ใดออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อวาทกรรมเท็จ เช่นว่านั้นเลย

ถึงแม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติ แต่ถ้าการลงประชามติไม่เป็นไปตามหลัก “เสรีและโปร่งใส” หรือ free and fair การลงทุนจัดให้มีการลงประชามติก็อาจจะเสียเปล่า เพราะไม่เป็นที่ยอมรับจากประชาชน และอาจจะเลยไปถึง “นานาอารยประเทศ” ที่ประเทศไทยให้ความสำคัญกับคำคำนี้เสมอมาเป็นเวลากว่าศตวรรษ

การจัดให้มีการลงประชามติเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเป็นความเสี่ยงที่สำคัญทางการเมือง หากไม่แน่ใจว่าจะได้เสียงข้างมากให้ผ่านประชามติ การประกาศใช้รัฐธรรมนูญโดยไม่ต้องผ่านประชามติก็สามารถทำได้ เพราะเคยทำมาแล้วหลายฉบับ แม้ว่าจะไม่สามารถอ้างความชอบธรรมว่าได้ผ่านประชามติแล้ว

ถ้าผลประชามติออกมาว่าให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านได้ ปัญหาก็คงมีน้อยกว่าประชามติไม่ผ่าน เพราะผู้มีอำนาจอาจจะบอกว่าประชาชนได้ให้ความเห็นชอบแล้ว

ในการลงประชามติหรือแม้แต่การเลือกตั้งตำแหน่งทางการเมืองที่มีการแข่งขัน รัฐบาลผู้กุมกลไกของรัฐย่อมจะถูกระแวงโดยฝ่ายตรงกันข้ามอยู่แล้ว เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจและขจัดข้อครหาว่าการลงคะแนนเสียงไม่โปร่งใส ไม่ตรงไปตรงมา ผู้มาลงคะแนนเสียงไม่มีความอิสระในการลงคะแนนเสียง การลงประชามติก็ดี การลงคะแนนเลือกตั้งก็ดี การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ดี ก็มักจะเชิญผู้แทนขององค์กรระหว่างประเทศและหรือผู้แทนของรัฐบาลต่างประเทศมาสังเกตการณ์ หรือมาเป็นสักขีพยาน โดยการอำนวยความสะดวกและสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ เป็นการสร้างภาพว่าการลงคะแนนเสียงเป็นไปอย่างอิสระและโปร่งใส แต่การลงคะแนนเสียงประชามติครั้งนี้จะไม่เชิญผู้แทนขององค์กรระหว่างประเทศหรือผู้แทนของรัฐบาลต่างประเทศมาสังเกตการณ์ แต่หากจะมาเองทางการก็จะได้จัดสิ่งอำนวยความสะดวกและค่าใช้จ่ายให้ โดยอ้างว่าประเทศของเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นใคร ไม่จำเป็นต้องให้ต่างประเทศมายอมรับ

คําว่าประเทศไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร สมัยนี้ไม่ควรจะใช้อีกแล้ว เป็นการแสดงความรู้สึก “ปมด้อย” ของประเทศ อีกทั้งเป็นการพูดที่ไม่เกรงใจประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม ลาว กัมพูชา บังกลาเทศ มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งเคยมีประวัติศาสตร์ที่ขมขื่นกับชาติตะวันตก บัดนี้ประเทศเหล่านี้ก็เป็นเอกราชอย่างสมบูรณ์ ไม่แพ้ประเทศใดๆ ในโลก คำว่าประเทศของเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร ควรจะเลิกพูดได้แล้ว ถ้าเรามีความเคารพในตัวเองและศักดิ์ศรีของประเทศเพื่อนบ้าน

การให้มีการลงประชามติ ถ้าจะให้ได้ประโยชน์จริงๆ ก็ควรเป็นการลงประชามติที่อิสระและโปร่งใส ตรงไปตรงมา และควรแยกเป็นประเด็นต่างๆ ให้มากกว่าประเด็นที่จะให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการ “แต่งตั้ง” แม้จะให้มีการสรรหาก็คงเป็นไปเพื่อให้มีภาพเท่านั้น หรือมาร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีจาก “คนใน” หรือ “คนนอก” เท่านั้น หากเกิดจะมีนายกรัฐมนตรีมาจากคนนอกตามบทเฉพาะกาลได้ 2 สมัย 8 ปี นายกฯคนนอกก็คงไม่อาจจะทำหน้าที่ได้ตลอดรอดฝั่ง เพราะระบอบรัฐสภาของเราได้พัฒนาก้าวหน้ามาไกลแล้ว แม้จะสะดุดหยุดลงบ้าง แต่ก็ยากที่จะ “เดินถอยหลัง”

การจัดให้มีการลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ จึงเป็นการลงประชามติที่เสี่ยง เพราะไม่มีใครแน่ใจว่าผลจะออกมาอย่างไร แม้ว่ารัฐบาลจะมั่นใจว่าผลประชามติจะออกมาในทิศทางที่ประชาชนยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

การลงคะแนนเสียงในระบอบการปกครองที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยนั้น มีปัญหามากกว่าการลงคะแนนเสียงในระบอบประชาธิปไตย ที่ผู้คนมั่นใจว่าเป็นการลงคะแนนเสียงผู้ที่ออกเสียงมีความเป็น “อิสระและโปร่งใส”

การลงประชามติคราวนี้ดูท่าจะยุ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image