ทางตัน : นิธิ เอียวศรีวงศ์

นักวิชาการหลายท่านแสดงความเห็นว่า การเมืองไทยในปัจจุบันยังไม่ถึงทางตัน แต่ผมคิดว่า ในทางปฏิบัติ การเมืองไทยได้มาถึงทางตันแล้ว นั่นคือไม่มีทางออกที่เป็นไปได้เหลืออยู่ แม้แต่ทางออกที่ต้องอาศัยความรุนแรง

หลังการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับ “ไม่น่ารัก” (หรือ…ในภาษาสันสกฤต) ผลก็คือมีพรรคการเมืองที่สามารถตั้งตัวเลือกของตนเป็นนายกฯได้ แต่ไม่อาจฟอร์มรัฐบาลผสมที่มีเสียงมากพอจะบริหารประเทศไปได้อย่างราบรื่น แม้อาจรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งก็ตาม

เสียงที่ปริ่มน้ำในสภา ต้องการแรงสนับสนุนจากประชาชนอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งพรรคแกนนำไม่ได้มา อย่างน้อยผลของการเลือกตั้งก็ชี้ให้เห็นว่าประชาชนไม่ต้องการให้ คสช.สืบทอดอำนาจต่อไป ความอ่อนแอเช่นนี้หมายถึง พรรคแกนนำมีอำนาจต่อรองกับพรรคร่วมรัฐบาลไม่สู้จะมากนัก

พรรค ปชป. (หากร่วมรัฐบาลกับ พปชร.) ก็ไม่ใช่พรรคที่มีอำนาจต่อรองมากนักเช่นกัน เมื่อไม่ยอมเป็น “ฝ่ายค้านอิสระ” ปชป.ก็ไม่เหลือที่ไป นอกจากเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับ พปชร.อย่างคนจนตรอก ฉะนั้นจะต่อรองเอาตำแหน่งรัฐมนตรีสำคัญ (ที่สามารถตอบสนองนโยบายของผู้เลือกตั้งของพรรค) ก็เป็นไปได้ยาก อย่างดีที่สุดเท่าที่ ปชป.จะได้มาก็คือ ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ก็น่าจะสามารถ “วิ่งเต้น” กับระบบราชการอย่างได้ผลมากกว่าเป็นฝ่ายค้าน และด้วยเหตุดังนั้นจึงอาจรักษาฐานเสียงของตนในภาคใต้เท่าที่เหลืออยู่ไว้ต่อไป

Advertisement

เปรียบเทียบกับพรรคภูมิใจไทย หากเข้าร่วมรัฐบาลกับ พปชร.จะมีอำนาจต่อรองมากกว่า ปชป.อย่างเทียบกันไม่ได้ ต่อรองเชิงนโยบายนั้นเรื่องเล็ก เพราะนโยบายหาเสียงของภูมิใจไทยเป็นเรื่อง “จุ๋มจิ๋ม” แรงกดดันเรื่องกัญชาก็ตาม แท็กซี่แกร็บก็ตาม สะสมเพิ่มพูนมาหลายปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็น
หรือไม่เป็นนโยบายของพรรคการเมือง รัฐบาลใดๆ ก็ต้องยอมเปิด “เสรี” ระดับใดระดับหนึ่งจนได้

แต่ต่อรองตำแหน่งนี่สิเป็นเรื่องใหญ่กว่า ภูมิใจไทยไม่ได้จนตรอกอย่าง ปชป. ไม่ว่าประยุทธ์หรือ พปชร.จะกันกระทรวงหลักไว้กับตัวอย่างเหนียวแน่นเหมือนพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นั้นเป็นไปไม่ได้ ถ้าภูมิใจไทยคิดเหมือนพรรคการเมืองอื่นว่า อย่างไรเสียสภานี้จะมีอายุไม่ยืนนานนัก ควรเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า ภูมิใจไทยน่าจะยึดมหาดไทย, กระทรวงศึกษาฯ, และสาธารณสุข ซึ่งล้วนมีแขนขายื่นลงไปยังเขตเลือกตั้งจำนวนมากทั้งสิ้น แม้แต่เป็นแค่ รมช. ก็อาจมีอำนาจต่อรองได้สูงกว่า รมต.ประจำกระทรวง

(ความตอนนี้เขียนขึ้นก่อนข่าวลือเรื่องการแบ่งกระทรวง หากเป็นจริงพรรคภูมิใจไทยก็ “แหย” หรือ “จนตรอก” มากกว่าที่ผมคิด)

ไม่ว่าอำนาจต่อรองของแต่ละพรรคการเมืองจะมีมากน้อยแค่ไหนก็ตาม แต่ในยามหน้าสิ่วหน้าขวานในสภา เช่นเมื่อ รมต.บางกระทรวงถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ อำนาจต่อรองของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล
จะเพิ่มสูงขึ้นมาทันที พรรคร่วมรัฐบาลอาจส่งสัญญาณด้วยการยกมือไม่เต็มพรรค ถึงหรือไม่ถึง
กับที่ รมต.ต้องลาออกก็ได้ พปชร.ซึ่งเป็นแกนนำจะทำอย่างไร? ไล่ออกจากรัฐบาลผสม ก็เท่ากับยุบรัฐบาลไปเลย เพราะเสียงที่ปริ่มน้ำไม่เปิดโอกาสให้ใช้ทางเลือกนี้ ทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่ก็คือต้องยอมจำนนต่อข้อต่อรองจนได้

การฟอร์มรัฐบาลผสมของ พปชร.จึงเท่ากับยอมตนไปเป็นตัวจำนำของพรรคร่วมรัฐบาลอย่างหมดประตู

“งูเห่า” ไม่ว่าจะมาจากบางคนของพรรคฝ่ายค้าน หรือทั้งหมดของ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ กกต.คำนวณปัดเศษแจกจ่าย (ซึ่งบางคนเรียกว่า “งูเขียว”) ก็อาจ “กัด” รัฐบาลผสมในยามหน้าสิ่วหน้าขวานของสภาได้เช่นกัน เขาว่ากันว่าในสมัยคุณเปรมเป็นนายกฯนั้น จำเป็นต้องหิ้วกระเป๋าเงินไปแจกจ่ายกันใน
ห้องน้ำเป็นปึกๆ ทุกครั้งที่ถึงวาระหน้าสิ่วหน้าขวานของสภา

เงินนั้นจะเอามาจากไหน คำตอบคือเอามาจากนายทุนใหญ่ซึ่งสนับสนุน คสช. แต่นั่นเป็นนายทุนเพียงกลุ่มเดียว ซึ่งย่อมต้องขอแลกเปลี่ยนการสนับสนุนเป็นนโยบายที่เพิ่มกำไรของตนเป็นธรรมดา สร้างความเสียเปรียบให้แก่นายทุนกลุ่มอื่น ทุนที่แตกร้าวกันอยู่แล้วเวลานี้ จะยิ่งแตกร้าวมากขึ้นไปอีก กระทบถึงความเปราะบางของรัฐบาลผสมให้ทั้งเปราะและทั้งบางลงไป ยิ่งกลายเป็นเหยื่อของงูเห่า, งูเขียวและพรรคร่วม จะเรียกค่าเหนื่อยมากขึ้น และสะดวกขึ้น

ในขณะที่ฝ่ายตรงข้าม สามารถตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพกว่าได้ ทั้งเพราะไม่ต้องอาศัย “งูเห่า” และ “งูเขียว” อีกทั้งได้การสนับสนุนจากประชาชนมากกว่า จึงสามารถใช้เป็นกำลังต่อรองกับพรรค
ร่วมรัฐบาลที่ “เกเร” ได้ แต่พรรคเหล่านี้ไม่มีเสียงพอจะตั้งนายกฯ ของตน จึงทำให้ไม่มีทางจะฟอร์ม
รัฐบาลตามรัฐธรรมนูญฉบับ “ไม่น่ารัก” ได้เลย

นอกจากนี้ คะแนนเสียงของฝ่ายนี้ยังเป็น “พาหะ” ของจินตนาการทางการเมืองที่อิสระจาก
การควบคุมของชนชั้นนำ หากได้เข้ามาเป็นฝ่ายบริหาร ก็จะยิ่งกระพือจินตนาการและความอิสระนั้นให้กว้างไกลมากขึ้น จึงเกินกว่าที่ชนชั้นนำจะรับได้

ชนชั้นนำมองเห็นภยันตรายนี้มาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งแล้ว การรณรงค์ต่อต้านด้วยยุทธวิธี “หนักแผ่นดิน” โดยมีสื่อโซเชียลและสื่อตามประเพณีช่วยหนุน ไม่บังเกิดผลอย่างที่ชนชั้นนำหวัง เพราะพรรคที่ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจก็ยังได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร (หากการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและสะท้อนการตัดสินใจของประชาชนจริง)

มวลชนไทยเปลี่ยนไปแล้ว และที่จริงเปลี่ยนไปตั้งนานแล้ว ชนชั้นนำและบริวารของพวกเขาคิดว่ายังสามารถควบคุมมวลชนที่เปลี่ยนไปแล้วได้อย่างเดิม เพราะอย่างน้อยพวกเขายังสามารถผูกขาดความรุนแรงไว้ได้

แต่ความรุนแรงเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้จำกัด หลัง 5 ปี ของ คสช., หลังการเลือกตั้งที่สามารถระดมความกระตือรือร้นของคน (อาจจะกว่า) ครึ่งประเทศ เพื่อต่อต้านการยึดอำนาจ, หลังชัยชนะ
ของฝ่ายปฏิรูปด้วยกระบวนการประชาธิปไตย และความคาดหวังของผู้คนจำนวนมาก, และหลังการรอคอยที่ยาวนานของมหาอำนาจตะวันตกว่า ไทยจะหันกลับสู่หนทางที่พอจะเคารพสิทธิเสรีภาพของพลเมือง, ฯลฯ จะยึดอำนาจซ้ำในช่วงนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้ จะสร้างม็อบขึ้นป่วนเมืองก็เท่ากับบ่อนทำลายอำนาจของรัฐบาล คสช.เอง ซึ่งอ้างความสงบเป็นเหตุใหญ่ในการเถลิงอำนาจและสืบทอดอำนาจ

“นายกฯ คนนอก” หรือ “นายกฯ คนกลาง” ถูกรื้อฟื้นกลับมาใหม่ในช่วงนี้ แม้รัฐธรรมนูญฉบับ
ไม่น่ารักเปิดทางให้ทำได้ แต่เท่ากับจบฉากการเมืองของ คสช.และแกนนำทั้งหมดลงโดยไม่ได้เตรียมตัว ฉะนั้นในทางปฏิบัติ หาก ส.ว.คือคนที่ คสช.เลือกสรรหรือแต่งตั้งมา หนทางที่จะเลือก “นายกฯ คนนอก” ตามรัฐธรรมนูญฉบับไม่น่ารักก็เป็นไปไม่ได้

“นายกฯ คนนอก” จึงจะเกิดขึ้นได้ด้วย “อำนาจพิเศษ” เท่านั้น การสถาปนาตำแหน่งนี้ในเมืองไทยปัจจุบันด้วย “อำนาจพิเศษ” ยังเป็นไปได้ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า “อำนาจพิเศษ” นั้นจะช่วยให้นายกฯ
คนนอกบริหารงานได้อย่างราบรื่นหรือไม่ หากยังมีรัฐสภาที่เต็มไปด้วยคนผิดหวังและคนขาดทุน
ทั้งในวุฒิสภาและในสภาผู้แทนฯ คุณอานันท์ ปันยารชุน เคยทำได้ แต่ก็ทำได้ภายใต้เงื่อนไข
หลายต่อหลายอย่างที่แตกต่างจากปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง (อย่างที่นโปเลียนพูดแหละครับ คนเรามีแต่ความสามารถ แต่ไม่มี “โอกาส” ก็ทำอะไรไม่ได้หรอก)

การเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ตอบโจทย์ทางการเมือง เพราะถูกทำจากหลายฝ่ายร่วมกันที่จะไม่ให้การ
เลือกตั้งตอบโจทย์ได้ การยึดอำนาจซึ่งในเมืองไทยใช้เป็นเครื่องมือในการตอบโจทย์การเมือง ก็ใช้ไม่ได้หรือยังใช้ไม่ได้ในเวลานี้ และดังที่กล่าวข้างต้น “อำนาจพิเศษ” ใช้ไปได้ไม่ตลอด

ถ้าอย่างนี้ การเมืองยังไม่ถึงทางตันแล้วเมื่อไรจะถึงล่ะครับ

ผมตอบไม่ได้ แต่นั่นไม่สำคัญ เพราะคนที่ต้องตอบให้ได้คือชนชั้นนำ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เป็นผู้นิยามทั้งทางตันและทางออกในการเมืองไทยมานานแล้ว และหากให้เดาว่า พวกเขาจะเลือกทางออกอะไร ผมก็อยากเดาว่าคงเลือกทางออกเดิมคือยึดอำนาจ เพื่อให้มั่นใจว่าการหาทางออกจะอยู่ในความควบคุมของพวกเขาอย่างเด็ดขาด

ผมพูดประหนึ่งว่าชนชั้นนำ (หรือรัฐพันลึกไทย) มีความเป็นเนื้อเดียวกันอย่างเหนียวแน่น แท้จริงแล้วพวกเขาแตกแยกกัน มีผลประโยชน์ทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาวที่ขัดแย้งและยังแบ่งกันได้ไม่ลงตัว เพราะพวกเขาไม่เคารพกติกาที่เป็นภววิสัย แม้แตกแยกกันมานานแล้ว แต่ยังร่วมมือกันได้ภายใต้ “อุดมการณ์” บางอย่าง หาก “อุดมการณ์” นั้นอ่อนพลังลงเมื่อไร ความแตกแยกระหว่างกันในรัฐ
พันลึกก็จะรุนแรงมากขึ้น จนปรากฏให้เห็นประจักษ์โดยทั่วไป

การยึดอำนาจในครั้งนี้จึงไม่ง่าย เหมือนกับที่เคยไม่ง่ายมาแล้วใน พ.ศ.2490, 2500 และ 2557 ซ้ำอาจจะยากกว่าสามครั้งที่กล่าวถึงนี้ด้วย การใช้กำลังทหารยึดอำนาจนั้นทำได้แน่ ไม่เป็นปัญหา
แต่อย่างใด หากทว่าจะเปลี่ยนอำนาจที่ได้จาก
กำลังอาวุธเป็นอาญาสิทธิ์ หรืออำนาจที่ได้รับการยอมรับอย่างไร ไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ อีกแล้ว เพราะต้องการฉันทามติในหมู่ชนชั้นนำอย่างกว้างขวางกว่าที่จะทำได้

ปราศจากฉันทามติในหมู่ชนชั้นนำ ความหวาดระแวงของผู้ยึดอำนาจก็ยิ่งสูง เกิดความจำเป็นต้องใช้ความรุนแรงมากกว่าปกติดังที่การยึดอำนาจในสามครั้งที่กล่าวถึงเคยจำเป็นต้องใช้มาแล้ว นั่นคือลอบสังหารหรือสังหารผู้ที่เป็นศัตรูทางการเมือง, หรือผู้ที่น่าระแวงว่าจะเป็นศัตรู, หรือในที่สุด แม้แต่ผู้มีศักยภาพเป็นศัตรูก็จำเป็นต้องขจัดออกไป หลายคนคงต้องหลบหนีออกต่างประเทศ โดยมีหรือไม่มีคดีติดตัวก็ตาม, หลายคนคงถูกนำไป “เก็บ” ไว้ในที่จองจำ ตามกฎหมายหรือนอกกฎหมาย หลายคนถูกใส่ร้ายหนักซึ่งเท่ากับ “ฆ่า” อำนาจของเขา ไม่ว่าจะมากหรือน้อยนิด ให้สูญไปอย่างสิ้นเชิง หรือสูญไปเป็นบางส่วน
ที่สำคัญ (เช่น อายัดบัญชีธนาคาร คือการปลด “อำนาจ” ของบุคคลอย่างหนึ่ง)

แม้ด้วยความรุนแรงเพียงนี้ ผมก็ยังคิดว่าสังคมไทยได้เปลี่ยนไปถึงจุดที่การยึดอำนาจไม่ใช่ทางออกอีกแล้ว และเมื่อการเลือกตั้งถูกทำให้ไม่เป็นทางออก จะเหลืออะไรอีกล่ะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image