พม่ากับปักกิ่ง (ตอนจบ) โดย ลลิตา หาญวงษ์

ท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่เชื่อมจีนเข้ากับมหาสมุทรอินเดีย

นับตั้งแต่ปี 1988 มีหลายปัจจัยที่ช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับพม่าแน่นแฟ้นขึ้นตามลำดับ แต่ปัจจัยที่มีส่วนสำคัญที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำทั้งในจีนและพม่า แม้ทั้งสองประเทศยังคงรักษาระบอบการเมืองเก่าของตนไว้อย่างเหนียวแน่น ทั้งระบอบคอมมิวนิสต์ในจีน และเผด็จการทหารในพม่า แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดการเปลี่ยนถ่ายอำนาจจากผู้นำมากบารมีเพียงคนเดียว ไปสู่ผู้นำหัวก้าวหน้าในจีนและคณะทหารสำหรับพม่า ก่อให้เกิดการปฏิรูปในทางการเมืองและเศรษฐกิจที่มีนัยสำคัญยิ่งต่อการมองความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับพม่า นอกจากนี้ ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ยังเกิดการลุกฮือของประชาชนครั้งใหญ่ขึ้น และกระทบระเบียบทางการเมืองและเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ เมื่อรวมความผันผวนของเศรษฐกิจโลกเข้าไปด้วยแล้ว ทั้งจีนกับพม่าจึงถูกบังคับกลายๆ ให้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่เสรีมากขึ้น เป็นมิตรกับนักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้น และทลายข้อจำกัดทางการค้าอื่นๆ ไปพร้อมๆ กัน จีนกับพม่ามีความสัมพันธ์ลุ่มๆ ดอนๆ มาตลอดก็จริง แต่เมื่อถูกกดดันจากทั่วโลก ความสัมพันธ์ของ “พี่น้อง” คู่นี้ผนึกแน่นมากกว่าเคย

การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนอันมีจุดเริ่มต้นจากนโยบายสี่ทันสมัยของเติ้ง เสี่ยว ผิงทำให้จีนมีนโยบายเศรษฐกิจแบบ “มองออกไปข้างนอก” (outward-looking policy) มากขึ้น ทั้งการมองหาแหล่งลงทุน แหล่งทรัพยากรใหม่ๆ และแหล่งขายสินค้าจีน ไปพร้อมๆ กับการขยายอิทธิพลทางการเมืองของจีนไปยังประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก ในยุค SLORC จีนกลายเป็นผู้ลงทุนที่มีบทบาทสูงที่สุดในพม่า และยังให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจกับพม่ามากกว่าประเทศใดๆ ในต้นทศวรรษ 1990 นโยบายเศรษฐกิจของพม่าภายใต้ SLORC ผ่อนคลายขึ้น รัฐบาลพม่าเริ่มให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจแบบตลาด ขับให้ภาคเอกชนเด่นขึ้น มีมาตรการดึงดูดการลงทุนมากมายที่รัฐบาลพม่านำมาใช้ นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญๆ ในพม่ากลับมามีบทบาทอีกครั้งในฐานะที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ

ในปลายทศวรรษ 1980 การค้าระหว่างจีนกับพม่ามีมูลค่าราว 313 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ผ่านไปเพียง 6 ปี การค้าระหว่างสองชาติเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ไปแตะ 767 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 1995 และ 3,684 เหรียญสหรัฐในปี 2009-2010 ในบรรดาการค้าการลงทุนของทั้งสองชาติ การค้าชายแดนดูจะเป็นประเด็นที่ทั้งสองชาติให้ความสำคัญมาโดยตลอดตั้งแต่ก่อนพม่าเริ่มเปิดเสรีการค้าหลายปี ด้วยชนชั้นนำพม่าเห็นว่าตนจะได้ประโยชน์จากการค้ากับเมืองการค้าชายแดนจีนในมณฑลยูนนานมากกว่า การค้าระหว่างจีนกับพม่านับตั้งแต่ปี 1970 เมื่อพม่าลงนามในข้อตกลงทางการค้าระหว่างกับจีน จึงเป็นการค้ากับยูนนานเป็นหลัก มีเมือง 4 แห่งในพม่าที่เป็นแหล่งรับ-ส่งสินค้ากับจีน ได้แก่ มูเซ (Muse) ในรัฐฉาน เมืองไลซา (Laizar) ลวยเจ (Lweje) และชินฉ่วยฮอ (Chinshwehaw) ในรัฐกะฉิ่น สะพานมิตรภาพจีน-พม่าแห่งแรกเปิดใช้ในปี 1992 เพื่อเชื่อมเมือง
มูเซกับเมืองรุ่ยลี่ (Ruili) ในมณฑลยูนนาน การค้าชายแดน (ทั้งสินค้าที่ผิดและไม่ผิดกฎหมาย) สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้พม่า และมีมูลค่าครึ่งหนึ่งของการค้าระหว่างจีนกับพม่าทั้งหมด พม่าเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดกับยูนนาน สินค้าที่จีนซื้อจากพม่าคือสินค้าทางการเกษตร (โดยเฉพาะถั่วหลากหลายชนิด) กุ้ง ปลา และอัญมณี ด้านจีนก็ส่งออกเครื่องใช้ราคาถูกป้อนตลาดพม่าที่ในขณะนั้นยังมีกำลังซื้อไม่มาก โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้า

ตั้งแต่ปี 2000 เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็วของจีนทำให้จีนส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้นเข้ามาตีตลาดเอเชีย นอกจากวัสดุก่อสร้าง ผ้า และเครื่องใช้ไฟฟ้าราคาถูกแล้ว จีนยังเริ่มส่งเครื่องจักรกลเข้าไปตีตลาดทั่วเอเชีย พัฒนาการการลงทุนของจีนในพม่าที่เห็นได้เด่นชัดในช่วงนี้ยังมีการเข้าไปลงทุนตั้งบริษัทในพม่า แต่เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลพม่ายังเป็นเชิงปกป้องภาคเอกชนภายในประเทศเป็นหลัก ทำให้นักธุรกิจจีนต้องจดทะเบียนธุรกิจโดยใช้ชื่อญาติพี่น้องของตนที่เป็นชาวพม่าเชื้อสายจีน กล่าวกันว่าธุรกิจขนาดใหญ่ในเมืองใหญ่ๆ ทั่วพม่าล้วนเป็นการลงทุนของชาวจีนทั้งสิ้น อีกหนึ่งธุรกิจที่ทั้งภาครัฐและเอกชนจีนให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษคือการลงทุนด้านพลังงานในพม่า ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โครงการสำรวจและขุดบ่อขุดเจาะน้ำมันของจีนเริ่มขึ้นในปี 2007 เป็นการสำรวจบ่อน้ำมัน 14 แห่ง นอกชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียในแถบรัฐยะไข่ (อาระกัน) ไม่กี่ปีต่อมา รัฐบาลจีนลงนามในข้อตกลงสร้างท่อส่งน้ำมันและก๊าซเชื่อมระหว่างบ่อที่เจ้าผิ่ว (Kyaukpyu) เมืองเอกของรัฐยะไข่ กับเมืองคุนหมิง โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจเจ้าผิ่ว-คุนหมิง อันประกอบไปด้วยการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกที่เจ้าผิ่ว การสร้างท่อส่งก๊าซความยาวเกือบ 800 กิโลเมตร และข้อตกลงให้บริษัท Pitro China ได้รับสัมปทานซื้อก๊าซธรรมชาติจากพม่าจำนวน 6.5 ล้านล้านคิวบิกฟุต ภายในระยะเวลา 30 ปี (2009-2039)

Advertisement

โครงการขนาดใหญ่ที่จีนเข้าไปลงทุนในพม่ายังชี้ให้เห็นความทะเยอทะยานของจีนที่ใช้พม่าเป็นทางออกไปสู่มหาสมุทรอินเดีย และการได้โครงสร้างพื้นฐานเพื่อรับน้ำมันปริมาณมหาศาลจากตะวันออกกลางและแอฟริกาส่งไปยังจีนโดยตรง พม่าเปรียบเหมือนสมรภูมิสงครามการค้าที่จีนทำกับประเทศมหาอำนาจการค้าทั่วโลก ทั้งสหรัฐอเมริกาหรือแม้แต่ประเทศอย่างสิงคโปร์ ที่ต่อต้านนโยบายเศรษฐกิจอันก้าวร้าวของจีน ทำให้จีนไม่สามารถเข้าไปมีบทบาทในการค้าแถบแหลมมะละกาได้อย่างเต็มที่ บทบาทที่สำคัญยิ่งของพม่าทำให้จีนต้องอัดฉีดเม็ดเงินการลงทุนในพม่า ทั้งการสนับสนุนให้ภาคเอกชนจีนไปลงทุนสร้างเขื่อน และโรงงานไฟฟ้าในพม่า ตลอดจนการให้เงินสนับสนุนเพื่อการพัฒนาในพม่า มีตั้งแต่ทุนให้เปล่า การปล่อยเงินกู้ การบรรเทาหนี้ ทุนการศึกษา ฯลฯ บทบาทนำทางเศรษฐกิจของจีนในพม่าเกิดจากการคว่ำบาตรของนานาชาติ ที่กดดันให้พม่ากลับไปเป็นประชาธิปไตยอย่างหนักตั้งแต่ปี 1988 จีนใช้ช่องโหว่นี้เพื่อสานความสัมพันธ์ที่แนบแน่นยิ่งขึ้นกับพม่า บริษัทเอกชนจีน โดยเฉพาะบริษัทก่อสร้าง บริษัทด้านโทรคมนาคม และพลังงาน เข้าไปลงทุนในพม่าด้วยการสนับสนุนของรัฐบาลจีน ที่ช่วยตั้งเขตอุตสาหกรรมอย่างน้อย 2 แห่ง ที่ย่างกุ้ง-สิเรียม และเจ้าผิ่ว เพื่อรองรับบริษัทจีน

จุดแข็งของพม่าที่ยังดึงดูดนักลงทุนจากจีนอย่างต่อเนื่องคือค่าแรงที่ยังถูกและทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ด้วยค่าแรงที่แพงขึ้นของจีน จีนจึงจำเป็นต้องหาแหล่งผลิตอื่นๆ เพื่อป้อนความต้องการภายในประเทศ แต่ตลาดการค้าที่เปิดมากขึ้นเท่ากับจีนมีคู่แข่งมากขึ้นในพม่า รัฐบาลเนปยีดอหันไปหานโยบายการค้าที่ลดการพึ่งพาจีน พยายามดึงดูดนักลงทุนต่างชาติอื่นๆ เข้ามามากขึ้น แต่คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับพม่าตั้งแต่ 1988 มาจนถึงปัจจุบันอยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ส่วนบุคคลระหว่างคนในรัฐบาลจีนและคนในกองทัพพม่า เอื้อหนุนค้ำจุนให้ทุนจีนลืมตาอ้าปากได้ในพม่ามาหลายสิบปี ตราบใดก็ตามที่จีนยังให้ความสนใจกับพม่า ก็เท่ากับเป็นการส่งเสริมความมั่งคั่งให้นักธุรกิจเพียงหยิบมือและนายพลอีกบางส่วนในกองทัพให้กุมอำนาจต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image