คิดเห็นแชร์ : พลังงานนิวเคลียร์ กับการพัฒนาของจีน

ผมจะขอนำบทความที่ได้เคยอ่านจากวารสาร MIT Technology Review ฉบับ “China Rules” มาเล่าสู่กันฟังนะครับ เขียนโดย Peter Fairley สรุปไว้ได้น่าสนใจว่า ไม่ว่าใครจะกลัว ต่อว่าสาปแช่ง China General Nuclear Power (CGN) ของจีนอย่างไร แต่จีนก็ยังเดินหน้าพัฒนาเรื่องพลังงานนิวเคลียร์ต่อไป ส่วนหนึ่งเพราะเชื่อว่าพลังงานนิวเคลียร์น่าจะสอดประสานกับพลังงานหมุนเวียน หรือ Renewable Energy ได้ดีกว่าพลังงานรูปแบบอื่น อีกทั้งไม่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือที่มักจะเรียกว่า Carbon-free Energy ผมจะขอสรุปโดยสังเขป ดังนี้ ครับ

ขณะที่ประเทศอื่นๆ เริ่มทยอยยกเลิกการใช้พลังงานนิวเคลียร์ ประเทศจีนกลับส่งเสริมการใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่อง โดยปี 2017 มีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ใหม่ทั่วโลกเพียงแค่ 4 แห่ง แต่ 3 แห่งนั้นสร้างในประเทศจีน ส่วนแห่งที่ 4 สร้างโดยบริษัท Chaina National Nuclear Corp. (CNNC) ที่ประเทศปากีสถาน

โรงไฟฟ้าใหม่ทั้ง 3 แห่ง ทำให้ความสามารถในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ของจีนเพิ่มขึ้น 24% ในปี 2018 (ปัจจุบัน จีนมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ 40,000 MW เป็นที่ 3 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส) และมีศักยภาพในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ 10-12 โรงต่อปี แต่หากวิเคราะห์ตามกระแสแล้วหลายฝ่ายอาจเห็นว่าพลังงานนิวเคลียร์ในจีนอาจจะกำลังมาถึงทางตัน

เหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดที่ฟุกุชิมา ประเทศญี่ปุ่นในปี 2011 ส่งผลกระทบต่อทั้งภาครัฐและประชาชนจีน ผลการสำรวจจากรัฐบาลเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2017 มีประชาชนจีนเพียง 40% เท่านั้นที่ยังสนับสนุนโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ อย่างไรก็ตามปัญหาที่หนักกว่าปัญหาด้านความปลอดภัย คือปัญหาด้านการเงิน การผลิตโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มีมาตรฐานความปลอดภัยขั้นสูงซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ขณะที่ค่าไฟจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน เช่น ลมและแสงอาทิตย์กลับถูกลงเรื่อยๆ

Advertisement

อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความต้องการไฟฟ้าของจีนชะลอตัวลงเหลือประมาณ 4% ทำให้กระแสความต้องการของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ในจีนค่อยๆ ลดความนิยมลง ดังนั้น หากจีนยกเลิกการใช้พลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ นี่อาจเป็นจุดจบของพลังงานสะอาดชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยบรรเทาปัญหาโลกร้อน

รัฐบาลจีนเคยคาดว่าภายในปี 2020 จะสามารถผลิตพลังงานนิวเคลียร์ได้ถึง 10 เท่าของปี 2005 (จาก 10,000 MW เป็น 100,000 MW) แต่เหตุการณ์โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดที่ฟุกุชิมาทำให้รัฐบาลจีนตระหนักมากขึ้นถึงประเด็นความปลอดภัย โดยระงับการทำงานของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมด และมาเปิดดำเนินการอีกครั้งหลังการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยเรียบร้อยแล้ว

เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2018 จีนเปิดใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่ทันสมัยที่สุดสองตัว คือ AP1000 ที่ได้ต้นแบบมาจากสหรัฐอเมริกา และ EPR ต้นแบบจากยุโรป ซึ่งในทางทฤษฎีแล้ว เทคโนโลยีสองตัวนี้สามารถป้องกันการระเบิดแบบที่ฟุกุชิมาได้ แต่ติดตั้งอุปกรณ์เหล่านี้ทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ต้นทุนของ AP1000 อยู่ที่ 52.5 พันล้านหยวน (ประมาณสองแสนสี่หมื่นล้านบาท) แพงกว่าแบบอื่นในจีนเป็น 2 เท่า อย่างไรก็ตามปี 2017 การใช้กำลังผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ ลดลงเหลือ 81% ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าในจีนต้องจ่ายเงินค่าไฟจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แพงขึ้นด้วย ในช่วงหลังรัฐบาลจีนมุ่งมั่นเกี่ยวกับโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์น้อยลง มีการคาดว่าจีนจะสร้างแค่โรงไฟฟ้ากำลังการผลิตรวม 88,000 MW ภายในปี 2020 จากนั้นจะหันไปหาพลังงานทดแทนอื่นมากขึ้น

Advertisement

ผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ มีความเห็นว่าจีนจะยังสนับสนุนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่อาจจะสร้างในอัตราที่ชะลอตัวลงมากกว่าเมื่อก่อน จีนกำลังพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเอง เรียกว่า Hualong One และพยายามที่จะยกระดับตัวเองเป็นผู้ส่งออกเครื่องเทคโนโลยี ถ้าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ รุ่น Hualong One แพงเกินไป จีนมีแผนจะพัฒนาเตาปฏิกรณ์แบบใหม่หลายแบบ โดยจีนเชื่อว่าการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ปลอดภัยและราคาไม่แพงเว่อร์เกินไป จะสามารถแข่งกับพลังงานทางเลือกอื่นๆ และถ่านหินได้ แต่การพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ก็ยังเป็นหนทางที่ลำบากแสนสาหัสนัก

การเปลี่ยนมาลงทุนด้านพลังงานทางเลือกอื่นๆ ที่ไม่ใช่พลังงานนิวเคลียร์ อาจดูเป็นการทำธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากกว่าในระยะสั้น แต่เหมือนว่าจีนไม่ละเลยการพัฒนาเทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทางเลือกด้านพลังงานสะอาด (carbon-free) จะได้ไม่หายไปอีกหนึ่งทางเลือกในขณะที่ภาวะโลกร้อนยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของโลก ในมุมกลับหากกระแสความยอมรับด้านพลังงานนิวเคลียร์ในจีนลดลงหรือมลายกลายเป็นศูนย์ นี่อาจเป็นบทสุดท้ายของพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลกแบบปิดตำนานเลยก็ว่าได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image