ความเหลื่อมล้ำมิติพื้นที่ เศรษฐกิจจังหวัดและการจัดเก็บภาษี โดย ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์, พิชิต รัชตพิบุลภพ, ภคพร วัฒนะดำรงค์, สมบัติ เหสกุล, ณัฐพล สร้อยสมุทร

1.ถึงแม้ไม่มีรายงานวิจัยใดๆ เชื่อว่าคนไทยโดยทั่วไปตระหนักด้วยประสบการณ์ว่า มีความเหลื่อมล้ำมิติพื้นที่สูงในบ้านเมืองของเรา คือ จำแนกได้ว่าจังหวัดใดฐานะเศรษฐกิจดี ปานกลาง หรือจังหวัดใดยากจน อย่างไรก็ตามหากมีผลงานวิจัยมาสนับสนุนด้วย ย่อมทำให้เข้าใจเรื่องราวได้กระจ่างชัดขึ้น รู้ถึงที่มาของความเหลื่อมล้ำและคาดการณ์ผลลัพธ์ในอนาคต ในโอกาสนี้ผู้เขียนขอนำเสนอการวิเคราะห์ “ความเหลื่อมล้ำมิติพื้นที่” โดยอาศัยข้อมูลของส่วนราชการ 3 แหล่ง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กรมสรรพากร และสำนักงานประกันสังคม ล้วนป็นข้อมูลขนาดใหญ่ระดับชาติ นำมาเป็นตัวแปร 3 ตัวที่มีความสำคัญ คือ ก) ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP=gross provincial products) สะท้อนฐานะเศรษฐกิจของจังหวัด ข) ภาษีที่กรมสรรพากรจัดเก็บเป็นรายจังหวัด ค) จำนวนสถานประกอบการและคนทำงานที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมแจกแจงเป็นรายจังหวัดและภาพรวมได้เช่นเดียวกัน

2.โจทย์วิจัยที่คณะวิจัยของเราค้นคว้าในขณะนี้ เกี่ยวกับเศรษฐกิจจังหวัดและความเหลื่อมล้ำ ขอขอบคุณสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่ให้การสนับสนุน เราประมวลข้อมูลทั้งสามด้านเข้าด้วยกัน (76 จังหวัด x 23 ปีโดยไม่นับรวมจังหวัดบึงกาฬ) คุณประโยชน์ของข้อมูลชุดนื้คือ ช่วยให้เข้าใจความเปลี่ยนแปลงหรือพลวัตของจังหวัดและสรุปเป็นภาพรวม และ วัดความเหลื่อมล้ำมิติพื้นที่

คำถามข้อแรก เราอยากรู้ว่าเมื่อมูลค่าการผลิตของจังหวัดเพิ่มขึ้น กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด ตรงกับคำศัพท์ว่า “ความยืดหยุ่นของภาษีต่อการผลิตจังหวัด” ข้อสอง เราอยากรู้ภาษีกระจุกตัวเพียงใด (concentration) และปัจจัยที่สัมพันธ์กับการจัดเก็บภาษีของรัฐบาล เราพบว่า จำนวนสถานประกอบการ (enterprise) และการจำนวนการจ้างงานในแต่ละจังหวัด มีส่วนสำคัญต่อตัวแปรตาม (การจัดเก็บภาษีรายจังหวัด) เพราะทั้งสองตัวเป็น “ฐานภาษี” นั่นเอง ตามสถิติของประกันสังคมในปี 2560 มีสถานประกอบการ 445,813 แห่งและการจ้างแรงงาน 10.8 ล้านคน

Advertisement

3.ในปีงบประมาณ 2560 กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีเป็นรายได้เข้าคลังแผ่นดิน 1.55 ล้านล้านบาท ย้อนหลังไปสิบปีคือในปี 2550 จัดเก็บได้ 0.95 ล้านล้านบาท คำนวณเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นเท่ากับ 5% ต่อปี อย่างไรก็ตาม ถ้าหากดูข้อมูลโดยละเอียดปีต่อปี จะสังเกตว่า รายได้ภาษีนั้นผันผวนหรืออ่อนไหวตามสภาวการณ์เศรษฐกิจ เช่น ในปี 2552 รายได้ลดลงเพราะว่าวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐ และในปี 2557 ภาษีก็ลดลง เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมในบ้านเมือง ปิดถนนปิดสนามบินและในเวลาต่อมารัฐประหารโดยคณะ คสช. เมื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาคำนวณตามแบบจำลอง สรุปใจความได้ว่า หนึ่ง ค่าความยืดหยุ่นของภาษีต่อ GPP เท่ากับ 1.1 แปลว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดเพิ่มขึ้น 100% รายได้ภาษีของกรมสรรพากรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 110% สอดคล้องกับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์-ในทางตรงกันข้ามหากภาวะเศรษฐกิจซบเซารายได้ภาษีก็ตกต่ำตามไปด้วย

สอง เราอยากรู้ว่ากรมสรรพากร เก็บภาษีจากจังหวัดต่างๆ อย่างไร โดยใช้ “ภาษีต่อหัว” เป็นเกณฑ์วัด สามารถจำแนกเป็น 6 ระดับ (ปี 2560) กลุ่มที่หนึ่ง รายได้ภาษีต่อคนน้อยที่สุด ระหว่าง 2-3 พันบาทต่อคน มีจำนวน 26 จังหวัด สูงที่สุดคือกลุ่มที่หก ภาษีต่อประชากรเกินกว่า 5 หมื่นบาทต่อคน มีจำนวน 3 จังหวัด

Advertisement

พร้อมกันนี้ขอแสดงรูปภาพ 2 รูปประกอบ รูปภาพที่ 1 แสดง 13 จังหวัดที่เก็บภาษีต่อหัวได้สูงที่สุด เกินกว่า 1 หมื่นบาทต่อคน ส่วนรูปภาพที่ 2 เรียงลำดับจังหวัดที่มีสถานประกอบการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานหลักประกันสังคมมากที่สุด หน่วยงานเหล่านี้ส่วนประกอบกิจการธุรกิจ ดังนั้น จึงเป็น “ฐานภาษี” ให้กับกรมสรรพากร ในขณะที่มนุษย์เงินเดือนเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้รัฐบาล

4.ตัวเลขสถิติที่นำมาแสดงนี้สะท้อนสภาพเป็นจริงว่า เศรษฐกิจไทยเรานั้นมีปัญหาการกระจุกตัวและความเหลื่อมล้ำมิติพื้นที่สูงมาก ซึ่งอาจจะส่งผลลัพธ์ที่ไม่พึงปรารถนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อฐานะการคลังท้องถิ่น เนื่องจากเทศบาล อบต. อบจ. นั้นมีรายได้ส่วนหนึ่ง (และเป็นส่วนที่มีความสำคัญ) จาก “ภาษีแบ่ง” หมายถึง ภาษีที่กรมสรรพากรจัดเก็บและรัฐบาลแบ่งบางส่วนให้ท้องถิ่น (10-30%) ความแตกต่างของการคลังย่อมส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนแตกต่างกันไปด้วย

งานวิจัยของเรายังไม่แล้วเสร็จ ยังมีประเด็นที่ทีมวิจัยต้องการสืบค้นต่อไป หนึ่ง เราตระหนักว่ามีภาพลวงตาของการจัดเก็บภาษี กล่าวคือ มูลค่าเพิ่มอาจจะเกิดขึ้นต่างจังหวัด-แต่ว่าการชำระภาษีดำเนินการโดยบริษัทแม่ (ส่วนใหญ่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร) เป็นประเด็นสำคัญที่คนท้องถิ่นรู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจเป็นอันมาก สอง เราประสงค์จะเห็นความเชื่อมโยงระหว่างความเหลื่อมล้ำในภาคการผลิต ต่อความเหลื่อมล้ำทางด้านภาษีและการคลังท้องถิ่นในท้ายที่สุด เราหวังว่าจะมีผลการศึกษามาเล่าสู่กันฟังในโอกาสหน้าและนำเสนอให้ประชาคมวิจัยช่วยกันวิพากษ์วิจารณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image