สถานีคิดเลขที่12 : กระบวนการสุดท้าย : โดย ปราปต์ บุนปาน

หากเปรียบกับเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวตลอดหลายปีที่ผ่านมา “สังคมไทย” ไม่เคยมี “ความพร้อม” และมี “โอกาสดี” เทียบเท่าสถานการณ์ ณ ช่วงเวลานี้มาก่อน

ต้นเดือนพฤษภาคม อาณาราษฎรต่างปลื้มปีติกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอันยิ่งใหญ่ตระการตา ซึ่งบ่งชี้ว่า “ศูนย์รวมจิตใจ” ของคนไทยทั้งชาติ หรือ “แบบอย่างอันดีเลิศ” ณ จุดศูนย์กลางของประเทศ/สังคม
ได้ปักหลักตั้งมั่นอย่างคงทนสถาวรอีกคำรบหนึ่ง

ย้อนไปเมื่อปลายเดือนมีนาคม ประชาชนที่อาจไม่ได้มีความเห็นทางการเมืองสอดคล้องต้องตรงกันเสียหมด ก็พร้อมใจกันออกมาใช้สิทธิกำหนดชะตากรรมของตนเองและอนาคตของประเทศ ผ่านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกสุดในรอบเกือบๆ แปดปี

ดังนั้น นับแต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป ภาคส่วนที่จะต้องช่วยสานต่อภารกิจที่เหลือให้เสร็จสรรพเรียบร้อย เพื่อจัดวางเส้นทางเบื้องหน้าอันแน่นอนของประเทศ ก็คือ “สถาบันการเมือง”

Advertisement

“สถาบันการเมือง” ย่อมประกอบไปด้วย “นักการเมือง” ที่คราวนี้อาจกินความกว้างขวางมาก

ตั้งแต่สมาชิกของพรรคการเมืองที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามา กระทั่งมี “เสียงมากพอ” จะได้เป็น ส.ส., ส.ว. ที่มาจากระบบแต่งตั้งและไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งโดยตรง รวมถึงแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่มีทั้งคนที่เป็นและไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

หลายๆ ท่านในองค์ประกอบข้างต้นก็มีที่มาจาก คสช. ด้วยเหตุนี้ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (ที่ไม่ใช่แค่พรรคพลังประชารัฐ) จึงได้แปรเปลี่ยนกลายเป็น “สถาบันการเมือง” ทัดเทียมกับพรรคการเมืองอื่นๆ ไปโดยปริยาย

Advertisement

นอกจาก “นักการเมือง” องค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง ก็ถือเป็น “สถาบันการเมือง” เช่นเดียวกัน

กรณีที่ชัดเจนและยังถูกตั้งคำถามอยู่อย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ ในบริบทปัจจุบัน ก็คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.

ภารกิจสำคัญอย่างน้อย 2-3 ประการ ที่ “สถาบันการเมือง” ควรเริ่มต้นร่วมกันทำ ก็ได้แก่

หนึ่ง ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแปลเจตนารมณ์ที่ประชาชนแสดงออกเอาไว้ในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ให้เที่ยงตรงและแม่นยำที่สุด

เพราะจนถึงขณะนี้ ดูเหมือนการแปลความหลายอย่างจะเบี่ยงเบนออกจากทิศทางที่ควรเป็นมิใช่น้อย

สอง ควรมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ตามเจตนารมณ์ดังกล่าว

เพราะหากโจทย์ของการจัดตั้งรัฐบาลหันเหไปอยู่ที่เกมรวบรวมเก้าอี้ ส.ส. หรือคณิตศาสตร์ทางการเมือง และการสืบทอดอำนาจ

รัฐบาลที่ตั้งขึ้นได้สำเร็จก็ย่อมไร้เสถียรภาพและไม่ได้รับความเชื่อมั่นไว้วางใจจากประชาชนส่วนใหญ่

สาม หลังจากนั้น “นักการเมือง” จากทุกพรรค-ทุกแขนงของอำนาจ คงต้องเจรจา-ต่อรอง-หารือเพื่อหาทางปรับแก้กฎกติกาทางการเมืองบางประการ ที่พิสูจน์ให้เห็นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ว่า “ไม่เวิร์ก” และสร้างความคลางแคลงใจแก่ผู้คนจำนวนมากในสังคม

เหล่านี้คือ “งานหนัก” บางส่วน ที่ “สถาบันการเมือง” ต้องเร่งสะสางให้แล้วเสร็จใน “กระบวนการสุดท้าย” ก่อนจะถึงคราขับเคลื่อนผลักดันสังคมไทยทุกองคาพยพไปสู่บทตอนใหม่ๆ อย่างสมบูรณ์ ลุล่วง และยั่งยืน

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image