“ความเป็นพลเมือง” โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ในสาขาวิชารัฐศาสตร์นั้น มีชุดความคิด/แนวคิดหนึ่งที่กำลังเป็นที่สนใจกันมากขึ้น และเริ่มเปิดสอนกันในหลายๆ ที่ในประเทศไทย นั่นก็คือแนวคิดที่ว่าด้วยเรื่องของ “ความเป็นพลเมือง” (citizenship)

จะว่าไปแล้ว ความเป็นพลเมืองเป็นปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่มีมาเนิ่นนานตั้งแต่อดีต แต่กว่าจะถูกพัฒนาให้เป็นชุดความคิด/แนวคิดทางวิชาการที่เป็นระบบระเบียบ และสามารถแยกศึกษา รวมทั้งเชื่อมต่อกับแนวคิดและปรากฏการณ์อื่นๆ ในวันนี้ก็ใช้เวลานานหลายทศวรรษ

ที่สำคัญชุดความคิด/แนวคิดนี้ (คือมีทั้งประเด็นและวิธีการมอง) เติบโตมาทั้งจากการคิดและการปฏิบัติจริง และการต่อสู้ที่เสียเลือดเสียเนื้อกันมาอย่างยาวนาน

อธิบายง่ายๆ ก่อนว่า ความเป็นพลเมือง คือการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง รวมทั้งพันธสัญญาบางประการที่มีระหว่างกัน แต่มุมมองในการอธิบายในเรื่องนี้วางจุดสนใจไว้ที่สิทธิและหน้าที่ของผู้ถูกปกครองที่จะได้รับและต้องปฏิบัติ

Advertisement

การพูดเรื่องความเป็นพลเมืองมีความซับซ้อนขึ้นในสังคมประชาธิปไตย การอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างรัฐที่มีภารกิจและพันธสัญญากับประชาชน และประชาชนในฐานะ “พลเมือง” นั้นเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ เพราะบางครั้งรัฐนั้นแม้จะมาจากประชาชน แต่ก็สถาปนาอำนาจของตัวเองเหนือประชาชนจนละเลยว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แทบจะไม่มีความหมายอะไรจริงๆ และประชาชนก็ยอมรับการอยู่ใต้รัฐโดยไม่เข้าใจสิทธิและหน้าที่ของตนเช่นกัน

ในรายละเอียด เมื่อเราพูดเรื่องของความเป็นพลเมือง โดยเฉพาะในสังคมการเมืองและเศรษฐกิจสมัยใหม่ เราไม่ได้เน้นไปที่การศึกษาแต่บทบาทของรัฐ ชนิดของระบอบการเมือง หรือศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม แต่เราศึกษาเรื่องของความสัมพันธ์ของรัฐกับประชาชน โดยมีรากฐานจากสังคมโบราณที่รัฐนั้นเป็นนครรัฐเล็กๆ ที่ประชาชนคือผู้ที่มีอำนาจในรัฐ (citizen ที่มีรากศัพท์มาจาก city และ politics ที่มีรากศัพท์มาจาก polis)

ที่สำคัญเพิ่มเติมก็คือ การศึกษาเรื่องความเป็นพลเมืองนั้นเกี่ยวพันกับมิติที่สำคัญอีกสามมิติ

Advertisement

หนึ่งคือ ขอบเขตของความเป็นพลเมือง (extent) หมายความว่า มีกฎเกณฑ์อะไรที่นับหรือไม่นับคนต่างๆ ว่าเขาเป็นพลเมืองหรือไม่เป็นพลเมือง

สองคือ สาระสำคัญของความเป็นพลเมือง (content) หมายความถึง สิทธิที่พลเมืองพึงมีจากรัฐ และความรับผิดของพลเมืองที่มีต่อรัฐ

สามคือ ความลึกซึ้งของความเป็นพลเมือง (depth) หมายความว่า ความเป็นพลเมืองในรัฐนั้นๆ มีนัยสำคัญอย่างไร รัฐมีความเข้าใจความเป็นพลเมืองมากน้อยแค่ไหน ประชาชนมีความเข้าใจความเป็นพลเมืองของตนแค่ไหน

สิ่งที่เรามักจะสับสนในเรื่องของความเป็นพลเมืองนั้นก็คือ เรามักจะเข้าใจแค่ว่า เรื่องของความเป็นพลเมืองนั้นจะต้องศึกษาผ่านกฎหมายที่มี และดูข้อบัญญัติต่างๆ ในกฎหมาย เพื่อเข้าใจว่าความเป็นพลเมืองนั้นมีอะไรบ้างและมีแค่ไหนบ้างตามที่รัฐให้ไว้ หรืออธิบายง่ายๆ ว่าความเป็นพลเมืองเท่ากับสถานะทางกฎหมายของประชาชนภายในรัฐ

ทั้งที่ในการศึกษาความเป็นพลเมืองในทุกวันนี้ สิ่งสำคัญก็คือนอกจากสถานะทางกฎหมายของพลเมืองแล้ว สิ่งที่สำคัญเพิ่มเข้าไปอีกก็คือ การต่อสู้ เรียกร้อง ผลักดันให้เกิดการยอมรับทางการเมืองและสังคม (recognition) รวมทั้งให้เกิดการกระจายความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ (redistribution) แก่พลเมืองภายในรัฐ นอกเหนือไปจากสิทธิทางกฎหมาย แต่รวมไปถึงตัวตน ความหลากหลาย และความเสมอภาค-เป็นธรรม

พูดง่ายๆ ก็คือ รัฐจะต้องยอมให้มีทั้งความเหมือนในบางเรื่อง เช่นความเท่าเทียมเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม แต่ก็จะต้องยอมรับความแตกต่างหลากหลายในบางเรื่องเช่นกัน อาทิ ยอมรับทั้งความเสมอภาคทางเพศสภาพ และความหลากหลายทางเพศสภาพ เป็นต้น

ประโยชน์อีกประการของการทำความเข้าใจเรื่องความเป็นพลเมืองนั้น คือ ทำให้ประชาธิปไตยมีความลึกซึ้งขึ้น (deepening democracy) ในความหมายที่ว่าในสังคมประชาธิปไตยที่มักชอบอ้างความเท่าเทียมทางกฎหมายอยู่แล้ว เช่นกฎหมายให้สิทธิไว้ในรัฐธรรมนูญ และประชาชนมีสิทธิเลือกผู้ปกครองไปบริหารรัฐ แต่ในความเป็นจริงยังมีเรื่องอีกมากมายที่อาจจะยังไม่ได้รับรอง หรือรับเข้า (inclusion) มาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ หรืออาจจะมีกระบวนการบางอย่างที่ผลักไส (exclusion) ผู้คนบางคนบางกลุ่มออกจากสิทธิและการยอมรับจากรัฐ

ตัวอย่างที่สำคัญในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยที่ทำให้การพูดถึงเรื่องของความเป็นพลเมืองยังสำคัญก็คือเรื่องของผู้อพยพในรูปแบบต่างๆ ความหลากหลายและเสมอภาคทางเพศ ความเสมอภาคและหลากหลายทางศาสนา สิทธิและการยอมรับต่อชนกลุ่มน้อย คนไร้รัฐ ผู้อพยพ และเด็ก เป็นต้น

นอกเหนือจากการสร้างความกว้างขวางลึกซึ้งให้กับประชาธิปไตยแล้ว การพูดถึงเรื่องความเป็นพลเมืองนั้นยังมีความสำคัญต่อรัฐสมัยใหม่ด้วย เพราะกำเนิดของพลเมืองและรัฐนั้นมาพร้อมกัน มีรัฐก็ต้องมีพลเมือง แต่ในอดีตรัฐศาสตร์ศึกษารัฐและกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐมากกว่าเรื่องพลเมือง ซึ่งพูดน้อย พูดรวมๆ พูดกว้างๆ ดูในมาตราของรัฐธรรมนูญก็จะเห็นชัดถ้าเทียบกับเรื่องกลไกรัฐ

การพูดเรื่องความเป็นพลเมืองในรัฐสมัยใหม่ ทำให้ได้เห็นประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจเพิ่มเติมไปจากการกำเนิดรัฐ บทบาทของรัฐกับเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นในการถืออำนาจรัฐ มาสู่เรื่องของสิ่งที่รัฐจะต้องยอมรับและมอบให้กับพลเมืองในแง่ของ สิทธิ ในรูปแบบต่างๆ ไล่ไปตั้งแต่

1.สิทธิพลเมือง (civil rights) ได้แก่เรื่องของการมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการรวมตัวทางการเมืองในการเคลื่อนไหวเรียกร้อง รวมทั้งความเสมอกันภายใต้กฎหมาย

2.สิทธิทางการเมือง (political rights) ได้แก่ เรื่องของสิทธิเลือกตั้ง และสิทธิในการมีบทบาทและตำแหน่งทางการเมือง

3.สิทธิทางเศรษฐกิจ (economic rights) ได้แก่ เรื่องของการประกอบอาชีพต่างๆ

4.สิทธิทางสังคม (social rights) ได้แก่ เรื่องของสวัสดิการจากรัฐ การให้หลักประกันเรื่องการว่างงาน หรือหลักประกันสุขภาพ

ประเด็นอาจมีเพิ่มเติม เช่น สิทธิทางวัฒนธรรม ที่ส่งเสริมทั้งความเสมอภาคและหลากหลายทางวัฒนธรรม อัตลักษณ์ต่างๆ สิ่งสำคัญเพิ่มเติมก็คือ การพูดถึงความเป็นพลเมืองและสิทธิต่างๆ ที่กล่าวถึงมานี้ไม่ได้เท่ากันในทุกที่ การผลักดันต่อสู้ให้มีการอ้างสิทธิต่างๆ และการยอมรับการดำรงอยู่ของความเป็นพลเมืองเป็นสิ่งสำคัญ เพราะในทุกๆ รัฐนั้นมักจะมีการแบ่งเขาแบ่งเรา คือทั้งรวมและผลักไสประชาชนออกไปในหลายรูปแบบตลอดเวลา ไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบ อย่างอเมริกาเอง การต่อสู้ของสิทธิของคนอพยพ และสิทธิเรื่องสวัสดิการก็ยังต้องดำเนินต่อไป

ในแง่นี้ แนวคิดเรื่องความเป็นพลเมืองจะช่วยทั้งทำให้เกิดความกว้างขวางและลึกซึ้งขึ้นทั้งในสังคมประชาธิปไตย และในสังคมที่อ้างว่าไม่จำเป็นต้องมีประชาธิปไตย แต่มีรัฐประชาชาติที่เข้มแข็งพร้อมจะดูแลประชาชน โดยที่พลเมืองในรัฐนั้นสามารถเรียกร้องสิทธิและการยอมรับทั้งจากรัฐ และจากประชาชนกลุ่มอื่นๆ ได้

การพูดถึงความเป็นพลเมืองมีทั้งสองมิติ ก็คือ มิติของความเป็นเมืองของชาติและรัฐนั้นๆ และความเป็นพลเมืองในระดับสากลที่พ้นไปจากชาติ : ซึ่งในการต่อสู้นั้นบางครั้งเราจะเห็นว่า การเรียกร้องให้รัฐยอมรับสถานะของพลเมืองในระดับรัฐนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วไป แต่เมื่อกรอบของความเป็นรัฐมันแคบไป

การอ้างความเป็นพลเมืองระดับพ้นไปจากชาติ คือระดับสากลก็จะเข้ามาเสริมด้วย ดังกรณีของสิทธิมนุษยชน ที่บางครั้งก็มีส่วนสำคัญที่ขยายอาณาเขต สาระ และความลึกซึ้งของความเป็นพลเมืองในระดับชาติได้ด้วย อาทิ กรณีที่ระบบกฎหมายในประเทศ และการไม่ยอมรับจากบางชนชั้นในเรื่องดังกล่าว อาทิ เรื่องของสิทธิในที่อยู่อาศัย หรือ สิทธิทางการเมืองในยุคเผด็จการ หลายครั้งการต่อสู้ก็ต้องเพิ่มการอ้างอิงพ้นจากกรอบคิดของประเทศนั้นๆ ไปสู่การอ้างกรอบในระดับสากล หรือกรอบกฎหมายระหว่างประเทศ อาทิ สิทธิมนุษยชน และพันธสัญญาระหว่างประเทศที่รัฐเคยให้สัตยาบันเอาไว้

ความเป็นพลเมืองจึงเป็นสาขาวิชาใหม่ที่เติมเต็มการศึกษารัฐศาสตร์ในแบบเดิมให้เพิ่มเติมขึ้นได้มาก เพราะมีลักษณะที่โอบรับพลวัตต่างๆ ได้มากกว่ากรอบการศึกษาเรื่องรัฐ หรือรัฐกับทุน ในแบบเดิม และในอีกด้านหนึ่งยังเปิดพื้นที่ให้ตั้งคำถามด้วยว่า นอกจากความเป็นพลเมืองนั้นจะหมายถึงการเรียกร้องและการยอมรับและมอบสถานะแล้ว การศึกษาความเป็นพลเมืองยังสามารถเปิดประเด็นในเรื่องของบทบาท หน้าที่ และคุณสมบัติของพลเมืองที่ควรจะได้รับการพัฒนาขึ้น ไม่ใช่แต่เพื่อให้เป็นคนที่ถูกปกป้องโดยรัฐ หรือพร้อมสนับสนุนรัฐ

แต่หมายถึงการที่พลเมืองเหล่านั้นจะสามารถพัฒนาตนเอง และพัฒนาความเป็นส่วนรวม-ความเป็นสาธารณะของชุมชนนั้นด้วยการพัฒนาคุณสมบัติของพลเมืองที่พึงประสงค์ ที่ไม่ใช่ตามความต้องการของรัฐ แต่เพื่อให้ความเป็นสังคมส่วนรวมมันดีขึ้นจากมุมมองของพลเมืองเองในแบบที่ไม่ใช่ถูกสั่งสอน-สั่งการ

ประเด็นแบบนี้ทำให้มิติเรื่องคุณค่าในทางปรัชญาการเมืองนั้นมีส่วนสำคัญในการเข้ามาเติมเต็มการศึกษาเรื่องความเป็นพลเมืองได้มากขึ้นอีกด้วย

กล่าวโดยภาพรวมก็คือ เรื่องความเป็นพลเมืองนั้นไม่ใช่เรื่องที่แต่ละที่จะมีเท่ากันตั้งแต่ต้น มันเป็นเรื่องที่ต้องผลักดันเรียกร้องภายใต้เงื่อนไขจำกัดหลายประการ แต่คุณูปการที่สำคัญของมันนั้นทำให้เรามีมุมมองใหม่ๆ กับเรื่องของประเทศชาติ และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนในรูปแบบใหม่ๆ และทำให้เราไม่หยุดที่ความเป็นรัฐ ความเป็นชาติ ความเป็นประชาธิปไตย หรือความเป็นสากล

โดยไม่เข้าใจเงื่อนไขอีกมากมายที่เกิดขึ้นในพื้นที่หนึ่งๆ ว่ารัฐกับประชาชนนั้นเขามองตัวเองและมองความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างไร

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
([email protected])

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image